- คาถานำ: “เงินทอง ไม่ทำให้หมดกิเลส”
- ชีวิตยาวนาน ที่ผ่านประสบการณ์มากหลาย
- เงินจำนวนใหญ่ คนได้ยินตื่นใจ แต่ควรสนใจว่า สร้างมา และได้ใช้ไปอย่างไร
- เงินทองเป็นของสำคัญ มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์
- ดูชาวบ้านดี ที่การหา รักษา และใช้ทรัพย์
- ทรัพย์ไม่อาจครอบงำจิต หรือบังปัญญา ของอารยชน
- ปุถุชนมุ่งมั่น จะมีทรัพย์และอำนาจ
- อารยชนมีจุดสนใจ ที่วิธีใช้ทรัพย์และอำนาจ
- ทรัพย์และอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือของกิเลส หรือเพื่อเป็นอุปกรณ์ของธรรม
- ทรัพย์ภายนอกมีคุณค่าและความหมาย เมื่อมีทรัพย์ภายในเป็นฐาน
- ทรัพย์สินสำคัญ แต่เราต้องรู้ทัน และข้ามพ้นจุดอ่อนของมัน
- มนุษย์ที่พัฒนา รู้จักสัมพันธ์ ทำให้ทรัพย์ทั้งนอกทั้งในเป็นปัจจัยแก่กัน
- หลักประกันชีวิตขั้นสุดท้าย คือทรัพย์ภายในแห่งความมีธรรม
- นักพัฒนาที่แท้ เจอทุกข์ยิ่งได้ธรรม เจอปัญหายิ่งได้ปัญญา
- ชัยชนะสูงสุด ที่ทำชีวิตให้สมบูรณ์
- คำอนุโมทนา ในการพิมพ์ครั้งแรก
นักพัฒนาที่แท้
เจอทุกข์ยิ่งได้ธรรม เจอปัญหายิ่งได้ปัญญา
ทีนี้ ในทางที่ตรงข้าม เมื่อประสบโลกธรรมที่เป็นฝ่ายดีงาม ที่น่าปรารถนา คนที่ไม่ได้พัฒนาตัวเอง ไม่รู้ธรรม ก็หลงใหลไปตามสิ่งเหล่านั้น มัวเมา
บางที มัวแต่ลุ่มหลงมัวเมาในการได้ และในความเจริญงอกงามเหล่านั้น สิ่งที่น่าปรารถนาเหล่านั้น สิ่งที่เป็นความเจริญรุ่งเรืองนั้น กลับกลายเป็นโทษต่อตัวเอง เพราะความหลงใหลมัวเมานั้น ทำให้ชีวิตตกต่ำลง หรือกลับใช้ทรัพย์ ยศ อำนาจในการเบียดเบียนข่มขู่ ตลอดจนดูถูกดูแคลนผู้อื่น เป็นต้น
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วก็ผ่านไป เมื่อความรุ่งเรืองเจริญงอกงามผ่านไปแล้ว ชีวิตของตนก็จะไม่มีสิ่งที่จะมาช่วยพยุงไว้ ก็จะมีความตกต่ำมาก เมื่อเสียแล้ว ก็สูญสิ้นทั้งหมด
ส่วนคนที่รู้ธรรมแล้ว มีทรัพย์ภายใน เมื่อพบกับความได้ ความเจริญงอกงาม ความรุ่งเรือง ความสำเร็จ ก็จะถือเป็นโอกาสว่า ตนเองได้ช่องทางในการที่จะสร้างสรรค์ความดียิ่งๆ ขึ้นไป เรามีทรัพย์ ก็ใช้ทรัพย์เพื่อทำความดียิ่งขึ้นไป เรามีอำนาจก็ใช้เป็นช่องทางในการทำความดี สร้างไมตรี สร้างประโยชน์ไว้แก่ผู้คนทั้งหลาย
แม้ในกาลข้างหน้า ถ้ามีเหตุเป็นไป ตนเองตกต่ำ ก็ไม่เป็นไร เพราะได้ทำความดีไว้แล้ว ความเจริญที่เกิดขึ้น เราได้ใช้ประโยชน์ไปแล้ว และเหลือทิ้งความดีและประโยชน์นั้นไว้ นอกจากนั้นก็มักให้มีคนที่จะมาช่วยเหลือเกื้อกูล
เป็นอันว่า ไม่ว่าโลกธรรมฝ่ายดีหรือฝ่ายร้ายก็ตาม ถ้าเกิดแก่คนที่ไม่รู้ธรรมแล้ว เป็นโทษได้ทั้งสิ้น
แต่โลกธรรมที่เป็นความผันผวนในชีวิตเดียวกันนั้น ไม่ว่าดีหรือว่าร้าย ถ้าเกิดแก่ผู้ที่มีปัญญา เป็นคนมีธรรมแล้ว ก็กลายเป็นดีทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงไม่กลัวความทุกข์ ทุกข์สุขเกิดขึ้น ถ้าปฏิบัติต่อมันให้ถูก เรามีแต่ได้อย่างเดียว
พระภิกษุและภิกษุณีในพระพุทธศาสนา บรรลุธรรมเพราะความทุกข์นั้น มีมากมาย คนเรา ถ้ารู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ความทุกข์อาจจะทำให้เราถึงกับบรรลุพระนิพพานก็ได้
เพราะฉะนั้น จะได้หรือจะเสีย จึงอยู่ที่ว่าเราปฏิบัติได้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็เพราะเหตุที่มีทรัพย์ภายใน
คนที่มีทรัพย์ภายในดังที่กล่าวมา คือมีธรรมแล้ว จัดว่าเป็นอารยชน จะปฏิบัติต่อทรัพย์ภายนอกได้ถูกต้องด้วย การปฏิบัติต่อโลกธรรมถูกต้อง ท่านถือว่าเป็นมงคลอันสูงสุด เป็นชัยชนะอันสูงสุด ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า
ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
แปลความว่า: ผู้ใดถูกโลกธรรมกระทบแล้ว มีจิตใจไม่หวั่นไหว ไร้ธุลีมลทิน มีความผ่องใสอยู่ได้ เป็นจิตเกษมปลอดโปร่ง นั่นคือมงคลอันสูงสุด เป็นชัยชนะอันสูงสุด
No Comments
Comments are closed.