- ข้อคิดเห็นต่อคุณลักษณะเด็กไทยในอนาคต
- (คุณสมบัติของเด็กไทย กับการจัดการศึกษา)
- (การพัฒนาความสุข คือการศึกษา)
- (เสรีภาพ อิสรภาพ เสมอภาค บนฐานของการแก่งแย่งหรือสามัคคี)
- (การศึกษาจัดตั้ง ต้องโยงสู่เนื้อแท้ คือพัฒนาคน)
- (โลกาภิวัตน์พาจริยธรรมตะวันตกเข้ามา การศึกษาก็พัฒนาไม่ถึงเป้าหมาย)
- (กัลยาณมิตร ช่วยบ่มอินทรีย์ ให้คนมีความพร้อมในการศึกษา)
- (จะใช้สมาธิ ต้องเข้าใจประโยชน์ และขอบเขต)
- (สติ กับ สมาธิ)
อาจารย์: ก็สมควรแก่เวลา พอดีติดใจอยู่นิดหนึ่ง
ท่านเจ้าคุณฯ: เจริญพร
อาจารย์: ขอเพิ่มเติมที่ว่า อีกคำหนึ่งที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ คือ สติ
ท่านเจ้าคุณฯ: เจริญพร
อาจารย์: สติมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงสมาธิอย่างไรบ้าง
ท่านเจ้าคุณฯ: เจริญพร คือตัวสำคัญเลย สติเรียกว่าตัวนำก็ได้ จะเห็นว่าการฝึกสมาธินั้น จะเริ่มด้วยสติทั้งนั้น สตินี่เป็นตัวจับ ตัวดึง ตัวตรึงตัวกำกับ กำหนดไว้ ไอ้สิ่งนั้นกับจิตเราคือว่า จิตของเรากับสิ่งที่เราต้องการนี่นะ มันคอยจะพลัดกันเรื่อย ลอยหายไปจากกัน เราต้องการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งนี่นะ อ้าวแม้แต่คนอ่านหนังสือนี่ บางทีใจต้องการอยู่กับหนังสือที่อ่าน เดี่ยวไปแล้ว ไอ้หนังสือก็อยู่ของมัน ใจไปอีกทางใช่ไหม นี่คือ พลัดกันแล้ว ทีนี้ทำอย่างไรจะให้ใจของเรากับไอ้หนังสือมันอยู่ด้วยกัน ถ้ามันอยู่ด้วยกันจริง มันก็เป็นสมาธิ แต่ก่อนที่เป็นสมาธิมันอยู่ด้วยกัน ก็ต้องจับมันมาอยู่ด้วยกันก่อน ตอนแรกมันไม่อยู่ด้วยกันใช่ไหม หรือว่ามันจะหายไป มันจะลอย จะหลุดจากกัน จะพลัดกันไป นี่ก็ต้องดึงมันไว้ ไอ้การที่ดึงมันไว้ ตรึงมันไว้ กำกับมันไว้ อะไรเนี่ย เรียกว่าสติ
เอาง่ายๆ ว่า ดึงก็แล้วกัน ใช้ภาษารูปธรรม จึงมี ๒ อย่าง ดึงไว้กับดึงมา
ดึงมา หมายความว่า ไอ้สิ่งนั้นมันผ่านไปแล้ว เช่น ไปอยู่ในความทรงจำ เรื่องนี้เราเคยพบ เคยเห็น เคยรู้ แล้วตอนนี้มันไปอยู่ในความจำแล้ว เราจะใช้ประโยชน์มัน เช่น จะพิจารณาด้วยปัญญา เราก็ระลึกขึ้นมา นึกขึ้นมา คือ ดึงมันขึ้นมา ดึงมาอย่างนี้ เรียกว่า ดึงมา ดึงจากความจำมาให้ปรากฏต่อหน้าที่จะทำงาน นี่เรียกว่าดึงมา
ทีนี้ดึงไว้ สิ่งนั้นมันเข้ามาอยู่ต่อหน้าเราแล้ว เช่น อ่านหนังสืออยู่นี่ แต่มันจะหลุดไปเรื่อย เราก็ดึงไว้ ดึงไว้ ดึงไว้ ดึงไว้ ไม่ให้มันหลุดไป นี่เรียกว่า สติดึงไว้ สติเป็น ๒ อย่างนี้ ดึงไว้กับดึงมานี่แหละ ถ้าไอ้ดึงไว้กับดึงมาไม่ทำหน้าที่ สมาธิมันก็มาไม่ได้ พอดึงไว้ และดึงมา สำเร็จแล้ว ทีนี้ถ้าอยู่ก็เป็นสมาธิ ถ้าไม่อยู่ ไอ้เจ้าดึงนี่ก็ต้องดึงอยู่นั่นแหละ
เพราะฉะนั้นสติมันจะทำหน้าที่ของมันอยู่เรื่อย ในเมื่อสมาธิยังไม่แข็ง พอสมาธิมันแข็งอยู่ตัวแล้ว ไอ้สตินอนแล้ว สติอยู่แฝงตัวอยู่ไม่เป็นเจ้าการแล้ว สมาธิจะเป็นตัวใหญ่ก็คือ เมื่อมันอยู่แล้ว พอมันอยู่ปั๊บก็เป็นสมาธิ แต่ถ้าสมาธิมันไม่อยู่ สติก็ต้องทำงานเรื่อย ดึงไว้ ดึงมา ดึงไว้ ดึงมาอยู่เนี่ย เนี่ยสติก็อย่างนี้ เพราะฉะนั้น สติจะเป็นตัวนำให้สมาธิได้เกิดขึ้น แล้วก็เป็นตัวนำที่จะให้ปัญญาทำงานแล้ว เพราะฉะนั้นสติจึงมีบทบาทสำคัญทั้ง ๒ ด้าน ด้านฝึกสมาธิ ทั้งด้านฝึกวิปัสสนา คือ ปัญญา
เพราะว่าปัญญาจะพิจารณาอะไร จะมองเห็นอะไรได้ สิ่งนั้นต้องอยู่ต่อหน้า อ้าวแล้วมันไม่อยู่ต่อหน้า ทำไง ก็เอาสติจึงมาหรือ อ้าวจะพิจารณาสิ่งนั้นมันก็ลอยไปเสียแล้ว สติก็ดึงไว้ สติดึง ตรึง จับ จับกำหนดไว้ให้มันอยู่หน้า ปัญญากับลูกกะตาก็มองได้ ถ้าหากสิ่งนั้นมันลอยหายไป ไม่อยู่ต่อหน้าปัญญาก็ทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต้องทำงานอาศัยสติ เราจึงพูดกันว่า สติปัญญา
และในการฝึกสมาธิ วิธีฝึกสมาธิจะเริ่มด้วย คำว่า สติ อานาปานสติ อันนี้เป็นวิธีฝึกสมาธิก็คือ มันเอาสตินั่นเองมาเป็นตัวนำในการฝึกให้เกิดสมาธิเท่านี้ เจริญพร
นายกลาย กระจายวงศ์: ครับผม ขอบคุณครับ สำหรับวันนี้ก็ทางคณะก็รบกวนท่านเจ้าคุณมา ถือว่านานนะครับ ๒ ชั่วโมงกว่า
ท่านเจ้าคุณฯ: อ้อ ๒ ชั่วโมงแล้วเหรอ แต่ไม่ทราบว่าในคำถามที่ท่านอาจารย์ส่งมาจะว่าอย่างไร
นายกลาย กระจายวงศ์: กระผมลองฟังดูโดยตลอดแต่ต้นจนจบ คือ คำถามจะถามเป็นข้อย่อยๆ แต่ว่าที่ท่านเจ้าคุณ ได้กรุณาให้ข้อชี้แนะ ชี้นำ ให้ข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ นั้น กระผมคิดและเข้าใจแทนคนอื่นด้วยว่า ครอบคลุมคำถาม แม้จะดูเป็นหลายข้อ แต่ว่าท่านเจ้าคุณก็กรุณาให้ข้ออรรถาธิบายครอบคลุมไปหมดแล้ว และในบางประเด็นที่ได้ฟังแล้วยังสงสัย ข้องใจ คณะที่มาก็ได้ถามอะไรที่สอดคล้องกับที่ทางคณะวิจัยได้ทำอยู่ด้วย กระผม ก็ขอรับรองว่า ครบถ้วนแล้วครับ
ท่านเจ้าคุณฯ: ก็ขอโมทนา ถ้ามีอะไรขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยด้วย
นายกลาย กระจายวงศ์: ไม่มีปัญหาครับ ก็คิดว่าที่ท่านพระครูปลัดฯ ได้บันทึกเทปเอาไว้ก็คงจะถอดเทปฟัง เพื่อจะเสริมความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง
ท่านเจ้าคุณฯ: เจริญพร
นายกลาย กระจายวงศ์: ทางคณะก็ขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณ
ท่านเจ้าคุณฯ: ก็ขออนุโมทนาทุกท่าน เจริญพร นี่เข้าไปสี่โมงเกือบครึ่งแล้ว ไม่ได้ดูนาฬิกา เวลาพูด ๒ ชั่วโมงกว่า
No Comments
Comments are closed.