— วัดเป็นสมบัติของใคร?

21 กรกฎาคม 2518
เป็นตอนที่ 13 จาก 16 ตอนของ

วัดเป็นสมบัติของใคร?

มีเรื่องราวเป็นมาว่า ในระยะแรกๆ มีคณะสงฆ์ใหม่ๆ พระภิกษุทั้งหลายเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าดงบ้าง ตามโคนไม้บ้าง บนภูเขาบ้าง ซอกเขาบ้าง ถ้ำบ้าง ป่าช้าบ้าง กลางแจ้งบ้าง ตลอดกระทั่งลอมฟางก็มี ท่านเหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้มีความประพฤติงดงาม น่าเลื่อมใส วันหนึ่งท่านเศรษฐีไปอุทยานแต่เช้า ได้เห็นพระภิกษุเหล่านั้นเดินออกมาจากสถานที่ต่างๆ มีกิริยาอาการสงบงาม จึงเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก และได้เข้าไปหาพระภิกษุเหล่านั้น กล่าวปวารณาว่าจะสร้างวิหาร(อาคารที่อยู่อาศัย) ถวาย โดยตั้งเป็นคำถามว่า

“พระคุณเจ้าที่เคารพ ถ้าข้าพเจ้าสร้างวิหารถวาย พระคุณเจ้าจะอยู่ในวิหารของข้าพเจ้าหรือไม่?”

พระภิกษุเหล่านั้นตอบว่า พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงอนุญาตวิหาร แล้วรับเรื่องไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุใช้วิหารเป็นที่อยู่อาศัยได้

เศรษฐีได้ทราบพุทธานุญาตแล้ว ก็ดีใจ ได้สร้างวิหารขึ้น ๖๐ ห้อง เสร็จแล้วทูลถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีปฏิบัติ ดังข้อความในคัมภีร์ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติต่อวิหารเหล่านั้นอย่างไร?”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“ท่านจงถวายวิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์ทั่ว ๔ ทิศ ทั้งที่มาแล้ว และยังมิได้มา”1

หลักการถวายวัดเช่นนี้ ได้เป็นมาตรฐานที่ถือปฏิบัติตลอดมา

เมื่อมีพุทธานุญาตในเรื่องวิหารแล้ว ก็มีพุทธานุญาตเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้และสิ่งก่อสร้างส่วนประกอบต่างๆ ติดตามมา เช่น พุทธานุญาตให้มีเตียง ตั่ง ม้านั่ง หมอน ฟูก หอฉัน ท่อระบายน้ำ โรงไฟ เป็นต้น

วัดที่สร้างอย่างสมบูรณ์แบบ และมีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่วัดเชตวัน ที่อนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย

อนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นชาวเมืองสาวัตถี แต่เป็นเพื่อนสนิท กับเศรษฐีใหญ่แห่งเมืองราชคฤห์ ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และได้เลื่อมใสกลายเป็นอุบาสกในคราวที่เดินทางมาธุรกิจและเยี่ยม เยียนเศรษฐีผู้เป็นเพื่อนที่เมืองราชคฤห์นั่นเอง เมื่อกลายเป็นพุทธสาวกแล้ว อนาถปิณฑิกเศรษฐีได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย งานชิ้นสำคัญของท่านผู้นี้ก็คือ การสร้างวัดเชตวัน หรือเชตวนาราม ถวายแก่สงฆ์

ในการสร้าง อนาถปิณฑิกเศรษฐีได้ใช้หลักการในการหาสถานที่ที่เหมาะสมอย่างเดียวกับพระเจ้าพิมพิสาร คือที่ไม่ไกลและไม่ใกล้นักจากชุมชนชาวบ้าน เป็นต้น อย่างที่กล่าวมาแล้ว สถานที่ก็เป็นอาราม คือสวนเจ้าเชต ที่กว้างขวางใหญ่โต และมีวิหาร พร้อมด้วยสิ่งก่อสร้างส่วนประกอบอื่นๆ อย่างครบบริบูรณ์ เช่น ซุ้มประตู หอฉัน โรงไฟ กัปปิยกุฎี วัจกุฎี ที่จงกรม โรงจงกรม ศาลาบ่อน้ำ

ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี และมณฑป เป็นต้น๑ วัดเชตวันเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาบ่อยที่สุด คือ ๑๙ พรรษา ในจำนวนพรรษาที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจทั้งหมด ๔๕ พรรษา พระสูตรหรือพระธรรมเทศนาส่วนมากในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสที่วัดพระเชตวันนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — วัดที่มีลักษณะเหมาะสมเป็นอย่างไร?— วัดมีบทบาทในสังคมไทยอย่างไร? >>

เชิงอรรถ

  1. วินย.๗/๒๐๒/๘๗

No Comments

Comments are closed.