- บทที่ ๑ ปัญหาของพัฒนาการ
- จากทรรศนะแบบแยกย่อย สู่ทรรศนะแบบองค์รวม
- การก้าวออกจากยุคอุตสาหกรรม
- บทที่ ๒ บูรณาการกับพัฒนาการ
- บูรณาการประสานกับพัฒนาการ
- บูรณาการในการศึกษา
- การสอนจริยศึกษาแบบบูรณาการ
- บทที่ ๓ ระบบแห่งบูรณาการ
- การสร้างสรรค์เสรีภาพแบบบูรณาการ
- การเลียนแบบไม่ใช่การทำได้จริง
- สาระของเสรีภาพ
- บูรณาการในทุกขอบเขตของการศึกษา
- องค์สามที่การศึกษาจะต้องบูรณาการ
- ระบบบูรณาการพื้นฐานและยอดสุด
- โยงตัวเราเข้าสู่ระบบการพัฒนาและบูรณาการ
ระบบบูรณาการพื้นฐานและยอดสุด
ทีนี้ก็อาจจะถามว่า องค์หลัก ๓ อย่างนี้ มาจากไหน ถ้าพิจารณาดูให้ดี ก็จะเห็นว่า มันมาจากบุคคลที่เป็นอุดมคติ บุคคลที่เป็นตัวอย่างซึ่งมีพัฒนาการสูงสุดแล้วคือใคร ถ้าตอบแบบชาวพุทธก็ต้องรวมเป็นอันเดียวกันว่า ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือบุคคลที่มีการพัฒนาสูงสุดแล้ว แม้แต่ความหมายในคัมภีร์ที่พูดถึงเมื่อกี้ก็บอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้พัฒนาตนสูงสุดแล้ว เมื่อพัฒนาตนสูงสุดแล้ว พระพุทธเจ้ามีพระคุณหรือคุณสมบัติหลักกี่อย่าง ผู้ที่เรียนพระพุทธศาสนาย่อมรู้ดีว่ามี ๓ อย่าง คือ
(๑) มีปัญญาคุณ ทรงมีพระปัญญา คือความรู้
(๒) มีกรุณาคุณ คือมีคุณธรรมความดี แต่ในที่นี้เน้นกรุณาในฐานะเป็นตัวนำที่จะทำให้ปวงความดีงาม หรือคุณธรรมต่างๆ และประโยชน์สุขแผ่ขยายออกไปแก่คนอื่นๆ
(๓) มีวิสุทธิคุณ นี้ว่าตามที่เรานิยมใช้กันในเมืองไทย แต่ตัวเดิมเป็นวิมุตติ ได้แก่วิมุตติคุณ คือ ความหลุดพ้น อย่างที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้นว่า หมายถึงความเป็นอิสระ หรือภาวะไร้ทุกข์ไร้ปัญหา ที่เรามาใช้กันว่าความสุข
นี้คือองค์ประกอบ ๓ อย่าง ที่เราเรียกว่าพระคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องนำมาใช้เป็นองค์ของการศึกษา เป็นตัวประกอบร่วมที่เราจะต้องพัฒนาการให้มีบูรณาการขึ้นมา
ขอย้อนกลับไปถึงเรื่องระบบบูรณาการ คราวนี้จะพูดถึงระบบบูรณาการในวงกว้างที่สุด ได้พูดมาแต่ต้นแล้วว่า ระบบบูรณาการหลักใหญ่ที่สุดเท่าที่มีอยู่นั้นมี ๓ ระบบด้วยกัน
ระบบที่หนึ่งคือ ตัวของมนุษย์ หรือระบบของชีวิตมนุษย์ มนุษย์เป็นระบบบูรณาการใหญ่อันหนึ่ง ประกอบด้วยระบบย่อย คือกาย กับใจ ระบบย่อยทั้งสองคือกายกับใจนี้ มาประมวลเข้าเป็นระบบใหญ่คือมนุษย์ ซึ่งเป็นระบบใหญ่อันที่หนึ่ง ที่เรายกขึ้นมาตั้งไว้ในฐานะที่เอาตัวเราเป็นศูนย์กลาง
ระบบบูรณการที่สองคือ ธรรมชาติ หรือธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมบัญญัติศัพท์กันใหม่ เรียกว่า นิเวศวิทยา หรือระบบนิเวศวิทยา เป็นศัพท์ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า ecological systems หรือที่เดี๋ยวนี้นิยมใช้สั้นเข้ามาอีก เป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ว่า ecosystems ระบบนิเวศนี้ว่าที่จริงขอใช้ศัพท์เดิม ก็คือธรรมชาติแวดล้อมนั่นเอง ธรรมชาติแวดล้อมเมื่อตัดตัวคนที่ถูกแวดล้อมออกไป ก็คือธรรมชาติ ซึ่งที่จริงว่าตามหลักพุทธศาสนาก็รวมทั้งคนหรือมนุษย์อยู่ในนั้นด้วย เพราะฉะนั้น เราอาจจะใช้ศัพท์กันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ธรรมชาติ ระบบธรรมชาตินี้ก็เป็นระบบบูรณาการใหญ่อันที่สอง ระบบบูรณาการที่สามก็คือ ระบบที่เรียกว่า สังคม
สิ่งที่เกี่ยวข้องที่มนุษย์จะต้องจัด ต้องทำ ต้องประสาน ต้องไปทำหน้าที่บูรณาการ ก็คือ ระบบทั้งสามนี้ ซึ่งเมื่อเข้ามาเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันแล้ว ก็ทำให้เกิดผลดีผลร้ายแก่มนุษย์ทั้งหมด ตกลงว่า สามอย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม นี้ เป็นระบบใหญ่ที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งประสานประกอบกันเข้าเป็นองค์รวมอันเดียว ขอพูดรวบรัดว่า ในระบบทั้งสามนี้ เราจะต้องทำการบูรณาการและพัฒนาการให้เป็นไปด้วยดี ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเราในขั้นต่อไปที่จะต้องศึกษากันว่า จะพัฒนาการและบูรณาการอย่างไรจึงจะประสานกลมกลืนกัน เกิดความสมดุลพอดีที่เป็นผลดี แต่เฉพาะในที่นี้จะขอยกตัวอย่างอันหนึ่งที่มีอยู่แล้วมาพูดก่อน คือโยงเข้ามาหาหลักพระพุทธศาสนา
ตามหลักพุทธธรรมนั้น ระบบบูรณาการ ๓ อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคมนี้ มีส่วนสุดยอดตรงกันในแต่ละอย่าง ขอให้ช่วยกันนึกในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาว่า องค์ที่ตรงกันกับ ๓ อย่างใหญ่ คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม นี้ได้แก่อะไร ตามหลักการของพระพุทธศาสนา มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคมนี้ มีตัวพัฒนาการสุดยอดของแต่ละอย่าง ปรากฏเป็นหลักที่เรียกว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มนุษย์พัฒนาสูงสุดแล้วเป็นอะไร มนุษย์พัฒนาสูงสุดแล้วเป็นพระพุทธ ธรรมชาติเมื่อเราเข้าถึงแล้ว ตัวความจริงของธรรมชาติที่ปรากฏแก่มนุษย์นั้นคืออะไร สาระของธรรมชาติหรือตัวความจริงของธรรมชาติที่ปรากฏแก่มนุษย์นั้น เราเรียกว่าธรรม ข้อต่อไป สังคมเมื่อพัฒนาถึงขั้นอุดมคติแล้วเป็นอะไร ก็เป็นหมู่ชนที่เรียกว่าสงฆ์
เพราะฉะนั้น หลักของพระพุทธศาสนาที่เราเรียกว่าพระรัตนตรัยนั้น ก็คือ ระบบบูรณาการในระดับแห่งพัฒนาการสูงสุดของระบบบูรณาการใหญ่ทั้ง ๓ นี้เอง ในเรื่องนี้ ถ้าเราจะพิจารณาความหมายของพระรัตนตรัยแต่ละอย่างแล้ว ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น ขอให้มองให้ทั่วตลอด ก็จะเห็นว่า องค์ทั้งสามของพระรัตนตรัยจะมาบูรณาการกันเป็นระบบใหญ่อันเดียว
พระพุทธมาจากมนุษย์ พระพุทธนั้นเมื่อให้ความหมายสมบูรณ์เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าคืออะไร พระพุทธคือมนุษย์ผู้พัฒนาตนสมบูรณ์แล้ว โดยได้ค้นพบธรรม และเปิดเผยธรรมแก่สังคม เมื่อกี้นี้ได้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้านั้นมีความหมายอย่างหนึ่ง คือเป็นมนุษย์ผู้พัฒนาตนสูงสุด โดยมีพัฒนาการครบทั้ง ๔ ด้าน จึงบอกว่า พระพุทธคือมนุษย์ผู้พัฒนาตนสมบูรณ์โดยได้ค้นพบธรรมและเปิดเผยธรรมแก่สังคม
ทีนี้ ธรรมก็มาจากธรรมชาติ ธรรมคืออะไร ธรรมคือตัวความจริงของธรรมชาติที่เปิดเผยขึ้น โดยการค้นพบและประกาศของพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าค้นพบธรรมแล้วก็ประกาศธรรมออกมา นับเป็นองค์ที่สอง
ส่วนสงฆ์ก็มาจากสังคมนี้แหละ สงฆ์มีความหมายอย่างไร สงฆ์ก็คือ สังคมของมนุษย์ที่พัฒนาตนแล้วด้วยการปฏิบัติหรือเข้าถึงธรรม ตามอย่างพระพุทธเจ้า
ถ้าไม่มีพุทธะ ธรรมะก็ไม่ปรากฏ และสังคมก็ไม่อาจพัฒนาให้เกิดสังฆะ ถ้าไม่มีธรรมะ มนุษย์ก็ไม่พัฒนาเป็นพุทธะ และสังฆะก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสังฆะ ก็ไม่มีเครื่องยืนยันความเป็นพุทธะ และธรรมะก็คงไม่ปรากฏสืบทอดในสังคมอยู่ต่อไป จะเห็นว่า องค์ทั้งสามนี้มีความสัมพันธ์ อิงอาศัยกัน และประสานกลมกลืนกันเข้าเป็นระบบใหญ่อันเดียว
เมื่อกี้นี้ได้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติ ๓ อย่าง คือ ปัญญา กรุณา และวิมุตติหรือวิสุทธิ คุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ เป็นหลักที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้า กับองค์อื่นทั้งสองของพระรัตนตรัย เรียกว่าเป็นหลักความสัมพันธ์ระหว่างองค์ทั้ง ๓ กล่าวคือ
พระพุทธสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยมีปัญญารู้เข้าใจค้นพบความจริงของธรรมชาติ คือได้ตัวธรรมขึ้นมา หรือค้นพบธรรมนั้นด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงมีคุณสมบัติข้อที่ ๑ คือ ปัญญา เป็นตัวที่สัมพันธ์กับธรรมหรือธรรมชาติ เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าที่มาโยงกับองค์ที่ ๒ ของพระรัตนตรัย พระพุทธค้นพบธรรมด้วยปัญญา มีองค์คือปัญญา เป็นตัวทำหน้าที่ต่อธรรมชาติ หรือธรรม พูดสั้นๆ ว่า ปัญญา เป็นตัวสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธกับพระธรรม
ต่อไป คุณสมบัติข้อที่ ๒ พระพุทธค้นพบธรรมในธรรมชาติด้วยปัญญานั้นแล้ว ตนเองก็เกิดวิมุตติขึ้น คือหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสและความชั่วร้ายทั้งปวง จัดเป็นคุณสมบัติข้อที่ ๒ พระพุทธจึงเป็นผู้มีวิมุตติประจำตัว วิมุตติก็เป็นคุณสมบัติส่วนพระองค์ และวิมุตติคือความหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นก็รวมไปถึงการมีความสุข มีสันติ มีวิสุทธิ มีอิสรภาพด้วย พูดสั้นๆ ว่าวิมุตติ (หรือวิสุทธิ หรือสุข) เป็นสภาวะแห่งความสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเองของพระพุทธเอง
ต่อไป คุณสมบัติข้อที่ ๓ คือ เมื่อพระพุทธค้นพบธรรม กลายเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ภายในพระองค์เองแล้ว ก็เกิดมีคุณธรรมต่างๆ ขึ้น คุณธรรมหรือความดีงามทั้งหลายมีอยู่ในพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่คุณธรรมเหล่านั้นแผ่ขยายแสดงออกไปต่อสังคมโดยผ่านคุณธรรมที่เป็นตัวนำ ตัวนำที่จะทำให้ปฏิบัติต่อสังคมด้วยคุณธรรม ก็คือความกรุณา ได้แก่ ความคิดที่จะช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น คุณธรรมตัวเด่นที่นำแสดงต่อสังคมก็คือกรุณา กรุณาจึงเป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าที่แสดงออกต่อสังคม ซึ่งทำให้เกิดสงฆ์ เป็นตัวทำหน้าที่ต่อสงฆ์และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับสงฆ์ พูดสั้นๆ ว่า กรุณาเป็นตัวสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธกับพระสงฆ์ (เป็นตัวชักนำสังคมขึ้นมาสู่ความเป็นสงฆ์)
สรุปอีกทีหนึ่งว่า พระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติ ๓ คือ
๑) ปัญญา เป็นคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับธรรมะ หรือทำหน้าที่ต่อธรรมชาติ
๒) วิมุตติ หรือวิสุทธิ เป็นคุณสมบัติส่วนตัวที่เกิดขึ้นภายใน เป็นตัวรับรองและค้ำประกันคุณสมบัติอื่นๆ ให้เป็นคุณธรรมความดีงามที่แท้จริงและสมบูรณ์ พระพุทธเจ้ามีคุณธรรมความดีงามที่แท้จริงและสมบูรณ์ ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยได้หลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากความชั่ว หลุดพ้นจนอยู่เหนือความดีความชั่ว คือไม่ยึดติดในความดีความชั่วนั้นด้วย เพราะเป็นความดีงามของผู้บริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้ว จึงเป็นความดีงามที่บริสุทธิ์ เป็นความดีงามที่แท้จริง เป็นคุณธรรมหรือความดีงามที่สมบูรณ์
๓) กรุณา เป็นคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสงฆ์ หรือทำหน้าที่ต่อสังคม กล่าวคือ คุณธรรมทั้งหลายมีโอกาสแสดงออกต่อสังคมโดยเอากรุณามานำหน้าหรือชักจูงไป
นี้คือคุณสมบัติ ๓ ประการของพระพุทธเจ้าที่สัมพันธ์กัน
ทีนี้พูดถึงพระธรรมบ้าง พระธรรมก็คือความจริงที่เข้าถึงได้ด้วยปัญญา ซึ่งเมื่อใครเข้าถึงด้วยปัญญาค้นพบคนแรก ก็ทำให้คนนั้นเป็นพระพุทธ (ถ้าเป็นพระพุทธองค์แรก และนำธรรมนั้นมาเผยแพร่แก่ผู้อื่น คือทำให้มีสงฆ์ด้วย เราเรียกว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าค้นพบเองแต่ไม่เผยแพร่แก่ผู้อื่น คือไม่ทำให้เกิดสงฆ์ เราเรียกว่า ปัจเจกพุทธ ถ้าเป็นผู้ที่รู้ตาม เราเรียกว่าเป็นอนุพุทธ แต่เป็นพุทธทุกคน เพราะคนใดก็ตามที่ได้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติด้วยปัญญา คนนั้นก็เป็นพุทธะ แต่ในกรณีนี้ คือในองค์ของพระรัตนตรัย พุทธ หมายถึง พระพุทธอย่างแรก หรือพระพุทธที่เป็นต้นแบบ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นความจริงที่เข้าถึงด้วยปัญญาที่ทำให้เป็นพุทธะ แล้วก็เป็นหลักของสงฆ์ เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติตาม รู้เข้าถึงแล้ว ก็มาเป็นสมาชิกของสงฆ์ ทำให้เกิดสงฆ์ขึ้น
ต่อไปองค์ที่ ๓ คือสงฆ์ สงฆ์ก็คือมวลหมู่ผู้ที่เข้าถึงธรรมตามอย่างพระพุทธ โดยอาศัยความกรุณาของพระพุทธทำให้เข้าถึงธรรม
สงฆ์นี้มีหลักการใหญ่ ๓ ประการ หนึ่ง วินัย เป็นฐาน เป็นตัวคุมให้ก่อและคงรูปเป็นสงฆ์ได้ ถ้าเราเอาแม่แบบนี้มาใช้กับสังคม ก็หมายความว่า สังคมต้องมีวินัย เช่น กฎหมาย และการจัดระบบสถาบันต่างๆ เป็นต้น เป็นฐาน สอง สามัคคี เป็นพลังยึดเหนี่ยว สงฆ์มีตัวยึดเหนี่ยวคือสามัคคี อันนี้เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเสมอ สาม กัลยาณมิตร เป็นเนื้อหาของสงฆ์ เพราะว่า พระสงฆ์นั้นประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ในเมื่อเนื้อหาของสงฆ์ก็คือตัวบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร สงฆ์ก็จึงเป็นแหล่งของกัลยาณมิตร ที่คนในสังคมจะเข้าไปหาแล้วก็ได้รับประโยชน์ เป็นตัวช่วยนำคนให้เข้าถึงธรรม และมาร่วมเป็นสมาชิกของสงฆ์กันต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น หลักของสงฆ์ก็จึงมีวินัยเป็นฐาน มีสามัคคีเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคุม แล้วก็มีกัลยาณมิตรเป็นเนื้อหา
No Comments
Comments are closed.