- ๑. เรื่องของชาวพุทธ — เทศกาลท้ายฝน
- — ๑. ปวารณา
- — ๒. ตักบาตรเทโว
- — ๓. กฐิน
- กฐิน: บทฝึกวิถีชีวิตประชาธิปไตย บนฐานแห่งการให้และการร่วมมือ
- — ความเป็นมาและเจตนารมณ์ของกฐิน
- — กฐินขยายผล กลายเป็นกิจกรรมของประชาชน
- — รักษาสาระและเจตนารมณ์ไว้ แล้วพัฒนาประเพณีให้มีประโยชน์ยิ่งขึ้นไป
- ความรู้เรื่องวัด – วัดคืออะไร?
- — วัดมีหน้าที่อย่างไร?
- — วัดเกิดขึ้นเมื่อไร?
- — วัดที่มีลักษณะเหมาะสมเป็นอย่างไร?
- — วัดเป็นสมบัติของใคร?
- — วัดมีบทบาทในสังคมไทยอย่างไร?
- — วัดมีฐานะและภาวะแตกต่างกันอย่างไร?
- ๒. หลักของชาวพุทธ
วัดมีหน้าที่อย่างไร?
หน้าที่ของพระที่เรียกว่า “ศาสนกิจ” นั้น โดยย่อมี ๓ อย่าง คือ การศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย การปฏิบัติธรรมวินัย และการเผยแผ่ธรรมวินัย
การเผยแผ่ธรรมวินัย ก็คือ การสอนผู้อื่นให้เล่าเรียนธรรมวินัย และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมวินัย ถ้ากระจายออกให้หมด จึงเป็น ๔ คือ ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมวินัย สอนผู้อื่นให้เล่าเรียนธรรมวินัย และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมวินัย แต่ถ้าย่อลงในแง่บุคคลที่เกี่ยวข้องก็มีเพียง ๒ อย่าง คือ
- ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมวินัย (ด้วยตนเอง)
- เผยแผ่ธรรมวินัยด้วยการสั่งสอนแนะนำ (ให้ผู้อื่นศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมวินัย)
บุคคลที่พระสงฆ์สั่งสอนแนะนำ ให้ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมวินัยนั้นมี ๒ พวก คือ พระสงฆ์ด้วยกันเองพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์หรือชาวบ้านอีกพวกหนึ่ง เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันเริ่มก้าวข้ามเขตแดนของวัดออกมา คือ เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์หรือวัด กับชาวบ้านหรือประชาชน
โดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้าน หรือระหว่างวัดกับประชาชนนั้น เกิดจากที่มาสำคัญ ๒ อย่าง คือ
- การปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับประชาชน คือการเผยแผ่อบรมชาวบ้าน ให้เรียนรู้ และปฏิบัติธรรมวินัย ดังที่กล่าวมาแล้ว
- มีพุทธบัญญัติวางไว้เป็นวินัยของพระสงฆ์ ให้ชีวิตของพระสงฆ์ต้องผูกพันอยู่กับประชาชน ไม่อาจตัดขาดจากสังคมภายนอกได้ คือ ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ที่ชาวบ้านอำนวยให้
ทั้งสองข้อนี้สัมพันธ์กัน คือ วางไว้เพื่อให้การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์กับชาวบ้าน หรือพุทธบริษัททั้งสองฝ่าย (บรรพชิตกับคฤหัสถ์) พึ่งพาอาศัยกัน ผูกพันกันอยู่ และอำนวยประโยชน์แก่กันตามหลักพุทธพจน์ที่ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
“แม้เธอทั้งหลาย ก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรม . . . จงประกาศวิธีดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ (พรหมจรรย์ – มรรค ๘) . . . แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด
“ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิต (ชาวบ้านกับพระสงฆ์) ต่างอาศัยกันและกัน โดยทางอามิสทาน (การให้สิ่งของปัจจัย ๔) กับธรรมทาน (การให้ธรรม) ดำเนินชีวิตอันประเสริฐ (พรหมจรรย์ – มรรค ๘) นี้ เพื่อสลัดโอฆกิเลส กำจัดทุกข์ให้หมดสิ้น ด้วยวิธีการดังกล่าวมานี้”1
และพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่งว่า
“สมณพราหมณ์ (พระสงฆ์และนักบวช) ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตร (ชาวบ้านที่ดี) พึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ คือ
๑) ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา
๒) ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
๓) ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา
๔) ด้วยความเต็มใจต้อนรับ
๕) ด้วยจัดหาอามิสทาน
“สมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน เมื่อได้รับการบำรุงจากกุลบุตร โดยฐานะ ๕ อย่างแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตร โดยฐานะ ๖ อย่าง คือ
๑) สอนให้ละเว้นจากความชั่ว
๒) แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
๔) สอนสิ่งที่เขายังไม่เคยได้เล่าเรียนสดับฟัง
๕) ชี้แจงสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังแล้ว ให้เข้าใจชัดเจน
๖) บอกทางดำเนินชีวิตให้ประสบสุขสวรรค์”2
เมื่อสรุปความตามนี้ โดยยึดบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก จะเห็นว่า พระสงฆ์กับชาวบ้าน มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ต่างฝ่ายต่างให้ ต่างฝ่ายต่างรับ ซึ่งเรียกว่าเป็นหน้าที่ต่อกัน
พระสงฆ์สัมพันธ์กับชาวบ้าน โดย
- ให้ธรรม คือเครื่องบำรุงเลี้ยงชีวิตทางจิตใจ
- รับสิ่งของ คือเครื่องบำรุงเลี้ยงชีวิตทางกาย
ชาวบ้านสัมพันธ์กับพระสงฆ์ โดย
- ให้สิ่งของ คือเครื่องบำรุงเลี้ยงชีวิตทางกาย
- รับธรรม คือเครื่องบำรุงเลี้ยงชีวิตทางจิตใจ
หน้าที่ของพระสงฆ์ต่อชาวบ้าน ก็คือ หน้าที่ของวัดต่อประชาชน เมื่อมองจากด้านของชาวบ้านเข้ามา ก็จะเห็นว่า ชาวบ้านมีความเกี่ยวข้องกับวัด หรือไปวัด ด้วยกิจ ๒ อย่าง คือ
- ไปอุปถัมภ์บำรุงวัดและพระสงฆ์
- ไปแสวงธรรม ด้วยการเล่าเรียนศึกษา และประกอบกิจกรรมที่เป็นกุศล
เมื่อพูดมาถึงตอนนี้ ก็สรุปได้ว่า ศาสนกิจ อันได้แก่หน้าที่การงานหรือกิจกรรมของพระสงฆ์นั้น จัดเป็น ๒ ประเภท พูดสั้นๆ ว่า งานหลักของวัดมี ๒ อย่าง คือ
- กิจการในหมู่พระสงฆ์เอง
- กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชน
เป็นอันว่า วัด มิใช่แต่จะเป็นที่พระสงฆ์อยู่อาศัยและปฏิบัติศาสนกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สำหรับชาวบ้านหรือประชาชนใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลอีกด้วย
No Comments
Comments are closed.