– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

พฤติกรรมจะถึงภาวะแห่งดุลยภาพ
เมื่อจิตใจและปัญญามาประสานอย่างสมดุล

อย่างไรก็ตาม ที่ว่ากฎต้องเป็นกฎ ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะกฎมี ๒ ชั้น อย่างที่ว่ามาแล้ว คือกฎธรรมชาติ กับกฎมนุษย์

กฎธรรมชาติซึ่งเป็นความจริงแท้ที่มีอยู่เป็นอยู่ของมันตามธรรมดานั้น เราต้องรู้และรู้ให้ชัดให้ทั่วตลอด เพราะถ้าไม่รู้เราก็พลาด กฎไม่ผิด แต่เราเองพลาด

ส่วนกฎมนุษย์นี้มนุษย์สร้างขึ้นมา เมื่อมนุษย์สร้างเองก็มีทางพลาด กลายเป็นกฎที่ผิด เพราะฉะนั้น การที่จะเอากฎหมายเป็นเกณฑ์ก็จะต้องคอยตรวจสอบกฎหมายตลอดเวลาด้วย โดยเฉพาะต้องดูว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติคือตัวธรรมหรือเปล่า

ฉะนั้น สำหรับกฎหมายคือกฎที่มนุษย์ตั้ง หรือวินัย จึงต้องคอยตรวจสอบความถูกต้องสอดคล้องและความได้ผลตามกฎธรรมชาติหรือความจริงตามธรรมอยู่เสมอ เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่เป็นธรรมนั้น ซึ่งต้องอาศัยการที่รู้ทั้งหมด คือรู้ทั้งด้านกฎธรรมชาติ และรู้ด้านมนุษย์ทั้งแง่บุคคลและสังคม

การจะวางกฎหมายได้ดี ต้องรู้เข้าใจธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติทั่วไป คือความจริงแห่งธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย และธรรมชาติของมนุษย์ เข้าใจจุดหมายของชีวิต เข้าใจจุดหมายของสังคม ตลอดจนเข้าใจจุดหมายของกฎหมายเอง ซึ่งต้องไปสอดคล้องกับจุดหมายที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ถ้าไม่เช่นนั้น จุดหมายของกฎหมายก็พลาดได้

รวมความว่า กฎหมายซึ่งเป็นกฎมนุษย์นี้จะต้องมีการตรวจสอบอยู่เสมอ มิฉะนั้น แม้แต่อุเบกขาก็อาจจะพลาดเหมือนกัน ในกรณีที่เอากฎหมายซึ่งเป็นกฎชั้นรองมาใช้

เรื่องของกฎหมายมีทางพลาดได้ทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ ทั้งการบัญญัติกฎหมาย และการใช้กฎหมาย (ทั้งสองขั้นนี้เป็นด้านพฤติกรรม) และผิดพลาดด้วยเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. ด้านปัญญา ไม่รู้ความจริง คือไม่รู้เท่าทันทั่วถึงธรรม คำว่า “ธรรม” นี้มีหลายชั้น ว่ากันถึงที่สุดก็คือตัวธรรมที่เป็นความจริงในธรรมชาติ ถ้าไม่รู้ความจริงนี้ เช่น ไม่รู้ไม่เข้าใจชีวิตมนุษย์ และไม่เข้าใจเหตุปัจจัยในสังคม ว่าเวลานี้สังคมเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไร กลไกของปัญหาสังคมเป็นอย่างไร การทำเหตุปัจจัยอย่างนี้ๆ จะก่อให้เกิดผลในสังคมสะท้อนกันไปอย่างไร ถ้าปัญญาไม่รู้ความจริงนี้เพียงพอ การบัญญัติกฎหมายจะพลาดทันที เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้เข้าใจความจริงของตัวธรรมทุกระดับ

ต่อจากปัญญาที่รู้ความจริงคือธรรม เช่นเหตุปัจจัยทั้งหลายแล้ว ก็ยังต้องมีปัญญาในขั้นจัดตั้งวางวินัย คือ รู้จักจัดระเบียบระบบขึ้นมาอย่างประสานสอดคล้องและให้ได้ผลจริงตามธรรมนั้นด้วย

๒. ด้านเจตนา (คือด้านจิตใจ) ถ้ามีเจตนาแอบแฝง เช่น คิดจะหาจะเอาผลประโยชน์แก่ตัวหรือพวกของตัว หรือจะกลั่นแกล้งทำร้ายคนอื่นพวกอื่น ก็จะทำให้พลาดอีกเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น การบัญญัติวินัยที่เป็นกฎในระดับสังคมมนุษย์จึงมีทางผิดพลาด ที่ทำให้ต้องมีการตรวจสอบอยู่เสมอ ๒ ชั้นด้วยกัน คือ

๑. ปัญญาเพียงพอหรือไม่ มีความรู้ความเข้าใจทั่วตลอดและวางแผนจัดตั้งได้สอดสมทั่วถ้วนไหม

๒. เจตนาเป็นอย่างไร

ในการใช้กฎหมาย ถ้าปัญญาไม่พอ ไม่รู้ความจริง หาความจริงไม่ทั่วถึง ก็เกิดความผิดพลาด ถ้าเจตนาไม่ดี ก็อาจจะเลี่ยงหลบหรือเอากฎหมายเป็นเครื่องมือสนองเจตนาร้ายนั้น

ขอเพิ่มเติมในเรื่องนี้อีกหน่อย คือ ในการใช้กฎหมาย หรือใช้หลักการกฎเกณฑ์กติกา ดังได้กล่าวแล้วว่า ในทางวินัยหรือกฎหมายมีกรรมชนิดที่เป็นสมมติ ซึ่งทำให้ไม่ต้องรอกรรมตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีพระภิกษุทำผิดวินัย สงฆ์ก็ต้องดำเนินการ ถ้าใครละเว้นก็มีความผิด แม้แต่ภิกษุรู้ว่าภิกษุรูปหนึ่งทำความผิดร้ายแรง แล้วช่วยปกปิดความผิดนั้น ก็เป็นอาบัติ

นอกจากในกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นแล้ว แม้แต่ในยามปกติ ทุก ๑๕ วัน ก็ต้องมีการประชุมครั้งหนึ่ง เพื่อให้ภิกษุทุกรูปตรวจสอบความประพฤติของตนตามปาติโมกข์ คือประมวลกฎหมาย ที่เป็นวินัยขั้นพื้นฐาน (ยังมีวินัยอีกระดับหนึ่งซึ่งว่าด้วยการจัดกิจการของส่วนรวม อันนั้นไม่ต้องเอามาตรวจสอบกันในที่ประชุมนี้) คือเอาวินัยที่เป็นข้อประพฤติส่วนบุคคลมาสาธยายในที่ประชุมทุก ๑๕ วัน ถ้ามีใครทำผิดก็จะต้องจัดการทันที เช่นมีการลงโทษ

วิธีการลงโทษก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีหลัก ขอเล่าเรื่องในพระสูตรเป็นตัวอย่าง (ม.อุ.๑๔/๑๐๕-๑๑๓/๘๙–๙๖)

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ พระอานนท์ยังอยู่ พระอานนท์นี้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ มหาเสนาบดีของแคว้นมคธ เดินทางมาตรวจราชการงานเมือง ดูแลงานซ่อมแซมพระนคร มาถึงที่พระอานนท์กำลังสนทนากับพราหมณ์คนหนึ่งค้างอยู่

สนทนากันมาถึงตอนที่พราหมณ์ถามว่า มีพระภิกษุรูปใดบ้างไหมที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกอย่างเท่ากับพระพุทธเจ้า พระอานนท์ตอบว่าไม่มี เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบและเป็นผู้ชี้แสดงมรรคา ส่วนสาวกทั้งหลายเป็นผู้รู้ตาม ดำเนินตาม

วัสสการพราหมณ์จึงถามต่อว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงปรินิพพานไปแล้ว พระองค์ได้ตั้งใครเป็นหัวหน้าปกครองสงฆ์ต่อไป พระอานนท์ตอบว่า ไม่ได้ตั้ง

วัสสการพราหมณ์นี้เป็นนักปกครองบริหารกิจการบ้านเมืองอยู่ จึงว่า พวกท่านไม่มีหัวหน้า ไม่มีผู้ปกครอง จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ความพร้อมเพรียงสามัคคีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

พระอานนท์ก็ตอบว่า พวกเราไม่ใช่จะไม่มีหัวหน้า พวกเรายึดถือธรรมคือหลักการ พวกเราอยู่กันด้วยหลักการ คือยึดถือธรรม

วัสสการพราหมณ์ก็ถามต่อไปว่า ที่ท่านว่าอยู่กันด้วยหลักการ คือยึดถือธรรมนั้น หมายความว่าอย่างไร

พระอานนท์ก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท วางวินัยแม่บทเป็นหลักอ้างอิงไว้แล้ว เมื่อถึงวันอุโบสถ ๑๕ วันครั้งหนึ่ง พระภิกษุที่อยู่ในท้องถิ่นหนึ่งๆ ก็มาประชุมพร้อมกัน ขอให้พระภิกษุรูปหนึ่งสวดสาธยายสิกขาบทที่วางไว้เป็นแม่บทนั้น เมื่อมีพระทำความผิด สงฆ์คือที่ประชุม ก็ให้ภิกษุรูปนั้นปฏิบัติตามกติกา การที่ปฏิบัติเช่นนี้ไม่ถือว่าใครลงโทษภิกษุนั้น แต่ถือว่าธรรมลงโทษเขา

อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญ คือกฎเกณฑ์กติกามีอยู่แล้ว สิกขาบทมีอยู่ว่าดังนี้ ใครทำความผิด ที่ประชุมเพียงแต่เป็นสื่อ มาเป็นตัวแทนของหลักการ มาเป็นปากเสียงให้แก่หลักการ เพื่อจะให้หลักการที่วางไว้มีผลในเชิงปฏิบัติ ที่ประชุมและภิกษุทั้งหลายมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่ตัวหลักการนั้น แต่เวลาที่ลงโทษถือว่าหลักการลงโทษ ไม่มีภิกษุรูปใดลงโทษ

ส่วนที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งภิกษุใดไว้เป็นหัวหน้าปกครองสงฆ์แทนพระองค์ แต่ภิกษุทั้งหลายก็มีภิกษุที่เคารพนับถือเป็นหัวหน้านั้น ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมคือหลักการที่เป็นคุณสมบัติไว้ ภิกษุใดมีคุณสมบัติอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายก็พร้อมใจกันยกภิกษุรูปนั้นขึ้นเป็นที่เคารพนับถือเชื่อฟัง นี่คือ การที่ไม่ตั้งบุคคล แต่ยึดถือหลักการ

อันนี้ก็เป็นแง่ของนิติศาสตร์แนวพุทธอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้พิพากษาจะต้องทำใจและวางท่าทีแบบนี้ คืออย่าไปนึกว่าเราเป็นผู้ลงโทษ ถ้าคิดอย่างนั้นก็ผิดแน่นอน ผู้พิพากษาต้องทำใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากความรู้สึกที่เป็นตัวเขาตัวเรา มีแต่เจตนาที่รักษาธรรม และใช้ปัญญาที่รู้ความจริงถ่องแท้ ทำหน้าที่เป็นเพียงกระบอกเสียงให้แก่ตัวธรรมคือหลักการและตัวบทกฎหมายเท่านั้น

เมื่อทำได้อย่างนี้ ถ้ามีการลงโทษ ก็คือกฎหมายลงโทษเขา กติกาลงโทษเขา ตัวธรรมลงโทษเขา

ถ้ามีใจบริสุทธิ์และปัญญาถ่องแท้ถึงที่สุดแล้วก็เป็นตัวธรรมลงโทษเขา นี่คือให้ธรรมในระดับหลักการของมนุษย์มาทำหน้าที่ เพราะถ้ารอให้ธรรมในกฎธรรมชาติมาแสดงผล สังคมอาจจะวิปริตไปเสียก่อนก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อมนุษย์มีความสามารถในการจัดตั้ง เราก็ใช้ความสามารถนั้นจัดสรรระบบของสังคมเพื่อจะดำเนินการให้เป็นไปตามธรรม โดยมุ่งให้มีประสิทธิผลในการที่สังคมจะอยู่ร่วมกันด้วยดี คนที่ดำเนินการตามหลักการและกฎกติกาอย่างนี้ ถือว่าดำเนินการตามธรรม เป็นสื่อให้แก่ธรรม เป็นทางผ่านของธรรม หรือเป็นกระบอกเสียงแก่ตัวธรรม ไม่ใช่เป็นผู้ไปทำอะไรของตนเอง และไม่ใช่ไปลงโทษเขา

นอกจากนั้น เมื่อเราปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามวินัย โดยมีความรู้สึกต่อกฎหมาย ด้วยท่าทีแห่งการปฏิบัติต่อกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ ที่มุ่งเพื่อจะรักษาธรรม ก็จะเป็นการปฏิบัติด้วยสภาพจิตของพรหมผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก คือพรหมวิหาร ๔ ข้อที่กล่าวแล้วนั้น

มนุษย์จะมีท่าทีต่อกฎหมายต่างกันเป็น ๓ ระดับ ซึ่งต้องขึ้นต่อการที่กฎหมายนั้นเป็นธรรมหรือไม่ด้วย

ท่าทีที่ ๑ คือความรู้สึกแบบเป็นเครื่องบังคับ ถือว่าเป็นความรู้สึกที่ต่ำสุด และจะไม่ยั่งยืน เดี๋ยวนี้เราชอบใช้คำว่ายั่งยืน โดยเฉพาะในคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน กฎหมายก็จะไม่ยั่งยืน และสังคมนี้ก็จะไม่ยั่งยืน ถ้ามนุษย์เต็มไปด้วยความรู้สึกว่ากฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายเป็นข้อบังคับ ท่าทีที่ ๑ คือท่าทีความรู้สึกว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ

ท่าทีที่ ๒ เป็นท่าทีแบบพระพุทธศาสนาที่มองว่า กฎเกณฑ์กติกานี้ เราบัญญัติจัดวางขึ้นมาเพื่อสร้างสภาพเอื้อในสังคม ที่จะเป็นโอกาสให้คนพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น คนจะมองกฎเกณฑ์กติกา ว่าเป็นเครื่องฝึกตน ดังที่เรียกว่า สิกขาบท คือเป็นข้อฝึก หรือข้อเรียนรู้ ที่จะเอามาปฏิบัติด้วยจิตใจที่รู้สึกว่าจะฝึกตัวเอง หรือจะเรียนรู้เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์ เพราะว่าการที่เราจะเข้าถึงชีวิตที่ดีงามได้ เราจะต้องมีระบบความเป็นอยู่ที่เอื้อ

เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ เขาก็จะมีความสำนึกตระหนักว่า ระบบชีวิตแบบนี้เราต้องทำให้ได้ เมื่อเราทำได้แล้วเราจะสามารถมีชีวิตที่ดี จากนี้เขาก็เต็มใจและพร้อมใจ ที่จะปฏิบัติอย่างเป็นการฝึกตน

ถ้ามองกว้างออกไปก็คือ ในสังคมนี้ การที่เราจะอยู่ร่วมกันด้วยดี เหตุผลก็มีอยู่แล้ว ว่าเราจะต้องมีความประพฤติกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายามปฏิบัติ มาฝึกตัวกัน อย่าถือเป็นข้อบังคับ เราจะต้องฝึกตัว พัฒนาตัวกันจนกระทั่งอยู่ตัว จนกระทั่งเรามีความประพฤติอย่างนั้นเป็นธรรมดา

มนุษย์นี้ฝึกได้ เรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเห็นว่ากฎนี้เขาสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดสภาพเอื้อต่อชีวิตที่ดีงามของเราต่อไป ถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ดีงาม เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎนี้ เราต้องมาฝึกกัน เมื่อฝึกแล้วต่อไปเราจะทำได้เป็นธรรมดาไปเลย มันก็จะเป็นสภาพชีวิตที่ดีงามเกิดขึ้นมา สังคมก็บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะเป็นสภาพเกื้อกูลต่อชีวิตของแต่ละคนด้วย และสังคมเองก็อยู่ดีด้วย

ดังนั้น มนุษย์จะต้องมองกฎกติกาเหล่านี้เป็นข้อฝึก คือเป็นสิกขาบทอย่างที่ว่า ถ้าถึงขั้นนี้แล้วมนุษย์จะเริ่มพัฒนา

ท่าทีที่ ๓ มนุษย์ที่พัฒนายิ่งขึ้นกว่านี้ จะไปถึงอีกระดับหนึ่งที่จะมีปัญญารู้เข้าใจว่า กฎเกณฑ์กติกาของสังคมนี้ มนุษย์วางขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อจะให้อยู่ร่วมกันด้วยดี และจะได้มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ดังที่เห็นได้ชัดๆ แล้ว เพราะฉะนั้น กติกาเหล่านี้จึงเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรเท่านั้นเอง เพื่อให้มีชีวิตที่ดีงาม และให้สังคมมีสภาพที่เอื้ออย่างที่เราต้องการและอย่างที่มันควรจะเป็น เพราะฉะนั้น เราจึงต้องปฏิบัติตามกติกาในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้น กฎหมายและกฎเกณฑ์กติกาจึงเป็นเพียงข้อหมายรู้ร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร มนุษย์ที่มีท่าทีความรู้สึกขั้นนี้เรียกว่าเป็นคนที่พัฒนาไปมากแล้ว พระอรหันต์จะอยู่ด้วยท่าทีความรู้สึกแบบนี้

แม้แต่พระอรหันต์ก็ต้องมีกติกา คือต้องมีวินัย ทำไมพระอรหันต์ต้องมีวินัย เพราะการอยู่ร่วมกันต้องมีระเบียบระบบ เช่น จะมาฉันพร้อมกันเวลาเช้า ก็ต้องวางกติกาว่าฉันเวลาไหน จะเอาสิ่งใดเป็นเครื่องนัดหมาย ถ้าใช้ระฆัง จะตีกี่ที ก็ตกลงบัญญัติกติกาว่า ถ้าตีระฆัง ๒ ครั้งหมายถึงมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ๓ ครั้งนัดประชุม ๕ ครั้งบอกเวลาฉัน ตลอดกระทั่งว่าเมื่อมาแล้วจะนั่งกันอย่างไร จะทำอะไรกันอย่างไร พูดสั้นๆ ว่าต้องมีวินัย

เพราะฉะนั้น แม้แต่พระอรหันต์ผู้พัฒนาสูงสุดแล้วก็ต้องมีกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ไม่เช่นนั้นก็อยู่ด้วยกันโดยเรียบร้อยด้วยดีไม่ได้ เพราะแทนที่จะเกิดมีโอกาส ก็กลายเป็นเกิดความขัดข้อง

เป็นอันว่า เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกัน ก็ต้องมี social contract แต่ความหมายอาจจะไม่เหมือนของฝรั่ง1 พระอรหันต์คือมนุษย์ที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว มองกติกาเหล่านี้ด้วยความเข้าใจด้วยปัญญาว่า เป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกัน เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันด้วยดีเท่านั้นเอง

ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นนี้ โดยมีความรู้สึกต่อกฎหมายอย่างนี้ได้ ก็เป็นมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว เรียกว่าเป็นผู้มีการศึกษา

แต่ถ้ามนุษย์ยังมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับอยู่ ก็แสดงว่ามนุษย์ยังไม่มีการศึกษา หรือไม่เช่นนั้นก็มีกฎหมายที่เป็นเครื่องบังคับเขาจริง คือกฎหมายไม่เป็นธรรม แต่ถ้ากฎหมายเป็นธรรม ก็แสดงว่ามนุษย์ไม่มีการศึกษา จึงมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ

ถ้าคนมีการศึกษา อย่างน้อยก็จะมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องฝึกตน เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการที่จะมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป และ

ถ้าเขาพัฒนายิ่งขึ้นไปอีกจนสมบูรณ์แล้ว ก็จะมองกฎหมายว่าเป็น เครื่องหมายรู้ร่วมกัน ซึ่งตรงตามความหมายของสมมติที่แท้จริง คือเป็นเรื่องของมติร่วมกัน การตกลงหรือรับรู้ร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน ด้วยเหตุผลเพื่อความดีงามร่วมกัน ทั้งของชีวิตแห่งบุคคลและของสังคม

พูดมาถึงตรงนี้ คงจะช่วยให้มองเห็นความหมายที่แท้และความสำคัญของ “สมมติ” พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสมมตินั้น ที่ว่าไม่ละเลยแต่ถือสำคัญ อย่างรู้เท่าทัน ใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง โดยไม่หลงติดนั้น คืออย่างไร (พึงศึกษาจากพุทธพจน์ในที่ต่างๆ เช่น ที.สี.๙/๓๔๒/๒๔๘; สํ.ส.๑๕/๖๕/๒๑)

ถ้าประชาชนประพฤติตามกฎหมายด้วยจิตสำนึกอย่างหลังนี้ ก็พูดได้ว่า สังคมบรรลุความสมบูรณ์แล้วในแง่ของนิติศาสตร์ เพราะย่อมหมายถึงการที่คนพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ จนทั้ง ๓ ด้านของชีวิต คือ ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา มาบูรณาการประสานกันลงตัว

ทางด้านปัญญาก็รู้เข้าใจเหตุผลและความมุ่งหมายของวินัย ทางด้านจิตใจก็มีความเต็มใจและร่วมใจ พร้อมทั้งทางด้านพฤติกรรมก็ปฏิบัติตามด้วยดีอย่างมีเหตุผล

แต่ในความเป็นจริง สังคมจะไม่บรรลุภาวะนี้ เพราะเป็นธรรมดาว่า ในขณะหนึ่งขณะเดียวกัน มนุษย์ทั้งหลายย่อมอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างกันหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะปล่อยตัวประมาทไม่ได้ จะต้องเพียรพยายาม อย่างน้อยให้มีคนจำนวนหนึ่งมีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๓ โดยให้คนจำนวนมากที่สุดมีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๒ และให้คนที่มีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๑ มีจำนวนน้อยที่สุด สังคมก็จะยังพออยู่กันได้ และนับได้ว่าเป็นสังคมที่ดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – หลักการพื้นฐานบทส่งท้าย มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต >>

เชิงอรรถ

  1. ในฝ่ายตะวันตก บุคคลหลักที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ social contract ๓ ท่าน คือ Thomas Hobbes, John Locke และ Jean Jacques Rousseau แม้จะมีทัศนะในเรื่องนี้ต่างกันบ้าง  แต่ก็รวมลงเป็นอย่างเดียวกันในแนวคิดใหญ่ของตะวันตก ที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และเห็นว่าการจัดการทางสังคมอย่างนี้ เป็นเรื่องตรงข้ามกับภาวะของธรรมชาติ (ที่ป่าเถื่อนไร้ขื่อแป) ซึ่งบุคคลต้องยอมสละสิทธิเสรีภาพของตนบ้าง เพื่อได้รับการคุ้มครองจากสังคมหรือจากผู้ปกครอง ส่วนทางพระพุทธศาสนามองมนุษย์เป็นธรรมชาติส่วนพิเศษที่ฝึกศึกษาได้ การจัดการทางสังคมอย่างนี้ก็เป็นการประสานประโยชน์จากความจริงของธรรมชาตินั่นเอง มนุษย์ที่พัฒนาแล้วจึงมีชีวิตจิตใจที่กลมกลืนกับกติกาทางสังคมที่ตกลงจัดวางกันขึ้นนั้น

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.