- บทที่ ๑ ปัญหาของพัฒนาการ
- จากทรรศนะแบบแยกย่อย สู่ทรรศนะแบบองค์รวม
- การก้าวออกจากยุคอุตสาหกรรม
- บทที่ ๒ บูรณาการกับพัฒนาการ
- บูรณาการประสานกับพัฒนาการ
- บูรณาการในการศึกษา
- การสอนจริยศึกษาแบบบูรณาการ
- บทที่ ๓ ระบบแห่งบูรณาการ
- การสร้างสรรค์เสรีภาพแบบบูรณาการ
- การเลียนแบบไม่ใช่การทำได้จริง
- สาระของเสรีภาพ
- บูรณาการในทุกขอบเขตของการศึกษา
- องค์สามที่การศึกษาจะต้องบูรณาการ
- ระบบบูรณาการพื้นฐานและยอดสุด
- โยงตัวเราเข้าสู่ระบบการพัฒนาและบูรณาการ
โยงตัวเราเข้าสู่ระบบการพัฒนาและบูรณาการ
ที่ว่ามา ๓ อย่างนี้ ก็คือหลักของบูรณาการ ที่เป็นความเชื่อมโยงระหว่างพระรัตนตรัยเอง ทีนี้ก็จะพูดต่อไปถึงว่า พระรัตนตรัยนั้นมาสัมพันธ์กับเราอย่างไร กล่าวคือ ต่อจากความสัมพันธ์ระหว่างองค์ต่างๆ ของพระรัตนตรัยเองแล้ว ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับตัวเรา ว่าเราคือคนแต่ละคนนี้ สัมพันธ์กับพระพุทธอย่างไร สัมพันธ์กับพระธรรมอย่างไร และสัมพันธ์กับพระสงฆ์อย่างไร
เราสัมพันธ์กับพระพุทธโดยที่ว่า พระพุทธเป็นแม่แบบที่ทำให้เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ พระพุทธเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตน จนกระทั่งบรรลุถึงความสมบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้น จึงทำให้มนุษย์ทุกคนเกิดความมั่นใจว่า ตัวเราแต่ละคนนี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ มีศักยภาพในตัวเอง ที่สามารถพัฒนาไปจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าได้
ศรัทธาในพระพุทธ ก็หมายถึงศรัทธาในความเป็นมนุษย์ คือศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ ด้วยศรัทธาในพระพุทธ ก็โยงมาถึงศรัทธาในศักยภาพของตนเอง ที่ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง ทำให้เรามีกำลังใจ และพร้อมกันนั้น ก็เป็นการเตือนใจเราให้นึกถึงหน้าที่ในการพัฒนาตนของมนุษย์ด้วย
ฉะนั้น หลักการเรื่องพระพุทธนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจตัวเราในฐานะเป็นมนุษย์ ว่าจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปให้ถึงที่สุด และพร้อมกันนั้นก็ทำให้คนมีกำลังใจในการที่จะพัฒนาตนอย่างนั้น เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ ถือว่าเป็นหลักการเบื้องต้นที่เป็นตัวสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับพระพุทธเจ้า เป็นศรัทธาพื้นฐานในพระพุทธศาสนา เรียกว่า “ตถาคตโพธิศรัทธา” (ถ้าจะเรียกให้จำง่ายก็ว่า โพธิศรัทธา) แปลว่า ความเชื่อหรือความมั่นใจในปัญญาตรัสรู้ของตถาคต คือ ความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้กลายเป็นพุทธะ ซึ่งโยงมาหาความสามารถของตัวเราเองว่า เรานี้สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นพุทธะได้ ให้เป็นคนสมบูรณ์ได้ ดังมีคาถาบทหนึ่งเป็นคติเตือนใจและเร้าใจไว้ว่า “พระพุทธทั้งที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นผู้พัฒนาตนแล้วนี้ แม้แต่เทวดาก็นอบน้อมนมัสการ” อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นหลักที่พระพุทธศาสนาวางไว้ ให้เชื่อและสำนึกในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตน นี้คือความสัมพันธ์ระหว่างพุทธกับมนุษย์แต่ละคน
ทีนี้ พระธรรมสัมพันธ์กับเราอย่างไร พระธรรมสัมพันธ์กับเราคือ ธรรมนั้นเป็นความจริงในธรรมชาติที่แวดล้อมตัวเราอยู่ และเป็นความจริงในตัวเราเอง ในชีวิตของเราด้วย เป็นกฎเกณฑ์อันแน่นอนที่แผ่ครอบคลุมตัวเราและทุกสิ่ง เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เริ่มแต่หลักความจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราจะทำอะไรให้ได้ผลดี รวมทั้งการพัฒนาตัวของเราเองด้วย เราก็จะต้องเรียนรู้และปฏิบัติเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลที่ดีงาม หรือความเป็นไปอย่างประสานกลมกลืน มิฉะนั้น ผลร้ายจะเกิดขึ้นแก่สิ่งทั้งหลายและตัวเราเอง ดังนั้น การรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับธรรม แต่เราจะปฏิบัติให้ถูกต้องต่อธรรมได้อย่างไร ก็ด้วยการพัฒนาตนให้มีปัญญาเป็นต้น ตามอย่างพุทธะที่เป็นแม่แบบอยู่แล้ว
ต่อไป เรามีความสัมพันธ์กับสงฆ์อย่างไร สงฆ์เป็นแหล่งกัลยาณมิตร เป็นแหล่งที่เราจะไปแสวงหาผู้ที่จะช่วยชี้แจง แนะนำ เร้าเตือนเราให้เดินหน้าไปในการพัฒนาตน เช่น เป็นครู อาจารย์เป็นต้น และเมื่อเราพัฒนาตนไป เราก็เข้าร่วมเป็นกัลยาณมิตรด้วย โดยเข้าเป็นสมาชิกของสงฆ์ ซึ่งเมื่อเราพัฒนาตนแล้ว เราก็กลายเป็นหรือสามารถเป็นกัลยาณมิตรของผู้อื่นต่อไป สงฆ์จึงเป็นแหล่งที่เราหากัลยาณมิตร และเข้าร่วมเป็นกัลยาณมิตรเองด้วย
ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับตัวเรา ถ้าหากว่าชาวพุทธเข้าใจหลักพระรัตนตรัยนี้ถูกต้องแล้ว ก็จะโยงเข้ามาหาระบบบูรณาการทั้ง ๓ อย่างที่ว่ามี มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืน ก็จะเป็นการเข้าสู่ยุคบูรณาการอยู่แล้วในตัว ตกลงว่า ยุคบูรณาการก็หันกลับไปหาหลักพระรัตนตรัยนี้เอง
ขอถามแทรกเข้ามาอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ สิ่งหนึ่งก็คือเทคโนโลยี เทคโนโลยี นี้น่าจะเป็นระบบหนึ่ง แต่ไม่เห็นเลย มันอยู่ที่ไหน เท่าที่สำรวจดู พวกนักปราชญ์ นักคิดต่างๆ เขาก็ไม่ได้จัดเทคโนโลยีเป็นระบบหนึ่งในระบบใหญ่ทั้งหลาย ระบบใหญ่ก็มีเพียงมนุษย์ ระบบนิเวศวิทยา และสังคม หรือมนุษย์ ธรรมชาติและสังคมนั้นแหละ แล้วทีนี้ ในระบบบูรณาการนี้ เทคโนโลยีอยู่ที่ไหน
เทคโนโลยีไม่สามารถเป็นระบบอันหนึ่งได้ มันไม่มีระบบบูรณาการภายในกลุ่มพวกของมันเอง ไม่มีความสัมพันธ์ในระหว่างพวกของมันเองที่ต่างหากจากตัวมนุษย์ เป็นเพียงตัวพ่วงตามของมนุษย์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็ไม่อาจจัดเข้าในจำพวกสิ่งแวดล้อมทั่วไปตามปกติ ซึ่งได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมทางสังคม คือต้องเป็นสิ่งแวดล้อมอีกประเภทหนึ่งต่างหาก และมักจะเป็นตัวการที่ไปทำลายระบบบูรณาการของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วยซ้ำ คือ มันเป็นตัวการในฝ่ายของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งจะไปแทรกแซงบั่นรอนระบบบูรณาการของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือไม่ หรือจะกลับไปช่วยเสริมระบบบูรณาการนั้น ก็อยู่ที่การปฏิบัติของมนุษย์ จึงต้องจัดรวมไว้ในระบบของมนุษย์เอง แต่มันอาจจะกลายเป็นสภาพแวดล้อมส่วนเกิน ที่กลับมาส่งผลทำลายตัวมนุษย์เองก็ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องในระบบของมนุษย์เอง
อนึ่ง เพราะเหตุที่เทคโนโลยีสามารถเป็นสภาพแวดล้อมขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ต่างหากจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ดังนั้น ในการจัดระบบบูรณาการระดับองค์รวมสมบูรณ์ จึงหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า สิ่งแวดล้อมหรือสภาพแวดล้อม และใช้คำว่า ระบบนิเวศหรือใช้ง่ายๆ ว่าธรรมชาติเท่านั้น
ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ตั้งไว้ข้างต้นว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เทคโนโลยีอยู่ที่ไหน ในระบบบูรณาการนี้ แล้วก็ขอตอบเลยว่า อยู่ที่มนุษย์นั่นเอง อยู่ที่มนุษย์อย่างไร เทคโนโลยีก็คือส่วนขยายแห่งศักยภาพทางกายของมนุษย์ หรือเป็นเครื่องมือขยายพิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ เป็นส่วนขยายหรือ extension ของศักยภาพด้านกายของมนุษย์ ซึ่งไปเข้าคู่กับส่วนขยายหรือ extension แห่งศักยภาพด้านจิตของมนุษย์ ด้านจิตของมนุษย์ เมื่อขยายศักยภาพออกไป มันจะเป็นอภิญญา ด้านกายเมื่อขยายศักยภาพออกไป ก็เป็นเทคโนโลยี
มนุษย์ในยุคที่ผ่านมานี้ได้เน้นการพัฒนาศักยภาพด้านกาย จนมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอันมาก แต่ในสมัยก่อนที่มนุษย์จะหันมาพัฒนาศักยภาพด้านกายนั้น เป็นยุคที่มนุษย์สนใจด้านจิตมาก และได้ขยายศักยภาพด้านจิตออกไป มีการบำเพ็ญฌาน ได้อภิญญาสมาบัติกันมากมายไปหมด ซึ่งนับว่าเป็นความเจริญอีกด้านหนึ่งของอีกยุคหนึ่งและเอียงสุดไปข้างหนึ่ง คือไปด้านจิต ส่วนในเวลานี้เราก็ไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง คือไปด้านกายหรือด้านวัตถุ ตอนนี้เมื่อมาถึงยุคบูรณาการ ก็น่าจะทำให้เกิดบูรณาการกันเสียที คือให้มีการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านกายและด้านจิตเข้ามาร่วมกัน แล้วทำให้เกิดสมดุลที่เป็นความสมบูรณ์ของมนุษยชาติ
เป็นอันว่า โดยสรุป พระรัตนตรัยเป็นแม่แบบใหญ่แห่งระบบบูรณาการในระดับแห่งพัฒนาการที่สูงสุด พระพุทธเจ้าเป็นพัฒนาการระดับสูงสุดของมนุษย์ พระรัตนตรัยก็เป็นระบบบูรณาการที่สมบูรณ์สูงสุดขององค์รวมใหญ่ทั้งหมด
เท่าที่บรรยายมา ก็ได้พยายามพูดให้เห็นว่า พัฒนาการกับบูรณาการนั้นต้องดำเนินไปด้วยกัน การศึกษาที่ถูกต้องสมบูรณ์จะเป็นพัฒนาการอย่างมีบูรณาการ แล้วก็เป็นบูรณาการท่ามกลางพัฒนาการด้วย ต้องไปด้วยกันอย่างนี้
ขอให้ท่านผู้ฟังทุกท่าน จงมีทั้งพัฒนาการและบูรณาการประกอบพร้อมกันไป จนกระทั่งเป็นผู้มีคุณสมบัติ คือ มีปัญญา มีความรู้เข้าใจ และให้ปัญญานั้นเจริญถึงที่สุด รู้เข้าใจความจริงที่เป็นสภาวะของสิ่งทั้งหลายโดยถ่องแท้ ที่จะทำให้เกิดมีคุณธรรมทั้งหลายพรั่งพร้อม รวมทั้งฉันทะ คือความใฝ่ดีที่จะกระทำการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วแสดงออกมาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกรุณา คือความใฝ่ที่จะช่วยเหลือให้เขามีความสุขร่วมด้วย อันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม พร้อมนั้นก็ขอให้ทุกท่านประกอบด้วยคุณสมบัติข้อที่ ๓ คือมีความสุข เป็นผู้ไร้ทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระ ปราศจากทุกข์ ปราศจากปัญหา มีความเจริญพรั่งพร้อมบริบูรณ์โดยส่วนตัว และเป็นส่วนร่วมที่มีประโยชน์แก่สังคม โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ
No Comments
Comments are closed.