- บทที่ ๑ ปัญหาของพัฒนาการ
- จากทรรศนะแบบแยกย่อย สู่ทรรศนะแบบองค์รวม
- การก้าวออกจากยุคอุตสาหกรรม
- บทที่ ๒ บูรณาการกับพัฒนาการ
- บูรณาการประสานกับพัฒนาการ
- บูรณาการในการศึกษา
- การสอนจริยศึกษาแบบบูรณาการ
- บทที่ ๓ ระบบแห่งบูรณาการ
- การสร้างสรรค์เสรีภาพแบบบูรณาการ
- การเลียนแบบไม่ใช่การทำได้จริง
- สาระของเสรีภาพ
- บูรณาการในทุกขอบเขตของการศึกษา
- องค์สามที่การศึกษาจะต้องบูรณาการ
- ระบบบูรณาการพื้นฐานและยอดสุด
- โยงตัวเราเข้าสู่ระบบการพัฒนาและบูรณาการ
บทที่ ๒
บูรณาการกับพัฒนาการ
หลักการทั่วไปของบูรณาการ
เมื่อเรามองเห็นว่า การที่สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นหน่วยย่อยจะต้องมาประสานสัมพันธ์กลมกลืนกันให้ดี จึงจะเกิดความพอดี เป็นสมดุล และสิ่งนั้นจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ในกรณีที่เป็นอย่างนี้ เมื่อเรามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นหน่วยย่อย เราจะทำอย่างไร เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องนำเอามันเข้ามาประมวลประสานเข้าหากันเป็นองค์รวม ในลักษณะอาการที่ให้เกิดความสมดุลให้ได้ ซึ่งการกระทำอันนี้เขาเรียกว่า บูรณาการ บูรณาการ แปลว่า การกระทำให้สมบูรณ์ ภาษาอังกฤษใช้ว่า integration ในที่นี้ต้องใช้ภาษาอังกฤษด้วยก็เพราะว่า ในปัจจุบันทรรศนะแบบนี้ไปเฟื่องฟูขึ้นในเมืองฝรั่ง และเราก็บัญญัติคำขึ้นใหม่จากศัพท์ฝรั่ง
มาพูดถึงความหมายของศัพท์ว่า บูรณาการ หรือ integration กันนิดหน่อย จะลองให้ความหมายอย่างง่ายที่สุดว่า บูรณาการ คือ การทำให้สมบูรณ์ แต่พูดแค่นี้มันอาจจะไม่สมบูรณ์ ถ้าจะพูดให้สมบูรณ์ก็คงจะต้องให้ความหมายที่ละเอียดให้เกิดภาพที่ชัดยิ่งขึ้น ขอพูดขยายความออกไปหน่อยว่า การนำหน่วยย่อยอันหนึ่งเข้ารวมกับหน่วยย่อยอื่นๆ ภายในองค์รวม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ อย่างนี้ก็ได้ หรือขยายความออกไปอีกก็บอกว่า การประมวลหน่วยย่อยที่แยกๆ กัน ให้รวมเข้าเป็นองค์รวมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขออีกอันหนึ่งว่า การทำให้หน่วยย่อยทั้งหลายเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบซึ่งทำหน้าที่ประสานซึ่งกันและกัน กลมกลืนเข้าเป็นองค์รวมอันเดียว อันทำให้เกิดความสมดุลที่องค์รวมนั้นสามารถดำรงอยู่และดำเนินไปได้ในภาวะที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ก็วนเวียนอยู่ที่คำว่าสมบูรณ์นี่เอง คราวนี้ขอเสนอคำจำกัดความสุดท้ายให้เลือกว่า การทำหน่วยย่อยๆ ทั้งหลายที่สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เข้ามาร่วมทำหน้าที่ประสานกลมกลืนเป็นองค์รวมหนึ่งเดียว ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัว
เป็นอันว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบูรณาการ หรือความหมายของมันนี้ ก็ไปสัมพันธ์กับทรรศนะที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวม ที่เรียกว่า holistic view หรือ holism อย่างที่ยกตัวอย่างเช่นเรื่องแพทย์เมื่อกี้ ถ้าวินิจฉัยและรักษาโรคโดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งทางร่างกายและจิตใจของคนไข้ พร้อมทั้งปัจจัยทางสังคมและธรรมชาติแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ก็เรียกว่าใช้วิธีบูรณาการ หรือในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าพัฒนาโดยมุ่งให้มนุษย์เป็นอยู่ดีท่ามกลางสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคมและนิเวศวิทยาที่เกื้อกูล ก็เรียกว่าใช้วิธีบูรณาการ หรือถ้าเป็นการศึกษา เอาเฉพาะการสอน การสอนโดยทำให้คนพัฒนาขึ้นมาเต็มตัวทั้งคน ก็เป็นการใช้วิธีบูรณาการ
ในประเทศอย่างอเมริกา เขาเอาคนผิวดำเข้ารวมในสังคมใหญ่ซึ่งประกอบด้วยคนผิวขาวให้กลมกลืนกัน อันนี้ก็เรียกว่า บูรณาการเหมือนกัน หมายความว่า คนดำกับคนขาว นี่มีปัญหากันมาก คนดำเป็นคนส่วนน้อย มักถูกแบ่งแยก มีปัญหาว่า อาจจะถูกเหยียดหยาม ไม่ได้รับสิทธิสมบูรณ์ ทำอย่างไรจะให้เข้าร่วมอยู่ในสังคมอเมริกันโดยสมบูรณ์ เขาก็พยายามที่จะจัดเอาคนดำนี้เข้าร่วมในกิจกรรมของสังคมและในสภาพความเป็นอยู่ของสังคมอเมริกันโดยสมบูรณ์ เช่นจัดรถนำเอาเด็กดำไปเรียนรวมกับเด็กขาว หรือนำเอาเด็กขาวไปเรียนรวมกับเด็กดำในชั้นเรียนเดียวกันในโรงเรียนเดียวกัน หรืออาจจะให้คนผิวดำทั้งหมดเข้าร่วมทำงานโดยมีสิทธิเสมอทัดเทียมกับคนผิวขาวอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เรียกว่าเป็น integration เป็นบูรณาการเหมือนกัน
อีกตัวอย่างหนึ่ง เรามีเด็กบกพร่อง จะบกพร่องทางกายก็ตาม บกพร่องทางใจก็ตาม วิธีการเรียนการสอนแบบหนึ่งคือ เขาแยกให้เรียนต่างหาก แต่มีทรรศนะอีกพวกหนึ่งบอกว่า ต้องเอาเด็กที่มีความบกพร่องทางกายก็ตาม ทางใจก็ตามนี้ เข้าเรียนรวมกันกับเด็กปกติในชั้นเรียนปกติ การทำอย่างนั้นก็เรียกว่าบูรณาการ นี่ก็เพื่อจะให้เด็กเป็นเด็กที่สมบูรณ์ มีความเจริญเติบโตทุกด้านเหมือนเด็กปกติ ก็เป็นทรรศนะแบบบูรณาการ
ในหลักสูตรและการสอนก็มีตัวอย่าง เช่น เราจัดการสอนการเรียนให้เชื่อมโยงวิชาทั้งหลายทุกวิชาเข้ามาหากัน อาจจะตั้งเรื่องอะไรขึ้นมาเป็นหลักสักเรื่องหนึ่ง หรือเป็นแกนให้มีการเรียนรู้ แล้วก็โยงทุกวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามา ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ให้เรียนเรื่องข้าว เอาข้าวขึ้นมาเป็นหลักตั้ง แล้วจากเรื่องข้าวนี้เราก็สามารถเรียนทุกด้าน เช่นว่า ด้านวิทยาศาสตร์ ในแง่ชีววิทยา อาจจะให้เรียนรู้ว่า ข้าวนี่เป็นพืชตระกูลไหน มันแพร่พันธุ์อย่างไร เป็นต้น ให้เรียนในแง่เกษตรกรรมว่า ข้าวนี่จะต้องปลูกในฤดูไหน จะปลูกกันอย่างไร ในแง่ภูมิศาสตร์ก็ให้เรียนรู้ว่า ข้าวนี้มีปลูกมากในถิ่นไหน เหมาะกับภูมิอากาศแบบใด ในด้านเศรษฐกิจ ก็ให้รู้ว่า ข้าวนี้มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร เช่นเป็นรายได้หลักของชาติ เป็นที่มาของเงินทองรายได้ของประเทศอย่างไร ในแง่คณิตศาสตร์ เช่นว่า ปลูกข้าวได้ไร่ละ ๕๐ ถัง ถ้ามีนา ๑๘ ไร่ จะได้ข้าวเท่าไร หรือขายได้เกวียนละ ๒,๕๐๐ บาท มี ๕ เกวียนจะได้เงินเท่าไร อะไรพรรค์นี้ หรือในแง่ศิลปวัฒนธรรมก็อาจจะเรียนว่า เรามาร้องเพลงเกี่ยวข้าวกัน ให้มีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม หรืออาจจะให้วาดภาพทุ่งนายามเช้า แดดส่องผืนนาเป็นสีทอง อะไรทำนองนี้ ตลอดจนให้เรียนในแง่จริยธรรม ให้รู้จักว่าจะต้องกินข้าวอย่างไรจึงจะประหยัด หรือว่าถ้าเป็นเด็กชาวนาก็แนะนำให้ไปช่วยพ่อแม่ทำนา ถ้าเป็นเด็กทั่วไป ก็อาจจะให้รู้จักคุณค่าของชาวนา อย่างนี้เป็นต้น ว่าเรื่อยไป จนกระทั่งให้รู้จักมารยาทในการกิน อะไรต่างๆ ทำนองนี้ เพราะฉะนั้น จากเรื่องข้าวเรื่องเดียวก็เรียนได้ครบทุกด้าน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการเรียนการสอนโดยวิธีบูรณาการ
รวมความแล้ว จะเห็นได้ว่า ในการบูรณาการนั้น เราจะเอาหน่วยย่อยหน่วยหนึ่งมารวมเข้าในองค์รวมที่มีหน่วยย่อยอื่นอยู่แล้วก็ได้ หรือจะเอาหน่วยย่อยทั้งหลายที่ต่างก็แยกๆ กันอยู่ มารวมเข้าด้วยกันเป็นองค์รวมก็ได้ อันนี้เรียกว่าบูรณาการทั้งสิ้น แต่ข้อสำคัญจะต้องมีตัวยืนที่เป็นหลักอยู่ ๓ อย่าง ในเรื่องบูรณาการ คือ
๑. มีหน่วยย่อย องค์ประกอบ ชิ้นส่วน อวัยวะ หรือขั้น ระดับ แง่ ด้าน ที่จะเอามาประมวลเข้าด้วยกัน อันนี้เป็นสิ่งที่จะเอามาประมวลเข้าด้วยกัน คือสิ่งย่อย ส่วนย่อย
๒. หน่วยย่อยเป็นต้นนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน อันนี้อาจจะเลยไปถึงลักษณะที่ว่ายืดหยุ่น ปรับตัวได้ มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาด้วย
๓. เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วก็จะเกิดความครบถ้วนเต็มบริบูรณ์ โดยมีความประสานกลมกลืน เกิดภาวะได้ที่ พอดี หรือสมดุล พอได้ที่หรือพอดีสมดุลแล้ว องค์รวมนั้นก็มีชีวิตชีวา ดำรงอยู่และดำเนินไปด้วยดี อันเป็นภาวะของบูรณาการ
ถ้าครบ ๓ อย่างนี้ก็เป็นบูรณาการ สามอย่างนี้เป็นตัวยืนที่จำเป็นตามสภาวะ ส่วนในทางปฏิบัติจะมีหลักและกระบวนวิธีอย่างไรก็พิจารณาว่ากันอีกส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่จะต้องเน้นก็คือว่า ความพอดีหรือได้ที่ หรือสมดุล ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องการของบูรณาการนั้น เราจะแสดงลักษณะออกมาให้เห็นเป็นข้อสำคัญได้ ๒ อย่างคือ
ข้อที่ ๑ เมื่อเป็นองค์รวมแล้ว องค์รวมนั้นมีชีวิตชีวา หรือดำเนินไปด้วยดี
ข้อที่ ๒ องค์รวมนั้นเกิดมีภาวะและคุณสมบัติของมันเองที่ต่างหากจากภาวะและคุณสมบัติขององค์ประกอบทั้งหลาย
นี่เป็นลักษณะ ๒ อย่างที่เป็นองค์รวม ซึ่งเกิดบูรณาการขึ้นมาแล้ว ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเอาชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบมากมายมาประกอบเข้าให้ประสานกลมกลืนได้ที่สมดุลพอดีแล้ว ก็อาจจะเกิดเป็นองค์รวมอันหนึ่งเรียกกว่ารถยนต์ รถยนต์นี้ก็จะมีภาวะของมันขึ้นมา เป็นพาหนะสำหรับใช้ขับขี่ได้
ภาวะที่เป็นรถยนต์ซึ่งมีความหมายเป็นพาหนะใช้ขับขี่ได้ เป็นภาวะและคุณสมบัติใหม่ที่ไม่เหมือนกับส่วนประกอบย่อยของมัน กล่าวคือ ส่วนประกอบย่อยของมันนั้น จะเป็นล้อ เป็นเครื่องยนต์ เป็นพวงมาลัย หรืออะไรก็ตาม ล้วนแต่ใช้ประโยชน์ในการขับขี่เป็นพาหนะไม่ได้เลยสักอย่าง แต่พอมาประกอบกันเข้าเป็นองค์รวมแล้ว มันมีภาวะใหม่ เป็นรถยนต์ เป็นพาหนะสำหรับใช้ประโยชน์อย่างใหม่ เป็นคุณสมบัติอย่างใหม่ขึ้นมา แต่อย่างไรก็ดี มันจะต้องมีภาวะที่สมดุล ถ้าไม่สมดุลมันก็ไม่เดินไม่วิ่ง ความเป็นรถก็เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นพาหนะไม่ได้ ถ้าไม่สมดุล คือ องค์ประกอบต่างๆ ส่วนย่อย หรือชิ้นส่วนทั้งหลายของรถนั้นมันไม่เข้าที่กัน มันก็เป็นรถขึ้นมาไม่ได้ อย่างดีก็ได้แค่เป็นของพิการ ฉะนั้น จึงต้องมีภาวะที่ว่า เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว องค์รวมมีความสมดุลพอดี ก็มีชีวิตชีวาดำเนินไปด้วยดี แล้วก็เกิดมีภาวะเป็นคุณสมบัติใหม่ของมัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างขององค์รวม
No Comments
Comments are closed.