การสร้างสรรค์เสรีภาพแบบบูรณาการ

27 พฤศจิกายน 2530
เป็นตอนที่ 9 จาก 15 ตอนของ

การสร้างสรรค์เสรีภาพแบบบูรณาการ

เป็นอันว่า จะต้องมีบูรณาการในทุกระดับของพัฒนาการ และมีบูรณาการกันในทุกขนาดย่อยภายในองค์รวมใหญ่ ขอยกตัวอย่างบูรณาการในทุกระดับของพัฒนาการ เช่นว่า เราจะทำอะไรก็ตามในทางการศึกษานี้ สมมติว่าจะพัฒนาคุณสมบัติของมนุษย์ขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ถ้ามีความคิดแบบบูรณาการ ก็จะมีจิตสำนึกที่มองสิ่งซึ่งเราจะทำนั้น ว่าเป็นหน่วยย่อยหรือเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่สัมพันธ์กับส่วนประกอบอื่นภายในองค์รวม เราจะมอง เราจะรู้สึกอย่างนี้ทันทีโดยอัตโนมัติ ต่อจากนั้น เราก็จะมองหาตัวประกอบอื่นที่สัมพันธ์กับมันเพื่อเอามาจัดมาทำด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เราจะพัฒนาเสรีภาพ ในการพัฒนาเสรีภาพ เราจะนึกถึงแต่เพียงเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ นี่เป็นทรรศนะแบบบูรณาการ เราจะต้องมองหาพิจารณาสำรวจว่า มีอะไรเกี่ยวข้องอีกบ้างที่จะมาเข้าร่วมกับเสรีภาพ เพื่อเป็นส่วนช่วยให้เสรีภาพเกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้น ถ้าเราจะมีเสรีภาพที่ถูกต้อง เสรีภาพนั้นจะต้องสร้างขึ้นโดยประสานกับองค์ประกอบอื่นที่สัมพันธ์อิงอาศัยกับมันอยู่ เมื่อองค์ย่อยเหล่านั้นมาประกอบร่วมพร้อมกันแล้ว ก็จะทำให้เกิดความสมดุลแล้วเสรีภาพก็เป็นจริงขึ้นมาได้ องค์ประกอบต่างๆ ที่สร้างสมดุล จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามระดับของพัฒนาการด้วย ในเมื่อองค์ประกอบร่วมกับเสรีภาพนี้ เปลี่ยนไปตามระดับของพัฒนาการ เราก็ต้องคอยตามดูว่าในพัฒนาการระดับใดองค์ประกอบร่วมไหนเปลี่ยนไป แล้วก็ตามบูรณาการกับองค์ประกอบที่เข้ามาใหม่เหล่านั้น จนกระทั่งในที่สุดก็ได้เสรีภาพที่แท้จริง คือค่อยๆ ก้าวหน้าไป ตั้งแต่เสรีภาพระดับต้น จนถึงระดับสูงสุดแห่งพัฒนาการของมนุษย์ที่เป็นเสรีภาพแท้จริงสมบูรณ์ นี่เป็นทรรศนะแบบบูรณาการ ฉะนั้น ในการสอนทุกอย่างขณะนี้ต้องมองแบบร่วมหมด ตั้งต้นแต่สอนจริยธรรมคุณธรรมข้อหนึ่งๆ ต้องดูว่ามันประสานกับองค์ประกอบอื่นอย่างไร ซึ่งเสรีภาพก็เป็นตัวอย่างดังที่ว่ามาแล้ว

เสรีภาพมีองค์ประกอบร่วมอื่นอะไรบ้าง ได้บอกแล้วว่า องค์ประกอบเหล่านี้ไม่คงที่ เปลี่ยนไปตามระดับของพัฒนาการ ซึ่งจะขอเสนอไว้ แต่ตอนแรกต้องเข้าใจความหมายของเสรีภาพก่อน เสรีภาพ คืออะไร เสรีภาพพูดได้ง่ายๆ ก็คือ การทำได้ตามใจ ไม่ต้องขึ้นกับใครอื่น อันนี้พูดง่าย การทำได้ตามใจ ไม่ต้องขึ้นกับใครอื่นนี้ จะมีองค์ประกอบอะไรเข้ามาบูรณาการ องค์ประกอบเหล่านี้ ถ้าพูดสรุปเพื่อให้เห็นความหมายกว้างๆ ก็คือ จะต้องมีตัวคุมภายนอกและตัวคุมภายใน ทั้งตัวคุมภายนอกและตัวคุมภายในนี้จะเปลี่ยนไปตามระดับของพัฒนาการ ตัวคุมนี้มี ๒ แบบ แบบหนึ่งมาในลักษณะ ขัดแย้งและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แล้วไปอีกระดับหนึ่ง จะเป็นองค์ประกอบหรือตัวคุมแบบที่ประสานกลมกลืนกัน และก็สมดุล แบบหนึ่งถ่วงดุล อีกแบบหนึ่งสมดุล แต่ผลก็คือความสมดุลนั่นเอง ต่อไปนี้จะนำเสนอแบบง่ายๆ

ขั้นที่ ๑ ขอเรียกว่าเป็นขั้นที่อยู่ในระดับถ่วงดุล ถ่วงดุลนี้มีลักษณะของการขัดแย้ง เสรีภาพนี้เกิดขึ้นเป็นคู่แย้งกับอะไร อันนั้นแหละคือตัวประกอบที่จะบูรณาการของมัน เสรีภาพที่ว่าคือการทำได้ตามใจไม่ต้องขึ้นกับใครอื่นนั้น ก็คือคู่แย้งกับการอยู่ใต้อำนาจผู้อื่น ซึ่งเป็นตัวบังคับบีบคั้นไม่ให้ทำได้ตามชอบใจ และนี่คือคู่แย้งที่เป็นองค์ประกอบร่วมในบูรณาการ การทำได้ตามชอบใจ กับการอยู่ใต้อำนาจคนอื่น เหมือนบวกหนึ่งกับลบหนึ่ง รวมกันเป็นศูนย์

เมื่อเราพูดถึงเสรีภาพ สิ่งที่มีอยู่แรกเริ่มก่อนพัฒนาการก็คือการอยู่ใต้อำนาจคนอื่นนี้ ซึ่งจะต้องถูกนำมาประกอบการพิจารณา เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่คู่กับเสรีภาพ เป็นคู่แย้ง เป็นเครื่องถ่วงดุล ก็คือการบีบบังคับด้วยกำลังอำนาจ คนเราเมื่อถูกบีบบังคับด้วยกำลังอำนาจ ก็จะมีการดิ้นรน นี่มองในแง่หนึ่ง แต่ถ้ามองในแง่ของฝ่ายบีบคั้นด้วยกำลังอำนาจเป็นหลัก ก็จะมีคู่แย้งเกิดขึ้น คือการดิ้นรนเพื่อเสรีภาพ เพื่อจะทำได้ตามใจ

ทีนี้ความหมายของการทำได้ตามใจไม่ต้องขึ้นกับใครอื่น ในตอนต้นนี่ยังเป็นความหมายอย่างหยาบๆ คือทำตามใจฉัน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง หรือทำได้ตามใจใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง อันนี้เป็นเสรีภาพเบื้องต้นเลย ถ้าหากว่ามีการทำได้ตามใจ ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างอย่างนี้ ก็ย่อมจะมีคู่แย้งของมันตัวเดิมไว้ถ่วงดุล นั่นก็คือการบีบบังคับด้วยการใช้กำลังอำนาจ อันนี้มันต้องคู่กันอยู่ ถ้ามนุษย์พัฒนาการอยู่ในระดับนี้ก็จะมีคู่แย้งแบบนี้อยู่เรื่อยไป แล้วมันก็สมดุลกันอยู่ แม้มันจะมีการพังทลายไปบ้าง แต่แล้วมันก็จะเกิดสมดุลขึ้นใหม่ เพราะมันมีการถ่วงดุลกันอยู่เสมอ

ทีนี้เสรีภาพที่เราต้องการ โดยเฉพาะที่เราเน้นในระบบประชาธิปไตย เป็นเสรีภาพแบบนี้ใช่หรือไม่ คงจะไม่ใช่ ถ้าหากว่าเราไม่ชอบการบีบคั้นด้วยกำลังอำนาจ เสรีภาพที่ว่าทำได้ตามใจใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน อันนี้ตัดสินง่ายๆ ด้วยคู่สมดุล หรือคู่ถ่วงดุลที่เป็นองค์ประกอบร่วมในระบบบูรณาการ เพราะฉะนั้น เสรีภาพแบบนี้ไม่ใช่เสรีภาพที่จะใช้ในระบบประชาธิปไตย ระบบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่ใช้กำลังอำนาจบังคับ ถ้าเสรีภาพมีความหมายแค่นี้ ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่พัฒนาการ และไม่อาจจะมีประชาธิปไตย

ทีนี้ต่อมามีพัฒนาการมากขึ้นๆ คู่แย้งของเสรีภาพหรือการทำได้ตามใจก็เริ่มเปลี่ยนไป มนุษย์พัฒนาขึ้น มีทางเลือกอื่นนอกจากการบีบบังคับด้วยกำลังอำนาจ ซึ่งเป็นระบบพลการ โดยเริ่มมีกฎเกณฑ์เป็นกติกาของสังคมขึ้น อย่างที่เรียกต่อมาว่า กฎหมาย ถึงตอนนี้ก็จะมีการสร้างกฎหมายเป็นกติกาของสังคมขึ้นมา เพื่อจะควบคุมการทำได้ตามใจนั้นให้อยู่ในขอบเขต วิธีนี้ก็มีการลงโทษ คือ ใครละเมิดก็ลงโทษ นี่ก็เป็นคู่แย้ง ทำให้เกิดสมดุลอีกเหมือนกัน เป็นอันว่าเสรีภาพก็พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งโดยมีคู่แย้งคือกติกาของสังคม ซึ่งใครละเมิดเกินขอบเขตก็ถูกลงโทษ เสรีภาพก็มีอยู่ในระดับของพัฒนาการที่มีคู่แย้งให้สมดุลแบบถ่วงดุล ที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

ต่อไปคู่แย้งอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ระบบการคุ้มครองสิทธิส่วนตัว ซึ่งในสังคมที่ไม่พัฒนา ก็คือ การที่คนต่อคนจะมาคุมกันเอง เพราะว่าแต่ละคนก็จะทำตามใจของตน เมื่อทำตามใจตัวก็อาจจะไปละเมิดอีกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็ย่อมจะมีสิทธิส่วนบุคคลที่จะคุ้มครองตัวเองของเขา ก็จะไม่ยอมให้คนนี้ไปละเมิด ก็เกิดการขัดแย้งหรือตอบโต้ขึ้นมา ก็เกิดสมดุลโดยระบบวิธีของการใช้สิทธิส่วนบุคคล

การคุ้มครองตัวเองของแต่ละบุคคลนั้นแหละ เป็นระบบการสร้างสมดุลของเสรีภาพแบบหนึ่ง แต่ในระบบสมดุลของเสรีภาพที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ระบบการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวก็พัฒนาขึ้นมาด้วยโดยคู่เคียงกับกฎหมาย เช่นในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ จะเห็นว่าระบบการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวนี้มีการใช้ในขอบเขตที่กว้างขวาง และเป็นไปอย่างแพร่หลายมาก กล่าวคือ ใครจะละเมิด ใครจะทำอะไรตามใจก็ไม่ว่า แต่อย่ามาละเมิดฉันนะ ถ้าละเมิดฉันละก็ฉันจะ ซู (sue) นะ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีระบบทำนองนี้เข้ามาช่วยในการถ่วงดุลของการใช้เสรีภาพด้วย ฉะนั้น สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนี้ เราจะต้องมองให้ดีว่า เขามีอะไรเป็นเครื่องช่วยในการถ่วงดุล แม้แต่ประเทศที่มีประชาธิปไตยเจริญแล้ว เราก็ยังพบเห็นว่า บางครั้งการรักษาสิทธิส่วนบุคคลนี้เป็นไปอย่างสูงมากทีเดียว มีการ “sue” กันอย่างมากเหลือเกิน ละเมิดสิทธิอะไรกันหน่อยไม่ได้ อันนี้ก็เป็นตัวคุมและคานการใช้เสรีภาพอีกอย่างหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทตัวคุมภายนอก และก็เป็นพัฒนาการในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของคู่แย้งที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตามมนุษย์ยังมีพัฒนาการต่อมาอีก ไม่ได้หยุดแค่นี้ พัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง ก็คือ เสรีภาพที่ต้องการในระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเสรีภาพที่มีความหมายลึกซึ้งกว่านี้ เป็นระบบสมดุลที่จะต้องเข้าไปถึงตัวคุมภายใน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาของเสรีภาพในขั้นที่สอง ซึ่งเป็นระดับของสมดุลที่แท้จริง

ขั้นที่ ๒ เสรีภาพที่พัฒนาขึ้นมาถึงขั้นตัวคุมภายในเป็นอย่างไร ตัวคุมภายในพูดง่ายๆ ก็คือ การปกครองตนเองได้ เมื่อมนุษย์ปกครองตนเองได้ มนุษย์ก็รู้จักใช้เสรีภาพ การตามใจตนเองก็จะมีขอบเขตโดยตัวของมันเอง การปกครองตนเองได้นี้สัมพันธ์กับอะไร สัมพันธ์กับการเป็นอยู่ด้วยปัญญา หรือการใช้ปัญญา คือ รู้จักพิจารณาใช้เหตุผล เข้าใจว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรสมควร อะไรไม่สมควร การล่วงละเมิดต่อผู้อื่นถูกต้องหรือไม่ การทำตามใจตัวเราผู้เดียว ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง เป็นการกระทำที่ถูกหรือผิดเป็นต้น ซึ่งหมายถึงความมีอิสรภาพและสมรรถภาพในทางจิตใจของตัวเอง แล้วจึงแสดงออกมาภายนอกเป็นความสามารถในการแสดงออกอย่างมีเหตุผล ในกรณีเช่นนี้ เสรีภาพในการแสดงออกนั้น มีตัวคุมภายใน คือการปกครองตนเองได้ พร้อมทั้งความสามารถในการแสดงออกอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นตัวคุมที่ทำให้เสรีภาพอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องในทันที

นอกจากนั้น ในเวลาเดียวกันนี้ ก็อาจจะมีตัวคุมที่ประสานอยู่ข้างนอกพร้อมกับตัวคุมภายในด้วย โดยเฉพาะก็ได้แก่ ระเบียบวินัย ในสังคมที่พัฒนาแล้ว และในประชาธิปไตยแบบที่ต้องการ เสรีภาพจะเป็นไปพร้อมกับความมีระเบียบวินัย และพร้อมกันนั้น ก็จะมีความเคารพ เช่น ความเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้อื่น การเคารพสิทธิของผู้อื่น การเคารพต่อที่ประชุม การเคารพต่อคนทุกคน อย่างน้อยที่เห็นง่ายๆ ก็คือ การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และการรับฟังผู้อื่น การเคารพผู้อื่น รับฟังผู้อื่น เป็นต้นนี้ เป็นตัวคุมร่วมภายในให้เสรีภาพอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้อง

เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมาอย่างดีแล้ว องค์ประกอบร่วมกับเสรีภาพก็มีขึ้น เช่น ความเคารพผู้อื่น ความสามารถในการแสดงออกอย่างมีเหตุผล และรู้จักรับฟังเขา องค์ธรรมเหล่านี้ กลายเป็นตัวคุมภายในที่ประกอบกับเสรีภาพ ทำให้เกิดสมดุล เป็นเสรีภาพที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ต้องอาศัยตัวคานหรือตัวคุมที่เป็นคู่ขัดแย้งจากภายนอก ถ้าคนเป็นอย่างนี้ คือพัฒนามาจนมีเสรีภาพแบบนี้แล้ว ก็เป็นอันว่า ไม่ต้องใช้การบีบบังคับด้วยกำลังภายนอก การลงโทษด้วยกฎหมายก็ไม่ต้องมี การใช้สิทธิส่วนตัวคอยคานกันก็ไม่ต้องมี ถ้าหากว่าพัฒนาได้จริงๆ อย่างนี้ ก็เป็นการสร้างบูรณาการในระดับของพัฒนาการที่สูงสุด นี้เป็นตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่า เสรีภาพนั้นต้องสร้างขึ้นโดยมีบูรณาการ โดยทำให้เหมาะให้ถูกต้องกับกระดับของพัฒนาการนั้นๆ

ในเรื่องการพัฒนาเสรีภาพที่ยกเป็นตัวอย่างนี้ ขอตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้

ข้อสังเกตที่ ๑ พัฒนาการของเสรีภาพ เป็นการพัฒนาจากความสมดุลหรือถ่วงดุลแบบคู่ขัดแย้ง มาเป็นการสมดุลโดยความประสานกลมกลืนขององค์ประกอบภายใน โดยเริ่มจากการมีตัวคุมภายนอก แล้วเปลี่ยนมาเป็นตัวคุมภายใน ถ้าพูดด้วยภาษาทางพระก็คือ มันเริ่มพัฒนามาจากการปล่อยตัวตามกิเลส คือการตามใจตนเอง ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ปล่อยตัวให้เป็นไปตามความโลภ ความอยากได้ของตัวเอง ตามความโกรธ ตามโทสะ ตามโมหะของตัวเอง มีโทสะอย่างไรก็จะแสดงออกไป มีความหลงอย่างไรก็จะแสดงออกไป ซึ่งเราเรียกว่าเป็นทาสภายใน คนที่ใช้เสรีภาพตามอำนาจกิเลสก็คือคนที่เป็นทาสภายใน จิตใจเป็นทาสของกิเลส แล้วก็แสดงออกมาภายนอกตามอำนาจของกิเลสนั้น เพื่อจะแสดงตนว่ามีเสรีภาพภายนอก

ทีนี้ต่อมา เมื่อพัฒนาการมากขึ้น ในที่สุดก็พ้นจากอำนาจกิเลส องค์ประกอบที่ทำให้พ้นจากอำนาจกิเลสในขั้นต้น คือ ฉันทะ หมายถึง ความใฝ่รู้ ใฝ่ความจริง ใฝ่ความดีงาม และโยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ส่วนในขั้นสุดท้ายก็คือ ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ มองเห็นตามเป็นจริง ซึ่งทำให้เกิดอิสรภาพภายในขึ้น เมื่อมีอิสรภาพภายในแล้ว การใช้เสรีภาพก็เป็นไปอย่างถูกต้อง คือเสรีภาพที่ชอบธรรมของบุคคล เกิดจากเหตุปัจจัยที่ประสานกลมกลืนกันภายในตัวของเขาเอง นี่เป็นข้อสังเกตที่ ๑

ข้อสังเกตที่ ๒ ความหมายของเสรีภาพในแต่ละระดับของพัฒนาการนี้ โดยเฉพาะใน ๒ ขั้นใหญ่นั้น มันต่างกันไปเล็กน้อย เราจะเห็นว่าในขั้นต้น เสรีภาพ ได้แก่การทำได้ตามชอบใจ ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ทีนี้ ต่อมาเมื่อพัฒนาการสูงขึ้น เสรีภาพก็จะมีความหมายเป็นว่า การทำได้ตามใจ ของจิตใจที่เป็นอิสระโดยใช้ปัญญา หรือการทำได้ตามใจ โดยใช้ปัญญาในภาวะที่จิตมีอิสรภาพ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทที่ ๓ ระบบแห่งบูรณาการการเลียนแบบไม่ใช่การทำได้จริง >>

No Comments

Comments are closed.