- (กล่าวนำ)
- คิดให้ชัด ถ้าจะบัญญัติให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ
- สังคมไทย ไฉนตกต่ำถึงเพียงนี้
- จะเอาวิธีของฝรั่งมาใช้ ก็เจาะจับเอาของจริงมาไม่ได้
- ดูของเขาก็ไม่เอาให้ชัด ด้านของเราก็ห่างเมินจนพร่ามัว
- พูดเรื่องเดียวกัน แต่เถียงกันคนละเรื่อง
- “รู้เขา” แค่เห็นเงามัว ๆ, “รู้เรา” ก็ไม่เห็นเนื้อตัว ผีฝรั่งจึงมาหลอกคนไทย ได้อย่างน่ากลัว
- รู้ความจริงไว้ เพื่อแก้ปัญหา มิใช่เพื่อมาเคืองแค้นกัน ศาสนาประจำชาติแบบฝรั่ง-ไทย มีความหมายตรงข้ามกัน
- เจอความจริงแม้ขื่นใจ ยังรักได้ นั่นคือใจเมตตาแท้ รู้ให้จริงแท้จึงแก้ปัญหา คือเมตตาคู่ปัญญาที่ต้องการ
- พุทธศาสนาประจำชาติ จะเอาไม่เอา อย่าเถียงแบบนักเดา ดูความหมายให้ชัดแล้วจึงตัดสินใจ ให้สมเป็นคนที่พัฒนา
- หาความรู้กันก่อนให้ชัดเจน อย่าเพิ่งใส่ความคิดเห็นเข้าไป
- มองแคบ คิดใกล้ ใฝ่ต่ำ เพราะคิดแต่จะตามเขา จิตของเราจึงตกต่ำลงไป
- “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” มีเมื่อไร คนไทยจะเป็นชาวพุทธได้อย่างดี
- เลิกเสียที ความสับสนพร่ามัว และความขลาดกลัวที่เหลวไหล แน่วแน่ ชัดเจน มั่นใจ คือทางออกอันเดียวของสังคมไทย
- สังคมไทย เลื่อนลอยกันต่อไป หรือเด็ดเดี่ยวด้วยจิตสำนึกที่จะแก้ไข
- คำปรารภ
พูดเรื่องเดียวกัน แต่เถียงกันคนละเรื่อง1
เมื่อถึงวาระที่มีการร่างรัฐธรรมนูญตามที่ตั้งกำหนดไว้ ได้มีการถกเถียงกันว่า จะให้มีบทบัญญัติว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ ในที่สุด ฝ่ายที่ไม่ให้มีบัญญัติก็ชนะคะแนนไป อย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว
ใครชนะคะแนน ใครชนะใจ เป็นอย่างไร ในที่นี้ไม่ขอวิจารณ์ แต่น่าสังเกตว่า ทั้งสองฝ่ายที่เถียงกันนั้น ดูท่าว่าได้มีความเข้าใจความหมายของคำว่า “ศาสนาประจำชาติ” ไม่เหมือนกัน ไม่ตรงกัน และไม่ ได้ตกลงกันให้คำจำกัดความเสียด้วยว่า จะใช้คำว่า “ศาสนาประจำชาติ” ในความหมายว่าอย่างไร
เมื่อเป็นอย่างนี้ จะถือว่าเป็นเรื่องน่าขำ หรือจะว่าน่าห่วงใยก็ได้ เพราะมันกลายเป็นว่า คนที่มาประชุมกันนั้น พูดเรื่องเดียวกันแต่เถียงกันคนละเรื่อง แล้วจะไปได้เรื่อง ได้อย่างไร
ทั้งสองฝ่ายที่เถียงกันนั้น นอกจากเข้าใจความหมายของคำว่า “ศาสนาประจำชาติ” ไม่เหมือนกันแล้ว ความหมายที่แต่ละฝ่ายเข้าใจก็คลุมๆ เครือๆ ไม่ชัดเจนด้วย
ฝ่ายชาวพุทธผู้เห็นควรให้มีบัญญัติว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็มองความหมายไปตามความคิดความเข้าใจของตน ตามแนวทางของวัฒนธรรมประเพณี
บ้างก็มองแค่ว่า ไหนๆ พระพุทธศาสนาเท่าที่ตนมองเห็นก็เป็นศาสนาประจำชาติไทยโดยพฤตินัยอยู่แล้ว ก็ขอให้มีชื่อปรากฏในกฎหมายโดยนิตินัยด้วย
บ้างก็มองว่า ให้มีการบัญญัติอย่างนั้น เพื่อว่ารัฐและสังคมจะได้เอาจริงเอาจังในการอุปถัมภ์บำรุง เป็นต้น
แต่จะมองแค่ไหนและอย่างไรก็ตาม ชาวพุทธเหล่านั้นก็มองไปแค่ในขอบเขตของวัฒนธรรมและหลักพระพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมา ที่ว่าทางฝ่ายพระศาสนาโดยเฉพาะพระสงฆ์ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง อาณาจักรก็มีหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และพุทธจักรก็มีหน้าที่สั่งสอนประชาชนตั้งแต่ผู้ปกครองรัฐลงมา
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่คัดค้าน ซึ่งโดยมากเป็นคนที่เรียกว่าสมัยใหม่ จบการศึกษามาจากเมืองฝรั่ง ก็มองความหมายของ “ศาสนาประจำชาติ” ในเชิงว่า ทางฝ่ายศาสนาจะมีอำนาจหรือมีอิทธิพลต่อกิจการของรัฐอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ชัดไม่เจนว่า จะมีอำนาจหรืออิทธิพลแค่ไหนอย่างไร เพราะตนเองก็ไม่รู้ชัดอีกเหมือนกันในเรื่องของฝรั่งนั้น ตลอดจนในเรื่องของศาสนาอื่นและสังคมอื่น
เรื่องนี้ควรจะถือเป็นบทเรียนสำหรับการปฏิบัติต่อไปภายภาคหน้า เพราะมีเค้าว่าจะมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้อีก ซึ่งไม่ควรจะวนเวียนกันอยู่อย่างเก่า
ควรจะพูดกันให้ชัดเสียที ตั้งแต่จำกัดความหมายให้เข้าใจตรงกัน แล้วจึงเถียงกันว่าจะเอาหรือไม่เอา
อย่างที่บอกแล้วว่า คำว่า “ศาสนาประจำชาติ” ในความหมายของคนไทยชาวบ้านหรือชาวพุทธ มองแค่เป็นความยอมรับสนับสนุน และสัมพันธ์กันเชิงสั่งสอนแนะนำและอุปถัมภ์บำรุง อย่างที่เรารู้สึกกันในเมืองไทย จนจำติดใจกันสืบมาว่าพระสงฆ์เป็นผู้สละบ้านเรือนไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง
พูดสั้นๆ ว่า โยมโอยทาน พระอวยธรรม แนะนำให้หลักทั้งในการครองบ้าน และในการครองเมือง ด้านหนึ่งเอื้อต่อกันด้วยการอุปถัมภ์และคำสอน แต่พร้อมนั้น อีกด้านหนึ่งก็ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง กิจการของกันและกัน
พระสงฆ์นั้นรู้กันว่า “อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิโต” สละกองโภคะและเครือญาติออกจากเหย้าเรือนบวชเป็นอนาคาริก เริ่มจากเจ้าชายสิทธัตถะทรงสละราชสมบัติเสด็จจากวังออกไปผนวช ไม่คลุกคลีกับชาวบ้านและไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของเขา แต่แนะนำสั่งสอน เพื่อให้เขามีชีวิต ครอบครัว และสังคม ที่ดีงามมีความสุข
(แต่เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวที่ไหน และไม่เป็นฝักฝ่ายกับใคร จึงใช้เมตตาจนถึงอุเบกขา สอนเขาอย่างตรงตามธรรมได้เต็มที่)
ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในเรื่องของสงฆ์ และพระธรรมวินัย
ดังมีคติพุทธที่คนไทยถือกันมาแต่โบราณว่า ผู้บวชแล้ว เมื่อเป็นอยู่ตามพระธรรมวินัย ย่อมพ้นราชภัย
เหตุการณ์สำคัญซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี คือ การแผ่นดินตอนจะสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก ใกล้สวรรคต พระเพทราชา พร้อมด้วยขุนหลวงสรศักดิ์ (ที่ต่อมาเป็นพระเจ้าเสือ) ได้นำกำลังทหารมาล้อมวังเตรียมยึดอำนาจเพื่อกันไม่ให้ ออกญาวิไชเยนทร์ (C. Phaulkon) ขึ้นเป็นใหญ่บัญชาการบ้านเมือง
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมองเห็นว่า เมื่อพระองค์สวรรคต อำมาตย์ราชบริพารผู้ใหญ่จำนวนมากจะต้องถูกจับประหารชีวิต จึงทรงใช้คติพุทธไทยนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยตรัสสั่งให้ราชบุรุษ ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยพระสงฆ์มายังพระราชวัง
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชพร้อมพระสงฆ์มาถึงวัง พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระดำรัสประกาศถวายวังแก่สงฆ์ แล้วพระสงฆ์ก็ทำพิธีผูกสีมา ทำวังให้เป็นโบสถ์ จากนั้น อำมาตย์ราชบริพารคนใดจะมีภัย ก็ขออุปสมบท แล้วสมเด็จพระสังฆราชและพระสงฆ์ก็นำพระภิกษุบวชใหม่ทั้งหมดกลับออกจากวังผ่านกองทหารไปอยู่วัดต่อไป พ้นภัยบ้านเมือง
นี่ก็คือหลักความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักร ใครออกบวชแล้ว รัฐก็ไม่ไปยุ่งเกี่ยว และผู้ที่บวชแล้ว ก็ไม่มาก้าวก่ายทางฝ่ายบ้านเมืองเช่นกัน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจดจำ คือ คราวใกล้กรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าบรมโกษฐ์ (บรมโกศ ก็ว่า) มีโอรส ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (เอกทัศ ก็เขียน) กับเจ้าฟ้าอุทุมพร ทรงมีพระราชประสงค์ให้องค์น้องคือเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ และได้โปรดฯ ให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ไปผนวช (คงคล้ายที่โบราณว่าตัดหางปล่อยวัด) เมื่อพระองค์สวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรก็ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
แต่แล้วไม่ทันไร เจ้าฟ้าเอกทัศน์ต้องการราชสมบัติ ก็ลาผนวชออกมา พระเจ้าอุทุมพรทรงเห็นว่าพระเชษฐาอยากครองราชย์ พระองค์ใฝ่สงบ ทั้งที่เพิ่งครองราชย์ได้ ๒ เดือน ก็ได้ทรงยกราชสมบัติถวาย แล้วเสด็จออกทรงผนวช เจ้าฟ้าเอกทัศน์ก็ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เรียกกันง่ายๆ ว่า พระเจ้าเอกทัศน์
ต่อมาไม่นาน พม่ายกทัพมารุกราน พระเจ้าเอกทัศน์คงไม่ถนัดการศึก เป็นเหตุให้เจ้าฟ้าอุทุมพรต้องลาผนวชมาว่าราชการแผ่นดินรักษาเมือง จนข้าศึกถอยกลับไป
พอข้าศึกพ้นไป พระเจ้าเอกทัศน์ก็ทรงแสดงพระอาการระแวง เกรงว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรจะแย่งราชสมบัติ เจ้าฟ้าอุทุมพรก็ทรงผนวชอีก
ต่อมา พม่ายกทัพมาอีก เจ้าฟ้าอุทุมพรก็ลาผนวชมาช่วยการศึกอีก แต่เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์ทรงแสดงพระอาการระแวง เจ้าฟ้าอุทุมพรก็ทรงผนวชอีก จนได้พระสมญาว่า “ขุนหลวงหาวัด”2
เมื่อพม่ายกมาครั้งไทยเสียกรุงนั้น ในระยะสุดท้าย ราษฎรเมื่อเห็นว่าบ้านเมืองจะล่มแน่แล้ว ถึงกับเขียนข้อความใส่บาตรทูลขอร้องพระภิกษุเจ้าฟ้าอุทุมพร ขอให้ลาผนวชมาช่วยรักษากรุง แต่พระภิกษุ เจ้าฟ้าอุทุมพรไม่ยอมสึกเสียแล้ว ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็แตก
ตามเรื่องนี้ก็ชัดเจนว่าการบวชเป็นเส้นสัญลักษณ์ที่แบ่งเขตพุทธจักรกับอาณาจักร ซึ่งคนไทยรู้กันมาว่าจะไม่ล่วงล้ำก้าวก่ายแทรกแซงกัน
ในสมัยอยุธยา แม้ว่าจะไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับอาณาจักรสยาม ไม่หย่อนกว่าความเป็นศาสนาประจำชาติ (ตามแบบไทยคติพุทธ)
กรณีที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต] ถูกในหลวงรัชกาลที่ ๔ กริ้ว และทรงไล่ออกจากพระราชอาณาจักร แล้วท่านเข้าไปอยู่ในโบสถ์ โดยถือว่าพ้นจากพระราชอำนาจของ ร. ๔ ดังที่เล่ากันมาอย่างขำๆ ก็แสดงถึงการที่คนไทยแม่นยำในคติที่ว่านี้ตลอดมา
คติที่ถือกันมาว่าพระสงฆ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองนั้น ฝังลึกในความคิดความเข้าใจของคนไทยถึงขั้นเป็นไปเองอย่างไม่ต้องสำนึกรู้
จนกระทั่ง แม้แต่เมื่อเมืองไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองไปตามอย่างตะวันตก เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว กฎหมายซึ่งในเรื่องทั่วไปบัญญัติแบบตะวันตก แต่พอมาถึงเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา กลับบัญญัติตามคติไทย เช่น ให้พระสงฆ์ไม่มีสิทธิใดๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นต้น
เชิงอรรถ
- หัวข้อนี้ และหัวข้อที่ ๙ เป็นส่วนเพิ่มเติม (ในช่วงผ่าตัดตาทั้งสองข้าง ใช้วิธีพูดให้เขียนตามคำบอก) เพื่อจะพิมพ์ในปี ๒๕๔๗ แต่แล้วก็เพิ่มส่วนที่เน้นข้อมูลความรู้อีก ๘ หัวข้อ (๔๓ หน้า) และรอจะเพิ่มเติมอีก ยังไม่ได้พิมพ์จนถึง พ.ค. ๒๕๕๐ จึงตกลงให้พิมพ์ครั้งใหม่ นอกจากหัวข้อนี้และหัวข้อที่ ๙ แล้ว ได้เลือก ๓ หัวข้อ (๒๔ หน้า) จาก ๘ หัวข้อที่เพิ่มภายหลังนั้น มารวมพิมพ์ด้วย (คือมีอีก ๕ หัวข้อที่ยังไม่ได้นำมาพิมพ์)
- เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงผนวช และลาผนวช กี่ครั้ง ตำราต่างๆ ว่าไว้ไม่ตรงกัน และไม่ชัดเจน
No Comments
Comments are closed.