- (กล่าวนำ)
- คิดให้ชัด ถ้าจะบัญญัติให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ
- สังคมไทย ไฉนตกต่ำถึงเพียงนี้
- จะเอาวิธีของฝรั่งมาใช้ ก็เจาะจับเอาของจริงมาไม่ได้
- ดูของเขาก็ไม่เอาให้ชัด ด้านของเราก็ห่างเมินจนพร่ามัว
- พูดเรื่องเดียวกัน แต่เถียงกันคนละเรื่อง
- “รู้เขา” แค่เห็นเงามัว ๆ, “รู้เรา” ก็ไม่เห็นเนื้อตัว ผีฝรั่งจึงมาหลอกคนไทย ได้อย่างน่ากลัว
- รู้ความจริงไว้ เพื่อแก้ปัญหา มิใช่เพื่อมาเคืองแค้นกัน ศาสนาประจำชาติแบบฝรั่ง-ไทย มีความหมายตรงข้ามกัน
- เจอความจริงแม้ขื่นใจ ยังรักได้ นั่นคือใจเมตตาแท้ รู้ให้จริงแท้จึงแก้ปัญหา คือเมตตาคู่ปัญญาที่ต้องการ
- พุทธศาสนาประจำชาติ จะเอาไม่เอา อย่าเถียงแบบนักเดา ดูความหมายให้ชัดแล้วจึงตัดสินใจ ให้สมเป็นคนที่พัฒนา
- หาความรู้กันก่อนให้ชัดเจน อย่าเพิ่งใส่ความคิดเห็นเข้าไป
- มองแคบ คิดใกล้ ใฝ่ต่ำ เพราะคิดแต่จะตามเขา จิตของเราจึงตกต่ำลงไป
- “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” มีเมื่อไร คนไทยจะเป็นชาวพุทธได้อย่างดี
- เลิกเสียที ความสับสนพร่ามัว และความขลาดกลัวที่เหลวไหล แน่วแน่ ชัดเจน มั่นใจ คือทางออกอันเดียวของสังคมไทย
- สังคมไทย เลื่อนลอยกันต่อไป หรือเด็ดเดี่ยวด้วยจิตสำนึกที่จะแก้ไข
- คำปรารภ
มองแคบ คิดใกล้ ใฝ่ต่ำ
เพราะคิดแต่จะตามเขา จิตของเราจึงตกต่ำลงไป
ค่านิยมในการตามสังคมตะวันตก หรือตามวัฒนธรรมตะวันตกได้ฝังลึกลงไปในจิตใจของคนไทย จนกลายเป็นสภาพจิตที่ขอเรียกว่าเป็น สภาพจิตแบบผู้ตามและผู้รับ
เวลานี้คนไทยเราแทบไม่รู้ตัวเลย ว่าเรานี้เป็นผู้ตามและเป็นผู้รับตลอดเวลา สภาพจิตนี้มันฝังแน่นจนติดเป็นนิสัย
เวลาเรานึกถึงความเป็นไปในโลกที่มีความเจริญ เรานึกถึงอะไรที่ไหน เราจะนึกถึงความเจริญของตะวันตก และเราจะมองในแง่ว่าเวลานี้มีอะไรใหม่ๆ ในตะวันตก ฝรั่งมีอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ สิ่งเสพบริโภค หรือความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่ออกมาทางเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือในทางวิชาการ เราก็จะคอยมองแบบเตรียมตัวรับว่า เขามีอะไรใหม่ๆ เราจะไปรับเอา และใครจะเป็นคนรับก่อน
ภายในหมู่พวกเรา ถ้าใครรับได้ก่อน คนนั้นก็เรียกว่าเก่ง นำหน้า นำสมัย แทบไม่มีใครที่จะคิดว่าเราก็ต้องนำฝรั่งได้ ทำไมเราจะไม่มีภูมิปัญญาที่จะคิดจะทำอะไรใหม่ได้บ้างหรือ
เวลานี้สภาพจิตแบบผู้ตามรับนี้ติดฝังแน่นเหลือเกิน ความคิดของเราเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ความเจริญจึงเป็นไปในแบบที่คอยรอฟังว่ามีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก แล้วก็คอยตามรับเอา
แม้แต่เมื่อเราพูดว่า เราอยากเจริญแบบตะวันตก หรืออยากเจริญแบบฝรั่งนั้น ความหมายของความเจริญแบบฝรั่ง เราก็มองในแง่ของการ “มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง” ฝรั่งมีอะไรกิน เราต้องมีกินอย่างนั้น ฝรั่งมีอะไรใช้ เราต้องมีใช้อย่างนั้น แล้วก็มาอวดกันในหมู่พวกเราว่าใครได้มีได้ใช้ก่อน อันนี้ก็คือการนำกันเองในการตามเขา ว่าใครจะตามได้ก่อนเท่านั้นเอง เป็นสภาพจิตของผู้คอยรับคอยตาม
ที่จริงนั้น ความหมายของความเจริญแบบฝรั่งยังมีอีกอย่างหนึ่ง เจริญอย่างฝรั่งคือ “ทำได้อย่างฝรั่ง” แต่คนไทยไม่ค่อยมีใครคิดอย่างนั้น คิดแต่เพียงว่าเจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ถ้าอย่างนั้นก็ต้องรอผลิตภัณฑ์ที่เขาทำสำเร็จแล้ว เราก็ไม่เป็นผู้สร้างสรรค์ แต่จะเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับอยู่เรื่อยไป สภาพจิตนี้จะต้องแก้ไข
ฉะนั้น เวลานี้จึงต้องขอย้ำจุดเน้นที่สำคัญคือ ต้องปลุกจิตสำนึกของคนไทยในความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้
ความเป็นผู้นำจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น ถ้าเราคิดว่าเรามีดีอะไรจะให้แก่เขาบ้าง พอเรามีจะให้ เราก็เป็นผู้นำทันที เพราะคนที่จะรับก็ต้องคอยดูเรา แล้วเขาก็ต้องตามที่จะรับจากเรา แต่เมื่อเราจะรับจากเขา เราต้องเป็นผู้ตาม
เวลานี้เราคิดจะรับ เพราะความที่คิดจะรับนั้นเลยทำให้เราเป็นผู้ตาม เพราะว่าเขามีอะไรที่จะให้ซึ่งเราคอยจะรับ เมื่อเราจะรับ เราก็ต้องตามคอยดูเพื่อจะรับจากเขา เมื่อจะรับจากเขา ก็ต้องตามเขาอยู่เรื่อยไป
ฉะนั้น เราจะต้องปลุกคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้มีจิตสำนึกที่จะเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ จิตสำนึกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสร้างขึ้นให้ได้ เพื่อแก้ไขสภาพจิตไม่ดีที่สั่งสมมานานแล้ว
สภาพของคนไทยทั่วไปเวลานี้ อาตมภาพอาจจะมองในแง่ร้ายสักหน่อย แต่ที่จริงคือพูดเน้นในแง่ร้าย ถ้าไม่พูดแง่ร้าย ก็ไม่รู้จักตื่น แล้วก็จะตกอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้น บางทีก็จำเป็นจะต้องว่ากันในแง่ร้าย เป็นการพูดในแง่ร้าย เพื่อปลุกพวกเราให้ตื่นขึ้นมา
สภาพของคนไทยเวลานี้ ขอพูดว่ามีลักษณะ ๓ อย่าง คือ
๑. มองแคบ
๒. คิดใกล้ และ
๓. ใฝ่ต่ำ (คำนี้ขอรุนแรงหน่อย)
มองแคบ คือมัวแต่มองกันไปมองกันมาอยู่ข้างใน ในหมู่พวกเราเอง เหมือนกับไก่ในเข่ง ที่เขาจะเอาไปทำเครื่องเซ่นไหว้ตอนตรุษจีน ไก่มันมองไปมองมา ก็เจอแต่หน้ากัน พอมองกันไปมองกันมามันก็กระทบกระแทกกัน แล้วมันก็ตีกันอยู่ในเข่งนั่นแหละ
แต่ถ้าเรามองกว้างออกไปภายนอก เราก็จะเห็นสภาพความเป็นไปต่างๆ เราจะมองเห็นปัญหาของมนุษยชาติ มองเห็นปัญหาของโลก ที่เราจะต้องช่วยกันคิดแก้ไข แล้วเราก็จะมองเห็นศักยภาพของตนเองในการที่จะร่วมแก้ไขปัญหาของโลก และที่จะช่วยสร้างสรรค์โลกด้วย
ถ้าเรามองกว้างออกไป เราจะเห็นว่า คนไทยเราก็มีศักยภาพในการที่จะช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกได้ เด็กและเยาวชนของเราจะต้องถูกสอนให้มองกว้างออกไป ไม่ใช่มองแคบๆ อยู่แค่ภายในสังคมของตนเอง แล้วก็คิดวกวนติดตันและกระทบกระแทกกันเอง
เด็กของเรายกพวกตีกันเพราะอะไร เพราะมันไม่มีอะไรเป็นจุดมองกว้างและไกล ที่พ้นเลยตัวออกไป
จุดมองที่กว้างและไกลนั้น นอกจากจะเลยตัวออกไปแล้ว ก็เป็นจุดรวมให้แก่ใจของทุกคนที่มองด้วย ให้เหมือนมีคู่ปรับหรือจุดหมายร่วมกันอยู่ข้างนอก ที่จะต้องช่วยกันจัดการ
แต่เมื่อมองอยู่แค่ข้างใน ก็เห็นแต่หน้ากัน พอมองเห็นหน้ากัน มองกันไปมองกันมา ก็กระทบกระทั่งกัน กลายเป็นคู่ต่อสู้หรือเป็นเป้าหมายของกันและกัน เดี๋ยวก็ตีกัน เดี๋ยวก็ชกกัน
เหมือนอย่างเรายืนอยู่ในสนามสักร้อยคน ถ้าไม่มีอะไรจะมองกว้างขวางออกไป เราก็มองหน้ากันเอง เมื่อมองหน้ากันไปมา เดี๋ยวบางคนก็เขม่นกัน แล้วก็กระทบกระทั่งชกต่อยกัน
แต่ถ้ามีอะไรลอยอยู่ในฟากฟ้าไกลๆ สักอันหนึ่ง พอมีใครสะกิดบอก สิ่งนั้นก็จะเป็นจุดรวมสายตา ทุกคนทั้งร้อยหรือทั้งห้าร้อยก็จะมองมุ่งไปยังจุดที่อยู่บนท้องฟ้าอันไกลโน้น เขาจะมองรวมจุดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่นึกถึงการที่จะกระทบกระทั่งกัน
ในสังคมไทยนี้ เราไม่มีเป้าหมายอันสูงส่งเป็นจุดรวมใจ ที่จะทำให้คนไทยมีความสามัคคีมีความคิดรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เพราะฉะนั้น เราจึงอยู่ในลักษณะที่ว่ามองแคบและคิดสั้น แล้วก็มาตีกัน วุ่นวายอยู่ข้างในนี่แหละ ไม่รู้จักจบ
ทำไมจึงว่า คิดใกล้ คือเราคอยรอคอยตามรับจากเขา จึงคิดใกล้ หรือคิดสั้น ไปหยุดไปตันแค่ที่รอเขาทำเท่านั้นเอง เราไม่คิดย้อนเลยไปข้างหลังว่าเขาทำมาอย่างไร และไม่คิดไกลเลยไปข้างหน้าว่า เราจะสร้างสรรค์อะไรให้แก่อารยธรรมของโลกได้บ้าง
เราจะต้องคิดไกลไปข้างหน้า ปัญหาของโลกนี้มีอะไรที่เราจะช่วยแก้ไขได้อย่างไร คนที่จะทำอย่างนั้นได้จะต้องคิดไปไกลๆ วางแผนไปข้างหน้า
อีกอย่างหนึ่ง คือ ใฝ่ต่ำ ความใฝ่ต่ำคืออะไร คือมีความทะเยอทะยาน หวังแต่ลาภยศ มุ่งจะหาวัตถุบำรุงบำเรอความสุข และลุ่มหลงเพลิดเพลินอยู่กับการเสพอามิส ติดยศติดอำนาจ
ความใฝ่อามิสในทางธรรมถือเป็นของต่ำ แต่เราเห็นเป็นสูงไป การอยากได้ผลประโยชน์ อยากเป็นใหญ่เป็นโต อย่างนั้นอย่างนี้ เราถือว่าใฝ่สูง แต่ใฝ่สูงอะไรได้ ที่จริงคือใฝ่ต่ำ สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญที่ไหน
ใฝ่สูง คืออะไร ใฝ่สูงก็คือใฝ่ธรรม ใฝ่ธรรมเป็นอย่างไร ก็คือความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้แก่ชีวิต ให้แก่สังคม อยากจะทำให้สังคมมีความสงบสุข มีสันติภาพ มีความเจริญก้าวหน้า มีความดีงามทั้งหลาย
เด็กของเรามีไหมความใฝ่สูงอันนี้ ไม่มี ถ้ามี ก็หายากอย่างยิ่ง เพราะสังคมของเราสอนเขาให้มีแต่ความใฝ่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องการให้ตัวยิ่งใหญ่ ให้หาลาภ ให้แย่งชิงผลประโยชน์กัน ให้ร่ำรวยที่สุด แล้วเราก็เข้าใจว่าอย่างนี้แหละเป็นความใฝ่สูง
เมื่อเอาความใฝ่ต่ำเป็นใฝ่สูงเสียแล้ว มันก็หลงผิด ทิฏฐิก็ผิด มันจะไปดีได้อย่างไร แล้วความใฝ่สูงที่แท้จริงก็เลยถูกมองข้ามไป จนมองกันไม่เห็น
No Comments
Comments are closed.