- ๑. วันวิสาขบูชา
- ๒. มองวันวิสาขบูชา
– ๒ –
มองวันวิสาขบูชา
หยั่งให้ถึงอารยธรรมของโลก1
วิสาขบูชา ที่เป็นมาในหมู่ชาวพุทธ
ถาม กราบนมัสการท่านเจ้าคุณอาจารย์ เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้มีมติยอมรับวันวิสาขบูชาเป็นวันสากลของโลก การที่สหประชาชาติให้การยอมรับครั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า วันวิสาขบูชานั้น ไม่เพียงแต่เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อชาวโลกด้วย จึงขอกราบเรียนท่านเจ้าคุณอาจารย์ให้พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา
ขอเริ่มด้วยคำถามว่า วันวิสาขบูชานี้คือวันอะไร
ตอบ วิสาขบูชา พูดง่ายๆ ก็คือ “วันพระพุทธเจ้า” เพราะเป็นวันที่เราจัดพิธีบูชา เพื่อแสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นการประกาศว่าเรามองเห็นคุณประโยชน์ที่พระองค์ได้กระทำไว้ต่อพระพุทธศาสนาและต่อสังคมมนุษย์
ที่ว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า ก็เพราะว่าเป็นวัน “ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน” ของพระองค์ เมื่อเป็นวัน ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็เป็นวันพระพุทธเจ้า และถือได้ว่าเป็น “วันเกิดของพระพุทธศาสนา” ด้วย เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้งหรือประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้น
เพราะฉะนั้นจึงพูดรวมกันได้ว่า วันวิสาขบูชา ก็คือ วันที่เรามาแสดงความเคารพบูชา ระลึกในพระคุณความดีและประโยชน์ที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญไว้ให้แก่มวลมนุษย์ โดยเฉพาะในการที่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชาวโลก
เนื่องจากวัน ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า ตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เพราะฉะนั้นการบูชาหรือพิธีนี้จึงจัดในเดือนวิสาขะ ที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าเดือนหก และจึงเรียกว่า วิสาขบูชา
ถาม วันวิสาขบูชามีความเป็นมาอย่างไร
ตอบ ในเรื่องความเป็นมานั้น บางส่วนเราอาจจะไม่ชัดเจน คือ เป็นเรื่องของเหตุการณ์และกิจกรรมของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ บางตอนมีหลักฐาน เราก็รู้ชัดเจน บางตอนไม่มีหลักฐาน ทั้งๆ ที่มีการปฏิบัติหรือกิจกรรม แต่เราก็ไม่สามารถยกมาพูดได้
วันวิสาขบูชาเกิดจากการที่ชาวพุทธต้องการแสดงออก โดยมารวมตัวกัน แสดงความระลึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า มีการทำกิจกรรมที่เรียกว่าบุญกุศลต่างๆ โดยเฉพาะก็คือการบูชา การจัดกิจกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไรคงยากที่จะบอก เพราะยังไม่เห็นหลักฐานชัดเจน
ถ้าพูดถึงเฉพาะในประเทศไทย เราก็บอกได้เท่าที่รู้ว่ามีขึ้นตั้งแต่ครั้งสุโขทัย สืบทอดมาเรื่อยๆ แต่ในสมัยอยุธยาจะมีแค่ไหนก็ไม่ชัดเจนนัก เพราะขาดตอนลงในช่วงปลายที่กรุงศรีอยุธยามีเหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวายสับสน บางท่านก็ว่าหยุดชะงักไป แล้วมาฟื้นฟูอีกเมื่อตั้งกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาโดยทำเป็นการใหญ่ สมเด็จพระสังฆราชมีเป็นเจ้าของความคิดในฐานะที่ท่านเป็นประมุขสงฆ์ในประเทศไทยเวลานั้น
ครั้งนั้น ทางการบ้านเมือง ได้ประกาศให้ทำพิธีเฉลิมฉลอง โดยทำเป็นกิจกรรมใหญ่ถึง ๓ วันด้วยกัน การเฉลิมฉลองนี้เป็นไปในเรื่องของบุญกุศล ไม่ได้สนุกสนานแบบมีการกินเหล้าเมายาอะไร ตรงข้ามก็คือ ให้ทำความดี เว้นจากความชั่ว ไม่ให้มีอบายมุข ไม่ให้มีสุราการพนัน และส่งเสริมกิจกรรมในการทำความดีต่างๆ
ที่พูดมานี้เป็นเรื่องของวันวิสาขบูชาที่ปฏิบัติกันมาในประเทศไทย ไม่ได้หมายความว่าเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เท่าที่เรารู้ว่ามีในประเทศไทย ก็เป็นมาอย่างนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ มีการจัดประเพณีวันวิสาขาบูชาต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
แต่ปัจจุบันนี้การจัดงานหดลงไปเหลือวันเดียว และยิ่งกว่านั้นวันเดียวบางทีก็เหลือเพียงส่วนของวัน ไม่ได้เต็มวัน แต่ก็มีผู้พยายามที่จะให้ความสำคัญอย่างที่มีการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่สนามหลวง ซึ่งจัดกันมาเป็นเวลา ๑๖ ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ ๑๗ เมื่อมีพุทธมณฑลขึ้นมา ก็จัดที่พุทธมณฑลด้วย แล้วก็จัดตามวัดต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดงานวันวิสาขบูชาทั่วไป สำหรับประชาชนแต่ละท้องถิ่น
ถาม ประเทศอื่นๆ มีการจัดงานวันวิสาขบูชากันอย่างไรบ้าง
ตอบ ประเทศอื่นก็ถือวันเกิดของพระพุทธเจ้า คือวันประสูติเป็นวันสำคัญ อย่างญี่ปุ่นก็มีวันประสูติของพระพุทธเจ้า เท่าที่ทราบเวลานี้เขาใช้วันสุริยคติ โดยกำหนดแน่นอนลงไปว่าเป็นวันที่ ๘ เมษายน ของทุกปี
ที่ศรีลังกาเขาจัดงานใหญ่มาก ปัจจุบันนี้ก็ยังใหญ่อยู่ เขาเอาจริงเอาจังมาก ราชการหยุด ๒ วัน ชาวบ้านนุ่งขาวห่มขาวมาอยู่วัดถือศีล ๕ วัน ตั้งโรงทานและจัดการแสดงทางธรรม ๑ เดือน แสดงว่าเขาเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อเห็นความสำคัญของวันวิสาขบูชา ก็แสดงว่าเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า ก็คือ เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา อันนี้เนื่องอยู่ด้วยกันเป็นธรรมดา
มองวันวิสาขบูชา ด้วยปัญญาที่รู้ตระหนัก
ถาม วันวิสาขบูชามีความสำคัญต่อชาวพุทธอย่างไร
ตอบ วันวิสาขบูชาสำคัญต่อชาวพุทธ เพราะว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา เป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น เราจึงเรียกพระองค์ว่า “พระบรมศาสดา”
เมื่อพระพุทธศาสนาสำคัญต่อเรา พระพุทธเจ้าก็สำคัญต่อเราชาวพุทธทั้งหลาย นี้เป็นการพูดในแง่หลักทั่วไป
ถ้าจะพูดในความหมายที่ลึกลงไป วันวิสาขบูชาก็มีความสำคัญในแง่ที่ว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้เรานำเอาหลักพระพุทธศาสนาขึ้นมาประพฤติปฏิบัติ อย่างน้อยเริ่มต้นด้วยเตือนใจให้เราไม่ลืมที่จะมองความหมายว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร แล้วก็เป็นโอกาสสำหรับการทำความดีงามต่างๆ เริ่มตั้งแต่การมาระลึก ทบทวนความหมาย ตรวจสอบความเข้าใจ และขวนขวายศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเราใช้โอกาสนี้มาเตือนใจกัน แล้วส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจ และชวนกันประพฤติปฏิบัติ ก็จะเป็นผลดีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคมส่วนรวม
แต่ละปีเราอาจจะมาตกลงกันว่า ปีนี้จะเน้นอะไรสำหรับชาวพุทธ เช่น เน้นเรื่องที่สัมพันธ์กับสภาพสังคม โดยพิจารณาว่าสังคมไทยเวลานี้มีสภาพเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งในแง่ไหน มีปัญหาทางด้านสังคม เช่น อบายมุข ยาบ้า ยาเสพติด การพนัน ที่หนักมาก ประชาชนลุ่มหลงในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และการอ้อนวอนหวังผลจากการดลบันดาล การบ้านการเมืองก็มีปัญหาจากความไม่สามัคคี เป็นต้น ตลอดจนเรื่องของความไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ไม่สุจริตต่างๆ ดังที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย เป็นเหตุการณ์ความเป็นไปของสังคม ซึ่งชาวพุทธก็คือคนไทยทั่วๆ ไปนี่แหละ ต้องมีความรับผิดชอบ
โดยเฉพาะความรับผิดชอบในฐานะชาวพุทธนี่ต้องสูง เพราะพฤติกรรมเสื่อมทรามเสียหายเหล่านี้ จะเป็นอบายมุขก็ดี ความไม่สุจริตในการบริหารดำเนินกิจการต่างๆ ก็ดี เป็นเรื่องที่ผิดหลักพระพุทธศาสนามาก ถ้าเราจะให้พระพุทธศาสนามีความหมาย และแสดงว่าคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาจริง ก็ต้องให้คนไทยแสดงตัวออกมาด้วยพฤติกรรมหรือการกระทำ และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
เมื่อชีวิตและสังคมของเรามีสภาพอย่างนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา ก็เป็นเครื่องฟ้องตัวเอง ที่เราจะต้องมาทบทวนพิจารณากัน แล้วก็วิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ไข
วันวิสาขบูชาก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้มาเอาจริงเอาจัง โดยมารวมใจกัน ประชุมกัน หรือร่วมมือกัน ในการวางแนวทางนโยบาย เริ่มตั้งแต่หยิบยกปัญหาขึ้นมาถกเถียง แล้วตั้งประเด็นเป็นจุดกำหนด และวางเป้าหมายใหญ่ๆ ที่เราจะเอาจริงเอาจังเพื่อปรับปรุงกิจการพระศาสนา พัฒนาชีวิตและสังคม เมื่อได้จุดหมายชัดเจนแล้ว ก็วางวิธีการในการแก้ปัญหาให้เป็นเรื่องที่จะทำกันให้จริงจังต่อไป
ถาม อยากทราบว่า วันวิสาขบูชามีความสำคัญต่อชาวโลก อย่างไร
ตอบ พระพุทธศาสนาสำคัญต่อโลก ก็คือในแง่ที่ “เป็นบ่อเกิดสำคัญของอารยธรรมมนุษย์” ซึ่งจะพูดตามภาวะที่เป็นอยู่ในบางแถบของโลกก็ได้ หรือจะพูดในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโลกทั้งหมดก็ได้
อารยธรรมมนุษย์นั้นเป็นผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ในถิ่นต่างๆ เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ก็ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการสร้างสรรค์ในส่วนต่างๆ ของโลก ตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์ในท้องถิ่นต่างๆ แต่ละภูมิภาค หรือแต่ละประเทศก็ดี หรือในส่วนรวมของโลกก็ดี ถ้าเราศึกษาดูให้ดี ก็จะเห็นส่วนร่วมและบทบาทสำคัญของบุคคลในพระพุทธศาสนาและของตัวสถาบันพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
เมื่อมีบุคคลมานับถือหรือนำหลักธรรมในพุทธศาสนาไปใช้ ความเปลี่ยนแปลงในทางพฤติกรรม จิตใจ และความรู้ความคิดก็เกิดขึ้น เมื่อความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติ และความคิดความเข้าใจแพร่ขยายกว้างออกไป และอยู่ตัว ก็กลายเป็นวิถีชีวิต วิถีสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างสรรค์ต่างๆ ตามแนวทางนั้น เรียกว่าอารยธรรมเกิดขึ้น
เหมือนอย่างประเทศไทยเราก็เป็นตัวอย่างของท้องถิ่นหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง ที่วัฒนธรรมมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา ความเจริญก้าวหน้าและความเป็นมาของสังคม ย่อมสืบเนื่องมาจากหลักการต่างๆ ที่นำมาใช้ ไม่ว่าหลักการคือหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเราจะเอามาใช้ได้แค่ไหนและใช้ได้ถูกต้องเพียงใดก็ตาม แต่แน่นอนว่าเราเอามาจากพระพุทธศาสนามากมาย
ถ้าจะวิเคราะห์ในแง่ของตัววัฒนธรรมกว้างๆ ก็แยกออกไปได้หลายเรื่อง เช่น ศิลปวัตถุสถาน ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ภาษา วรรณคดี นิติธรรม แม้แต่ในด้านรัฐ เรื่องของการบ้านการเมือง การปกครอง ก็ได้รับอิทธิพลจากคำสอนของพระพุทธศาสนา แล้วก็เรื่องของวิถีชีวิต เรื่องของภาวะจิตใจอะไรต่างๆ เช่นความโอบอ้อมอารีมีน้ำใจ ก็เห็นกันได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นเรื่องที่ยังต้องวิเคราะห์กันว่าเรานำมาใช้ได้สำเร็จผลดีมากน้อยแค่ไหน แต่พูดรวมๆ ว่าในการนำมาใช้นั้นเราก็ได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะรับนับถือพระพุทธศาสนา และแม้แต่เมื่อพูดว่าเรานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว คนไทยเราก็มีพื้นเพจิตใจของตัวเอง ที่มีฐานภูมิหลังมาเก่า เมื่อนำหลักพุทธศาสนามาใช้ เราก็อาจจะเลือกเอาส่วนที่สนองความต้องการของเราตามกาลเทศะ
เรื่องนี้มองได้หลายอย่าง เช่น อาจมองว่าการนำพระพุทธศาสนามาใช้นั้น เป็นการที่เราพยายามก้าวเข้าไปสู่หลักการของพุทธศาสนา สังคมนั้นมีการพัฒนา และพระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ถ้าเราไม่ประมาท เราก็จะคอยตรวจสอบวัดผลว่าเรานำหลักพระพุทธศาสนามาใช้ได้เท่านี้และเราคืบหน้าไปได้เท่านี้ แต่หลักพระพุทธศาสนาไม่ใช่มีเท่านี้ เราจึงต้องก้าวต่อไป
เราอย่ามองในแง่เหมือนกับว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสังคมไทยของเราแล้ว สังคมไทยของเราเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว หลักมีอยู่เท่านี้ เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่แน่นอน แม้แต่ส่วนที่นำมาใช้แล้ว นานๆ ไปเมื่อเป็นของส่วนรวม สังคมใหญ่ๆ ก็มีการคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปได้ จึงต้องมีการตรวจสอบ ปรับตัวแก้ไข โดยนำเอาหลักแท้ๆ มาเป็นมาตรฐาน คือปรับตัวเข้ากับหลักการที่ถูกต้องจริงแท้ให้ได้
ยิ่งโดยเหตุผลสำคัญ คือพุทธศาสนาเป็น ศาสนาแห่งปัญญา ก็ยิ่งทำให้การที่จะต้องทบทวนตรวจสอบตัวเองกับหลักการเป็นเรื่องสำคัญ พูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องมีการศึกษานั่นเอง เพราะว่าศาสนาแห่งปัญญานั้น คนจะต้องศึกษาจึงจะนำหลักมาใช้ได้ถูกต้อง
ถ้าเป็นศาสนาแห่งศรัทธา ก็จะวางหลักความเชื่อและข้อปฏิบัติมาตายตัว ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องถาม ต้องเชื่อตามและทำตามแน่นอนลงไป เช่น บอกว่า นี่นะ คุณเป็นศาสนิก คุณจะต้องเชื่ออย่างนี้ๆ คุณจะต้องปฏิบัติอย่างนี้ วางมาให้เลย ๑-๒-๓-๔-๕ ตายตัว ไม่ต้องรู้เหตุผล ไม่ต้องเข้าใจอะไรก็ได้
แต่ในพุทธศาสนา เพราะเหตุที่ว่าการจะประพฤติปฏิบัติถูกต้องไม่ผิดพลาด อยู่ที่ต้องรู้เข้าใจโดยใช้ปัญญา ต้องเรียนรู้ว่าหลักเป็นอย่างไร จะต้องก้าวต่อไปอย่างไร การที่จะนำมาใช้ได้แค่ไหน อยู่ที่เรามีปัญญา รู้ เข้าใจ และมีความสามารถที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ต่อตัวบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นเองและต่อกาลเทศะ เพื่อให้บรรลุจุดหมายของพระศาสนา
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ว่าในแง่หนึ่งก็เสี่ยง คือเสี่ยงต่อการคลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยน ซึ่งก็แน่นอนว่าได้เกิดการคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนขึ้นมากมายแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ถือว่าถ้ามนุษย์จะมีการพัฒนาได้จริง ก็จะต้องให้คนพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะในการใช้ปัญญา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำให้พุทธศาสนามีลักษณะพิเศษ ที่ว่าให้เสรีภาพในทางความคิด และส่งเสริมการศึกษาที่เน้นปัญญา
No Comments
Comments are closed.