- ข้อคิดเห็นต่อคุณลักษณะเด็กไทยในอนาคต
- (คุณสมบัติของเด็กไทย กับการจัดการศึกษา)
- (การพัฒนาความสุข คือการศึกษา)
- (เสรีภาพ อิสรภาพ เสมอภาค บนฐานของการแก่งแย่งหรือสามัคคี)
- (การศึกษาจัดตั้ง ต้องโยงสู่เนื้อแท้ คือพัฒนาคน)
- (โลกาภิวัตน์พาจริยธรรมตะวันตกเข้ามา การศึกษาก็พัฒนาไม่ถึงเป้าหมาย)
- (กัลยาณมิตร ช่วยบ่มอินทรีย์ ให้คนมีความพร้อมในการศึกษา)
- (จะใช้สมาธิ ต้องเข้าใจประโยชน์ และขอบเขต)
- (สติ กับ สมาธิ)
ความสุขนี่มันมีหลายระดับ การพัฒนามนุษย์ก็คือ การพัฒนาความสุขไปด้วย มนุษย์จะรู้จักความสุขอีกมากมายที่ประณีตสูงขึ้นไป ทีนี้ในเมื่อเขา ไม่มี ไม่รู้จักความสุขที่สูงขึ้นไป เขาก็รู้จักอยู่อย่างเดียวจากการเสพบริโภค เขาก็จมอยู่แค่นี้ อะไรอื่นมันก็กลายเป็นเรื่องทุกข์ไปหมด มันไม่ได้ความสุข ไม่สนองความต้องการที่เขามีแบบเดียว มันก็ตัน แล้วเด็กก็อ่อนแอ เพราะว่าความสุขจากการเสพนี่มันเป็นฝ่ายที่ต้องได้รับการบำรุงบำเรอคือ บำเรอผัสสะนั่นเอง พอบำเรอผัสสะก็ คือเป็นฝ่ายรับ ถ้าเมื่อไหร่ต้องทำก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเด็กสมัยนี้ ถ้าทำก็เป็นทุกข์ ความสุขก็คือ ไม่ต้องทำ ถ้าเมื่อไหร่ความสุขคือไม่ต้องทำละก็ เมื่อนั้นก็คือความล่มสลายของอารยธรรม แสดงว่ามนุษย์ไม่พัฒนา
ความสุขจากการเสพก็คือ เป็นฝ่ายรับ และก็ต้องแย่งชิงกัน เพราะว่ามันต้องมีสิ่งเสพบริโภคมากขึ้น ก็ต้องหามากขึ้น สิ่งภายนอกมันมีจำนวนจำกัดก็ต้องแย่งชิงกัน เบียดเบียนกัน ข่มเหงกัน เอาเปรียบกัน แนวคิดในทางการศึกษาสูงขึ้น ไปก็ไปไม่ได้ จะให้มนุษย์มาอยู่ร่วมกันด้วยดี จะเกื้อกูลกันอะไร มันไปไม่ได้ ถ้าคิดอยู่กับการเสพนี่ ถ้ามนุษย์ยังมี
ความสุขในระดับเดียว
ทีนี้ทางพุทธศาสนาเน้นมากเรื่อง ความสุข คนมักจะเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนานี่สอนเรื่อง ทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องผิดมหันต์เลย คือพระพุทธเจ้าเริ่มบอกว่า อริยสัจสี่ ๑. ทุกข์ สอนทุกข์ สอนหน้าที่ต่อทุกข์ คืออะไร คือ ปริญญา คือ ต้องรู้ทันมัน ใครเรียนเรื่องทุกข์แล้วเป็นทุกข์ ก็แสดงว่าผิด ก็ท่านสอนทุกข์เพื่อให้รู้จัก แล้วจะได้แก้ไขทุกข์ พ้นไปจากทุกข์ไปสู่จุดหมายที่ไม่มีทุกข์ ซึ่งในระหว่างนั้นก็จะมีความสุขพัฒนาขึ้นเป็นขั้นๆ ไป เพราะฉะนั้นทุกข์นี่ก็ต้องรู้ในการเรียนพุทธศาสนา ทุกข์ ก็ต้องเริ่มด้วยรู้ ถ้าเริ่มด้วยการรู้หน้าที่ต่อมันว่า ทุกข์ นั้นสำหรับรู้ อันนี้แน่นอน เพราะทุกข์อริยสัจสี่นั้นท่านสอนพร้อมกับหน้าที่ต่ออริยสัจสี่ เรียกว่ากิจต่ออริยสัจ ๒. สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เรามีหน้าที่ ปหานะ คือ ละ กำจัด แก้ไข ๓. นิโรธ จุดหมายไร้ทุกข์ ต้องประจักษ์แจ้งทำให้สำเร็จ แล้วก็ ๔. มรรค ข้อปฏิบัติหนทางที่เราจะต้องทำ ลงมือทำ
ทีนี้พอเราไม่รู้หน้าที่ต่ออริยสัจสี่ ก็ทำให้เข้าใจไขว้เขวไปหมด พระพุทธศาสนาเริ่มด้วยการที่ยอมรับความจริงสู้กับความจริงว่า ทุกข์มันมีอยู่แล้ว เราจะแก้ไขจะไปถึงจุดหมายที่จะไม่มีทุกข์ มีแต่ความสุข เราก็ต้องยอมรับความจริงแล้วจัดการกับทุกข์ให้ถูกต้อง หรือจัดการปัญหาให้ได้ ให้ถูกต้องเราก็ก้าวหน้าไป เพราะฉะนั้นคำสอนต่อจากนี้ในการปฏิบัติ พอเลยถึงจุดของการปฏิบัติ จะมีแต่คำสอนของความสุข พอเข้าสู่การปฏิบัตินี้จะมีแต่เรื่องความสุข พอปฏิบัติก็ให้มีปราโมทย์ ร่าเริงบันเทิงใจ เบิกบานใจ
ปราโมทย์นี่เป็นคุณสมบัติประจำจิตของมนุษย์ทุกคน ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์จะทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป จะบรรลุนิพพานได้ก็ต้องมีปราโมทย์ จิตต้องร่าเริงเบิกบาน จะปราโมทย์ก็ ปีติ ปัสสัทธิ สุข และก็สมาธิ ถ้าคุณสมบัติของจิต ๕ อย่างนี้ จะต้องมีประจำใจชาวพุทธ เพราะว่าเมื่อเราปฏิบัติธรรมก้าวหน้า พระพุทธเจ้าก็จะตรัสชุดนี้แทบจะทุกที ๕ ข้อนี้จะมาแทบทุกครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นก็ควรจะเน้นกัน
แต่เรื่องสุขนี้ พระพุทธเจ้าจะตรัสแบ่งสุขเป็นประเภทต่างๆ มากมาย และพระองค์ก็ตรัสว่า ถ้าพระองค์ไม่บรรลุสุขที่ประณีตขึ้นไป พระองค์ก็จะไม่สามารถยืนยันพระองค์ได้ว่าจะไม่หวนกลับมาหากามสุข นี่ตรัสไว้อย่างนั้นเลยนะ
เพราะฉะนั้นความสุขเป็นเรื่องที่พัฒนาได้ และการพัฒนาความสุขก็ด้วยการพัฒนาความต้องการ ความต้องการก็พัฒนาได้ ไม่ใช่หมายความว่าเพิ่มปริมาณ ไม่ใช่ขยายปริมาณ แต่พัฒนาคุณสมบัติของมัน พัฒนา คือเปลี่ยนแปลงไปด้วยไม่ใช่เพิ่มปริมาณ ทีนี้คนเราก็มีความต้องการแบบเดียวก็คือ ความต้องการเสพ ปัญหาของยุคปัจจุบันก็อยู่ที่บริโภคนิยม อยู่ที่นี่หมดเลย
ต่อไปในกระบวนการการศึกษา จะพิสูจน์ได้ด้วยการพัฒนาความสุข เด็กจะก้าวไปในการเรียนรู้ ในการพัฒนาชีวิต ก็เลยทำให้เขามีความสุขประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้นไปๆ ถ้าเขาไม่มีความสุข เช่น เขาหาความรู้อย่างไม่มีความสุขเป็นการฝืนใจอะไรอย่างนี้แสดงว่ายังไม่พัฒนา การศึกษาก็ยังไม่เดินหน้า ถ้าเขาพัฒนาจริงเขาจะหาความรู้อย่างมีความสุข ต่อไปเขาจะทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความต้องการที่จะทำ ซึ่งท่านถือว่าสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนามนุษย์ ความต้องการจะทำ ความต้องการจะเสพด้านหนึ่ง ความต้องการที่จะทำด้านหนึ่ง
ความต้องการที่จะทำ หมายความว่า ต้องการจะทำให้มันดี ต้องการจะเสพก็คือ ความต้องการเบื้องต้นของมนุษย์ ที่เป็นไปเพื่อการเสพบริโภค ที่เราเรียกว่าตัณหา อันนี้ถ้ามนุษย์จมอยู่นี่ก็พัฒนาไม่ได้ เพราะอันนี้ไม่ต้องการปัญญา ความต้องการเสพ สนองปั๊บก็เป็นบำเรอผัสสะ ไม่ต้องการใช้ปัญญา แต่ว่าพอต้องการทำ ต้องการปัญญาทันที ต้องการปัญญาแม้แต่แยกแยะได้ถึงสิ่งที่ดีกว่ากัน หรือไม่ดี สิ่งที่สมบูรณ์ สิ่งที่บกพร่องเป็นต้น แยกแยะเห็นความบกพร่อง เห็นความสมบูรณ์ เห็นสิ่งที่ไม่ดีกับสิ่งที่ดีงาม ก็อยากเห็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่สมบูรณ์ เห็นต้นไม้เขียวขจีอะไรต่างๆ พอเห็นต้นไม้แตกต่างกันว่าต้นไม้นี้เที่ยวแห้งไม่งาม ไม่สดชื่น เห็นต้นไม้นี้เขียวขจี งอกงามดี ตอนนี้ก็เกิดความต้องการทำ ทำต้นไม้ที่มันยังไม่งดงาม ไม่เขียวขจี มันยังแห้งเที่ยว ก็อยากทำให้มันเขียวขจี พอต้องการทำให้มันเขียวให้มันสมบูรณ์ ความต้องการที่จะทำอันนี้ที่เกิดขึ้น ท่านเรียกว่าเป็นความต้องการที่เป็นกุศลเกิดขึ้น อันนี้ปัญญาเริ่มล่ะ พอต้องการทำให้มันดี พอความต้องการมันเกิดขึ้น ก็ต้องพยายามสนอง พยายามจะทำให้ต้นไม้มันสมบูรณ์ มันเขียวขจี มันมีดอกใบสมบูรณ์ ก็ต้องหาทางทำ มันยังไม่งาม การที่จะทำได้มันก็ต้องมีความรู้ ก็ต้องหาความรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ต้นไม้นี้ มันเขียว มันสมบูรณ์ ก็ต้องหาความรู้ การหาความรู้นั้นอยู่ในกระบวนการที่จะทำให้สำเร็จ
กระบวนการทั้งหมดนี้ จะเป็นความสุขตลอด เพราะเป็นการสนองความต้องการอยากจะรู้ อยากจะทำให้มันดี อยากจะทำให้ต้นไม้นี้มันสมบูรณ์ การกระทำนั้นเป็นสุขหมด เด็กจะต้องมาถึงขั้นนี้ ชีวิตจึงจะพัฒนา การศึกษาจึงจะเกิดขึ้น แต่นี่ถ้าเราไปอยู่แค่เสพ ก็คือ ไม่พัฒนาเลย มันไม่ต้องการใช้ปัญญา และเป็นฝ่ายรับก็อ่อนแอ พอเขาต้องทำมันมาเอง ความเข้มแข็ง ความอดทน ความเพียรพยายาม อะไรต่ออะไรมันฝึกไปหมดเลย ปัญญา ปัญญามันทุกอย่างเลย พฤติกรรมทักษะไปหมดเลย การศึกษามันก็มาง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร
ทีนี้ตอนนี้มันไม่แยกเรื่องความสุขจากการเสพ ทีนี้ถ้าเป็นความสุขจัดตั้ง แม้แต่ในการศึกษาในโรงเรียน บางทีก็ไปเร้าความสุขจากการเสพให้หนักขึ้นไปอีก แทนที่จะไปหนุนให้เด็กพัฒนาไปสู่การที่มีความต้องการที่จะทำ แล้วจะต้องสนองความต้องการที่จะทำ แล้วการกระทำกลายเป็นความสุข ถ้าเมื่อไหร่การกระทำ หมายถึงการทำให้สิ่งทั้งหลายมันดีงามสมบูรณ์ เป็นความสุข เมื่อนั้น เด็กพัฒนาแน่นอน
ตรงนี้ก็คือจุดตัดสำคัญของการศึกษา ที่เริ่มเข้าสู่การศึกษา พุทธศาสนาถือว่าเริ่มเข้าสู่การศึกษาที่นี้ เพราะมันเป็นจุดแยกของความต้องการทั้ง ๒ แบบ ด้านหนึ่งก็คือความต้องการเสพที่ไม่ต้องการใช้ปัญญา และก็เป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ก็เรียกว่าตัณหา เป็นความต้องการที่เป็นอกุศล และความต้องการที่จะทำ คือทำให้มันดีงาม มันสมบูรณ์ ก็เรียกว่าฉันทะ เป็นความต้องการที่เป็นกุศล ท่านแยกไว้เลยว่าความปรารถนาหรือความต้องการมี ๒ อย่าง คือความต้องการที่เป็นกุศล และความต้องการที่เป็นอกุศล
ทีนี้ท่านถือว่า ฉันทะนั้นเป็นมูล เป็นรากเหง้า ของธรรมทั้งปวง “ฉนฺทะ มูลกา สพฺเพ ธมฺมา” ว่าอย่างนั้น ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล ฝ่ายอกุศลก็มีฉันทะเป็น มูล แต่เป็น “อกุศลฉันทะ” เป็นความต้องการฝ่ายอกุศล ฝ่ายกุศล ฝ่ายดีก็มีฉันทะเป็นมูล แต่ฉันทะในที่นี้ก็คือ ความต้องการใฝ่ดี เป็นต้น ไม่งั้นพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ไม่ได้ถ้าไม่มีความต้องการ
ความต้องการนี้ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือความอยากนั่นเอง แต่ทีนี้คนไทยเราแยกไม่ถูก เรียกว่าความอยากนึกว่าเป็นตัณหาหมด ความอยาก ถือว่าเป็นจุดอ่อนของสังคมไทยด้วย ที่ไปเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นความอยากไปเสียหมด ทั้งๆ ที่ท่านแยกเป็น ๒ แบบ คือความอยากที่เป็นกุศล และความอยากที่เป็นอกุศล แล้วก็ต้องเร้าความอยากฝ่ายกุศลขึ้นมา
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า ตัณหากับฉันทะต้องละทั้งคู่ ตัณหาเกิดที่ไหนละได้ที่นั่นเลยไม่เป็นไร ไม่เสียหายละได้ละไป แต่ ฉันทะ ละด้วยการทำให้สำเร็จ ท่านว่าอย่างนั้นนะ ก็เราต้องละเหมือนกัน ก็คือมันเกิดขึ้นแล้ว ต้องการทำให้ต้นไม้มันงอกงามใช่ไหม ก็ต้องละมัน ละด้วยการทำให้สำเร็จ พอเราทำสำเร็จมันก็ละไปเอง ท่านว่าไว้ นี่เป็น พุทธพจน์
ทีนี้เรื่องความสุข ความอยาก ความต้องการอะไรต่ออะไร เป็น concept ใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย ที่ว่ามันอยู่บนพื้นฐานของเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องที่จะต้องเน้น เพราะฉะนั้นเรื่องความสุขก็ต้องระวังเรื่องความสุขจัดตั้ง และก็โยงไปหาเรื่องความสุขที่มีระดับต่างๆ มากมาย ซึ่งการศึกษาจะโยงกัน
พูดในแง่หนึ่งก็คือ เราสามารถให้ความหมายหรือคำจำกัดความของการศึกษาได้หลายแบบหลายอย่าง จะพูดในแง่หนึ่งก็คือการศึกษา คือการพัฒนาความสุขก็ไม่ผิด ก็คือลองเด็กพัฒนาความสุขเขาได้อย่างนี้ มันก็คือการศึกษานั้นเอง ความสุขเขาจะกว้างขึ้นจากความสุขแค่การเสพ เขาจะมีความสุขจากการทำสิ่งทั้งหลายให้ดี ความสุขจากการรู้ การหาความรู้
ความสุขจากการมีฉันทะนี้ มันโยงไปหาความงาม ความสมบูรณ์ ความดีของธรรมชาติ มันก็คือความสุขจากการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ก็มาจากฉันทะตัวเดียวกันนี้พาไปหมด ความสุขจากการอยู่กับธรรมชาติ และก็ความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น อยากเห็นเพื่อนมนุษย์หน้าตาผ่องใส ร่างกายสมบูรณ์ อยากเห็นเขามีความสุข นี่เรียกว่า เมตตาใช่ไหม ถ้าเขามีทุกข์ ห่อเหี่ยว ป่วยไข้ เดือดร้อน ก็อยากจะช่วยเขา ถอนตัวเขาให้พ้นจากทุกข์นั้น ก็เรียกว่า กรุณา และเมตตากรุณา มีอะไรเป็นตัวฐาน ฐานของมันคือฉันทะ คือแกนของมันอยู่ที่ฉันทะ ก็คือความอยาก ความต้องการนั้นเอง
ความต้องการให้สิ่งทั้งหลายดี ก็เป็นฉันทะ ความต้องการให้เพื่อนมนุษย์ดีงามสมบูรณ์ เป็นสุข ก็คือฉันทะนั้นแหละ แต่เพราะว่าฉันทะกับมนุษย์นี้ท่านแยกไป ถ้าอยู่ในยามปกติท่านแยกให้ละเอียดขึ้น ถ้าอยู่ในยามปกติอยากให้เขาเป็นสุขอยู่เขาก็ไม่ได้ทุกข์อยู่ ก็เป็นไมตรี ก็เรียกว่าเมตตา ฉันทะแสดงออกในรูปที่เรียกว่าเมตตา ถ้าเขามีทุกข์อยากจะให้เขาพ้นทุกข์นั้น ให้เขามีความสุข ฉันทะนี้เรียกว่ากรุณา และก็ถ้าหากว่าเขาประสบความสำเร็จ อยากให้เขาดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป คอยโมทนา ก็แสดงออกในรูปที่เรียกว่ามุทิตา แต่ตัวแกนมันอันเดียวกันคือฉันทะ
นี่ก็เป็นอันว่าเราเน้นความสำคัญเรื่องฉันทะ ฉันทะต่อวัตถุสิ่งของ สิ่งทั้งหลายทั่วไป มันก็เป็นท่าทีที่ทำให้เราปฏิบัติต่อมันในทางที่เกื้อกูลกัน เป็นประโยชน์และก็ทำให้เรามีความสุขด้วย อันเดียวกัน และก็มาแสดงต่อเพื่อนมนุษย์ในรูป เมตตา กรุณา มุทิตา ทีนี้พอเรามีฉันทะในรูปนี้ เราก็อยากจะให้เขามีความสุข เมื่อเราอยากให้เขามีความสุข เราก็ต้องพยายามให้เขามีความสุข ถ้าเราทำให้เขามีความสุขสำเร็จ เราก็มีความสุข ความสุขในการอยู่ร่วมด้วยดีกับเพื่อนมนุษย์มันก็เกิดขึ้น เราเห็นสังคมนี้ผู้คนยากจน ยากไร้ มีคนเจ็บป่วยเยอะ ไม่มีการศึกษา เราก็อยากทำให้สังคมนี้มันดี ฉันทะมันเกิดขึ้น เราทำมันก็มีความสุข ทีนี้เราสร้างฉันทะไม่ได้ มันก็จบหมดเลย ไปไม่ได้รากฐานมันไม่มี ฉะนั้นท่านจึงให้สร้างตัวนี้
แม้แต่เป็นพระพุทธเจ้าแล้วนะ ท่านเรียกพุทธ ธรรม ๑๘ ประการ ในพุทธธรรม ๑๘ ประการนั้นมีอยู่ข้อหนึ่ง เป็นบาลีเรียกว่า “นตฺถิ ฉนฺทสฺส หานิ” แปลว่ามี ฉันทะไม่ลดถอยเลย นี่เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านมีฉันทะไม่ลดถอยเลย เป็นคุณสมบัติประการหนึ่ง ก็พิจารณาเรื่อย วันนี้ใครมีความทุกข์ มีปัญหาจะไปโปรดใคร และไม่มีลดถอยละ ไปเพื่อเขา ไปทำ ไปช่วยด้วยเมตตา กรุณา ด้วยมหากรุณา เราเรียกว่ามหากรุณา ก็คือตัวฉันทะนี่แหละที่ทำให้พระองค์ไปทำงานได้ เสด็จจาริกไปเหน็ดเหนื่อยข้ามวันข้ามคืนไม่ท้อถอย และพระองค์ก็ เราเรียกภาษาเราว่ามีความสุขในการที่ทำอย่างนั้น เหน็ดเหนื่อยก็ไม่เป็นไร
ตัวฉันทะนี่มันทำให้มีความสุข เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นตัวแกนที่ต้องทำให้ได้ ถ้าเด็กไม่มีล่ะก็ การศึกษามันไม่ไป ต้องทำให้ได้ฉันทะตัวนี้ ไม่งั้นความสุขมันก็หมิ่นเหม่ มันก็อยู่กับตัณหา การเสพ แม้แต่จัดตั้งในชั้นเรียนมันก็ได้แต่ตัณหาบำเรอแกใช่ไหม แกก็อ่อนแอเป็นฝ่ายรับอยู่นั้นแหละไปไม่รอดเลย
ความสุขก็เป็นความสุขจัดตั้ง ฉะนั้นพอเราสร้างตัวคุณสมบัติภายใน เราจัดตั้งโดยรู้ตระหนักว่าเป็นเพียงเรามา กระตุ้นเร้า ใช้ระบบการจัดตั้งมาช่วยหนุนให้เกิดปัจจัยภายในขึ้นมา เมื่อเด็กเกิดฉันทะขึ้นมาแล้ว ทีนี้ล่ะ เด็กสร้าง ความสุขได้เองเลย มันต้องอย่างนี้ เพราะเขาจะไปอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่ไม่เข้าใครออกใคร แล้วเขาจะต้องไปทำเพื่อผู้อื่นด้วย ไม่ใช่ไปหาให้แต่ตัวเองอย่างเดียว
ทีนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า ๑.ความสุข ไม่ใช่ความสุขจัดตั้ง ๒. ไม่ได้ติดอยู่แค่ระดับของความสุขจากการเสพ ต้องพัฒนาความสุขให้สูงขึ้นไป มันก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ความสุขเยอะเลยพอเข้ามาอยู่ในพุทธศาสนา จะมีการแบ่งประเภทของความสุขหลายระดับเลย ให้มนุษย์รู้ว่า ความสุขนี้มันมีอยู่อีกเยอะเลย ทำไมมาจมอยู่แค่นี้
ทีนี้มนุษย์ยุคปัจจุบัน จมอยู่กับความสุขชั้นเดียวเท่านั้น ชั้นต้นสุดล่ะ ไม่ไปไหนเลย อันนี้ก็ต้องให้เขาตระหนักด้วย นี่ก็เป็นข้อคิดแง่หนึ่ง
No Comments
Comments are closed.