– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

จะรักษาธรรมให้แก่สังคมได้ ต้องรักษาดุลยภาพให้แก่ใจของตน

มีอีกหลักหนึ่งที่เป็นพื้นฐานลึกลงไปในจิตใจ คนเรานี้ถ้าไม่มีพื้นฐานในใจ กฎหมายหรือวินัยจะกำหนดอย่างไรก็ไม่ได้ผลจริงจังยั่งยืน เพราะคนจะหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย ตลอดจนสมคบกันหาประโยชน์จากกฎหมาย อย่างน้อยก็ไม่มีความยินดีเต็มใจพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม และในที่สุดกฎหมายก็จะอยู่ไม่ได้ วินัยรวมทั้งกฎหมายจึงต้องมีคุณสมบัติในใจคนเป็นฐานรองรับ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจและเป็นเครื่องผูกใจให้คนประพฤติตามกฎหมายได้

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาคน ถ้าไม่พัฒนาคน การดำรงสังคมก็ไปไม่ตลอด

สังคมที่จะบัญญัติกฎหมายต่างๆ ต้องถือกฎหมายเป็นตัวเกื้อหนุน คือจะต้องถือเป็น means ไม่ใช่เป็น end ถ้าเราถือกฎหมายเป็น end ก็จบ แม้แต่ถือความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมายก็ยังไปไม่รอด เพราะขาดสาระหรือตัวแกน คือการพัฒนาคน

จะพัฒนาคนอย่างไร ก็ต้องทำให้คนประพฤติปฏิบัติทำการทั้งหลายด้วยปัญญา จากเจตนาที่ดี บนฐานแห่งจิตใจที่มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกต่อสังคม

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมไว้ชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าทีพื้นฐานในจิตใจของคนที่จะสร้างสรรค์และรักษาสังคมมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รักษากฎหมาย แต่เป็นคุณสมบัติสำหรับบุคคลที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์สังคมนี้ไว้

สังคมมนุษย์นั้น มนุษย์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์ มิฉะนั้นก็จะพินาศ แม้แต่การที่จะรักษากฎหมายได้ ก็ต้องมีท่าทีพื้นฐานในจิตใจมาเป็นแกนให้ก่อน ท่าทีพื้นฐานนี้ไม่ใช่หลักธรรมยากอะไร ก็คือหลักพรหมวิหาร ๔ นี่เอง

พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้เป็นท่าทีที่สำคัญของจิตใจ แต่ในสังคมไทยเข้าใจธรรมชุดนี้กันผิดพลาดมาก และปฏิบัติกันไม่ครบถ้วน หรือปฏิบัติคลาดเคลื่อนจนทำให้เกิดผลร้ายบางอย่าง

“พรหมวิหาร” แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม พรหม คือ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างโลกและอภิบาลโลก ในทัศนะของพราหมณ์ เขาถือว่ามนุษย์อยู่กันไป พอถึงกัปป์หนึ่งโลกจะพินาศ และพระพรหมจะสร้างโลกขึ้นมาใหม่ แล้วพระพรหมก็ลิขิตชีวิตและจัดสรรสังคมมนุษย์ว่าจะให้เป็นอยู่กันอย่างไร

แต่พระพุทธศาสนาไม่รอพระพรหม เราถือว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างสรรค์และอภิบาลสังคม เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องทำตัวให้เป็นพรหม โดยประพฤติตามหลัก ที่เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้ คือ

๑. เมตตา มีใจไมตรี ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข

๒. กรุณา พลอยสะเทือนใจ ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ที่จะเห็นทุกข์ของเขา

๓. มุทิตา พลอยยินดีในความดีงามความสุขความสำเร็จของเขา

๔. อุเบกขา วางใจเป็นกลางต่อทุกคนเพื่อรักษาธรรม

ท่าทีพื้นฐาน ๔ ประการนี้เข้าใจง่าย เพราะเป็นท่าทีที่แสดงออกต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้น วิธีที่จะดูความหมายก็ดูที่คนอื่น คือดูตามสถานการณ์ที่คนอื่นเขาประสบ จึงจะรู้ว่าเราจะใช้พรหมวิหารข้อไหน แล้วความหมายก็จะชัดออกมาเอง

สถานการณ์ที่ ๑ เมื่อคนอื่นเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา คือ มีความหวังดี มีความรัก มีความเป็นมิตร (เมตตา มาจากรากศัพท์เดียวกับคำว่า มิตร คือคุณสมบัติของมิตรนั่นเอง ได้แก่น้ำใจที่หวังดีอยากให้เขาเป็นสุข)

สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อบุคคลอื่นนั้นตกต่ำ คือ เขาเดือดร้อนเป็นทุกข์ประสบปัญหา เราก็มีกรุณา คือพลอยหวั่นไหวสะเทือนใจไปกับความทุกข์ของเขา อยากจะช่วยบำบัดทุกข์นั้น หรือยกเขาขึ้นมาจากความทุกข์นั้น (จะเห็นว่า เมตตากับกรุณาต่างกันมาก)

สถานการณ์ที่ ๓ เมื่อบุคคลอื่นนั้นเปลี่ยนจากปกติและตกต่ำเป็นขึ้นสูง คือเขาประสบความสำเร็จ มีความสุข ทำอะไรๆ ได้ดี หรือก้าวไปในความดีงาม เราก็มีมุทิตา คือพลอยยินดีด้วยในความดีงามและความสุขความสำเร็จของเขา พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน

สถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งสำคัญที่สุดที่จะรักษาสังคมไว้ได้ คือ เมื่อบุคคลอื่นนั้นละเมิดธรรม หรือสมควรรับผิดชอบต่อธรรม เราก็มีอุเบกขา คือวางใจเป็นกลาง ไม่ขวนขวายช่วยเหลือที่จะทำให้เสียธรรม โดยวางเฉยต่อบุคคลนั้น ให้เขารับผิดชอบต่อธรรมและตามธรรม ดำรงอยู่ในความสมเหตุสมผล

ในข้ออุเบกขานี้ จะต้องเข้าใจหลักความจริงพื้นฐานก่อนว่า เบื้องหลังสังคมมีธรรมรองรับอยู่ คือหลักการแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความเป็นเหตุเป็นผลในสิ่งทั้งหลาย หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย การที่มนุษย์มีความสัมพันธ์กันดี ไม่พอที่จะทำให้สังคมอยู่ได้ แม้มนุษย์จะมีความสัมพันธ์กันดีใน ๓ สถานการณ์แรก แต่ถ้าเขาไม่รักษาธรรมไว้ สังคมก็อยู่ไม่ได้ แต่จะวิปลาสคลาดเคลื่อนจนถึงความวิบัติ

เพราะฉะนั้น จึงมีสถานการณ์ที่ ๔ คือ ไม่ว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ตามในสถานการณ์ ๑, ๒ หรือ ๓ แต่ถ้าความสัมพันธ์นั้นไปละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรมแล้ว ก็มาถึงสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งจะต้องหยุดความสัมพันธ์นั้น คือวางเฉย ไม่ช่วย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต้องหยุด เพื่อรักษาธรรม นี้คืออุเบกขาซึ่งเป็นตัวรักษาหลักการของสังคม

ได้กล่าวแล้วว่า เบื้องหลังความเป็นไปในสังคมมนุษย์ที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน ยังมีธรรม ที่เป็นความจริงแห่งความถูกต้องดีงาม ความที่ควรจะเป็นตามเหตุผล ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือความเป็นไปตามกฎธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง

บนฐานแห่งหลักความจริงแท้ตามกฎธรรมชาตินั้น เมื่อมนุษย์เอาความรู้ในความจริงมาตั้งเป็นหลักการ เป็นกฎเกณฑ์กติกาในสังคม เราก็พลอยเรียกหลักชั้นสองที่มนุษย์บัญญัตินี้เป็น “ธรรม” ไปด้วย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งขึ้นเพื่อเรียนธรรมศาสตร์ ก็คือเรียนวิชากฎหมาย นี่คือการที่กฎของมนุษย์ก็ถูกเรียกเป็นธรรมไปด้วย

หลักการที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าระดับไหน จะเป็นระดับความจริงในธรรมชาติ หรือหลักการในสังคมมนุษย์ก็ตาม ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปละเมิดหรือจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักการนั้น มนุษย์จะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้วเอาธรรมเป็นใหญ่ และปฏิบัติไปตามธรรม คือ เฉยต่อคนและปฏิบัติไปตามธรรม

ฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นข้อธรรมใหญ่ที่คุมท้าย เพราะเป็นตัวรักษาหลักการไว้ ถ้าไม่รักษาหลักการนี้ สังคมมนุษย์แม้จะมีการช่วยเหลือกันดีก็ไปไม่รอด เพราะสังคมนั้นสูญเสียดุลยภาพ กล่าวคือ

๑. เมื่อคนมีน้ำใจต่อกัน มีเมตตา กรุณา และแม้แต่มุทิตากันดี ก็มีความอบอุ่นมีความสุขในการอยู่ร่วมกันดี แต่ข้อเสียจะเกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์จำนวนหนึ่งจะชอบหวังพึ่งผู้อื่น โดยคิดว่าถ้าเราเดือดร้อนก็ไปหาผู้ใหญ่คนนั้นได้ ไปหาญาติคนนี้ได้ เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย สังคมที่เป็นเช่นนี้ก็จะทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในความประมาท อ่อนแอ เฉื่อยชา หรือถึงกับเกียจคร้าน

๒. เมื่อเอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นหลัก ชอบช่วยเหลือกันเป็นส่วนตัว ก็อาจจะช่วยกันจนเกินขอบเขต โดยไม่คำนึงถึงหลักการหรือความถูกต้องชอบธรรม แม้จะมีกฎเกณฑ์กติกาหลักการก็ไม่เอา แต่จะเลี่ยงหลีกหลบไป หรือมองข้าม ตลอดจนทำลายกฎกติกานั้นเสีย เมื่อเป็นอย่างนี้สังคมก็เสียหลัก

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีอุเบกขาไว้เป็นประกัน เมื่ออุเบกขาเข้ามาคุม ก็รักษาดุลของสังคมไว้ได้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน กับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมนี้สมดุลกัน

ในทางตรงข้าม ถ้ามีแต่ข้อสุดท้ายคืออุเบกขา ก็กลายเป็นตัวใครตัวมัน เช่น ในสังคมตะวันตก ฝรั่งมีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน เมตตากรุณาน้อย ไม่ค่อยมีน้ำใจ แต่ยึดถือหลักการกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน คุณจะทำอะไรก็ทำของคุณไป ฉันไม่ช่วย ถ้าไม่ผิดกฎหมายฉันไม่ว่าอะไร แต่ถ้าคุณทำผิดกฎหมายเมื่อไรฉันจัดการทันที ระหว่างนั้นฉันไม่ช่วย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ดิ้นรนขวนขวายคุณก็ตาย

ในสังคมที่เน้นอุเบกขาแบบนี้ ชีวิตจะขาดความอบอุ่น จะเครียด แห้งแล้ง มีทุกข์ในจิตใจ เป็นโรคประสาทและโรคจิตกันมาก แต่เป็นการบีบคั้นคนให้ต้องดิ้น ก็เข้มแข็งดี ทำให้เกิดความเร่งรัดในการสร้างความเจริญก้าวหน้า พร้อมกับสามารถรักษาหลักการและกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนมีการปฏิบัติตามกฎหมายได้ดี

ในครอบครัวที่พ่อแม่มีอุเบกขามาก เด็กถ้าไม่ร้ายเสียคนไปเลย ก็จะเป็นคนแข็งแกร่ง ช่วยตัวเองได้ดี บุกฝ่าไปได้ แต่อาจจะเหี้ยมเกรียม

ในครอบครัวนั้น ถ้าพ่อแม่มีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา มาก ขาดอุเบกขา เด็กจะอ่อนแอ เลี้ยงไม่โต ไม่มีความเข้มแข็ง ทำอะไรไม่เป็น รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ชอบพึ่งพา ถ้าอย่างแรงก็เป็นนักเรียกร้อง เอาแต่ใจและไม่รู้จักกฎกติกา

ทุกคนมีชีวิตแห่งความสัมพันธ์ ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง เราสัมพันธ์อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเราควรจะมีน้ำใจไมตรีช่วยเหลือกันและกัน และเราก็ช่วยกันได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เราอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันตามกฎธรรมชาติ ที่ไม่เข้าใครออกใคร ทุกคนจะต้องปฏิบัติต่อความเป็นจริงนี้ด้วยปัญญา โดยพัฒนาความรู้ความสามารถของตนขึ้นมาเพื่อให้สามารถรับผิดชอบตนเองได้ ในด้านนี้ ถึงแม้มนุษย์จะช่วยกัน ก็ช่วยกันไม่ได้จริง และทำให้กันไม่ได้ จะช่วยกันได้ก็ด้วยการช่วยให้เขาฝึกฝนพัฒนาตัวเขาเองขึ้นมาจนพึ่งตัวของเขาเองได้

ฉะนั้น จะต้องระลึกไว้เสมอว่า มนุษย์ไม่ได้อยู่กับมนุษย์เท่านั้น แต่มนุษย์นั้นต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตด้วย ทุกคนมีชีวิตที่รับผิดชอบต่อความจริงของกฎธรรมชาติ ถึงแม้ในด้านมนุษย์เราจะช่วยเหลือกันดี พ่อแม่จะรักและทำให้ลูกทุกอย่าง แต่ชีวิตและโลกนี้มันไม่ได้มาตามใจด้วย มันมีกฎมีเกณฑ์มีกติกาแห่งธรรมตามความเป็นจริงของมัน ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องตามเหตุผลด้วยสติปัญญาความสามารถที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาในตนเอง

ด้วยเหตุฉะนี้ ทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อธรรม คือความเป็นจริงของชีวิตและสังคม และเราจะต้องฝึกต้องหัดกันให้มีความสามารถนี้ ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องมีท่าทีข้อที่ ๔ คือ อุเบกขาไว้คุมท้าย ชีวิตจึงจะดี และสังคมจึงจะอยู่ได้

สรุปว่า อุเบกขาที่เกิดจากปัญญา เป็นดุลยภาพในจิตใจ ที่ช่วยให้เกิดผลภายนอก ๓ ด้าน (ของเรื่องเดียวกัน) คือ

๑. ช่วยรักษาบุคคล ด้วยการสร้างโอกาสให้เขารู้จักรับผิดชอบต่อเหตุผลและความเป็นจริงของโลกและชีวิต เช่น คอยดูแลให้เด็กทำการต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง คิดเป็น ทำเป็น เป็นต้น

๒. ช่วยรักษาสังคม ด้วยการสนองเจตนารมณ์ของข้อตกลง(สมมติ)ที่วางไว้ โดยปฏิบัติตาม เป็นต้น ทำให้เกิดความเสมอภาค เช่น การที่ทุกคนจะมีความเสมอกันต่อหน้าหลักการกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมาย เป็นต้น

๓. ช่วยรักษาธรรม ด้วยการทำให้มีการปฏิบัติตาม ไม่ถูกคนล่วงละเมิด ดำรงรักษาไว้ได้ซึ่งความถูกต้อง ความชอบธรรม ความดีงาม หรืออย่างน้อยความสมเหตุสมผล (ซึ่งมักถือเอาตามความลงตัวโดยเหตุผล หรือการลงความเห็นตามเหตุผลและหลักฐาน ที่เรียกว่าความยุติธรรม อันได้แก่ ธรรมคือยุตติ หรือธรรมโดยยุตติ)

อุเบกขาทำให้เกิดดุลยภาพภายในจิตใจแล้ว ก็คุมพรหมวิหารทั้ง ๔ ให้อยู่ในดุลยภาพด้วย และจึงทำให้เกิดดุลยภาพในสังคมมนุษย์ ด้วยการเอาความรักความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้แก่คน พร้อมกับในขณะเดียวกันก็เอาความถูกต้องดีงามและความพอดีไว้ให้แก่ธรรมชาติและสังคม

เมื่ออุเบกขารักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม หรือระหว่างคนต่อคนกับธรรมไว้ได้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมเหลียวแลที่จะปฏิบัติต่อคนนั้นๆ ด้วยเมตตากรุณามุทิตา เท่าที่ไม่เสียหรือกระทบต่อธรรมด้วย

ไทยเราเรียกผู้ทำหน้าที่ตัดสินอรรถคดีว่า “ตุลาการ” ซึ่งจะแปลว่า ผู้มีอาการดุจตราชู ก็ได้ ผู้สร้างตุลาคือสร้างตราชูหรือสร้างมาตรฐาน ก็ได้ หมายความว่า ดำรงตนคงที่ เที่ยงธรรม เป็นมาตรฐานของสังคม เป็นกลางต่อทุกคน ทั้งดีและร้าย สม่ำเสมอในทุกกรณี ไม่เลือกที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ไม่ว่าในสุขหรือทุกข์ ว่าไปตามที่เป็นจริงต่อทุกคนในทุกกรณี (ในภาษาบาลีท่านใช้คำว่า “ตุลาภูตะ” แปลว่า ผู้เป็นดุจตราชู มีคำอธิบายหลายแห่ง เช่น วินย.อ.๓/๒๓๒; องฺ.อ.๒/๕๔; พุทฺธ.อ.๑๖๖-๗; จริยา.อ.๓๑๕ เป็นต้น) นี้คือภาวะที่จิตมีอุเบกขา

เมื่อตั้งอยู่ในอุเบกขา ตัวของผู้ปฏิบัติก็พร้อมที่จะรักษาตนเองไว้ไม่ให้ล่วง อคติ คือ การออกนอกทางที่ควรจะไป หรือความประพฤตินอกทางแห่งธรรม ที่แปลง่ายๆ ว่า ความลำเอียง ประการ คือ (ที.ปา.๑๑/๑๗๖-๑๗๗/๑๙๕)

๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะ รัก หรือเพราะชอบกัน

๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะ ชัง หรือเพราะขัดเคือง

๓. ภยาคติ ลำเอียงเพราะ ขลาด หรือเพราะกลัว

๔. โมหาคติ ลำเอียงเพราะ เขลา หรือเพราะหลงผิดรู้ไม่เท่าถึงการณ์1

นี้คือภาวะแห่งดุลยภาพในจิตใจของบุคคล ที่ส่งผลออกมาทำให้รักษาดุลยภาพในสังคมไว้ได้

จะเห็นชัดว่า พรหมวิหารสามข้อแรกนั้นหนักในด้านความรู้สึก ส่วนข้อที่สี่หนักด้านความรู้

สามข้อแรกหนักด้านความรู้สึกอย่างไร เบื้องแรกเราพัฒนาคนให้พ้นจากความรู้สึกที่ไม่ดีมาสู่ความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทำให้มีเมตตา เป็นต้น คือ ยามเขาเป็นปกติ เราก็รู้สึกเป็นมิตร เขาเดือดร้อน เราก็รู้สึกสงสารเห็นใจ เขาได้ดีมีสุข เราก็รู้สึกพลอยชื่นชมยินดีด้วย ทั้งหมดนี้เป็นด้านความรู้สึก ซึ่งเมื่อสถานการณ์นั้นๆ มาถึง ก็พร้อมทันที

แต่ข้อที่ ๔ คืออุเบกขา อาศัยความรู้สึกไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้ คือปัญญาด้วย เพราะฉะนั้นอุเบกขาจึงต้องมากับปัญญา เพราะต้องรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม อะไรคือหลักการ แล้วจึงจะปฏิบัติคือมีอุเบกขาได้ ฉะนั้น อุเบกขาจึงต้องตั้งอยู่บนปัญญา

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงแยกว่า อุเบกขามี ๒ ชนิด คือ อุเบกขาที่เป็นกุศลนี้ กับอุเบกขาที่เป็นอกุศล ซึ่งเรียกว่า “อัญญาณุเบกขา” แปลว่า เฉยโง่ คือเฉยไม่รู้เรื่อง ไม่เอาเรื่อง แล้วก็ไม่ได้เรื่อง

เฉยในภาษาไทย เรามักจะมองแบบเฉยโง่ ซึ่งผิด เป็นอกุศลธรรม ฉะนั้น เฉยในที่นี้ต้องหมายความว่า เฉยเพราะรู้ว่าถ้าช่วยเขาจะกลายเป็นการทำลายธรรม จึงเฉยไม่เอากับบุคคลนั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรม

โดยเฉพาะผู้พิพากษา จะต้องมีท่าทีอุเบกขานี้มากหน่อย แม้ว่าจะสงสารหรืออย่างไรก็โอนเอนไม่ได้ ต้องว่าไปตามกฎกติกา และตามหลักการ เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวรักษาธรรม เช่นความเที่ยงธรรมในสังคมไว้ ในหมู่มนุษย์จะต้องมีธรรมข้อที่ ๔ นี้ไว้เพื่อรักษาธรรมวินัย ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกา อย่างที่ว่ากฎต้องเป็นกฎ อะไรทำนองนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – หลักการพื้นฐานบทส่งท้าย มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต >>

เชิงอรรถ

  1. ลำดับเดิม คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ แต่ในที่นี้เรียงตามลำดับที่ตรัสสรุปไว้ในคาถา ซึ่งจำง่ายกว่า

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.