– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

– ๒ –
หลักแห่งปฏิบัติการ

ถ้าคนอยู่ในหลักการ ก็ไม่ต้องมีกฎหมาย
ถ้ากฎหมายไม่ใช่เพื่อหลักการ ก็ไม่ควรให้เป็นกฎหมาย

กฎหมายแม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่เป็นหลักประกันว่าจะทำให้ชีวิตดีงามและสังคมมีสันติสุขได้ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย ที่มีและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของประชาชน คนจะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักการพื้นฐานและจิตใจที่เข้ากันได้ เช่น ไม่แบ่งแยกรังเกียจเดียดฉันท์กันด้วยเรื่องชนชั้น ผิวพรรณ เชื้อชาติ และลัทธิศาสนา มีความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น สังคมจึงจะมีความมั่นคงยั่งยืนอยู่ได้

ฉะนั้น สามัคคีหรือเอกีภาพจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงรักษาสังคม และจะต้องมีหลักความประพฤติปฏิบัติต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความสามัคคีเช่นนั้น

การที่สังคมบัญญัติวินัยคือกฎหมายต่างๆ ขึ้น ก็เพื่อมาหนุนให้คนดำรงอยู่ในหลักการต่างๆ เหล่านั้น อันจะทำให้สังคมหรือสังฆะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วจะได้มีความมั่นคงยั่งยืนและมีสันติสุขตามวัตถุประสงค์

หลักการต่างๆ เพื่อดำรงรักษาสังคมนั้น เท่ากับเป็นสาระหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถ้าคนยึดถือและปฏิบัติตามหลักการเหล่านั้น ก็แทบจะพูดได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย นอกจากในความหมายว่าเป็นข้อหมายรู้อย่างที่กล่าวข้างต้น หลักการต่างๆ เหล่านี้ นอกจากนำมาเป็นหลักในการบัญญัติข้อกฎหมายแล้ว บางทีก็มีอยู่ในรูปที่เป็นคติธรรมหรือหลักคำสอน

ธรรมที่เป็นหลักการทั่วไปซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นสิกขาบทในทางวินัยมีหลายอย่าง ที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในชุมชนแห่งกัลยาณมิตร เช่น หลักสาราณียธรรม เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักการของประชาธิปไตย ขอยกมาเป็นตัวอย่าง หลัก สาราณียธรรม ๖ ประการ (สารณียธรรม ก็เรียก) คือ

๑. เมตตากายกรรม จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา ทำด้วยใจรักหวังดี เช่น เมื่อมีเรื่องที่ต้องจัดทำ หรือมีงานส่วนรวม ก็มาช่วยเหลือร่วมมือกัน พร้อมเพรียงกันทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยหวังดีที่จะให้เกิดประโยชน์สุขต่อกัน

๒. เมตตาวจีกรรม จะพูดอะไรก็พูดต่อกันด้วยเมตตา พูดด้วยใจรักหวังดี มีปิยวาจา ช่วยแก้ปัญหา มุ่งให้เกิดความสามัคคีและประโยชน์สุขร่วมกัน

๓. เมตตามโนกรรม จะคิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา คิดด้วยใจรัก หวังดี คิดในทางที่จะแก้ไขปัญหา ในทางสมัครสมานประสานส่งเสริม หรือเอื้อเฟื้อช่วยเหลือสนับสนุนกันเพื่อจุดหมายที่ดีงาม ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

๔. สาธารณโภคิตา ได้มาแบ่งกันกินใช้ หลายคนเข้าใจผิดว่า พระพุทธศาสนาไม่เอาใจใส่เรื่องวัตถุ แต่แท้จริงพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องลาภหรือผลประโยชน์หรือเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง ถือว่าต้องจัดสรรให้เรียบร้อยชอบธรรม แต่ให้อยู่ในขอบเขตที่เรียกว่าเป็น ปัจจัย เพราะฉะนั้น เรื่องการแบ่งปันลาภและเอื้อเฟื้อกัน รวมถึงเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ จึงเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งในหลักการอยู่ร่วมกัน

๕. สีลสามัญญตา เสมอสมานกันโดยศีล ตั้งอยู่ในหลักความประพฤติเสมอกัน คล้ายกับที่พูดกันว่ามีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายทุกคนต่อหน้าวินัยแล้วเสมอกันทั้งหมด แม้แต่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ยกเว้น นอกจากมีกฎยกเว้นให้เป็นสิกขาบทโดยเฉพาะ จึงจะพ้นโทษทางวินัย ในเรื่องของวินัยจะอ้างธรรมไม่ได้ วินัยกำหนดไว้ให้เสมอภาคกันและจึงต้องพยายามประพฤติตัวให้เสมอกันโดยศีล ไม่ให้เป็นที่รังเกียจแก่ชุมชน

๖. ทิฎฐิสามัญญตา เสมอสมานกันโดยทิฏฐิ หมายความว่า ยึดถือหลักการพื้นฐานและอุดมการณ์ของสังคมร่วมกัน ในสังคมใดไม่มีหลักการร่วมกัน ก็จะดำรงเอกภาพไว้ไม่ได้ เช่น ในสังคมประชาธิปไตย ถ้าประชาชนไม่ยึดถือหลักการแห่งประชาธิปไตยร่วมกัน ก็ถึงอวสาน เพราะฉะนั้นสมาชิกจึงต้องมีอุดมการณ์ และมีหลักการที่เป็นทิฏฐิพื้นฐานร่วมกัน

ธรรม ๖ ข้อนี้เป็นหลักแห่งความสามัคคี ในระหว่างบุคคลก็เป็นปิยกรณ์ แปลว่าสร้างความรักกัน ครุกรณ์ สร้างความเคารพกัน สารณียะ ทำให้ระลึกถึงกัน หรือยึดเหนี่ยวใจกันไว้ และในแง่ส่วนรวมก็เป็นไปเพื่อสังคหะ คือทำให้รวมคนเข้าเป็นหมู่อยู่ได้ เพื่ออวิวาทะ ทำให้ไม่วิวาทกัน เพื่อสามัคคี คือพร้อมเพรียงกัน และเพื่อเอกีภาพ ที่เรียกว่า เอกภาพ คือทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีหลักการอื่นอีก เช่น อปริหานิยธรรม คือธรรมที่จะทำให้ไม่เสื่อม ซึ่งมี ข้อ คือ

๑. ประชุมกันเนืองนิตย์

๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็อยู่จนเลิกโดยพร้อมเพรียงกัน และเมื่อมีกิจส่วนรวม คือสังฆกรณีย์ เกิดขึ้น ก็ต้องพร้อมใจกันทำ

๓. ไม่ถืออำเภอใจแล้วบัญญัติอะไรตามใจตัว หรือล้มเลิกถอนบทบัญญัติอะไรตามใจชอบ

๔. เคารพนับถือยกย่องบุคคลที่เป็นหลัก ที่เรียกว่า สังฆบิดร มองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อ แต่ภิกษุใดเป็นเถระ เป็นรัตตัญญู หมายความว่า ได้มีประสบการณ์ยาวนาน มีความรู้เป็นหลัก ต้องมองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน และให้สำคัญว่าเป็นสิ่งอันพึงฟัง ไม่ลบหลู่ละเลยหรือมองข้ามไป

๕. ให้เกียรติและคุ้มครองสตรี ไม่ให้มีการข่มเหงรังแกกุลกุมารี (น่าสังเกตว่า สังคมไทยเวลานี้ได้ทรุดลงไปไกลในเรื่องนี้ ถึงขั้นที่มีโสเภณีเด็กแพร่หลาย อย่างที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็น; สำหรับหมู่สงฆ์ ข้อนี้ท่านใช้ว่า ไม่ลุแก่อำนาจตัณหา คือไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอปรนเปรอเสพบริโภคและผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งสังคมคฤหัสถ์ก็ควรจะปฏิบัติด้วย)

๖ ให้ความสำคัญแก่ เจดีย์ หรืออนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพ เป็นที่รวมใจของสังคม และเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดจิตสำนึกต่อส่วนรวม (สำหรับหมู่สงฆ์ ข้อนี้ท่านใช้ว่า มีใจผูกพันใฝ่ชอบเสนาสนะป่า)

๗. จัดอารักขาคุ้มครองป้องกันแก่พระอรหันต์ หมายความว่า พระสงฆ์ หรือนักบวชที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ไม่ประมาทมัวเมา เป็นหลักใจของประชาชน เป็นตัวแทนของคุณธรรม เป็นหลักของศีลธรรม เป็นผู้รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม ให้ถือเป็นหน้าที่ของบ้านเมืองจะต้องจัดการอารักขา คุ้มครองป้องกัน และยินดีต้อนรับท่าน (ข้อนี้สำหรับหมู่สงฆ์ ท่านเปลี่ยนเป็นว่า ยินดีต้อนรับเพื่อนสพรหมจารีที่ยังไม่มา และตั้งใจต่อท่านที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข)

สำหรับคฤหัสถ์ คือคนทั่วไปที่อยู่ในสังคมใหญ่ ยังมีหลักธรรมอีกชุดหนึ่งเรียกว่า สังคหวัตถุ แปลว่า หลักการสงเคราะห์ คือหลักการยึดเหนี่ยวประสานหมู่ชนให้อยู่ในความสามัคคี ซึ่งมี ๔ ประการ (สังคหะ แปลว่า สังเคราะห์ หรือสงเคราะห์ ที่เราใช้ในความหมายว่าช่วยเหลือกัน แต่คำศัพท์เดิมแปลว่ารวมเข้าด้วยกัน) หมายความว่า ในการที่จะผนึกให้สังคมมีความมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ คนจะต้องมีธรรม ๔ ข้อนี้ คือ

๑. ทาน การให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน มีลาภหรือผลประโยชน์ก็กระจายเฉลี่ยกันไป

๒. ปิยวาจา การพูดด้วยใจรักหวังดี กล่าวถ้อยคำสุภาพไพเราะ รู้จักใช้วาจาแสดงน้ำใจ ที่จะแก้ปัญหาและช่วยเหลือกัน

๓. อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ เอาเรี่ยวแรงกำลังความสามารถเข้าช่วยเหลือร่วมมือกัน

๔. สมานัตตตา การเอาตัวเข้าสมาน มีความเสมอภาค ทำตัวให้เข้ากันได้ โดยร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ร่วมกันเผชิญและแก้ปัญหา ไม่ทอดทิ้งกัน ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง สม่ำเสมอสมานกันโดยธรรม

สังคหวัตถุ ๔ นี้ แปลเป็นภาษาง่ายๆ ในแง่ของการช่วยเหลือกันเพื่อให้เกิดการประสานสังคม คือ

๑) ช่วยด้วยสิ่งของเงินทอง

๒) ช่วยด้วยถ้อยคำ เช่น แนะนำคนให้รู้วิธีแก้ปัญหาของเขา ให้ความรู้ สั่งสอนวิชาการ เพื่อให้สามารถแก้ไขบำบัดความทุกข์ยาก

๓) ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลังความสามารถ

๔) ทำตัวเสมอสมาน คือ ทำตัวให้เข้ากันได้ โดยมีความเสมอภาคกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอหน้าตามธรรม

ที่ว่ามานี้เป็นหลักที่จะรวมหมู่ชนให้อยู่ด้วยกัน และทำให้สังคมมีความเจริญมั่นคง แต่เป็นหลักที่ไม่ได้บัญญัติเป็นสิกขาบทในวินัย จึงไม่มีการกำหนดความผิดและไม่มีการลงโทษ แต่ให้เป็นหลักที่รู้กันว่าควรประพฤติปฏิบัติ

มีหลักปฏิบัติอีกชุดหนึ่ง ซึ่งพูดถึงกันมากว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำรงรักษาสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย คือ ศีล ๕ และจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติในกฎหมายทั้งแพ่งและอาญาแทบทั้งหมด มีเจตนารมณ์ตามหลักศีล ๕ นี้

อย่างไรก็ดี พึงสังเกตว่า ศีล ๕ นี้ที่จริงเป็นสิกขาบท แต่เป็นสิกขาบทสำหรับคฤหัสถ์ (ในวินัยสำหรับพระภิกษุ ศีล ๕ หรือสิกขาบท ๕ นี้ กระจายแยกออกไปเป็นสิกขาบทย่อยๆ มากหลายข้อ และรวมอยู่ในสิกขาบท ๒๒๗ ที่เราเรียกกันว่าศีล ๒๒๗ ซึ่งมีบัญญัติความผิดแก่ผู้ละเมิด)

ในสังคมของชาวพุทธนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงกำหนดความผิดและการลงโทษไว้แก่ผู้ละเมิดศีล ๕ เราพูดได้ว่าทางพระศาสนายกศีล ๕ นี้ให้เป็นเรื่องของสังคมคฤหัสถ์ โดยเฉพาะทางฝ่ายรัฐจะนำมาจัดแยกซอยเป็นข้อกำหนดย่อยๆ ลงไป ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละถิ่นฐานและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงต่างกันไป แล้วกำหนดความผิดและการลงโทษตามที่เหมาะสมตามธรรม และเท่าที่เป็นมาจะเห็นได้ว่า กฎหมายโดยทั่วไปในขั้นพื้นฐานมีสาระสำคัญเพื่อจะดำรงรักษาศีล ๕ หรือเพื่อดูแลไม่ให้คนละเมิดสิกขาบท ๕ ข้อนี้

โดยนัยนี้ ศีล ๕ (สิกขาบท ๕) จึงเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานเพื่อช่วยให้สังคมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่การที่สังคมจะก้าวไปสู่จุดหมายแห่งการพัฒนาที่ถูกต้องดีงามแท้จริง จะต้องให้คนพัฒนาขึ้นไปเหนือกว่าศีล ๕ ที่เป็นเพียงระดับแก้ไขป้องกันความชั่วร้ายและการเบียดเบียนกัน สู่หลักการเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมาแสดงข้างต้น อันควรจะเป็นสาระและเจตนารมณ์ที่แท้จริงทั้งของกฎหมายและการปกครอง

เมื่อได้พูดถึง ศีล ๕ แล้ว ก็ควรจะนำข้อย่อยมาแสดงไว้ด้วย ซึ่งมีดังนี้

๑. การเว้นจากปาณาติบาต (การไม่ละเมิดต่อชีวิตร่างกาย)

๒. การเว้นจากอทินนาทาน (การไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน)

๓. การเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร (การไม่ละเมิดต่อคู่ครองของหวง)

๔. การเว้นจากมุสาวาท (การไม่ละเมิดต่อกันทางวาจา)

๕. การเว้นจากสุรายาเมา (การไม่ดื่มสุราหรือเสพสิ่งเสพติด)

ศีล ๕ (สิกขาบท ๕) นี้ มีสาระสำคัญที่มุ่งเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดีโดยไม่เบียดเบียนกัน จะได้มีความสงบเรียบร้อย ที่เป็นโอกาสพื้นฐานแห่งการพัฒนาชีวิตสู่ประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป

สำหรับ ๔ ข้อแรก จะเห็นความหมายนี้ได้ชัดเจน แต่ข้อ ๕ ที่ว่า เว้นจากสุรายาเสพติดที่จะทำให้เกิดความประมาทขาดสตินั้น มักมองเห็นชัดแต่ในแง่ของโทษต่อชีวิตของตัวผู้เสพเอง แต่ที่จริงในการจัดเข้าชุดแห่งศีล ๕ นี้ ท่านมุ่งความหมายเชิงสังคม

ในแง่สังคมนั้น การละเมิดศีลข้อ ๕ คือ เสพสุรายาเมาสิ่งเสพติด ก่อความเสียหายหรือโทษภัยที่สำคัญ คือ

๑. คนเมาสุรายาเสพติด ขาดสติแล้ว จะทำการร้ายละเมิดศีลได้หมดทุกข้อ ไม่ว่าจะฆ่าคน ทำร้ายกัน ลักหรือทำลายทรัพย์สิน ทำความผิดทางเพศ พูดเท็จ ก็ได้ทั้งนั้น

๒. ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะก่อความพินาศหรือความเสียหายอย่างมาก

๓. แม้ยังไม่ได้ลงมือทำการร้ายใดๆ ก็เป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม เช่น คนที่ขับรถไปในถนนหลวง พอมองเห็นรถที่กำลังแล่นสวนมามีคนขับที่เมาเหล้า หรือระแวงว่าคนขับรถสิบล้อที่กำลังแล่นสวนมาเสพยาม้ายาบ้า ก็จะเกิดความรู้สึกหวาดหวั่น พรั่นใจ

รวมความว่า สังคม โดยเฉพาะรัฐ จะต้องจัดตั้งวางมาตรการทางสังคม โดยเฉพาะการออกกฎหมาย ที่จะมาเป็นประกันให้คนดำรงอยู่ในศีล ๕ หรือสิกขาบท ๕ นี้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนยึดถือหลักการต่างๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้น เช่น สาราณียธรรม ๖ และสังคหวัตถุ ๔ เป็นต้น

กล่าวได้ว่า หลักการต่างๆ เหล่านี้และทำนองนี้ เป็นสาระของวินัย หรือเป็นเจตนารมณ์ที่แท้ของกฎหมาย ถ้าคนมีการศึกษาที่พัฒนาตนอย่างถูกต้อง ให้มีศรัทธา เห็นคุณค่า พร้อมและเต็มใจ สมัครใจที่จะปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการบัญญัติข้อกำหนดของกฎหมายหรือสิกขาบทในวินัย

ในทางตรงข้าม การที่มีสิกขาบทหรือกฎหมาย ก็เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจว่า จะมีการปฏิบัติให้เกิดผลตามหลักการเหล่านี้ ดังนั้น ถ้าคนไม่ปฏิบัติตาม หรือเคลื่อนคลาดจากหลักการมากขึ้น ก็ยิ่งต้องมีการบัญญัติสิกขาบทหรือข้อกฎหมายมากขึ้นๆ และมักจะต้องมีการบัญญัติความผิดและการลงโทษมากขึ้น หรืออาจจะหนักขึ้นด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – หลักการพื้นฐานบทส่งท้าย มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.