- – ๑ – จากอุบาสก-อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี
- ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน
- เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา — ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด
- ตั้งหลักไว้: ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย
- ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี
- ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง
- พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่ สามารถจัดการให้ดี ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น
- การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้
- สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่
- สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน
- – ๒ – ทัศนะของพระพุทธศาสนา ต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
- ทำไมในคัมภีร์ มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย
- ทำไมในวินัย จึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม
- ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย
- ทำไมจะเป็นพระศาสดา ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย
- เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม
- ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน
- แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม
- ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ ๔ จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม
- อยากเกิดเป็นหญิงหรือชาย จะทำให้เป็นได้อย่างไร
- เปลี่ยนจากนับถือเทพสูงสุดมาถือธรรมเป็นใหญ่ ชาวพุทธจะยืนหยัดไหวไหม
- ไม่รู้จักพระไตรปิฎก-อรรถกถา จะพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชัดได้อย่างไร
- พระเป็นผู้ไปแจกจ่ายธรรมนำสังคม ให้เป็นผู้รับสงเคราะห์จะเหมาะสมได้อย่างไร
- อนุโมทนา
เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา
ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด
เมื่อกี้นี้พันเอกทองขาว ผู้ดำเนินรายการธรรมะร่วมสมัย ได้ถามเกี่ยวกับเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี คิดว่าวันนี้จะไม่ค่อยมีกำลังพูด คือเวลาพูดน่ะพูดได้ แต่ต่อจากนี้ไปจะทรุด พูดครั้งหนึ่งทรุดไปเป็นสิบวัน แต่ก็จะพูดเล็กน้อย
หลายท่านคงได้อ่านหนังสือที่อาตมภาพได้ให้สัมภาษณ์แก่คณะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พิมพ์ออกมาชื่อว่า “ทัศนะของพระพุทธศาสนา ต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี”1
หนังสือเล่มนี้พอดีออกมาตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังพูดกันในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี แต่ความจริงเป็นเรื่องเก่า คือมีผู้สัมภาษณ์ตั้ง ๓ ปีแล้ว (พ.ศ. ๒๕๕๑)
ต่อมาทางคณะผู้สัมภาษณ์ลอกเทปส่งมาให้ตรวจ และเขียนกำกับมาว่า มีผู้ศรัทธาที่มาในคณะสัมภาษณ์นั้นลอกเทปให้ และขณะนี้กำลังป่วยมาก เพราะฉะนั้นอยากจะให้ผู้ที่ป่วยได้โอกาสชื่นใจในสิ่งที่ตนได้ทำด้วยศรัทธา จึงรีบตรวจให้
หนังสือก็ออกมาพอดีเกิดเหตุการณ์นี้ ตรงกันโดยบังเอิญ บางท่านเข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่องที่พูดตอนเหตุการณ์นี้ ความจริงไม่เกี่ยวกันเลย เพียงตรงเวลากัน แต่ก็อาจเป็นประโยชน์
ในตอนที่เกิดเหตุการณ์ถกเถียงเรื่องภิกษุณีกันนี้จริงๆ พอดีเป็นช่วงใกล้วิสาขบูชา อาตมาคิดไว้ว่า วันวิสาขบูชาที่แล้วมานี้ เมื่อมีพิธีทำบุญเวียนเทียน ก็จะพูดเรื่องภิกษุณี แต่พอดีว่าตั้งแต่สงกรานต์จนกระทั่งเลยวิสาขบูชา สายเสียงอักเสบ เกือบไม่มีเสียงพูด ลงมาไม่ได้ เป็นอันว่าต้องงด จึงยังไม่ได้พูดจนบัดนี้ เฉพาะวันนี้ ขอเล่าทัศนะทั่วๆ ไปโดยสรุป คือจะไม่พูดยืดยาว เพราะในหนังสือเล่มนั้นอธิบายไว้หลายแง่แล้ว
เรื่องที่คิดว่าน่าจะพูดมี ๓ ประเด็น
ข้อที่ ๑ เราต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งจิตเมตตา คือมีความปรารถนาดี เพราะว่าผู้หญิง ถ้านับถือพุทธศาสนา ตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้อง เริ่มแรกก็เป็นอุบาสิกา
ถ้าพูดกว้างออกไป ทั้งหญิงและชายก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะปฏิบัติแล้วบรรลุธรรมได้ ในเมื่อทั้งหญิงและชายมีความสามารถนี้ แต่เวลานี้ผู้หญิงมีโอกาสภายนอกเกื้อหนุนน้อยลง เราก็มีความปรารถนาดี คืออยากให้ผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้นที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุผล อย่างที่เรียกว่าให้เต็มตามศักยภาพของตน
เวลานี้มีผู้หญิงที่อยากจะบวชเป็นภิกษุณี แต่พอดีว่าในประเทศไทยเราไม่มีภิกษุณี ถ้าพูดกว้างออกไป ภิกษุณีสายเถรวาทเวลานี้หมดไปแล้ว ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จึงเป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไร
เฉพาะขั้นที่หนึ่งเราทำได้ก่อน คือ ตั้งจิตปรารถนาดีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีโอกาสมากที่สุดที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม
No Comments
Comments are closed.