บทที่ ๑ ปัญหาของพัฒนาการ

27 พฤศจิกายน 2530
เป็นตอนที่ 1 จาก 15 ตอนของ

บทที่ ๑
ปัญหาของพัฒนาการ

ความเจริญแบบยุคอุตสาหกรรม และความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน

เรามาอยู่ในที่นี้ และปัจจุบันนี้ เรียกว่าอยู่ในยุคสมัยที่มีพัฒนาการเป็นอย่างมาก คำว่า พัฒนาการ นี้แปลว่า อาการแห่งความเจริญ อาการแห่งความเจริญนี้เป็นที่ปรากฏทั่วไป ทุกคนก็ยอมรับกันว่า ในสมัยปัจจุบันนี้ โลกมีความเจริญอย่างมากมาย แล้วก็เจริญอย่างรวดเร็วมากด้วย ชีวิตมนุษย์นั้นมีความสะดวกสบายเป็นอย่างยิ่ง อย่างเรามานั่งกันอยู่ในที่ประชุมนี้ ปาฐกถานี้ก็จัดขึ้นในห้องประชุมที่มีเครื่องปรับอากาศอย่างดี อากาศข้างนอกร้อนๆ เราเข้ามาอยู่ข้างในก็เย็น เรียกว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง จัดสรรแก้ไข เอาชนะธรรมชาติ แทนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานกับความร้อน เราก็มาอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย จัดกิจกรรมกันได้โดยสะดวก ในด้านเสียง แม้เป็นที่ประชุมใหญ่ ก็มีระบบเสียง มีเครื่องขยายเสียงมาช่วย ทำให้ได้ยินกันทั่วอย่างชัดเจน

สิ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน ที่ว่าชีวิตมีความสะดวกสบายนั้นมีมากมายเหลือเกิน อย่างเราจะเดินทางไปเชียงใหม่ปัจจุบันนี้ก็ใช้เวลานิดเดียวไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งสมัยก่อนนี้ แม้แต่เป็นพระเจ้าแผ่นดินยาตราทัพไปกว่าจะถึงเชียงใหม่ก็เป็นเดือนๆ ในทางการแพทย์ ถ้าหากว่าเรามีอายุมากขึ้น เรียกว่าเป็นคนแก่ ฟันก็อาจจะหักไป จนกระทั่งหมดปาก ถ้าเป็นสมัยก่อน เราก็จะต้องยอมรับสภาพ คือต้องทนทุกข์ อาจจะต้องเคี้ยวอาหารด้วยเหงือก แล้วก็จะต้องพูดไม่สะดวก พูดไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้เราก็สามารถทำฟันเอามาใส่เป็นเหมือนกับคนทั่วๆ ไป หรือพอจะเทียบกับคนที่ยังหนุ่มยังสาวได้ แม้ว่าตาอาจจะเกิดอุบัติเหตุสูญเสียไป เราก็อาจจะแก้ไข เอามาใส่เปลี่ยนใหม่ได้ หรือว่าบางทีลิ้นหัวใจอาจจะเสีย หรือเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจอาจจะตีบ อะไรต่างๆ ก็ผ่าตัดแก้ไขได้ สมองมีก้อนเนื้องอกก็ผ่าตัดเอาออกทำให้รอดชีวิตไปได้ ซึ่งในสมัยก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้เลย นี่ก็แสดงว่าโลกปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ความเจริญความสะดวกสบายอย่างนี้พรรณนาไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเรายอมรับความเจริญ และเราเห็นความสะดวกสบายอย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับประโยชน์ของวิทยาการที่มีความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า คนจำนวนไม่น้อยในประเทศที่เจริญ โดยเฉพาะคนที่เจริญหรือคนที่เป็นระดับหัวคิดหัวสมองในประเทศที่เจริญแล้ว กลับไม่ค่อยชื่นชมความเจริญเหล่านี้ ไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าเท่าไร และมีไม่น้อยที่กลับหันมาหวาดกลัว เห็นความเจริญเหล่านี้เป็นเรื่องของปัญหา และรู้สึกว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเสียด้วย มีความหวาดกลัวกันว่า สภาพความเจริญอย่างนี้ที่จะมีต่อไป ที่จะเดินหน้าไปนี้ อาจจะนำโลกไปสู่ความพังทลายแตกสลาย และมนุษย์อาจจะต้องถึงกับสูญสิ้นพันธุ์ก็ได้ คนเหล่านี้จึงกลับมาพิจารณาทบทวนปัญหาที่มากับความเจริญที่กล่าวข้างต้นว่ามันเป็นอย่างไร เพราะเหตุไร มันจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้น

ว่าถึงความเจริญอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ เราพูดได้ว่ามันมากับอุตสาหกรรม แล้วก็มากับวิทยาการโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยที่ว่าวิทยาการ ระบบการ สถาบัน อุปกรณ์ต่างๆ นี้ ได้รับการพัฒนาก้าวหน้าในแต่ละด้านละเอียดลงไป ละเอียดลงไป จนกระทั่งว่าคนนี้มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านๆ มากขึ้น เมื่อแต่ละด้านๆ ซอยออกไปๆ ต่างก็มีความเจริญก้าวหน้า มีความรู้เชี่ยวชาญสามารถสร้างสรรค์ความเจริญในด้านของตนกระจายออกไปๆ แล้วเอาความเจริญด้านต่างๆ เหล่านั้นมารวมกันเข้าทั้งหมด ก็กลายเป็นความเจริญก้าวหน้าอย่างมโหฬาร อย่างที่มองเห็นนี้ และเมื่อเจริญอย่างนี้มันก็น่าจะดีแล้ว การที่วิตกกันว่า มันจะเป็นปัญหาถึงขนาดที่ว่ามนุษยชาติอาจจะสูญสิ้นพันธุ์ไปนี้ มันจะเป็นปัญหาขึ้นได้อย่างไร ทีนี้ ถ้าเราประมวลความคิดของคนที่มองเรื่องนี้เป็นปัญหา ก็จะเห็นว่า เขามองเห็นสาเหตุอยู่ ๒ ประการ ซึ่งสาเหตุ ๒ อย่างนี้มีความสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน คือ

ประการที่หนึ่ง เขาเห็นว่า วิทยาการและระบบการต่างๆ เป็นต้น ที่เจริญนั้น เป็นการเจริญออกไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์เดิมที่จะให้เกิดคุณค่าแก่มนุษย์ ไม่คำนึงถึงตัวประโยชน์สุขแก่ชีวิตของมนุษย์ที่แท้จริง คือ มุ่งให้วิทยาการ ให้ระบบการอะไรต่างๆ ในสายของตนนั้นเจริญต่อไปๆ เป็นเส้นตรงให้มากที่สุดของมันเท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งว่า ไปๆ มาๆ แล้วคำนึงถึงแต่ความเจริญเพื่อความเจริญในสายวิชา หรือวิทยาการของตนนั้นจนไม่คำนึงว่ามนุษย์จะเป็นอย่างไร

ประการที่สอง ความเจริญของวิทยาการ และระบบต่างๆ เหล่านั้น มีความคับแคบอยู่กับด้านที่ตนชำนาญพิเศษแต่ละอย่างๆ โดยที่แต่ละด้านแต่ละสายทั้งหมดเหล่านั้น ไม่มาประสานกลมกลืนกัน ไม่เชื่อมโยงกัน เมื่อไม่มาเชื่อมโยงกัน ก็ไม่เกิดความพอดี ไม่เกิดสมดุล เมื่อเสียสมดุลแล้วก็อาจจะเกิดผลเสียอย่างที่กล่าวมาข้างต้น กลับมาเป็นผลร้ายในข้อที่ว่า ความเจริญเหล่านั้นเกิดมาขัดแย้งกัน ทำให้เกิดผลเสียและก่อโทษมหาศาล

ยกตัวอย่างเช่น วิชาการแพทย์ปัจจุบันนี้ได้มีความเจริญเป็นอย่างยิ่งแล้ว และแพทย์ก็มีความชำนาญเฉพาะด้านๆ ของตน มีแพทย์ผู้ชำนาญพิเศษทางด้านสมอง ทางด้านหัวใจ ทางด้านหู ทางด้านตา ทางด้านไต ทางด้านอะไรต่างๆ ซึ่งนับวันแต่จะมีความเจริญแบบจำเพาะด้านจำเพาะสายละเอียดลงไป ซอยลงไปทุกทีๆ ซึ่งความเจริญแบบนี้ บางทีเจริญไปเจริญมา แพทย์มีความรู้สึกที่จำกัดอยู่กับสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องและชำนาญนั้น จนเห็นคนเหมือนกับเป็นเครื่องยนต์ แล้วตนก็ทำงานอยู่กับชิ้นส่วนของเครื่องยนต์นั้นอย่างหนึ่งอย่างเดียวด้วยความชำนาญ พยายามจะรักษาแต่ส่วนนั้นให้สำเร็จ จนกระทั่งเราพูดว่าเป็นการรักษาโรค หรือรักษาตา รักษาหู เป็นต้น ไม่ได้รักษาคน เดี๋ยวนี้เขาพูดกันว่าอย่างนั้น

ทีนี้ เมื่อแพทย์รักษาชิ้นส่วนของร่างกาย รักษาอวัยวะ ไม่ได้รักษาคน บางทีก็เลยลืมนึกถึงความเป็นคน ความสัมพันธ์กับคนก็ไม่มี นอกจากนั้นแล้วก็ยังไม่คำนึงถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนอีก ด้านที่หนึ่ง คือ การรักษาโรคของแพทย์ ส่วนมากจะเป็นการรักษาร่างกาย รักษาอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คนนั้นประกอบด้วยกายกับใจ เมื่อแพทย์ไม่คำนึงถึงความเป็นคน รักษาแต่เฉพาะอวัยวะนั้น ก็ไม่คำนึงถึงจิตใจของคนไข้ นี้เรียกว่าขาดความสำนึกในความเป็นมนุษย์ ไม่คำนึงถึงจิตใจของมนุษย์ ด้านที่สอง มนุษย์นั้นย่อมได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากสังคม แม้แต่ตัวแพทย์เองก็มาสัมพันธ์กับคนไข้ในทางสังคม แต่เมื่อสัมพันธ์กันแพทย์ก็อาจจะไม่ได้คำนึงถึงว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นจะมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของคนไข้อย่างไร ซึ่งจะมีผลไปถึงการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ในที่สุดแล้ว ความชำนาญเฉพาะอย่าง ก็ทำให้มีความรู้สึกคับแคบ แล้วก็เกิดผลเสียขึ้น

ทางด้านเศรษฐกิจ วิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็มีความเจริญมาก แต่ความเจริญของเศรษฐศาสตร์นั้น บางทีก็ลืมนึกถึงความเป็นคนอีกเหมือนกัน จนพูดได้ว่าเป็น เศรษฐศาสตร์แห่งโภคทรัพย์ หรือที่เรียกว่า economics of wealth คือไม่ใช่เศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นอยู่ดีของมนุษย์เสียแล้ว แต่เป็นเศรษฐศาสตร์แห่งตัวเลขเงินตรา เป็นเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งให้มีให้มากที่สุด บริโภคให้มากที่สุด โดยที่ไม่ต้องรู้ว่า ความมั่งมีและการบริโภคที่มากที่สุดนั้น มันจะช่วยให้มนุษย์เป็นสุขได้จริงหรือไม่ เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ชีวิตอย่างไร เป็นต้น นี่ก็เป็นเรื่องของวิชาการอีกด้านหนึ่งซึ่งเจริญออกไปทางด้านเป็นเส้นตรงให้มากที่สุด

การศึกษาวิทยาการต่างๆ ได้แบ่งแยกออกไป ซอยละเอียดเป็นสาขาย่อยๆ และเราก็เรียนกันให้ชำนาญเฉพาะด้านนั้นๆ เมื่อเรียนกันไปกันมาแล้วมันไม่เชื่อมโยงเข้ามาสัมพันธ์กัน เมื่อเรามุ่งแต่ความชำนาญพิเศษทางด้านนั้นๆ ก็ลืมมองความเป็นคน จนบางทีก็ไม่ได้พัฒนาความเป็นคน ความเป็นคนนั้นก็คงอยู่ตามเดิม เคยเป็นอย่างไร ก็คงอยู่อย่างนั้น พูดภาษาทางศาสนาว่า มีกิเลสมาอย่างไรก็มีกิเลสอยู่อย่างนั้น เสร็จแล้วคนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาตัวชีวิตที่แท้นี้ แต่มีความรู้ความชำนาญพิเศษในด้านนั้นๆ ก็นำเอาวิชาการที่ตนได้เรียนรู้นั้นไปใช้ประโยชน์สนองความเห็นแก่ตัว ก็เกิดโทษต่อชีวิตและสังคม แม้แต่การสอนเอง สอนกันไปสอนกันมา โดยมุ่งให้มีความชำนาญพิเศษในด้านนั้นๆ ครูอาจารย์ก็ชำนาญพิเศษเฉพาะในสายของตน ไปๆ มาๆ ก็เลยกลายเป็นอย่างที่เราเรียกกันว่า สอนหนังสือหรือสอนวิชา ไม่ได้สอนคน ก็มีปัญหาอีก ตกลงตัวคนกำลังถูกทอดทิ้งไปเรื่อยๆ เหลือแต่วิชาการสายนั้นๆ

ทีนี้ หันมาพูดถึงตัวความเจริญที่เรียกว่าอุตสาหกรรมเอง อุตสาหกรรมนี้ก็เป็นตัวการสำคัญและเป็นระบบใหญ่ที่ทำให้วิชาการต่างๆ ทั้งหลายพลอยเป็นไปในแนวเดียวกับตนด้วย เพราะวิทยาการต่างๆ เหล่านั้นเจริญเติบโตก้าวหน้าขึ้นมาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ระบบอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร ระบบอุตสาหกรรมนั้นก็มีการแบ่งงานตามความชำนาญเฉพาะด้านอย่างซอยละเอียดทีเดียว เพื่อให้ได้ผลในการผลิตให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ตั้งแต่งานที่ต้องการความชำนาญเฉพาะพิเศษจริงๆ จนกระทั่งว่างานที่ไม่ต้องใช้ความชำนาญอะไร แต่จะต้องทำเฉพาะส่วนนั้นๆ โดยทำเพียงชิ้นเดียว ที่ตนทำจนกระทั่งชำนาญ ยกตัวอย่างเช่น เขามีสายพานที่สำหรับประกอบผลิตภัณฑ์ เรียกว่า assembly line ตอนแรกสายพานนั้นก็ไม่มีอะไร ว่างเปล่า แล้วต่อมาก็เริ่มมีชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์นั้น ถูกเอาเข้ามาใส่เป็นชิ้นแรก จากนั้นสายพานก็เดินต่อไปจนถึงจุดของคนที่สอง ซึ่งเอาส่วนประกอบชิ้นต่อไปผนวกใส่เข้าไปอีก แล้วสายพานก็เดินต่อไป ผ่านคนที่สาม สี่ ห้า ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนเฉพาะ ตามหน้าที่ของตนๆ ใส่เข้าไป เพิ่มเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุด ผลิตภัณฑ์นั้นก็กลายเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์ เช่น อาจจะเป็นรถยนต์ เป็นต้น

ในระบบงานอย่างนี้ เราจะเห็นว่า เขามีความรู้สึกนึกคิดต่อคนที่ทำงานนั้นเหมือนกับเป็นเครื่องจักร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทรถยนต์ฟอร์ดเป็นบริษัทที่มีความคิดสำคัญอันเป็นที่มาของระบบการทำงานแบบนี้ นายเฮนรี่ ฟอร์ดนั้น มีเรื่องเล่าว่า ได้คิดออกแบบที่จะให้คนงานประกอบชิ้นส่วนของรถเข้าเป็นตัวรถ ตั้งแต่เริ่มต้นไป จนกระทั่งถึงเป็นคันรถโดยสมบูรณ์ แกแบ่งหน้าที่หรืองานย่อยออกไปเป็น ๗,๘๘๒ หน่วย แล้วแกก็จัดงานให้เหมาะกับคน แกบอกว่า ในจำนวนงาน ๗,๘๘๒ หน่วยนี้ ๙๔๙ หน่วยต้องใช้คนที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ต่อไป ๓,๓๓๘ หน่วย ใช้คนที่มีกำลังปานกลางระดับธรรมดาสามัญ หรือขนาดเฉลี่ย ที่นี้งานส่วนที่เหลือนอกจากนั้นอีกหลายพันหน่วย ให้ใช้ผู้หญิงและเด็กโตก็ทำงานได้ ที่นี้ ในบรรดางานที่ใช้คนที่มีกำลังไม่แข็งแรงนักนี้ ก็ยังแบ่งออกไปอีก แกบอกว่า ๖๗๐ ชิ้น ใช้คนงานที่ขาด้วนทั้ง ๒ ข้างได้ ต่อไปอีก ๒,๖๓๗ ชิ้น ใช้คนขาเดียวได้ ต่อไป ๒ ชิ้น ใช้คนที่แขนด้วนทั้งหมดได้ คือไม่มีแขนเลย ๗๑๕ ชิ้น ใช้คนแขนเดียวได้ แล้วก็ ๑๐ ชิ้น ใช้คนตาบอดได้

อันนี้ก็เป็นทรรศนะแบบธุรกิจ ที่จริง มองในแง่หนึ่งมันก็ดี คล้ายๆ ว่ารู้จักใช้คนให้เป็นประโยชน์ แม้แต่คนที่ร่างกายบกพร่อง ก็เอามาใช้ประโยชน์ทำงานได้ อันนี้ก็เป็นแง่ที่ดี แต่ทีนี้ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นทรรศนะทางธุรกิจที่ว่าไม่มองคนเป็นคน แต่มองเพียงเพื่อเอามาใช้ประโยชน์สนองความประสงค์ทางธุรกิจ คือมองเหมือนเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ด้านที่หนึ่ง คนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อย ก็มีความบกพร่องทางร่างกาย เป็นคนที่ไม่เต็มบริบูรณ์ทางร่างกาย แต่ความไม่เต็มบริบูรณ์ทางร่างกายนี้ยังไม่สู้กระไร ข้อสำคัญด้านที่สอง มันจะมีผลโยงไปถึงความไม่เต็มบริบูรณ์หรือบกพร่องทางจิตใจด้วย เพราะว่าคนเหล่านี้ เมื่อถูกแบ่งแยกเป็นกลุ่มไปอยู่เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวกของตนเอง ก็มีความรู้สึกว่าตนเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่อง ไม่เหมือนคนอื่น ต้องมาทำงานในหน้าที่นี้ที่ต่ำต้อย แล้วก็ทำให้มีความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ได้มีความรู้สึกบกพร่อง ไม่เต็มทางจิตใจ เป็นปมด้อย เป็นต้น แม้แต่คนที่ร่างกายสมบูรณ์ก็เหมือนกัน เมื่อต้องมาทำงานจำเจเฉพาะอย่าง ก็มีความรู้สึกเบื่อหน่าย แล้วก็เกิดปัญหาทางจิตใจขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ในยุคอุตสาหกรรมคนจึงมีความรู้สึกแปลกแยกสูงมาก

แต่ก่อนนี้เราไม่มีคำไทยสำหรับ alienation เพิ่งมามีในสมัยหลังนี้เอง เราต้องมาคิดบัญญัติศัพท์กันตั้งนาน ในเมืองไทยนี้คำว่า alienation เราพยายามแปลกันต่างๆ และใช้เวลานานพอสมควรทีเดียวกว่าจะได้ศัพท์มาเป็นความรู้สึกแปลกแยก และก็ไม่ทราบว่า ปัจจุบันนี้ตกลงร่วมกันหมดหรือยัง แต่จะเห็นว่า มันเป็นลักษณะจิตใจของยุคอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของความบกพร่องทางจิตใจ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปจากทรรศนะแบบแยกย่อย สู่ทรรศนะแบบองค์รวม >>

No Comments

Comments are closed.