๑. พระพุทธศาสนาในกัมพูชา

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 1 จาก 15 ตอนของ

๓. ยุคพระนคร หรือยุคมหานคร (Angkor)
(พ.ศ. ๑๓๔๕ – ๑๙๗๕)

ยุคพระนคร หมายถึงยุคที่นครวัด นครธม (ตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบและอยู่ทางเหนือของเมืองเสียมราฐหรือเสียมราบ) เป็นเมืองหลวงของกัมพูชา เป็นยุคที่อารยธรรมขอมเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เป็นมหาอาณาจักรยิ่งใหญ่ มีศิลปะโดยเฉพาะสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบฉบับ

ในยุคนี้ พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเจริญรุ่งเรืองคู่เคียงกับศาสนาฮินดูและผสมผสานเข้าด้วยกัน ปราสาทราชฐานต่างๆ ล้วนสร้างอุทิศถวายในพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู ข้อความในศิลาจารึกที่พบก็แสดงถึงอิทธิพลคำสอนของมหายานอย่างชัดเจน และมีคติฝ่ายฮินดูแฝงอยู่ด้วย ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทคงเป็นที่นับถืออยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป แต่ไม่ได้รับความเชิดชูจากราชสำนัก อาจพูดสั้นๆ ว่า พุทธศาสนาเถรวาทอยู่กับประชาชน พุทธศาสนามหายานและฮินดูอยู่กับราชสำนัก แต่ทั้งสามลัทธิศาสนาอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข

ยุคพระนครเริ่มต้นเมื่อหลังจากที่กษัตริย์ชวายกทัพมาโจมตีเจนละ จับพระเจ้ามหิปติวรมันตัดเศียรแล้ว เจ้าชายเขมรซึ่งได้เสด็จไปประทับอยู่ในชวา จะด้วยถูกนำตัวไปอ่อนน้อมหรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม ต่อมาก็ได้เสด็จกลับมาขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๓๔๕ เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงย้ายเมืองหลวงไปตั้งใกล้กับบริเวณที่ต่อมาเป็นนครวัด ประกาศเป็นอิสระจากชวา ปราบปรามรวมเจนละ ๒ ภาคเข้าด้วยกัน ทรงนับถือศาสนาฮินดูลัทธิหริหระ คือ นับถือพระนารายณ์กับพระอิศวรรวมกัน และทรงเริ่มตั้งลัทธิ “เทวราช” (คงจะปรุงแต่งจากแนวความคิดที่ได้มาจากชวา) ประกอบพิธีบูชาอันประกาศถึงการที่ทรงได้รับมอบพระราชอำนาจจากองค์พระผู้เป็นเจ้า โดยมีศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ที่เคารพบูชา ทำให้เกิดเป็นธรรมเนียมของกษัตริย์เขมรโบราณปฏิบัติสืบต่อกันมา

นอกจากนั้น ปราชญ์บางท่านกล่าวว่า ในยุคนี้มีสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายมหายานกับศาสนาฮินดูผสมผสานกันแน่นแฟ้น คือ การที่ได้เกิดมีธรรมเนียมถือศาสนาคนละอย่างเป็นคู่สลับกันระหว่างพระราชากับปุโรหิต กล่าวคือ ถ้าราชาถือพราหมณ์ ปุโรหิตถือพุทธ ถ้าราชาถือพุทธ ปุโรหิตถือพราหมณ์ เป็นประเพณีสืบต่อกันมาหลายร้อยปี

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมข้อนี้ยังไม่พบหลักฐานยืนยันเพียงพอ แต่ที่น่าจะมีหลักฐานชัดเจนมากกว่าก็คือลัทธิเทวราชได้เกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งต้นตำแหน่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าพิธีประจำราชสำนัก (ทำนองพระราชครู) ซึ่งสืบทอดฐานะตามสายตระกูล อันได้แก่ตระกูล “ศิวไกวัลย์” ศิวไกวัลย์ คือ พราหมณ์ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงตั้งให้เป็นเจ้าพิธีประจำลัทธิเทวราชคนแรก พราหมณ์ตำแหน่งนี้มีหน้าที่ประกอบพิธีบูชาเทวราช และประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก เป็นต้น

ในสมัยต่อมาปรากฏว่าพวกตระกูลศิวไกวัลย์นี้มีทรัพย์สมบัติอำนาจเกียรติยศ และอิทธิพลอย่างมากมาย สามารถสร้างเมือง หรือนัยหนึ่งนิคมศาสนาของตนเอง และสามารถเกณฑ์แรงงานประชาชนได้ด้วย นับว่ามีความยิ่งใหญ่มาก จะเป็นรองก็แต่องค์มหากษัตริย์เองเท่านั้น ความรุ่งเรืองของศาสนาฮินดูในรูปนี้มองได้ว่าเป็นการผูกขาดแบบหนึ่ง และในเวลาเดียวกันก็มีผลเสียเป็นเครื่องแบ่งแยกศาสนาฮินดูจากประชาชนและจำกัดตัวเองให้แคบ

ศิวลึงค์ที่เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเทวราชนั้น ประดิษฐานอยู่ในเทวาลัยซึ่งสร้างขึ้นบนยอดภูเขากลางพระนคร เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระเป็นเจ้า ซึ่งสถิตอยู่บนภูเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมหากษัตริย์ก็คือพระเป็นเจ้าที่ทรงสำแดงพระองค์ในโลกนี้ มหากษัตริย์จึงเป็นทั้งราชาและเทพเจ้าในคราวเดียวกัน เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ประทับในปราสาทไม้ แต่เมื่อสวรรคตแล้วพระสรีรศพจะถูกนำไปประดิษฐานในปราสาทที่เป็นเทวาลัย เท่ากับว่าได้ทรงบรรลุสภาวะเดิมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์พระเป็นเจ้า

ต่อมาเมื่อมีการสร้างนครวัดและนครธมขึ้น แผนผังเมืองก็ยิ่งมีรูปร่างเป็นแบบจำลองภาพศูนย์กลางจักรวาลโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือมีเทวาลัยที่ประดิษฐานศิวลึงค์เป็นศูนย์กลาง สร้างขึ้นบนฐานสูงใหญ่ที่ก่อลดหลั่นเป็นชั้นเชิงเรียวสอบขึ้นไปอย่างรูปปิระมิด (ให้มีความหมายเท่ากับตั้งอยู่บนภูเขา) ส่วนด้านนอกก็มีคูเมืองกว้างใหญ่ล้อมรอบเสมือนทะเลรอบเขาพระสุเมรุ และมีกำแพงใหญ่รอบเมืองเสมือนเป็นเทือกเขาใหญ่รายล้อมขุนเขานั้น ถ้ากษัตริย์ผู้สร้างนับถือพระวิษณุ ก็ประดิษฐานรูปพระวิษณุแทนศิวลึงค์ ถ้านับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวร (ได้แก่ พระอวโลกิเตศวร นั่นเอง) แทน และรูปพระพักตร์ของพระเป็นเจ้าก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ย่อมเหมือนกับพระพักตร์ของกษัตริย์ผู้สร้างนั้นด้วย เพราะพระเป็นเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ ก็คือกษัตริย์องค์นั้นนั่นเอง

ในระยะสองศตวรรษแรกแห่งยุคพระนคร กษัตริย์เขมรแม้จะทรงคุ้มครองส่งเสริมลัทธิศาสนาทั้งสาม คือ ศาสนาฮินดูนิกายไศวะ นิกายไวษณพ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ก็ทรงยึดมั่นหนักแน่นในลัทธิไศวะ หลักฐานที่แสดงถึงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในระหว่างนั้นก็มีอยู่หลายอย่าง เช่น พระเจ้ายโศวรมัน ที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๓๒ – ๑๔๕๑) ทรงสร้าง “เสาคตาศรม” ไว้ในพระพุทธศาสนา เป็นคู่กับพราหมณาศรมสำหรับฝ่ายพราหมณ์ พระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนาก็ได้รับความยกย่อง แม้ว่าจะได้เกียรติเป็นรองอาจารย์ในศาสนาพราหมณ์อยู่บ้าง

ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ. ๑๕๑๑ – ๑๕๔๔) ปุโรหิตชื่อกีรติบัณฑิตซึ่งเคยนับถือไศวะมาก่อน ได้หันมานับถือพุทธศาสนา และได้พยายามส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน ท่านได้นำเอาคัมภีร์พุทธศาสนาเข้ามาจากต่างประเทศเป็นอันมาก ในวันสำคัญๆ ท่านจะนำพระพุทธรูปมาสรงน้ำเป็นพิธีใหญ่โต ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๕ – ๑๕๙๓) กระแสศรัทธาก็เปลี่ยนมาเดินข้างพระพุทธศาสนา พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เป็นโอรสของพระเจ้าศรีธรรมราช กษัตริย์แห่งตามพรลิงคะ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ ณ บริเวณเมืองนครศรีธรรมราชหรือไชยา และเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระองค์มีเชื้อสายราชวงศ์กัมพูชาโดยทางพระราชมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงเขมร ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงทรงหันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนานิกายนี้มากขึ้น

ในรัชกาลนี้ อาณาจักรเขมรแผ่ขยายอาณาเขตจากจันทบุรีออกไปทางตะวันตกตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจดประเทศพม่า ทำให้อาณาจักรทวาราวดี ศูนย์กลางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งได้เคยอยู่ในอำนาจของอาณาจักรฟูนัน และได้รับเอกราชเมื่ออาณาจักรฟูนันสลาย (กลาง พ.ศต. ๑๑) ต้องกลับสิ้นอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง (มีศิลาจารึกที่นักประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเชื่อถือกล่าวว่า ทวาราวดีตกเป็นของอาณาจักรเขมรตั้งแต่รัชกาลพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เมื่อกลาง พ.ศต. ๑๕) และใต้ลงไปก็ได้อาณาจักรตามพรลิงคะ ส่วนทางเหนือ ด้านลุ่มแม่น้ำโขง หลักฐานบางแห่งว่า แผ่ไปถึงเมืองเชียงแสน แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าคงถึงเพียงเมืองหลวงพระบาง ศิลาจารึกใน พ.ศ. ๑๕๖๕ ซึ่งเป็นของในรัชกาลนี้ พบที่เมืองลพบุรีบอกความว่า มีภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายมหายานและฝ่ายเถรวาทอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ครั้นสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาซึ่งเป็นโอรสของพระองค์ กลับเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา กระแสศรัทธาและความอุปถัมภ์บำรุงจึงเบนไปทางศาสนาฮินดูอีก แต่ช่วงต่อมานี้ เขมรวุ่นวายกับความไม่สงบภายในเป็นอันมาก

ทางด้านประเทศพม่า ใน พ.ศ. ๑๕๘๗ พระเจ้าอนุรุทธมหาราชหรืออโนรธามังช่อ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พุกาม ทรงเรืองอำนาจ ยกทัพลงมาตีเมืองสะเทิมแห่งอาณาจักรมอญได้ใน พ.ศ. ๑๖๐๐ รวมแผ่นดินพม่าเข้าเป็นอันเดียว ทรงรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบของมอญแห่งสะเทิม และได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางตะวันออก เข้าครอบครองประเทศล้านนา ตลอดลงมาถึงเมืองลพบุรีและทวาราวดี (ความที่ว่านี้เป็นมติของปราชญ์ไทย แต่นักประวัติศาสตร์ฝ่ายตะวันตกกล่าวว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ปราบปรามได้ลพบุรีแล้ว แผ่อำนาจตามชนมอญที่อพยพร่นถอยมาจนถึงเขตอาณาจักรมอญเมืองสะเทิมในพม่าจะรุกรานเข้าไปอีก แต่ถูกทัพของพระเจ้าอนุรุทธมหาราชตีแตกล่าทัพกลับมา เขตแดนระหว่างเขมรกับพุกามจึงหยุดอยู่เพียงนั้น คือ ลพบุรีและทวาราวดียังคงเป็นของเขมร หาเป็นของพุกามไม่) อำนาจของพระเจ้าอนุรุทธแผ่ไปถึงที่ใด พุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามก็แผ่ไปถึงที่นั้น

ในระหว่างนี้ ชนเผ่าไทยได้อพยพลงมาจากจีนภาคใต้เข้ามาอยู่ในล้านนาและล้านช้างมากขึ้น แล้วเลื่อนต่อลงมาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เข้าแทรกกลางแยกระหว่างมอญพม่ากับเขมร และตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรทั้งสองนั้นตามแต่ถิ่นแดนที่ตนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ส่วนทางด้านตะวันออก ชนเผ่าอันนัมซึ่งรับพระพุทธศาสนาแบบมหายานและวัฒนธรรมต่างๆ จากจีน และได้ตั้งตัวเป็นอิสระจากจีนสำเร็จ สถาปนาอาณาจักรนามเวียด (ต่อมาเป็นเวียดนาม) ขึ้นทางเหนือของอาณาจักรจัมปา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๘๒ ก็กำลังมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้น กำลังเป็นคู่สงครามกับจัมปา อำนาจใหม่ทั้งสองที่กำลังก่อขึ้นทางตะวันตก (ไทย) และทางตะวันออก (เวียดนาม) จะมาเป็นเครื่องบั่นรอนอาณาจักรเขมรลงในกาลต่อไป

ต่อมาลุ พ.ศ. ๑๖๕๖ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ ทรงได้นามว่าเป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร ที่เป็นเช่นนี้เพราะเวลานั้น ทางด้านการปกครองก็เข้มแข็งด้วยอาศัยระบบเทวราชเป็นเครื่องรวบรวมและควบคุมกำลังไพร่พลได้เต็มที่ ทางด้านเศรษฐกิจบ้านเมืองก็อุดมสมบูรณ์ด้วยระบบชลประทานที่จัดไว้อย่างดี ประกอบกับองค์กษัตริย์เองก็เป็นนักรบที่เกรียงไกรจึงทรงแผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางถึงไทยภาคเหนือ ภาคกลางจดพม่า ภาคใต้ถึงอ่าวบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) ทางตะวันออกจดขอบปากแม่น้ำแดงในแคว้นตังเกี๋ย ทรงปราบอาณาจักรจัมปาลงและยึดครองไว้ได้ประมาณ ๔ ปี กษัตริย์องค์นี้ทรงนับถือศาสนาฮินดูหนักไปทางด้านลัทธิไวษณพ และได้ทรงผสมผสานลัทธิไศวะกับไวษณวะเข้าด้วยกันจนกลมกลืนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า เกิดเป็นลัทธิวิษณุราชขึ้นแทนลัทธิเทวราช ทรงสร้างนครวัดอันได้ชื่อว่าเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก (สิ่งก่อสร้างอื่นที่มีขนาดทัดเทียมคือ ปราสาทบันไทชมาร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ณ เชิงเขาดงเร็กในเขมรเอง และมหาเจดีย์ปรมพุทธะ-Borobudur ในชวา) มีวิษณุเทวาลัยที่ประดิษฐานเทวรูปทองคำแห่งพระวิษณุเทพทรงครุฑตั้งอยู่ศูนย์กลาง บริเวณทั้งหมดมีเนื้อที่ถึง ๘๕๐x๑,๐๐๐ เมตร คูล้อมรอบกว้างถึง ๒๐๐ เมตร อย่างไรก็ดี ตอนปลายรัชกาล ทัพที่พระองค์ส่งไปรบตังเกี๋ยประสบความพินาศย่อยยับ งานก่อสร้างอันมโหฬารและนโยบายรบอันบ้าบิ่นของพระองค์ ทำให้อาณาจักรเขมรเมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้ว ต้องจมสู่ห้วงแห่งความทุกข์ยากไปเป็นเวลานาน ส่วนพระองค์เองเมื่อสวรรคตแล้วก็ได้รับเฉลิมพระนามาภิไธยว่าพระบรมวิษณุโลก

อาณาจักรเขมรรุ่งเรืองขึ้นอีกเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนในนิกายมหายานที่มีศรัทธาแรงกล้า ทรงมีสิทธิขึ้นครองราชย์สืบแทนพระราชบิดาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๐๓ แต่อนุชาองค์หนึ่งของพระองค์ขึ้นครองราชบัลลังก์เสียก่อน ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงไม่ทรงประสงค์ให้เกิดสงครามกลางเมืองอันจะให้เกิดความเดือดร้อน จึงทรงหลีกทางให้ และเสด็จลี้ภัยไปอยู่ในอาณาจักรจัมปา ต่อมาใน พ.ศ. ๑๗๒๐ กษัตริย์จามแห่งนครจัมปายกกองทัพเรือเข้าจู่โจมเขมรโดยไม่ทันรู้ตัว ยึดเมืองหลวงได้ ทำลายนครวัดลง กษัตริย์เขมรสวรรคตในระหว่างเกิดเหตุร้าย บ้านเมืองเกิดจลาจลวุ่นวาย เจ้าชัยวรมันจึงเสด็จกลับมา ทรงตีทัพจามแตกพ่ายกลับไป จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยแล้ว ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๗๒๔ เมื่อปราบศึกภายในแล้ว ก็ทรงยกทัพไปปราบอาณาจักรจัมปายึดเอาเป็นเมืองประเทศราช นอกจากนั้น ยังทรงแผ่อาณาเขตออกไปอีกทั้งทางทิศเหนือและทิศอื่นๆ จนอาณาจักรเขมรสมัยนั้นมีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่าในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒

ในด้านศาสนาทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจนเจริญแพร่หลาย ทำให้การบูชาพระศิวะและพระวิษณุเสื่อมลงไป ทรงตั้งลัทธิพุทธราชขึ้นมาแทนลัทธิเทวราช และได้ทรงสร้างนครธม (แปลว่ามหานคร) ขึ้นเป็นราชธานี โดยมีพุทธวิหารบายนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (พุทธราช) ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลาง ยอดวิหารหรือปราสาทบายนเป็นปรางค์ทอง มีเศียรพระโลเกศวร (ได้แก่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) ๔ พักตร์ กำลังอมยิ้ม หันมองทั้งสี่ทิศเหมือนดังพระพรหม รูปและพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ก็คือรูปและพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันนั่นเอง เพราะพุทธราชก็คือราชาผู้เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระเจ้าชัยวรมันเป็นทั้งพระราชาและพระพุทธเจ้า ทั้งนี้คงเป็นด้วยพระเจ้าชัยวรมันทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จนรู้สึกพระองค์ว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ทอดพระเนตรตรวจตราประชาสัตว์ แผ่พระเมตตากรุณาออกไปคุ้มครองตลอดทั่วทุกทิศแห่งผืนแผ่นดิน รอบวิหารบายนนั้นมีเศียรสี่พักตร์เช่นนี้แต่ขนาดเล็กลงมา อยู่บนยอดซุ้มประตูและปรางค์ทั้งหลายที่รายรอบทั้งชั้นในและชั้นนอก รวมประมาณ ๕๐ เศียร คูล้อมเมืองวัดโดยรอบยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร

นอกจากนครธมและปราสาทบายนนี้แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ยังทรงสร้างวิหารปราสาทอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทตาพรหม (อุทิศราชมารดา จัดให้เป็นวิหารสำหรับอยู่อาศัยและเป็นสถานศึกษาของภิกษุสงฆ์) ปราสาทชัยศรี หรือปราสาทพระขรรค์ (อุทิศเป็นที่ประดิษฐานรูปราชบิดา) เป็นต้น ทรงสร้างพระพุทธรูปเป็นศิริมงคลแก่ราชอาณาจักรเรียกชื่อว่า “พระชัยพุทธมหานาถ” ประดิษฐานไว้ในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ (ในเขตไทยมีที่ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สิงห์บุรี เป็นต้น) และให้แห่อัญเชิญมาทำพิธีสนานพร้อมกันที่ปราสาทพระขรรค์ชัยศรีในเดือน ๙ ทุกปี นอกจากนี้ ทรงสร้างถนนสายใหญ่มากมาย มีถนนไปสู่กรุงจามและสู่เมืองพิมาย เป็นต้น ระหว่างทางก็ทรงสร้างอัคคิศาลาเป็นที่พักคนเดินทาง ๑๒๑ แห่ง โรงพยาบาล ๑๐๒ แห่ง พร้อมด้วยยา พยาบาล ผู้แจกอาหาร สวนบ่อ และสระน้ำ ทรงขยายระบบชลประทานให้กว้างขวางออกไปอีก งานสร้างวัด (วิหาร) และสิ่งสาธารณูปโภคเหล่านี้ สันนิษฐานว่าคงทรงดำเนินตามพระจริยาวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราช

มีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในรัชกาลนี้ที่ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในกัมพูชาสมัยต่อๆ มา คือ ตอนต้นของรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นี้ ตรงกับตอนปลายของรัชกาลพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชแห่งประเทศลังกา เวลานั้นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในลังกาได้รับการฟื้นฟูและอุปถัมภ์บำรุง เจริญรุ่งเรืองขึ้นทั้งการศึกษาและการปฏิบัติ เป็นที่เลื่องลือทั่วไป มีภิกษุสามเณรจากประเทศต่างๆ ไปศึกษาเล่าเรียนจนกลายเป็นศูนย์กลางใหญ่แห่งพุทธศาสนศึกษา

อยู่มาใน พ.ศ. ๑๗๓๓ พระภิกษุมอญรูปหนึ่งชื่อ ฉปตะ ซึ่งเดินทางจากพม่าติดตามพระมหาเถระมอญท่านหนึ่งไปยังลังกาตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ ๑๐ ปี และอุปสมบท แล้วเดินทางกลับมายังประเทศพม่า ดำเนินงานอบรมสั่งสอนและให้การอุปสมบทตามแบบที่รับมาจากลังกา ทำให้ชาวพุทธพม่าตื่นตัวในการศึกษาปฏิบัติขึ้นอีกพร้อมกับทำให้พระสงฆ์พม่าแตกแยกนิกายออกไป ในการเดินทางกลับมานั้น พระฉปตะได้นำพระภิกษุชาวต่างชาติร่วมเดินทางมาด้วย ๔ รูป ในจำนวนนี้รูปหนึ่งชื่อ ตามลินทะ เป็นผู้ที่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระตามลินทะจะเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในกัมพูชาหรือไม่ก็ตามที แต่พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาที่เข้ามาใหม่นี้ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว ทั่วคาบสมุทรอินโดจีนตอนกลาง และรวมถึงอาณาจักรเขมรทั้งหมดด้วยในที่สุด

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๑ และได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “มหาปรมเสาคต” (เท่ากับ มหาบรมสุคต ซึ่งมาจากพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือ พระสุคต) แต่นั้นมาอาณาจักรเขมรก็อ่อนแอทรุดโทรมลงโดยลำดับ แม้กระเตื้องขึ้นบางคราวก็ไม่กลับคืนสู่ฐานะอันยิ่งใหญ่อีกต่อไปเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุสำคัญ ๒ อย่าง คือ สงครามแผ่อำนาจและการก่อสร้างที่เกินขนาดอันควร ปราชญ์มักกล่าวหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ว่า ความกระหายอำนาจและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทำให้ทรงก่อสงครามรุกรานอันใหญ่โต และทำการก่อสร้างที่ฟุ่มเฟือยเกินประมาณ ทั้งสองอย่างนี้ทำให้ต้องเก็บภาษีแพง เกณฑ์แรงงานคนมาก ต้องระดมคนมาไว้ดูแลรักษาและบำรุงบำเรอในปราสาทราชฐาน สิ้นเปลืองทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์ ประชาชนก็กะปลกกะเปลี้ยลงและค่อยๆ พอกพูนความไม่พอใจในสภาพบ้านเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอาการเครียด ก็พอดีทางเมืองไทยเข้มแข็งขึ้นมา คอยเข้ามากระหน่ำอยู่เรื่อยๆ จนอับปางแก้ไขไม่ฟื้น

อย่างไรก็ดี นักปราชญ์ก็อัศจรรย์ใจในงานก่อสร้างนครวัดนครธมเป็นต้นของเขมรว่า ผลงานยิ่งใหญ่ล้ำเลิศเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร จากการค้นคว้าทำให้ลงความเห็นว่า เป็นด้วยมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นรากฐาน กล่าวคือระบบการชลประทานที่ดีเลิศ ซึ่งสืบกันมาตั้งแต่ยุคฟูนันอันนับเป็นของในถิ่นเอง มิใช่รับจากอารยธรรมอินเดีย

ด้วยระบบชลประทานนี้ชาวเขมรสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้เต็มที่ มิให้มีทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำมากเกินไป มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น แห่งหนึ่งจุน้ำถึง ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีลำคลอง คูระบายน้ำออกไปตามไร่นา หมู่บ้าน ให้ใช้ได้ทุกเวลาตามปรารถนา ทำนาได้ปีหนึ่งถึง ๓-๔ ครั้ง ภาพถ่ายทางอากาศทำให้เห็นระบบชลประทานเช่นนี้กว้างขวางเป็นเนื้อที่ถึง ๓๒.๒๙ ล้านไร่

กษัตริย์เขมรมีพระราชภารกิจสำคัญประการแรกคือจะต้องทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์ โดยเฉพาะคืองานชลประทานนี้ให้สัมฤทธิ์ผลด้วยดีก่อน จึงจะทรงเริ่มงานสร้างปราสาทศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ได้ อาศัยเศรษฐกิจที่มั่นคงนี้เป็นฐาน ลัทธิเทวราช (หรือจะเป็นวิษณุราชหรือพุทธราชก็ตาม ก็มีสาระอย่างเดียวกัน) จึงมีประสิทธิภาพโดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำหรับจัดสรรและเกณฑ์แรงงานราษฎรให้ได้ผลเต็มที่ ช่วยให้เกิดกำลังเข้มแข็งบริบูรณ์

โดยนัยนี้ กษัตริย์จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์แทนอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล และเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสรรค์บันดาลความรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ลัทธิเทวราช (รวมทั้งวิษณุราช และพุทธราช) อิงอยู่กับศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามหายาน ซึ่งไม่มีฐานทางด้านประชาชน เมื่อพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามา ลัทธินั้นจึงเสื่อมไปโดยเร็ว

ในด้านศาสนาโดยตรง เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตแล้ว พวกไศวะก็แสดงปฏิกิริยาต่อพระพุทธศาสนา โดยเอาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในพุทธวิหารบายนทิ้งลงหลุมเสีย แล้วนำศิวลึงค์ขึ้นประดิษฐานแทน แม้ในที่อื่นๆ ก็ได้ทำลายวัดและพระพุทธรูปหลายแห่ง เอาศิวลึงค์ตั้งแทนพระโลเกศวรทั้งหมด ส่วนรูปพระโลเกศวรจตุรพักตร์บนปรางค์และซุ้มประตูในนครธม พวกไศวะก็เปลี่ยนความนับถือเสียว่าเป็นรูปพระศิวะ ล้างลัทธิพุทธราชลงทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาสนาเดิมเหล่านี้ (ไศวะ ไวษณพ และมหายาน) จะแย่งความเคารพกันในรูปใดแบบใด อวสานของทั้งสามลัทธิก็กำลังใกล้เข้ามา เพราะพุทธศาสนาแบบเถรวาทแพร่หลายมีกำลังมากขึ้นทุกที ศาสนาเดิมทั้งสามลัทธินั้น แม้จะเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรเขมรมานานหลายศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงศาสนาของราชสำนัก ขุนนาง และคนชั้นสูง พัวพันอยู่กับเรื่องฐานันดรศักดิ์และพิธีกรรมอันโอ่อ่าสิ้นเปลือง มีหน้าที่หลัก คือ การยกย่องรับรองเทวฐานะของกษัตริย์และเจ้านายด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น รวมไปถึงการรับประกอบพิธีกรรมโดยเรียกค่าตอบแทนราคาแพง นับว่าเป็นการจำกัดตัวอยู่ในวงแคบ แม้จะเกี่ยวข้องกับประชาชนก็เป็นแบบที่เรียกว่ายื่นลงมาจากเบื้องบน ไม่เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง ไม่กลมกลืนแทรกเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน และยังแยกเจ้านายกับประชาชนออกจากกันเสียอีกด้วย

สำหรับชาวบ้านโดยทั่วไป ศาสนาของเขาก็คือความเกี่ยวข้องกับผีสางเทวดาและการบูชาบรรพบุรุษ และคงจะมีพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่สืบมาแต่โบราณเจือปนอยู่จางๆ นับว่าเป็นช่องว่างอย่างใหญ่หลวง ครั้นพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากลังกาซึ่งได้ขัดเกลาใหม่ให้ชัดเจน และกำลังมีเรี่ยวแรงแห่งความสดชื่นกระตือรือร้นเผยแผ่เข้ามา ประชาชนชาวเขมรก็ยอมรับนับถือทั่วไปอย่างรวดเร็ว

ลักษณะสำคัญของเถรวาทที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างดีในเวลานั้น มีผู้เขียนสรุปไว้ว่า เป็นศาสนาแบบง่ายๆ พื้นๆ ไม่ต้องมีคณะนักบวชไว้คอยดูแลรักษาศาสนสถานที่สูงค่าใหญ่โตหรือไว้ประกอบพิธีกรรมที่โอ่อ่าหรูหรา ผู้เผยแผ่ศาสนาก็เป็นพระที่เคร่งครัด เป็นอยู่ง่ายๆ หลีกเร้นอยู่สงบ บำเพ็ญสมาธิภาวนา เสียสละไม่มีทรัพย์สมบัติ ติดต่อเกี่ยวข้องอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน อบรมสั่งสอนประชาชนด้วยตนเองโดยตรงด้วยเมตตากรุณา ไม่มีการเกณฑ์แรงงานมาก่อสร้างศาสนสถานอันใหญ่โต นอกจากนั้น พวกเด็กหนุ่มต้องการศึกษาเล่าเรียนก็มาอยู่กับพระในวัดชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งต่างจากราชการหรือศาสนาเดิมที่ไม่มีโรงเรียนสอนให้เลย ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาเถรวาทจึงแพร่หลายกว้างขวางรวดเร็ว และเมื่อประชาชนจำนวนมากนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทนี้แล้ว การเชื่อถือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ตามแบบศาสนาฮินดูนิกายไศวะก็ดี ไวษณพก็ดี พุทธศาสนามหายานก็ดี ก็เสื่อมไปเอง ความเป็นเทวราชที่กษัตริย์เป็นเทพเจ้าหรือพระพุทธเจ้าลงมาเกิดก็สิ้นสุดลง แรงชักจูงที่จะบันดาลใจให้ประชาชนมาลงแรงทำการใหญ่ อย่างการสร้างปราสาทหินก็ไม่มีฐานที่ตั้ง พวกพราหมณ์ก็เสื่อมอำนาจไปจากราชสำนัก และมีจำนวนลดน้อยลง ราชพิธีที่พราหมณ์ประกอบก็กลายเป็นของสักว่าทำๆ กันไป ไม่สู้มีความหมายเท่าใด

ส่วนพราหมณ์เมื่อออกจากวังหรือเทวาลัยของตนแล้ว ก็ไม่มีฐานอยู่ในหมู่ประชาชน อีกทั้งระบบวรรณะที่จะช่วยรองรับในสังคมอย่างในอินเดียก็ไม่มี ศาสนาเดิมจึงหมดไปรวดเร็วเหลือเกิน ถึงขั้นที่เรียกว่าสูญสิ้นทีเดียว แม้จะมามีอิทธิพลต่อประเพณีการปกครองและราชพิธีต่างๆ ในราชสำนักไทยสมัยอยุธยาไม่น้อย แต่ประชาชนทั่วไปก็ไม่รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตน

นอกจากนั้น สภาวะนี้อาจมีผลต่อการสงครามกับประเทศไทยด้วย กล่าวคือ ชาวกัมพูชาสมัยนั้นอาจจะไม่สู้กระตือรือร้นที่จะต่อต้านข้าศึก เพราะชัยชนะของไทยซึ่งเป็นชาวพุทธฝ่ายเถรวาทย่อมจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ทำให้ไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน เป็นอิสระ และมีโอกาสได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น มีหลักฐานว่ากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ใน พ.ศ. ๑๘๓๙ พระราชทานที่ดินสร้างวัดพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ศิลาจารึกในสมัยนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นภาษาบาลี และต่อมาเทวสถานต่างๆ ของฮินดู ก็กลายมาเป็นวัดพุทธศาสนา

เมื่อเจาตากวนเดินทางมาในคณะทูตจีนถึงเมืองพระนครใน พ.ศ. ๑๘๓๙ เขาเขียนเล่าว่า ทุกคนบูชาพระพุทธเจ้า และพูดถึง จูกู (คือ เจ้ากู ซึ่งหมายถึงพระภิกษุสงฆ์เถรวาท) พร้อมทั้งบรรยายลักษณะการครองผ้า การดำเนินชีวิตและสภาพวัด เขาบอกว่า พวกเจ้านายชอบมาปรึกษาหารือกับพวกจูกูในเรื่องต่างๆ หลักฐานนี้แสดงว่าเวลานั้นพุทธศาสนาแบบเถรวาทจะต้องได้กลายเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรเขมรไปแล้ว และเมื่อถึง พ.ศ. ๑๘๘๐ กษัตริย์กัมพูชาพร้อมทั้งราชสำนักทั้งหมดคงจะได้กลายเป็นพุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาทแล้วทั้งหมด เพราะมีหลักฐานปรากฏถึงขั้นที่ว่า ทรงเจ้ากี้เจ้าการเป็นธุระที่จะให้กษัตริย์ลาวที่เคยลี้ภัยอยู่ในเขมร (เจ้าฟ้างุ้ม) เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

ย้อนกล่าวทางด้านการเมือง หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตแล้ว พอถึง พ.ศ. ๑๗๖๓ กองทัพเขมรต้องยกกลับจากจัมปา พวกจามก็เป็นอิสระขึ้น หลักฐานบางแห่งว่า แคว้นตามพรลิงคะก็ตั้งตัวเป็นเป็นอิสระขึ้นด้วย พร้อมกันนี้คนไทยก็มีอำนาจเข้มแข็งขึ้น พ.ศ. ๑๘๐๐ ก็ตั้งอาณาจักรสุโขทัยสำเร็จเป็นอิสระจากขอม เหนือขึ้นไปก็มีอาณาจักรลานนาไทย ตั้งขึ้นเป็นอิสระเช่นเดียวกัน ส่วนทางด้านพม่า อาณาจักรพุกามก็พอดีประสบปัญหาจากพวกมงโกลที่กำลังแผ่อำนาจลงมา จนถึงต้องสูญเสียอิสรภาพแก่กุบไลข่านใน พ.ศ. ๑๘๓๐ ระหว่างนี้อาณาจักรไทยก็รุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ส่วนทางด้านอาณาจักรจัมปาคู่สงครามเดิมของเขมร ก็กำลังตั้งตัวขึ้นใหม่ และต้องหันความสนใจไปทางเวียดนามคู่ศึกอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกำลังแผ่อำนาจลงมาจากทางเหนือ จึงเป็นการเปิดโอกาสช่วยให้กัมพูชาอยู่สงบในขณะที่มีกำลังลดน้อยลง เมื่อต้องอยู่สงบและมีพลังอำนาจจำกัดลงเช่นนี้ กัมพูชาก็ไม่สามารถระดมกำลังไปในด้านการก่อสร้างปราสาทหินใหญ่โตและการทำสงครามล่าดินแดน จึงหันมาสนใจส่งเสริมในด้านวิชาการ ทำให้การศึกษาเฟื่องฟูขึ้นระยะหนึ่ง ผู้คงแก่เรียนได้รับการยกย่องมีเกียรติยศสูง นักปราชญ์ราชบัณฑิตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมากมาย และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมบริหารกิจการของประเทศ

ต่อมาอาณาจักรไทยที่อยุธยาเรืองอำนาจขึ้น โดยยกทัพมาตีกัมพูชา ยึดนครธมได้หลายครั้ง คือใน พ.ศ. ๑๘๙๖ (ปราชญ์ตะวันตกลงความเห็นว่า พ.ศ. ๑๙๑๒) ยึดครองอยู่ ๖ ปี พ.ศ. ๑๙๓๒ ยึดครองอยู่เพียงชั่วคราว และใน พ.ศ. ๑๙๗๕ เป็นที่สุด การพ่ายแพ้ครั้งหลังนี้ทำให้กัมพูชาอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก เพราะเกิดเรื่องวุ่นวายภายใน แย่งราชสมบัติกัน เป็นสงครามกลางเมือง ผู้คนล้มตายมาก กษัตริย์องค์ใหม่ได้ทิ้งเมืองนครธมไปตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองศรีสันธอร์ แล้วย้ายต่อไปยังกรุงพนมเปญเป็นอันสิ้นสุดยุคพระนคร จากนั้นนครวัดนครธมก็ถูกปล่อยรกร้าง หมู่ไม้งอกงามรุกล้นเข้ามากลายเป็นเมืองลับหายอยู่กลางป่าดง จนถึง พ.ศ. ๒๔๐๔ จึงมีชาวฝรั่งเศสไปพบ และเริ่มมีการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนการขุดแต่งบำรุงรักษาตามทางแห่งศิลปโบราณคดีสืบต่อมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี >>

หน้า: 1 2 3 4 5

No Comments

Comments are closed.