๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 6 จาก 8 ตอนของ

จะได้บุญจริงๆ ต้องให้ครบทั้งทาน ศีล และภาวนา

อีกวิธีหนึ่ง ในเวลาแต่ละคนมาปิดทอง ปกติเขาก็จะมาเอาทองที่วัด บางทีเขาอาจจะเอามาเองแต่ก็น้อยคน เขามักคิดมาเอาที่วัด และทางวัดก็จัดเตรียมให้ วัดอาจจะจัดให้เปล่าเลย และโยมหลายคนคงยินดีจัดทองมาให้

แต่ก็มีปัญหาว่าชาวบ้านเขาก็ไม่อยากเอาทองไปเฉยๆ คล้ายๆ กับเขารู้สึกว่า ถ้าเขาจะทำบุญ เขาก็ต้องบริจาค เรื่องอะไรเขาจะรับทองไปปิดเฉยๆ นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ว่า เราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไร

ถ้าเราไม่ได้มุ่งเอาเงินเขา แต่เราจะไม่รับก็ไม่ได้ เพราะเขารู้สึกว่าเขาต้องบริจาค ไม่ใช่มีส่วนร่วมแค่ปิดทอง แต่ต้องมีส่วนร่วมบริจาคทรัพย์ด้วย เพราะเขารู้สึกว่าการบริจาคเป็นการที่เขาได้ทำบุญ (คือบุญขั้นทาน) มิฉะนั้นเขาจะเรียกว่าทำบุญได้อย่างไร เขาก็นึกไม่ออก ทีนี้เราจะทำอย่างไร นี้เป็นเรื่องของทองที่เขาจะรับ

เนื่องจากเราจะเปิดโอกาสให้ปิดทองตามประเพณีโดยไม่ได้ประสงค์จะหาเงิน แต่ก็เป็นธรรมดาว่าญาติโยมที่ปิดทองโดยทั่วไปก็ต้องการบริจาค เพราะถือว่าต้องบริจาคจึงจะชื่อว่าทำบุญ เขาก็จะไม่ยอมรับทองไปเปล่าๆ แต่จะให้เขานำทองมาเอง ก็คงยาก น้อยคนจะนำมาเอง ส่วนมากก็คงหวังจะมาเอาทองที่วัด เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในเรื่องนี้ก็อาจจะต้องยุติว่า

๑. ถ้าผู้ปิดทองนำทองมาเอง ก็แล้วไป

๒. ถ้าญาติโยมต้องการปิดทอง แต่ไม่ได้นำทองมาเอง ทางวัดก็จัดวางไว้ให้เขาหยิบเอาเอง แบบให้เปล่า แต่ถ้าเขาต้องการบริจาค ก็ไม่ว่า คือเราวางภาชนะใส่ทองไว้ให้ โดยเขียนกำกับไว้บอกให้รู้ว่า

ทองนี้ให้เปล่า
แต่ถ้าต้องการบริจาค ก็สุดแต่ประสงค์

การปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เคยคิดก็คือ เวลาเขาปิดทอง ปกติเขาอาจจะนึกว่าเวลาปิดทองเขาจะพูดว่าอย่างไร เขาอาจจะนึกถึงคำบาลีเป็นคาถา แต่เขาอาจจะเน้นที่ความศักดิ์สิทธิ์ และว่าเรื่อยเปื่อยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เป็นไปได้ไหมที่ว่า เราจะให้คติธรรม เช่น เราจัดพุทธภาษิตที่เลือกสรรแล้ว ๑๐๐, ๒๐๐, ๓๐๐ คาถา หรือกี่คาถาก็ได้ สั้นๆ เช่น อัตตา หิ อัตตโน นาโถ พร้อมทั้งคำแปล

เราบอกว่า ให้จำคาถาของตัว จะไปปิดทองต้องท่องให้ได้ก่อน อย่าเอาไปอ่าน ได้แล้วก็ท่องให้แม่น และแปลได้ด้วย แล้วก็ไปปิดทองโดยว่าคาถาพุทธภาษิตนั้นไปด้วย หรือจะเอายากกว่านั้นก็ได้ คือมีพระประจำนั่งอยู่เลย ทุกคนที่จะปิดทองต้องว่าให้พระฟังก่อน

นอกเหนือจากนี้ จะจัดให้มีเทศนา ปาฐกถา สนทนา บรรยายธรรม นิทรรศการต่างๆ และเจริญจิตตภาวนา เป็นต้นอย่างไร ก็เตรียมการกันไป

นี้เป็นเพียงวิธีการบางอย่าง เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นว่าเราจะทำอย่างไรให้มีสาระขึ้นมา นอกจากทานแล้ว ก็ให้เขาได้คุณธรรม ได้คติสำหรับชีวิตจิตใจ และได้ปัญญา

รวมความก็คือให้มาช่วยกันคิดว่า เมื่อประชาชนต้องการมีส่วนร่วม เราก็พยายามตัดเรื่องของความลุ่มหลง และเรื่องของการหาเงินหาทองออกไปเสีย ทำให้ได้สาระ ได้ประโยชน์ ได้คุณค่า ได้ปัญญา ได้ธรรม ได้ความดีงาม ได้คติ ให้ประชาชนได้บุญมากยิ่งขึ้นไป ทั้งทาน ศีล และภาวนา อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปิดทองลูกนิมิต

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. การผูกสีมา ตามพระวินัยคาถาเสริมบุญในการปิดทอง >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.