- คาถานำ: “เงินทอง ไม่ทำให้หมดกิเลส”
- ชีวิตยาวนาน ที่ผ่านประสบการณ์มากหลาย
- เงินจำนวนใหญ่ คนได้ยินตื่นใจ แต่ควรสนใจว่า สร้างมา และได้ใช้ไปอย่างไร
- เงินทองเป็นของสำคัญ มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์
- ดูชาวบ้านดี ที่การหา รักษา และใช้ทรัพย์
- ทรัพย์ไม่อาจครอบงำจิต หรือบังปัญญา ของอารยชน
- ปุถุชนมุ่งมั่น จะมีทรัพย์และอำนาจ
- อารยชนมีจุดสนใจ ที่วิธีใช้ทรัพย์และอำนาจ
- ทรัพย์และอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือของกิเลส หรือเพื่อเป็นอุปกรณ์ของธรรม
- ทรัพย์ภายนอกมีคุณค่าและความหมาย เมื่อมีทรัพย์ภายในเป็นฐาน
- ทรัพย์สินสำคัญ แต่เราต้องรู้ทัน และข้ามพ้นจุดอ่อนของมัน
- มนุษย์ที่พัฒนา รู้จักสัมพันธ์ ทำให้ทรัพย์ทั้งนอกทั้งในเป็นปัจจัยแก่กัน
- หลักประกันชีวิตขั้นสุดท้าย คือทรัพย์ภายในแห่งความมีธรรม
- นักพัฒนาที่แท้ เจอทุกข์ยิ่งได้ธรรม เจอปัญหายิ่งได้ปัญญา
- ชัยชนะสูงสุด ที่ทำชีวิตให้สมบูรณ์
- คำอนุโมทนา ในการพิมพ์ครั้งแรก
เงินทองเป็นของสำคัญ
มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์
มีข้อที่ควรจะกล่าวตามหลักธรรมว่า ในทางพระศาสนานั้นเรื่องทรัพย์สินเงินทองท่านก็มองเห็นความสำคัญ ว่าเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการที่จะดำรงอยู่ของชาวบ้าน
โดยเฉพาะคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนทั้งหลาย จำเป็นจะต้องมีทรัพย์สินเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ที่จะเลี้ยงชีวิตก็ตาม สิ่งอำนวยความสุขความสะดวกสบายก็ตาม ตลอดจนการที่จะรับผิดชอบต่อหมู่ชนที่แวดล้อม มีครอบครัว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทอง ถ้าขาดทรัพย์สินเงินทองแล้ว ก็เป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทรัพย์สินเงินทองจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่พร้อมกันนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็มีโทษเช่นเดียวกัน โทษของทรัพย์สินเงินทองมีหลายอย่างหลายประการ
ถ้าว่าตามหลักธรรมที่เป็นพื้นฐานก็คือ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อไม่เที่ยง ก็ทำให้คนเราต้องมีสภาพทางจิตใจอย่างหนึ่ง คือ ความห่วงความกังวล นอกจากความห่วงความกังวลแล้ว หลายคนก็จะมีสภาพจิตที่เลยไปกว่านั้น คือความหวงแหน ไม่ว่าจะเป็นห่วงก็ตาม หวงแหนก็ตาม ก็เป็นสภาพจิตที่เป็นความทุกข์ทั้งนั้น
นอกจากนั้น สำหรับหลายคน ทรัพย์สินเงินทองยังเป็นที่มาของการทะเลาะวิวาทแก่งแย่ง จะเห็นได้ว่า บางทีเป็นเหตุให้พี่น้องต้องแตกแยก ทะเลาะวิวาทกัน บางทีแม้แต่พ่อแม่กับลูก ก็ยังทะเลาะกัน
ยิ่งกว่านั้น บางคนมีทรัพย์สินขึ้นมาแล้ว ก็เกิดความหลงใหลมัวเมา ติดในทรัพย์ ในยศ ที่เนื่องมาจากทรัพย์นั้น ทำให้ชีวิตเสื่อมคุณค่าตกต่ำลงจากความดีงาม มัวหมอง ไม่เจริญงอกงามในทางคุณธรรม
บางคนก็อาศัยทรัพย์นั้นเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนกันในโลก แม้แต่การแสวงหาทรัพย์นั้นเอง ก็นำมาซึ่งการเอารัดเอาเปรียบกัน
ความทุกข์ในโลกนี้ เกิดขึ้นมามากมายจากทรัพย์ เพราะฉะนั้น ทางพระศาสนา ท่านจึงให้ความสำคัญแก่เรื่องทรัพย์นี้มาก
No Comments
Comments are closed.