- การรักษาฐานะของสถาบันพุทธศาสนา
- ปัญหา ฐานะ และภารกิจของพระสงฆ์ ในสังคมปัจจุบัน
- ปัญหาสังคมไทยปัจจุบัน และแนวทางแก้ไข
- — บันทึกประกอบคำบรรยาย
- บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน
- — บทบาทในอดีต
- — บทบาทที่สูญเสียไป
- — ข้อคิดบางประการที่ควรพิจารณาก่อน
- — ฐานะและสภาพปัจจุบันของสถาบันสงฆ์
- — ข้อควรพิจารณาบางประการสำหรับกำหนดแนวทางของบทบาท
- — ข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทในปัจจุบัน
- — บทบาทต่อไปควรเป็นอย่างไร
- พระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน
- — ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับศาสนธรรม
- — ภาพที่พระพุทธศาสนาถูกมอง
- — ภาพที่พระพุทธศาสนามองตนเอง
- — ภาพที่อยากให้เขามอง
- — ภาพที่ควรมีให้เขามอง
- — จุดยืนของพระสงฆ์และพระพุทธศาสนา
- ศาสนจักรกับอาณาจักร: ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับอำนาจการเมือง
- สถาบันสงฆ์และความสัมพันธ์กับสังคม
- ภาคผนวก: วิเคราะห์ปัญหา และลู่ทางแก้ไขปัญหาการศึกษาของสถาบันสงฆ์
- คำนำสำนักพิมพ์
- คำอนุโมทนา
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับศาสนธรรม
ทีนี้หันมาพูดถึงพระพุทธศาสนาบ้าง พระพุทธศาสนานั้น เราอาจจะพูดได้เป็น ๒ แง่ด้วยกัน คือ
ในแง่ที่ ๑ ศาสนธรรม หรือเนื้อหาคำสอนของพระพุทธเจ้า
ในแง่ที่ ๒ สถาบัน ในที่นี้ขอรวมเอาพระสงฆ์ ศาสนวัตถุ วัดวาอาราม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ เข้าอยู่ในประเภทสถาบัน
แง่ทั้ง ๒ นี้มีความสัมพันธ์กัน ศาสนธรรมนั้นเป็นเนื้อหาสาระหรือตัวแท้ตัวจริง เป็นสิ่งที่จะทำให้สถาบันมีความหมาย และมีความสำคัญขึ้นมา หมายความว่า หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานี้แหละเป็นตัวแกนกลางหรือเป็นตัวสาระ ทำให้สถาบันคือพระสงฆ์ วัดวาอาราม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ที่พ่วงมากับพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่เกิดมีความสำคัญขึ้น ถ้าหากว่าศาสนธรรมหมดความหมายไปเสียแล้ว พระสงฆ์ วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ก็จะหมดความหมายหมดความสำคัญไปด้วย อย่างไรก็ตาม ศาสนธรรมก็ต้องอาศัยสถาบันคือพระสงฆ์และวัดวาอารามในการที่จะดำรงคงอยู่ สืบต่อ และแสดงตัวออกมาให้ปรากฏแก่หมู่มนุษย์ เพราะฉะนั้นสถาบันก็เป็นสิ่งสำคัญในแง่ที่เป็นสื่อ สำหรับนำเอาศาสนธรรมมาแสดงให้เห็นความหมาย และความสำคัญเป็นที่ปรากฏและให้เกิดประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นไปตามวัตถุประสงค์คือ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่พหูชน อันเป็นจุดมุ่งหมายในการประกาศพระศาสนา
เมื่อเราพูดถึงพระศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ย่อมหมายความว่า เรากำลังนำเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทีนี้การที่เข้ามาอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเข้าไปเกี่ยวข้องมีบทบาทแสดงออกและทำภารกิจต่างๆ นั้น ก็จะทำให้เกิดสภาวะอย่างหนึ่งที่ปัจจุบันเขาเรียกว่าภาพพจน์ แต่คำว่าภาพพจน์นี้ สำหรับกระผมเองไม่เห็นด้วยที่จะใช้ เพราะตามความจริงนั้น คำว่า ภาพพจน์ นี้ แต่เดิมมาเป็นคำในทางวรรณกรรม เป็นวิธีใช้ถ้อยคำแสดงความหมายให้เด่นชัดหรือกินใจอย่างหนึ่ง มันมีความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เรามาใช้ภาพพจน์ในความหมายใหม่ที่คลาดเคลื่อนออกไป และใช้กันจนกระทั่งว่าเป็นธรรมดาไปเสียแล้ว ถ้าจะให้ตรงความหมายน่าจะใช้ว่าภาพพิมพ์ใจหรืออะไรทำนองนั้น แต่ในที่นี้จะขอใช้เป็นแต่ภาพธรรมดาก็แล้วกัน คือว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน พระพุทธศาสนาก็แสดงตัวให้ปรากฏ หรือมีอาการปรากฏรูปขึ้นในจิตใจของคนที่เพ่งมองว่าเป็นภาพ ทีนี้ภาพที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในสภาวการณ์ปัจจุบันนั้น เราอาจจะพิจารณาหรือวิเคราะห์ได้หลายแง่ด้วยกัน
No Comments
Comments are closed.