- ๑. พระพุทธศาสนาในกัมพูชา
- ๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี
- ๓. พระพุทธศาสนาในจีน
- ๔. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น
- ๕. พระพุทธศาสนาในทิเบต
- ๖. พระพุทธศาสนาในไทย
- ๗. พระพุทธศาสนาในเนปาล
- ๘. พระพุทธศาสนาในพม่า
- ๙. พระพุทธศาสนาในลาว
- ๑๐. พระพุทธศาสนาในเวียดนาม
- ๑๑. พระพุทธศาสนาในศรีลังกา
- ๑๒. พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง
- ๑๓. พระพุทธศาสนาในอาฟกานิสถาน
- ๑๔. พระพุทธศาสนาในอินเดีย
- คำนำสำนักพิมพ์
๒.
พระพุทธศาสนาในเกาหลี
ประมาณ ๑,๖๐๐ ปีล่วงมาแล้ว เมื่อประเทศจีนแตกแยกเป็นก๊กต่างๆ รวมถึง ๑๖ แคว้น ครั้งนั้นคาบสมุทรเกาหลีประกอบด้วยอาณาจักรใหญ่ๆ ๓ แว่นแคว้น คือ โกคุริโอ ปีกเช และ ซิลลา อาณาจักรทั้งสามนี้ได้แก่งแย่งแข่งอำนาจและรบพุ่งกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ ในการนี้อาณาจักรโกคุริโอได้ดำเนินวิเทโศบายผูกสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเจียนจิ้น อันเป็นหนึ่งในจำนวนอาณาจักรจีน ๑๖ แว่นแคว้น และได้รับความสนับสนุนในการรบกับแคว้นอื่น
ครั้งหนึ่ง อาณาจักรโกคุริโอ (เรียกอีกอย่างว่า โกมา) คงหวังจักกระชับสัมพันธไมตรีนั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ส่งราชทูตไปยังราชสำนักเจียนจิ้น ทูลขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ไปโปรดสัตว์ในอาณาจักรโกคุริโอ ท่านพระศาสนทุนซุนเตาได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธธรรมในดินแดนที่เรียกในปัจจุบันว่า เกาหลี พร้อมด้วยพระคัมภีร์และพระพุทธรูป เป็นต้น อันเป็นวัตถุเคารพบูชาที่สำคัญของพระศาสนา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๙๑๕ ปี นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเกาหลี
พุทธธรรมที่พระศาสนทูตได้นำเข้ามาเผยแผ่ได้แพร่หลายไปในหมู่ชนชาติเกาหลี และได้รับความเคารพนับถืออย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียง ๒๐ ปี ก็ได้มีประจักษ์พยานแห่งการประดิษฐานมั่นคงของพระพุทธศาสนา โดยแสดงออกในรูปวัตถุ แม้เพียงในนครหลวงแห่งเดียวมีวัดพุทธศาสนาถึง ๙ วัด
เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักรโกคุริโอได้ประมาณ ๑๓ ปีแล้ว ทางฝ่ายอาณาจักร ปีกเช (เรียกอีกอย่างว่า กุดารา) ก็ได้ต้อนรับพระภิกษุชาวอินเดียนามว่า มรนันทะ เข้าไปเผยแพร่พุทธธรรมในดินแดนของตนบ้าง พระพุทธศาสนาในอาณาจักรนี้ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมากจนเป็นศาสนาประจำชาติ และได้ส่งพระศาสนทูตไปเผยแพร่ถึงประเทศญี่ปุ่น แต่กาลล่วงมา หลักคำสอนและการปฏิบัติได้หันเหไปกลายเป็นลัทธิแห่งแบบแผนพิธีกรรมต่างๆ ใส่ใจแต่ในการก่อสร้าง และการเผยแพร่ในดินแดนต่างถิ่น ครั้นอาณาจักรเสื่อมสลายลงในกาลต่อมา ก็คงเหลือแต่ศิลปวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เจดีย์ และวัดวาอารามเป็นอนุสรณ์
ทางด้านอาณาจักรซิลลา (เรียกอีกอย่างว่า ชิราคิ) ผู้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปมิใช่ผู้ปกครองบ้านเมืองเช่นกับสองอาณาจักรข้างต้น หากแต่เกิดจากความเลื่อมใสของประชาชนที่แผ่กระจายออกไปเป็นเหตุผลักดัน ตำนานกล่าวว่า พระภิกษุจีนนามว่า อาเต๋า ได้เดินทางมาจากอาณาจักรโกคุริโอและเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ประชาชน เบื้องต้นผู้นับถือได้ถูกขัดขวางและบีบคั้นอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดการใช้อำนาจก็พ่ายแพ้แก่ศรัทธาอันมั่นคง พระมหากษัตริย์ได้ตัดสินพระทัยหันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนา จนกระทั่งถือเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยมองเห็นเป็นประโยชน์ในส่วนนโยบายปกครองบ้านเมือง เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ เพราะคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องให้การศึกษาแก่ประชาชน และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน สร้างความสามัคคีพร้อมเพรียงขึ้นในชาติ
กาลต่อมา พุทธศักราชล่วงไป ๑,๒๐๐ ปี อาณาจักรซิลลาประสบชัยชนะ รวบรวมอาณาจักรทั้งสามเข้าเป็นอันเดียวกัน ข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างรากฐาน ที่จะยึดเหนี่ยวความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อความมั่นคงของรัฐ ด้วยให้มีภาษาพูดอันเดียวกัน และมีศาสนาสำหรับเป็นหลักศรัทธาและแนวความนึกคิดเป็นอย่างเดียวกัน แม้ภารกิจอันนี้ก็ได้อาศัยพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้เดินทางไปเยี่ยมเยียนสำนักและวัดสำคัญต่างๆ ทั่วทั้งสามอาณาจักรดั้งเดิม ได้รวบรวมนำเอาพระคัมภีร์และตำรับตำราต่างๆ มาจัดวางรูปเสียใหม่ ให้ประสานเข้าเป็นระบบแบบแผนอันเดียว
เมื่อบ้านเมืองรวมเป็นปึกแผ่นแล้ว พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมก็รุ่งเรืองยิ่งขึ้น การศึกษาหลักธรรมแพร่หลายไปทั่ว ชาวพุทธต่างกลุ่มต่างหมู่ศึกษาธรรมจากแง่ต่างกัน ศึกษาหนักในด้านใดก็ยึดมั่นความเห็นไปในด้านนั้น เป็นเหตุให้แยกออกเป็นนิกายต่างๆ เป็นอันมาก เฉพาะที่สำคัญรวมได้ ๕ นิกาย เช่น นิกายที่ศึกษาเป็นพิเศษในเรื่องอรรถแห่งนิพพานก็แยกเป็นนิกายหนึ่ง ผู้ที่ศึกษาหนักในด้านวินัยก็แยกเป็นนิกายวินัย เป็นต้น
ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น พระภิกษุสงฆ์ได้มีส่วนในกิจการบ้านเมือง โดยช่วยเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ฝ่ายบ้านเมืองก็ช่วยถวายความอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสงฆ์ เช่น ในการจารึกคัมภีร์ศาสนาเป็นจำนวนกว่าห้าหมื่นเล่ม เป็นต้น แม้การพิมพ์พระไตรปิฎก ๑๖,๐๐๐ หน้า ด้วยตัวพิมพ์ไม้แกะอันเป็นของใหม่ในประวัติศาสตร์ก็สำเร็จได้ด้วยราชูปถัมภ์ ความเจริญของพระพุทธศาสนาได้เป็นไปด้วยดี นับแต่แผ่นดินยังแยกเป็น ๓ อาณาจักร จนกระทั่งรวมกันได้ในอาณาจักรซิลลา
ต่อมาใน พ.ศ. ๑๔๗๘ อาณาจักรซิลลาพ่ายแพ้แก่หวั่งกอน ผู้ตั้งราชวงศ์ที่ซองโค (ปัจจุบันคือ กีซอง) และสถาปนาดินแดนเกาหลีในนามใหม่ว่า อาณาจักรโกริโอ (Koryo) อันเป็นที่มาแห่งคำว่า โกเรีย (Korea) หรือเกาหลีในปัจจุบัน ตลอดราชวงศ์นี้แผ่นดินไม่สู้มีความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองเท่าใด แต่กระนั้นพระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่อย่างมั่นคงตลอดเวลา ๔๕๗ ปี
เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๙๓๕ ปี แผ่นดินเกาหลีได้เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่อีกวาระหนึ่ง ราชวงศ์โชซอนประสงค์จะเชิดชูลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติ จึงกดขี่บีบคั้นพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนทำให้พระสงฆ์ต้องปลีกตนหลบลี้อยู่โดยสงบตามเมืองบ้านนอก และป่าเขา ในระยะเวลานานถึง ๕๑๘ ปีของราชวงศ์นี้ ได้มีการรุกรานจากต่างประเทศคือ ชาวจีนและญี่ปุ่น แม้พระสงฆ์จะได้มีบทบาทในการป้องกันประเทศถึงกับออกช่วยรบพุ่ง และในยามสงบจะได้ช่วยเหลือในสังคมสงเคราะห์ต่างๆ เป็นการช่วยบ้านเมืองอย่างมาก แต่ก็หาได้ทำให้ราชวงศ์หันมาอุ้มชูพระศาสนาอย่างจริงจังไม่ ช่วยได้เพียงลดการบีบคั้นกดขี่ให้น้อยลงเท่านั้น ตลอดจนราชวงศ์นี้มีกษัตริย์อยู่เพียง ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าเซซอง ผู้ประดิษฐ์อักษรเกาหลี และกษัตริย์เซโจเท่านั้น ที่ได้ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยจัดให้มีการแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากภาษาจีนเป็นภาษาเกาหลี กษัตริย์อื่นนอกนั้น ทั้งก่อนและภายหลัง ล้วนแต่ทรงบีบคั้นพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์จึงเพียงแต่ทำหน้าที่รักษาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมไว้ ให้เป็นมรดกตกทอดถึงชนรุ่นหลังเท่านั้น
ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แผ่นดินเกาหลีใต้ตกเป็นส่วนหนึ่งของ ประเทศญี่ปุ่น ราชวงศ์เกาหลีสิ้นอำนาจลงโดยสิ้นเชิง ญี่ปุ่นได้ออกระเบียบข้อบังคับควบคุมวัดวาอาราม และได้พยายามก่อสร้างความเสื่อมโทรมให้เกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์ เช่น ส่งเสริมให้พระสงฆ์มีครอบครัวและดำรงชีวิตเหมือนอย่างฆราวาส ทั้งนี้เพื่อจะทำลายความรู้สึกชาตินิยมที่วัดช่วยรักษาไว้ให้หมดสิ้นไป อันเป็นนโยบายกลืนชาติอย่างหนึ่ง
ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพโซเวียตและกองทัพสหรัฐฯ ได้เคลื่อนเข้ามาในดินแดนเกาหลีในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ โซเวียตเข้าทางเหนือ สหรัฐเข้าทางใต้ การปกครองของญี่ปุ่นได้สิ้นสุดลง และแผ่นดินเกาเหลีได้ถูกแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ แต่นั้นมา
ทางฝ่ายเกาหลีใต้ ทันทีที่ได้รับเอกราช ชาวพุทธโดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ก็เริ่มเคลื่อนไหวในการที่จะชำระกิจการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ พระภิกษุและภิกษุณี (เรียกตามที่ชาวเกาหลีเรียกเอง) จำนวนพันได้นัดประชุมใหญ่ และได้ลงมติที่เป็นข้อสำคัญๆ คือ ให้ยกเลิกข้อบังคับต่างๆ อันขัดแย้งต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ตราขึ้นในสมัยญี่ปุ่นยึดครองเสียทั้งหมด ให้ยกเลิกตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ รวมทั้งตำแหน่งสูงสุดที่ติดมาแต่สมัยญี่ปุ่นยึดครอง ให้ผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นลาออกทั้งหมด ให้คณะสงฆ์มีการปกครองของตนเองและมีสำนักงานอยู่ในนครหลวง ในจังหวัดต่างๆ ให้มีสภาบริหารของตนเอง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของสำนักงานใหญ่ในพระนครหลวงอีกต่อหนึ่ง สำนักงานใหญ่นี้ได้จัดประชุมใหญ่อีกใน พ.ศ. ๒๔๘๙ และได้ตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้น สำหรับเป็นหลักบริหารการคณะสงฆ์ทั้งปวง การชำระการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์นั้นได้ทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง กว่าจะทำให้คณะสงฆ์เกาหลีเป็นคณะสงฆ์ที่บริสุทธิ์ เป็นพระถือพรหมจรรย์ไม่มีครอบครัวได้ ก็ต้องมีการต่อสู้กัน ถึงล้มตายไปก็มี การชำระคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์นี้ได้กินเวลายาวนานและสำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕
ปัจจุบัน คณะสงฆ์เกาหลีเป็นคณะสงฆ์ที่ก้าวหน้าเท่าทันต่อเหตุการณ์ ตื่นตัวในทุกด้าน พร้อมที่จะปรับปรุงตนเพื่อความเจริญมั่นคงของพระศาสนา กิจการด้านที่พระสงฆ์เกาหลีสนใจและทำกันอย่างเข้มแข็งจริงจังที่สุดนั้น ไม่มีด้านใดเกินกว่าเรื่องการศึกษา ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องตรงกันกับฝ่ายบ้านเมือง การศึกษาภาคบังคับในเกาหลีเพิ่งมีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ แต่ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ มีสถิติคนอ่านออกเขียนได้ถึง ๙๕% มีมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยคณะ ๖ คณะขึ้นไปรวม ๒๐ มหาวิทยาลัย มีวิทยาลัยต่างๆ อิสระอีก ๔๘ แห่ง ทั้งที่เกาหลีมีดินแดนเพียง ๑๔ จังหวัด มีพลเมืองสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ประมาณ ๒๒,๕๐๐,๐๐๐ คน
มีตัวเลขสถิติเกี่ยวกับจำนวนวัด พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนในเกาหลีที่น่าสนใจ ดังนี้
วัดภิกษุประมาณ ๑,๔๐๐ วัด
วัดภิกษุณีประมาณ๓๐๐ วัด
รวมประมาณ ๑,๗๐๐ วัด
ภิกษุและสามเณร ๘,๙๒๕ รูป
ภิกษุณีและสามเณรี ๓,๓๒๖ รูป
รวมทั้งสิ้น ๑๒,๒๕๑ รูป
อุบาสก ๒,๖๕๘,๕๘๒ คน
อุบาสิกา ๑,๒๒๗,๙๑๐ คน
รวมทั้งสิ้น ๓,๘๘๖,๔๙๒ คน
ในจำนวนพลเมืองเกาหลี ๒๒ ล้าน ๕ แสนคนนั้น ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และในบรรดาพุทธศาสนิกชนเหล่านี้ ผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาหมายถึงศาสนิกชนที่มีศรัทธามาก เป็นสมาชิกแห่งองค์การพระพุทธศาสนาด้วย
การบริหารการคณะสงฆ์ของเกาหลี มีพระสังฆราชเป็นประมุขและมีระบบงานประกอบด้วยสังฆสมาคมซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้แทนพระสงฆ์ ๕๐ รูปอย่างหนึ่ง คณะกรรมาธิการสอดส่องตรวจตรารักษาระเบียบวินัยและความสงบเรียบร้อยคณะหนึ่ง และพระภิกษุผู้บริหารกิจการทั่วไปของพระศาสนา ซึ่งมีพระเถระผู้ดำรงตำแหน่งเทียบได้กับสังฆนายกเป็นประธานอีกคณะหนึ่ง
ในการบริหารการพระศาสนาทั้งปวงนี้ คณะสงฆ์มีวัดที่เป็นสำนักงานใหญ่รวมไว้ในที่เดียว คือ วัดโชเคซา พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งบริหารแต่เดิมจะอยู่วัดใดก็ตาม เมื่อได้เป็นพระสังฆนายกและสังฆมนตรีแล้ว จะต้องย้ายมาอยู่ประจำสำนักงาน ณ วัดโชเคซา นี้ทั้งหมด
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจัดเป็นตำแหน่งพิเศษ เป็นประมุขที่เคารพบูชาของชาวพุทธ มิได้มีหน้าที่บริหารงานโดยตรง ทรงมีสิทธิพิเศษจะประทับ ณ วัดใดก็ได้ และจะทรงย้ายไปประทับ ณ วัดใดเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ ไม่ถือว่าทรงสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ สมเด็จพระสังฆราชลีชุงดัม ประทับ ณ วัดโทเซิ่น อยู่บนภูเขาในกรุงโซล มีทางเดินจากเชิงเขาขึ้นไปถึงวัดยาว ๒ กิโลเมตร
ในด้านการปกครองภิกษุณี แต่ละวัดมีภิกษุณีเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสทุกวัดขึ้นต่อองค์การปกครองของคณะสงฆ์ทั้งหมด โดยนัยนี้ การปกครองทั้งฝ่ายภิกษุและฝ่ายภิกษุณีจึงรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในด้านการศึกษา นอกจากมีโรงเรียนปริยัติธรรมสำหรับสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรีแล้ว คณะสงฆ์เกาหลียังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่างๆ ที่เปิดรับนักศึกษาชายหญิงโดยทั่วไปด้วย สถาบันเหล่านี้มีคฤหัสถ์เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะในความควบคุมดูแลของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ สถานศึกษาเหล่านี้แยกประเภทได้ดังนี้
มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย ๓ แห่ง
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ๑๑ แห่ง
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ๑๖ แห่ง
โรงเรียนประถมศึกษา ๓ แห่ง
โรงเรียนอนุบาล ๗ แห่ง
มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอันเก่าแก่ของเกาหลี มีชื่อว่า “ดงกุก” ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ปัจจุบันมีนักศึกษาชายหญิงประมาณ ๖,๐๐๐ คนเศษ มีภิกษุสามเณรศึกษาอยู่ (โดยเฉพาะในวิทยาลัยพุทธศาสนา) ประมาณ ๖๐ รูป ภิกษุณี ๗ รูป มหาวิทยาลัยดงกุกประกอบด้วยวิทยาลัยต่างๆ ๖ วิทยาลัย และมีสาขาวิชา ๒๗ สาขา
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ คณะสงฆ์เกาหลีได้เริ่มตั้งโครงการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเกาหลี เรียก “ศูนย์แปลพระไตรปิฎกเกาหลี” อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยดงกุก มีคณะกรรมการแปล ๖๕ คน ตามโครงการนี้จะตีพิมพ์พระไตรปิฎกแปลเป็นเล่ม ออกเดือนละ ๑ เล่ม รวมทั้งสิ้น ๒๔๐ เล่ม ภายในเวลาทั้งหมดประมาณ ๔๕ ปี
ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในเกาหลีเป็นแบบนิกายเซน เจือด้วยความเชื่อในพระอมิตาภะพุทธเจ้าบ้าง พระเมตไตรยโพธิสัตว์บ้าง.
No Comments
Comments are closed.