๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 6 จาก 8 ตอนของ

สวดถอนสีมาเก่า

เรื่องลูกนิมิต เมื่อเราให้โอกาสคนปิดทองเสร็จแล้ว ก็มาถึงการผูกสีมาแท้ๆ วัดนั้น เมื่อกำหนดงานปิดทองแล้ว สุดท้ายก็จะต้องทำพิธีฝังลูกนิมิตผูกสีมา ลูกนิมิตที่เปิดทิ้งไว้ให้ปิดทองก็จะต้องเอาลงหลุม ตอนนี้ก็ถือเป็นวันสำคัญ มาถึงเรื่องของสังฆกรรม ซึ่งจะมาบรรจบกับเรื่องของพุทธบัญญัติ ซึ่งพระจะกำหนดลูกนิมิตเป็นเขต แล้วก็ผูกสีมา ซึ่งจะต้องประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ต้องมาสวดสมมติ คือมีมติร่วมกัน

ตอนนี้ก็มีเรื่องแทรกเข้ามาว่า เมื่อพระจะผูกสีมากำหนดเขตใหม่ ท่านก็กลัวว่าดินแดนแถวนี้อาจจะเคยมีวัดมาก่อนก็ได้ แต่ร้างไป เราก็ไม่รู้ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่าห้ามผูกสีมาซ้อนสีมา แม้แต่คาบเกี่ยวกันก็ไม่ได้ สีมาที่ผูกใหม่จะเป็นโมฆะ ไม่เกิดผล ทีนี้พระก็กลัวว่าถ้าเราผูกและเกิดไปซ้อนสีมาเก่าเข้าก็จะเสีย การที่จะไม่ให้ซ้อนก็คือ ถ้าที่นั่นเคยมีสีมาก็ต้องถอนของเก่าก่อน ทีนี้เราไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี จึงต้องป้องกันไว้ก่อน ไม่ว่าจะเคยมีสีมาเก่าหรือไม่ ก็ต้องถอนไว้ก่อน

เพราะฉะนั้นตามประเพณีของเราจึงถือว่า ก่อนจะผูกสีมาก็ประชุมสงฆ์สวดถอนก่อน แต่ถ้าสวดถอนแล้วผูกต่อเลยในคราวเดียวก็จะยุ่งกันใหญ่ เรื่องเยอะ และยิ่งมีประชาชนมาร่วมด้วยก็จะทำให้เหนื่อยไปตามๆ กัน และยาวนานเกินไป จึงนิยมว่าระหว่างที่มีงาน สมมุติว่า ๗ วัน พระท่านอาจจะทำโดยไม่ต้องให้โยมรู้ คือจัดทำสังฆกรรมส่วนที่เรียกว่าถอนสีมาให้เสร็จไปก่อนระหว่างนั้น พระอาจทำกันเอง โยมจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้ เพราะที่จริงเรื่องทั้งหมดก็เป็นกิจของสงฆ์อยู่แล้ว

ในขณะที่ญาติโยมทำบุญกันไป พระสงฆ์ก็อาจจะไปนิมนต์กันมาจากหลายๆ วัด บางงานอาจจะใช้เวลาตอนกลางคืนนิมนต์พระมาประชุมกันแล้วทำสังฆกรรมที่เรียกว่าถอนสีมา ถอนไว้ให้เรียบร้อยก่อนในบริเวณทั้งหมดที่เรากำหนดไว้แล้วว่าจะฝังลูกนิมิตผูกสีมานั้น

ถาม: ที่ประชุมสงฆ์ ต้องกำหนดจำนวนพระด้วยหรือเปล่า?

พระธรรมปิฎก: ก็มีกำหนด ท่านถอนทั้งบริเวณ บางแห่งท่านประชุมให้พระนั่งเต็มเขตที่ต้องการทีเดียวเลย เพราะฉะนั้น บางแห่งอาจจะนิมนต์พระถึงพันจนเกิดความโกลาหล แต่ทั้งนี้มีวิธีต่างๆ เช่น บริเวณเขตสีมาที่จะฝังลูกนิมิต เราแบ่งบริเวณออกเป็นส่วนๆ โดยกะว่าเอาสักกี่ครั้งดีให้ครบ อาจจะให้ได้ส่วนละ ๑๐๐ รูป เต็มบริเวณเท่านั้น เราก็นิมนต์พระมาให้พอกับเนื้อที่ส่วนเท่านั้น แล้วท่านก็สวดถอนไปทีละส่วน คือ พอถอนส่วนนั้นเสร็จแล้วก็ถอนต่อไปอีกทีละส่วนจนเต็มบริเวณทั้งหมด ถ้าพระน้อยองค์ก็ใช้เวลามาก ถ้าพระมากองค์ก็เสร็จเร็ว และยังมีวิธีอื่นอีก อันนั้นเป็นรายละเอียด อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ รวมแล้วก็คือทำสังฆกรรมถอนสีมาเก่าก็แล้วกัน

เป็นอันว่าถอนให้เสร็จไว้ก่อน แล้วแต่ว่าจะถอนวันไหนก็ได้ เวลาถึงงานใหญ่จริงๆ จะได้สะดวก เพราะว่าตัวงานผูกสีมา พระท่านมักทำพิธีใหญ่โต ชาวบ้านก็อยากให้เป็นพิธีใหญ่ จึงมักจะเชิญบุคคลสำคัญ เช่น บางทีก็อัญเชิญเสด็จในหลวง หรือเจ้านายไป งานใหญ่นี่สงวนไว้สำหรับตัวพิธีใหญ่ คือฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาจริงๆ และนิยมให้ผู้ที่มาเป็นประธานได้มีกิจกรรม โดยเฉพาะการตัดสาแหรกลูกนิมิต

นี่เป็นเรื่องของประเพณี ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องคิดว่าเราจะทำหรือไม่? จะมีการเชิญบุคคลสำคัญมาเป็นประธานในพิธีบุญนี้ไหม?

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. การผูกสีมา ตามพระวินัยคาถาเสริมบุญในการปิดทอง >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.