– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

เมื่อคนเป็นวิญญูรู้สาระของกฎหมาย สังคมสงบสุขด้วยกติกาง่ายๆ
ครั้นคนเสื่อมลงไป กฎหมายยิ่งบังคับซับซ้อน สังคมยิ่งเสื่อมทรุด

เป็นความจำเป็นว่า เมื่อคนมาอยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ก็ต้องมีข้อตกลงที่กำหนดกันขึ้นไว้ว่า จะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร เป็นต้น เพื่อให้ชีวิตแห่งการอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยดี เอื้อประโยชน์ต่อทุกคนด้วยกัน เพราะฉะนั้น ในสังคมที่คนมีการศึกษาพัฒนาดีแล้ว ที่เขาเข้าใจความหมายของข้อตกลงสำหรับการเป็นอยู่และทำกิจการร่วมกันเช่นนี้ และมีจิตใจที่พร้อมจะปฏิบัติ การมีกฎหมายเพียงในความหมายว่าเป็นข้อหมายรู้ หรือข้อกำหนดที่หมายรู้ในการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นการเพียงพอ (เรื่องนี้จะพูดถึงอีกข้างหน้า)

ในภาวะเช่นนี้ กฎหมายหรือข้อหมายรู้ จะเป็นเพียงข้อตกลง หรือกติกาทางปัญญา ซึ่งมีจำนวนจำกัดตามความจำเป็นแห่งกิจที่จะทำ และเมื่อคนยังปฏิบัติกันดี ก็ไม่ต้องมีสิกขาบทหรือข้อกฎหมายมาก

อย่างไรก็ดี เมื่อคนขาดการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่ได้พัฒนาตน เขาไม่เข้าใจความหมาย ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ

เมื่อคนไม่ปฏิบัติตามข้อหมายรู้นั้น ก็ต้องมีการบัญญัติข้อกฎหมายในลักษณะที่เป็นข้อบังคับ ที่มีการกำหนดความผิดและการลงโทษเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดจะกลายเป็นว่า ยิ่งมีการบัญญัติข้อกฎหมายมาก ชีวิตและสังคมกลับยิ่งเสื่อมโทรม และในกรณีเช่นนี้ การมีกฎหมายในความหมายว่าเป็นข้อบังคับมาก กลับกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเสื่อมโทรมของชีวิตและสังคม

เพราะฉะนั้น ในสังคมที่คนมีการศึกษาถูกต้อง พัฒนาตนดีแล้ว ก็จะมีกฎหมายแต่เพียงที่เป็นข้อหมายรู้ ไม่ต้องเลยไปเป็นข้อบังคับ

แต่ตรงข้าม ในสังคมที่ไม่พัฒนา คนขาดการศึกษา หรือเมื่อการศึกษาเสื่อมลง กฎหมายที่มีความหมายเป็นข้อบังคับ ก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ โดยที่แม้จะจำเป็นเพื่อกันไม่ให้เสื่อมโทรมลงไปอีกๆ แต่ก็ไม่ช่วยให้ชีวิตและสังคมดีงามขึ้นได้เลย อย่างน้อย ยิ่งมีข้อบัญญัติมาก หลักการที่เป็นสาระกลับยิ่งเลือนลางจางหาย

เคยมีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า (ม.ม.๑๓/๑๗๑-๒/๑๗๔; และดู สํ.นิ.๑๖/๕๓๑-๕/๒๖๓)

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อก่อนโน้น สิกขาบทมีน้อยกว่า แต่ภิกษุผู้ดำรงในอรหัตตผลกลับมีมากกว่า ครั้นมาบัดนี้ สิกขาบทมีมากกว่า แต่ภิกษุที่ดำรงในอรหัตตผลกลับมีน้อยกว่า”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“เป็นเช่นนั้น ภัททาลิ เมื่อหมู่ชนกำลังเสื่อมลง เมื่อสัทธรรมกำลังเลือนหาย สิกขาบทก็มีมากขึ้น แต่ภิกษุที่ดำรงในอรหัตตผลกลับน้อยลง

ภัททาลิ พระศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรม (เรื่องเสียหายวุ่นวาย) ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ แต่เมื่อใดมีอาสวัฏฐานิยธรรมปรากฏในสงฆ์ เมื่อนั้นพระศาสดาก็จะบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อขจัดแก้ไขอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

ภัททาลิ อาสวัฏฐานิยธรรมทั้งหลาย จะยังไม่ปรากฏในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ . . . ยังไม่ถึงความพรั่งพร้อมด้วยลาภ . . . ยังไม่ถึงความพรั่งพร้อมด้วยยศ . . . ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูต . . . ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู แต่เมื่อใดสงฆ์ถึง(ภาวะดังที่กล่าวมานั้น) เมื่อนั้นก็จะมีอาสวัฏฐานิยธรรมปรากฏในสงฆ์ และเมื่อนั้นพระศาสดาก็จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อขจัดแก้ไขอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น”

โดยนัยดังกล่าวมา การศึกษาที่แท้ ในความหมายของการพัฒนาคนอย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และสัมพันธ์กับวินัย ไม่ว่าจะในความหมายที่เป็นกฎหมาย เป็นระบบที่จัดตั้ง หรือเป็นการปกครองก็ตาม ทั้งในแง่ที่ว่าจะต้องมีการพัฒนาคนอย่างถูกต้องเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และในแง่ที่ว่าวินัยเช่นกฎหมายเป็นเครื่องมือจัดสรรสภาพเอื้อโอกาสในการพัฒนาชีวิตของมนุษย์

เมื่อมีการศึกษาที่แท้ที่ทำให้คนพัฒนาอย่างถูกต้อง คนก็จะพร้อมที่จะปฏิบัติตามวินัยโดยเฉพาะที่เรียกว่ากฎหมาย(ที่ชอบธรรม) และคนที่มีการศึกษาที่พัฒนาตนแล้วอย่างถูกต้องนั้น ก็จะมองวินัย โดยเฉพาะกฎหมายนั้นเป็นข้อหมายรู้ ที่จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ในการช่วยกันสร้างสรรค์สภาพชีวิตและสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นต่อไป

สงฆ์เป็นชุมชนแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งขึ้นตามหลักการที่กล่าวนี้ และพระพุทธเจ้าก็ทรงได้รับถวายคำสรรเสริญว่า ทรงฝึกคนและปกครองคนโดยไม่ต้องใช้ทัณฑอาชญา (เช่น วินย.๗/๓๘๑/๑๙๐; ม.ม.๑๓/๕๒๙/๔๘๓; ๕๖๕/๕๑๑)

นักปกครองในอุดมคติ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าเป็นจักรพรรดิ ซึ่งเป็นธรรมราชา ก็เป็นผู้ที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้ทัณฑะ หรือศัสตราวุธ (เช่น ที.สี.๙/๑๔๓/๑๑๕; ที.ม.๑๐/๒๘/๑๘; ที.ปา.๑๑/๓๔/๖๒)

ตามความหมายที่กล่าวมานี้ การปกครองที่ดี คือการปกครองโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ และกฎหมายที่ดี คือบัญญัติที่เป็นข้อหมายรู้ในการที่จะเป็นอยู่และทำกิจในการมีชีวิตร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นขึ้นต่อความสำเร็จในการปฏิบัติตามหลักการแห่งการพัฒนาคน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – หลักการพื้นฐานบทส่งท้าย มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.