- ข้อคิดเห็นต่อคุณลักษณะเด็กไทยในอนาคต
- (คุณสมบัติของเด็กไทย กับการจัดการศึกษา)
- (การพัฒนาความสุข คือการศึกษา)
- (เสรีภาพ อิสรภาพ เสมอภาค บนฐานของการแก่งแย่งหรือสามัคคี)
- (การศึกษาจัดตั้ง ต้องโยงสู่เนื้อแท้ คือพัฒนาคน)
- (โลกาภิวัตน์พาจริยธรรมตะวันตกเข้ามา การศึกษาก็พัฒนาไม่ถึงเป้าหมาย)
- (กัลยาณมิตร ช่วยบ่มอินทรีย์ ให้คนมีความพร้อมในการศึกษา)
- (จะใช้สมาธิ ต้องเข้าใจประโยชน์ และขอบเขต)
- (สติ กับ สมาธิ)
ทีนี้ก็อยากจะให้แง่คิดอีกเรื่องหนึ่ง เวลานี้โลกเราก็กว้างไกลเราบอกว่าเป็น โลกาภิวัตน์อะไรต่างๆ โลกไร้พรมแดน โลกถึงกันหมด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ว่า ในทางจิตใจและในทางปัญญามันไม่สอดคล้องกัน มันไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางรูปธรรมที่เป็นโลก ไร้พรมแดนถึงกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปัญญามันก็ไม่รวมกัน ปัญญาความรู้เข้าใจไม่เป็นอันเดียวกัน จิตใจมันก็ไม่เข้ากัน มีแต่แบ่งแยกมากขึ้น ก็เป็นปัญหาอันหนึ่ง คนเราจะมีชีวิตที่ดี ที่สมบูรณ์ก็ต้องประสานกับโลกทั้งหมด หรือสิ่งทั้งปวง จักรวาลทั้งหมดต้องมองได้หมดและก็มีแนวคิดที่หยั่งถึงสิ่งเหล่านี้ได้ มองเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ที่จะประสานได้ ต้องมีแนวคิดที่ประสาน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่มีแนวคิดมันก็อยู่อย่างขัดแย้ง จิตใจของเราเมื่อเรามีความเข้าใจมีความยึดถือมีความเชื่ออย่างหนึ่ง ปัญญามันไม่อำนวย จิตใจมันก็ขัดแย้ง ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงที่โลกไร้พรมแดน จะประสานก็ประสานไม่ได้ มีแต่ความขัดแย้ง แบ่งแยก ทีนี้ก็ต้องมีแนวคิดที่เกิดจากปัญญา ที่รู้เข้าใจความจริงที่ทำให้ประสานเป็นอันเดียวกันได้ ที่รู้ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
อันนี้เป็นปัญหาของอารยธรรม ที่ว่าปัจจุบันนี้ก็อารยธรรมที่เจริญมา ก็เป็นอารยธรรมที่ขัดแย้ง ก็คืออารยธรรมที่ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดว่า จะพิชิตธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ว่า อารยธรรมตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดนี้ ทั้งหมดประมาณเกือบ ๓,๐๐๐ ปีแล้ว ก็เป็นที่รู้กันเลยว่านี่คือแนวคิดพื้นฐานของอารยธรรมตะวันตก ก็คือ มนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์ มีความสำเร็จที่แท้ต้องพิชิตธรรมชาติได้ เอาชนะธรรมชาติได้ตั้งแต่กรีกว่างั้นเถอะ
จากแนวคิดนี้ก็ทำให้เกิดความเจริญงอกงามตามแนวของอารยธรรมปัจจุบัน โดยเฉพาะก็คือ ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาเพื่ออะไรที่แท้ก็เพื่อล้วงความลับของธรรมชาติ ล้วงความลับของธรรมชาติเพื่ออะไร เพื่อจะได้จัดการกับมันได้ แล้วก็พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อจะได้เอาเทคโนโลยีไปจัดการกับธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่าเป็นการเอาชนะธรรมชาติแล้วก็เจริญ จริงๆ วิทยาศาสตร์ก็เจริญ เทคโนโลยีที่เจริญแล้ว พอเทคโนโลยีเจริญก็มาประสานกับแนวคิดที่ว่ามนุษย์จะมีสิ่งเสพบริโภคบริบูรณ์ วัตถุบริบูรณ์ ก็เป็นวัตถุนิยม แนวคิดนี้ก็เลยให้เทคโนโลยีพัฒนาอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม ก็คือเอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบ ก็มาผลิตสิ่งเสพบริโภคให้แก่มนุษย์ ก็สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ
เพราะฉะนั้น แนวคิดของอารยธรรมตะวันตก ก็มีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ เท่านี้ ความเจริญงอกงามทางเศรษฐกิจ อันนี้เป็นจุดหมาย ก็มีวัตถุพรั่งพร้อมเสพบริโภคก็ความสุขก็อยู่ที่เสพอย่างเดียว อันนี้ก็คือตัวแกนของอารยธรรมปัจจุบัน ทีนี้แนวคิดที่เป็นพื้นฐานของทั้งหมดนี้ก็คือจะพิชิตธรรมชาติ
ตอนนี้ก็รู้กันแล้วว่าแนวคิดนี้ไปไม่ได้เพราะมันทำลายธรรมชาติแล้วก็ทำให้เกิดการพัฒนาไม่ยั่งยืน ธรรมชาติแวดล้อม เสื่อมโทรมสลาย มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ เลยต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ แต่ความคิดเปลี่ยนนี้ไม่มีทางไป คือ ไม่มี ความคิดมาแทน มีแต่ว่า ต้องไม่เอาความคิดนี้ แต่ไม่รู้ว่าความคิดที่ถูกเป็นอย่างไร และนี่คือความขัดแย้งปัจจุบัน
ตอนเดิมนั้นขาดตัวมนุษย์ก็คือขัดแย้งกับธรรมชาติ เพราะว่าจะไปพิชิตมันทำร้ายมัน แต่ตอนนี้พอจะไม่ทำร้ายมัน
จะให้ธรรมชาติอยู่ก็มาขัดแย้งกับตัวเองว่าแล้วเราจะเอาอย่างไร ปัญหานี้ก็คือปัญหาของโลกยุคนี้ที่ว่าถ้าแก้ได้ก็ โลกาภิวัตน์ ก็กลายเป็นดีไป แต่นี่ทำอย่างไรเพราะโลกาภิวัตน์ ก็เข้าถึงจุดหมายที่ว่าความจริงสิ่งทั้งหลายมันก็เนื่องถึงกันหมดอยู่แล้ว แต่ว่าพอมันเจริญขึ้นจริงๆ จิตใจ ปัญญามนุษย์มันไม่ให้ มันไม่ถึง มันไม่พร้อม มันไม่รับกัน ก็ต้องแก้ไข หาแนวคิดที่ถูกต้อง
แนวคิตตะวันตกตอนนี้ตันแล้ว ก็มาถึงจุดที่ทำอย่างไรที่จะอนุรักษ์ ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ก็ต้องใช้วิธีจริยธรรม จริยธรรมแบบตะวันตกก็คือ การที่ไม่ยอมตามใจตัวเอง ฝืนใจ จริยธรรมในความหมายของตะวันตกนี้เป็นการฝืนใจ ก็คือเพื่อให้สิ่งอื่น คนอื่นอยู่ได้ เราต้องไม่ตามใจตัวเอง นี่จริยธรรมในความหมายของแบบตะวันตก
สาระของมัน เราก็ต้องไปเข้าใจจริยธรรมในตะวันตกด้วย จริยธรรมที่จริงมันก็คือระบบของการดำเนินชีวิตของเราเอง ที่ว่าเราจะพัฒนาให้ชีวิตดีงามขึ้น เราจะมีศีลธรรม อยู่กับผู้อื่นได้ดี เราต้องมีความสุขในการที่จะอยู่กับผู้อื่น ในการที่จะไปช่วยเหลือเขาด้วย นี่จึงเป็นจริยธรรมที่แท้ ซึ่งมันจะต้องมาด้วยกันกับความสุข จริยธรรมจะแยกจากความสุขไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น
อันนี้ก็กลายเป็นว่าเราไปรับจริยธรรมจากตะวันตก จริยธรรมตะวันตกก็มาถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม ก็จะให้ฝืนใจว่าจะต้องยอมยับยั้งชั่งใจ ไม่ยอมตามใจตนเอง ต้องยอมกินไม่เต็มที่ ไม่เสพบริโภคจนกระทั่งว่าธรรมชาติอยู่ไม่ได้ ต้องยอมให้มันอยู่ได้บ้าง แต่เราต้องงด ลด ความสุข เพื่อให้ธรรมชาติอยู่ได้ เราก็สุขไม่เต็มที่ ถ้าเราสุขเต็มที่ ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้ก็อยู่แค่นี้ นี่คืออารยธรรมตะวันตกปัจจุบันและก็เลยแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมไม่ได้
เพราะว่าตั้งแต่ปี 1972 เกิด Earth Summit การประชุมโลกครั้งแรก การประชุมสุดยอดเกี่ยวกับเรื่องโลกนี้ครั้งแรก ปี 1972 มาจนถึง 1992 อีก ๒๐ ปี ประชุมครั้งที่ ๒ ปรากฏว่าธรรมชาติแวดล้อมยิ่งเสื่อมลง แก้ไม่ได้ ก็คือจิตใจมนุษย์มันไม่สอดคล้องกัน มันไม่เอื้อต่อการที่จะให้ธรรมชาติอยู่มันก็เลยฝืนใจ ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นธรรมชาติก็ทรุดลงไปๆ
แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไร เราก็มาถึงการศึกษาที่ต้องให้เด็กให้มนุษย์มีแนวคิดที่สร้างเป็นทัศนคติต่อโลกและชีวิตอีกแบบหนึ่งที่มองโลกใหม่ แล้วความสุขก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมด แล้วทุกอย่างมันจะเข้าแนวทางที่มันอยู่ได้ ที่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์
ทีนี้มามองดูว่าตามหลักการที่แท้ ท่านมองเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของโลก เรื่องจักรวาลอย่างไร ตะวันตกมองว่ามนุษย์นั้นต่างห่างจากธรรมชาติ เป็นคนละฝ่ายมนุษย์จะต้องจัดการกับธรรมชาติ ต้องพิชิต ต้องเอาชนะมัน พุทธศาสนามองว่าเราไม่ได้พูดว่าโลกหรืออะไร เราว่าสิ่งทั้งหลาย สภาวธรรมบรรดามีก็ถ้าเรียกว่าโลกก็รวมอยู่ในธรรมนี้ เป็นสภาวธรรมทั้งหมด สภาวธรรมในสิ่งทั้งหลายที่รวมกันเป็นจักรวาลเป็นโลกนี้เป็นอะไรต่างๆ มนุษย์ก็เป็นธรรมดาก็รวมอยู่ในนี้ด้วย มันรวมอยู่เอง มันก็เป็นส่วนหนึ่ง
ทีนี้สภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ มันเป็นระบบแห่งความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน สัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กัน เมื่ออันหนึ่งเป็นอย่างไรก็ส่งผลต่ออย่างอื่น ขณะนี้เรามามองธรรมชาติส่วนอื่นกับธรรมชาติส่วนที่เรียกว่า มนุษย์ พอเราแยกเอามนุษย์ออกมามอง มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบใหญ่ เป็นองค์ประกอบและก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่ทั้งเป็นฝ่ายส่งผลและรับผล
เมื่อมนุษย์เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกันนี้ มันก็เป็นส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่ทีนี้เราจะเอาอย่างไรกับมนุษย์ ท่านก็บอกว่าไอ้ระบบทั้งหมดนี้ ที่เรียกว่าโลกก็ได้ มันยังไม่น่าพอใจ ถ้ามองในแง่มนุษย์ก็คือยังมีการเบียดเบียนกันมากใช้คำทางนี้ โลกยังมีการเบียดเบียนมาก ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเบียดเบียนกันน้อยลงหรือหมดการเบียดเบียน มนุษย์ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบเป็นส่วนร่วมและเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในระบบความสัมพันธ์อันนี้
มนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษเป็นองค์ประกอบเป็นธรรมชาติ เป็นปัจจัยที่มีคุณสมบัติพิเศษคือพัฒนาได้ ที่เรียกว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ไม่เหมือนองค์ประกอบอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ฝึกได้ ทำให้มีปัญญาได้ ทำให้มีคุณความดีต่างๆ ได้ มีกุศลได้ มีปัญญาได้ ถ้าเรามาพัฒนามนุษย์ให้เป็นองค์ประกอบที่ดี เจริญในทางกุศล มีคุณสมบัติที่เป็นกุศลมาก มีปัญญามากขึ้น ปัจจัยตัวนี้ก็จะมาเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนระบบนี้ เราพัฒนามนุษย์ในฐานะองค์ประกอบที่เอื้อต่อระบบ เพื่อให้เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุน ก็พัฒนามนุษย์ให้มีคุณสมบัติที่ดี เมื่อแกเป็นคุณสมบัติที่ดีแล้ว แกก็มาช่วยเอื้อต่อระบบความสัมพันธ์นี้ ให้เป็นไปในทางที่มีการเบียดเบียนกันน้อยลง เกื้อกูลกันมากขึ้น ก็จะอยู่ดีขึ้น ถ้าถึงอุดมคติก็เรียกว่าเป็นโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน อันนี้คืออุดมคติทางพุทธศาสนา โลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน
อุดมคติของตะวันตกคือ โลกที่มนุษย์ชนะธรรมชาติทั้งหมด ทีนี้ของเราก็อุดมคติว่าโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน ทั้งหมดร่วมกันโดยมนุษย์เป็นองค์ประกอบที่ไปเกื้อหนุนองค์ประกอบพิเศษเป็นคุณสมบัติพิเศษที่พัฒนาได้ เราก็พัฒนามนุษย์ขึ้นไป เพื่อให้ไปเป็นส่วนร่วมที่ดีที่ไปเกื้อหนุนอันนี้ก็คือหน้าที่การศึกษานั่นเอง เพราะเด็กก็จะต้องมีแนวคิดทัศนคติ การมองโลก มองโลกเป็นระบบความสัมพันธ์ที่เราเองเป็นส่วนร่วมอันหนึ่ง ซึ่งเราเป็นส่วนร่วมพิเศษด้วย ที่จะมาพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตที่ดีของตนเองด้วยและร่วมเกื้อหนุนให้โลกดี ถ้าพัฒนาแนวตะวันตกก็พัฒนาตัวเราเพื่อจะไปเอาชนะที่อื่นหมด นี่ก็แนวคิดคนละอย่าง ลองไปดูในวัฒนธรรมตะวันตกเขาก็จะบอกอย่างนี้ เขาก็บอกของเขานั้นไปฝึกอบรมเด็กขึ้นมาก็คือต้องมองในระยะแข่งขัน เราต้องเหนือคนอื่น แข่งกันตั้งแต่ในโรงเรียนเลยใช่ไหมว่า one-up, one-up ก็หมายความว่า เราต้องเหนือคนอื่น
อันนี้ทำอย่างนี้จึงจะเปลี่ยนแนวคิดนี้ แต่ว่าเปลี่ยนแล้วไม่ใช่ให้ตกอยู่ในความประมาทนะ ต้องปลุกใจให้มีความเข้มแข็งที่ว่ามนุษย์ในแง่หนึ่งถ้าสนองความต้องการในแง่ที่ให้เห็นแก่ตัว มันก็แรงดี โลภะ โทสะนี้ โลภะมันก็เพื่อตัว โทสะก็กำจัดคนอื่น มันแรงมันเข้มแข็งได้มาก ทีนี้จะใช้แนวคิดที่ว่าเกื้อหนุนมันต้องใช้ปัญญามากกว่า แล้วก็ต้องใช้กำลังจิตกำลังใจมากกว่า การศึกษาจะต้องเข้มจริงๆ ไม่อย่างนั้นสู้ไม่ได้
ถ้าการศึกษาเพียงเพื่อพัฒนาเด็กให้มีความสามารถในการแข่งขันเอาชนะผู้อื่นนี้ทำง่ายกว่า ในการศึกษาเดี๋ยวนี้มันก็จะเน้นแค่นี้นะ พัฒนาเด็กให้มีความสามารถในการแข่งขันเอาชนะผู้อื่นในระบบแข่งขันนี้ นี้เราจะเลือกเอาการศึกษาแบบไหน ก็แนวคิดใหญ่ใน ๒ อัน อาตมาว่าต้องเลือกเลยแล้วจะต้องชัด เด็กจะต้องมองโลกในแนวคิดที่เราจะต้องสร้างไว้เป็นจุดหมายว่าจะเอาอย่างไร ท่านอาจารย์มีอะไรไหมตอนนี้
No Comments
Comments are closed.