– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

ความยึดมั่นกฎหมาย หลงติดในสมมติ จะกลายเป็นภัย
แต่ถ้าเข้าถึงธรรมที่เป็นฐานของกฎหมาย ก็จะกลายเป็นนักนิติศาสตร์ที่แท้

การบัญญัติกฎหมายซึ่งเป็นกฎมนุษย์ มีข้อที่ต้องระวังหลายอย่าง ข้อระวังที่ ๑ ก็คือ การที่มนุษย์จะแปลกแยกจากธรรมชาติ ซึ่งจะไม่อธิบายมาก แต่จะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาพูดตอนต้นแล้วในเรื่องกฎมนุษย์ กับ กฎธรรมชาติ ที่ซ้อนกันอยู่

ดังได้บอกแล้วว่า ที่จริงนั้น การที่เราบัญญัติกฎมนุษย์ขึ้นมา ก็เพราะความต้องการแท้จริงของเราอยู่ที่กฎธรรมชาติ เราจึงบัญญัติกฎมนุษย์ขึ้นมาหนุนการกระทำที่จะให้ได้ผลตามกฎธรรมชาตินั้น

ทำไมเราจึงบัญญัติกฎมนุษย์ว่าให้คนมาทำสวน ๑ เดือนแล้วเราให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท การที่กฎมนุษย์เกิดขึ้นมานี้ เพราะแท้จริงแล้วมีกฎธรรมชาติอยู่เบื้องหลัง คือเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติว่า จะให้ต้นไม้เจริญงอกงาม จึงจัดระบบให้มีคนมาทำสวน กฎมนุษย์ว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็มาหนุนกฎธรรมชาติที่ว่า ทำสวน ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

ถ้ามนุษย์แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ และหลงสมมติ คือติดอยู่แค่กฎสมมติเมื่อไร ชีวิตและสังคมจะเริ่มวิปลาสทันที เริ่มจากคนทำสวน ซึ่งมาทำสวนเพียงเพราะต้องการผลตามกฎมนุษย์ คือ ต้องการเงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เขาไม่ต้องการผลตามกฎของธรรมชาติ ไม่ได้ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม อะไรจะเกิดขึ้น ผลเสียหรือความวิปลาสที่เกิดขึ้น คือ

๑. ในด้านชีวิตของตัวบุคคลนั้นเอง คนทำสวนก็ไม่มีความสุขในการทำสวน เพราะเขาทำสวนด้วยความฝืนใจเนื่องจากเขาไม่ได้ต้องการผลที่แท้จริงของการทำสวน แต่สิ่งที่เขาต้องการคือเงิน การทำสวนจึงทำให้เขาต้องมาทรมาน ต้องรอเวลาเดือนหนึ่งกว่าจะได้เงินเดือน ซึ่งเป็นภาวะที่แย่จริงๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงทำสวนด้วยใจทุกข์ทรมานเต็มทีตลอดเวลา

๒. ในด้านกิจการของสังคม ประโยชน์ส่วนรวมก็เสีย เพราะว่าเมื่อคนทำสวนไม่เต็มใจทำสวน นอกจากตัวเขาเองจะไม่มีความสุขแล้ว ก็ยังไม่ตั้งใจทำงานอีก เมื่อไม่ตั้งใจทำ สังคมก็ไม่ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้จากเขา กิจการของสังคมก็เสีย เพราะการทำสวนไม่มีคุณภาพ และไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น เมื่อคนทำสวนนี้แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ ต้องการผลแต่ตามกฎมนุษย์ และไม่ตั้งใจทำสวน สังคมมนุษย์ก็ต้องตั้งกฎมนุษย์ซ้อนเพิ่มเข้ามาอีก เช่นจะต้องดำเนินการตั้งคนคุมขึ้นมาเพื่อคุมคนทำสวนคนนี้ แต่นายคนคุมก็แปลกแยกจากธรรมชาติ ต้องการแต่ผลตามกฎมนุษย์อย่างเดียว ก็เลยไม่ได้เรื่องอีก แล้วก็ตั้งกฎซ้อนเข้ามาเป็นชั้นๆ จนซับซ้อนอย่างยิ่ง แต่ผลที่สุดก็ล้มเหลวหมด

การที่สังคมนี้ยังดำรงอยู่ได้ ก็เพราะคนเราบางส่วนยังไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ทั้งสังคมนี้แปลกแยกจากกฎธรรมชาติมาติดอยู่กับกฎมนุษย์อย่างเดียวโดยหลงสมมติเมื่อไร สังคมนี้ก็จะปั่นป่วนวิปริต และชีวิตก็จะไม่มีความสุข จะเสียคุณภาพชีวิต ดังเช่นคนทำสวนที่ทำงานด้วยความทุกข์ทรมานดังกล่าวมาแล้ว

เวลานี้ มนุษย์เริ่มเข้าสู่ระบบที่ติดสมมติมากขึ้น ระบบแข่งขัน หรือระบบผลประโยชน์ที่กำลังเข้ามา ส่งผลกระทบต่อระบบทุกอย่างของสังคม ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แม้แต่กฎหมายก็จะถูกกระทบด้วย เพราะฉะนั้น นักกฎหมายจะต้องทันต่อแนวโน้มนี้ด้วย ระบบการแข่งขันหาผลประโยชน์นี้เป็นระบบที่เต็มไปด้วยสมมติ และจะผลักดันให้มนุษย์ทำการต่างๆ เพื่อผลตามกฎสมมติอย่างเดียว จนกระทั่งในไม่ช้าคนก็จะแปลกแยกจากธรรมชาติแทบจะสิ้นเชิง

ดังตัวอย่างที่ยกมาพูดบ่อยๆ คือ เมื่อคนตั้งโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมาโรงหนึ่ง ในขณะที่สังคมเข้าสู่ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์นั้น ถามว่าอะไรเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของโรงพยาบาล คำตอบตามระบบผลประโยชน์ก็คือ กำไรสูงสุด เพราะเขาตั้งโรงพยาบาลขึ้นเพื่อผลประโยชน์ เมื่อได้กำไรสูงสุดก็คือความสำเร็จ ถ้าไม่ได้กำไรสูงสุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ

การตั้งโรงพยาบาลแล้วทำให้ได้กำไรสูงสุดนี้เป็นเรื่องของกฎมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการที่การแพทย์ได้กลายเป็นธุรกิจแล้ว จึงมุ่งไปที่การได้ผลประโยชน์ตอบแทน แต่ตามกฎธรรมชาติ การแพทย์คืออะไร ผลของการแพทย์คืออะไร การแพทย์เป็นเหตุ อะไรเป็นผลตามกฎธรรมชาติ ตอบว่าการที่คนหายโรค มีสุขภาพดี เป็นผลตามกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จของโรงพยาบาลตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้จริง ก็คือ การที่ได้ช่วยให้ผู้คนในสังคมนี้ ห่างเบาบรรเทาจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพดีขึ้น นี้คือความสำเร็จตามกฎธรรมชาติ

พูดสั้นๆ ว่า ความสำเร็จของมนุษย์ตามความหมายแห่งกฎสมมติ คือ การได้กำไรสูงสุด แต่ความสำเร็จของมนุษย์ตามความหมายแห่งกฎแท้ของธรรมชาติ คือ การทำให้ชีวิตดีงามมีความสุข สังคมสันติ และโลกเป็นแดนเกษม

ตอนนี้ ระหว่าง ความสำเร็จตามกฎมนุษย์ กับความสำเร็จตามกฎธรรมชาติ เราจะเลือกเอาความสำเร็จอย่างไหน ในสังคมปัจจุบันนี้กิจการทุกอย่างกำลังกลายเป็นธุรกิจ แม้แต่การศึกษา เรากำลังจะมองกันอยู่แค่กฎมนุษย์ และหลงอยู่กับกฎสมมตินั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มุ่งผลสำเร็จที่กำไรสูงสุด ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ แม้แต่แพทย์ ก็จะคำนึงแต่รายได้ ไม่คำนึงถึงชีวิตของคน คนจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ให้ฉันได้กำไรก็แล้วกัน นี่ดีแต่ว่าแพทย์ของเรายังมีคุณธรรมอยู่หลายท่าน

เวลานี้กิจการทุกอย่างกำลังจะเป็นอย่างนี้ นี้คือการที่มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ ติดในสมมติ เขาจึงไม่สามารถเชื่อมกฎธรรมชาติกับกฎของมนุษย์เข้าหากัน เขาไม่รู้ตระหนักว่า การที่เราจัดตั้งวินัย คือวางระบบสังคมในหมู่มนุษย์ขึ้นมานี้ แท้จริงแล้วก็เพื่อให้ความเป็นจริงในกฎธรรมชาติปรากฏผลที่ดีงามขึ้นมาแก่ชีวิตและสังคมของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ยังตระหนักรู้และทำให้เป็นไปอย่างนี้ได้ ก็คือ การเชื่อมระหว่างกฎมนุษย์กับกฎธรรมชาติ หรือวินัยกับธรรมได้

พระพุทธเจ้าตรัสธรรมกับวินัยไว้ด้วยกันเป็นคู่กัน เพราะที่แท้นั้น ฐานของชีวิตและสังคมมนุษย์ของเราคือธรรม และประโยชน์ที่แท้ของเราก็คือธรรม นิติศาสตร์จะต้องจับจุดนี้ให้ได้ โดยเฉพาะในเมื่อสังคมต่อไปนี้จะประสบปัญหาเรื่องนี้มากขึ้นทุกที ซึ่งเราจะต้องคิดว่าจะเอาอย่างไรกับมัน

กฎหมายนั้น ว่าที่จริง สาระที่แท้ต้องอยู่ที่เจตนารมณ์ซึ่งสอดคล้องกับธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคนไม่เข้าถึงธรรม ก็จะมีปัญหาจากกฎหมายได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะ

๑. ปัญญาไม่เข้าถึงธรรม ก็ตาม

๒.เจตนาไม่เป็นธรรม เช่น ไม่บริสุทธิ์ หรือไม่ประกอบด้วยเมตตาคือความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ เนื่องจากเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือคิดจะกลั่นแกล้งผู้อื่น ก็ตาม

เพราะฉะนั้น บางครั้งกฎหมายก็จึงกลายเป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงกันในสังคมได้ และเราจึงต้องคอยตรวจสอบเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายกับข้อกำหนดตามตัวอักษร ด้วยความสำนึกตระหนักว่า ข้อกำหนดตามตัวอักษรนั้น ที่จริงจัดวางไว้เพื่อสนองเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่เมื่อออกมาแล้วบางทีมันกลับเป็นเครื่องมือในการที่จะไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คนจึงใช้บัญญัติตามตัวอักษรเพื่อทำร้ายคนอื่นก็ได้ หรือเพื่อสนองการหาผลประโยชน์ของตนเองก็ได้ ดังที่มีคนใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองกันมากมาย

เพราะฉะนั้น การที่จะต้องตรวจสอบกฎมนุษย์คือกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับธรรมและให้ช่วยนำมนุษย์เข้าถึงตัวธรรมให้ได้ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่นักกฎหมายโดยเฉพาะผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องมี ก็คือการเข้าถึงธรรมทั้งในแง่

๑. การเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา คือความรู้ในความจริงอย่างที่ว่ามีหลายระดับ ตั้งแต่

๑) ความรู้ในกฎแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักการแห่งความถูกต้องดีงาม อย่างน้อยรู้ตัวกฎเกณฑ์กติกาในความหมายที่แท้จริงของมัน และตามที่มนุษย์บัญญัติ และรู้ไปถึงสังคม สภาพปัญหาของสังคม เหตุปัจจัยแห่งความเป็นไปในสังคม กลไกของความเป็นไปนั้น ตลอดจนการหยั่งรู้หยั่งเห็นว่าการที่วางกฎข้อนี้แล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นมาในสังคม เป็นต้น และ

๒) ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝนพัฒนา เขามีความประสงค์อะไร ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ซึ่งอย่างที่กล่าวแล้วว่า คนเราทุกคนมีความเข้าใจและความต้องการนั้นอยู่แม้โดยไม่รู้ตัว ถึงแม้เห็นไม่ชัดมันก็มีอยู่ในใจ และถ้าไม่ชัดนี่แหละ มันจะมีอิทธิพล ซึ่งทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด

๒. การเข้าถึงธรรมด้วยจิตใจ คือมีเจตนาบริสุทธิ์ รักความเป็นธรรม มีความมุ่งมาดใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม ด้วยการดำรงธรรมไว้ในสังคม อันนี้จะต้องมีอยู่ในใจ คือความใฝ่ปรารถนาที่จะดำรงธรรมและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

การเข้าถึงธรรมที่ว่ามานี้จะต้องมีอยู่ในนักกฎหมาย โดยเฉพาะผู้บัญญัติกฎหมาย

เมื่อผู้บัญญัติกฎหมายเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา และด้วยจิตใจแล้ว พฤติกรรมของเขาในการบัญญัติกฎหมายก็จะเป็นพฤติกรรมที่เข้าถึงธรรมด้วย

เมื่อผู้ใช้กฎหมายเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา และด้วยจิตใจแล้ว ก็จะมีพฤติกรรมในการใช้กฎหมายอย่างผู้เข้าถึงธรรมด้วยพฤติกรรมด้วย

ขอย้ำอีกทีว่า เมื่อมีการบัญญัติกฎหมายใดก็ตาม ในใจของผู้บัญญัติย่อมมีความคิดความเห็นความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระเรียกว่า ทิฏฐิ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในใจ

ตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอาจจะเชื่อว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ คนที่มีความเข้าใจอย่างนี้อยู่ในใจ แม้จะไม่ได้ทำความเห็นหรือความเชื่อนั้นให้ประจักษ์ออกมาแก่ตนเอง มันก็ฝังลึกอยู่ เวลาเขามาบัญญัติกฎหมาย เขาก็จะบัญญัติอย่างหนึ่ง

แต่อีกคนหนึ่งมีความเชื่อว่า ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น ความสุขไม่ได้อยู่เพียงแค่การเสพวัตถุ แต่อยู่ที่คุณค่าทางนามธรรมที่ลึกซึ้งกว่านั้น เวลาเขามาบัญญัติกฎหมายเขาก็จะบัญญัติอีกอย่างหนึ่ง

เป็นอันว่า ทิฏฐิ หรือแนวความคิดความเชื่อนี้จะเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะมากำหนดวิถีทางในการคิดวินิจฉัยและให้เหตุผลแก่เขาผู้นั้นในการทำกิจกรรมทางปัญญาทั้งหมด เรื่องนี้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้น นักกฎหมายจะอยู่แค่เหตุผลพื้นๆ ในทางสังคมเท่านั้นไม่ได้ แต่เขาจะต้องเข้าถึงความจริงซึ่งรวมทั้งเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ด้วย เพราะว่ามนุษย์ที่ตรากฎหมายในสภานิติบัญญัติเป็นต้นนั้น

๑. จะวางกฎหมายจากฐานแห่งปัจจัยปรุงแต่งในตัวเขา ซึ่งมีหลายอย่าง เช่น เขามีปัญญารู้แค่ไหน ก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งในตัวเขาให้ทำได้อย่างนั้นเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็ภูมิธรรมภูมิปัญญานั่นเอง ตลอดจนสภาพหล่อหลอมของค่านิยมทางสังคม และวัฒนธรรมเป็นต้น ซึ่งเข้ามาเป็นปัจจัยปรุงแต่งในใจ แล้วแสดงอิทธิพลออกมาเป็นการวินิจฉัย การให้ความเห็น ตลอดจนการยกมือว่าจะเอาข้างไหน พูดง่ายๆ ว่า ภูมิธรรมภูมิปัญญาในตัวคนนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เริ่มแต่ทิฏฐิของเขา ซึ่งเป็นปัจจัยหล่อหลอมทั้งในตัวบุคคลและในทางสังคม

๒. เมื่อบัญญัติกฎหมายแล้ว กฎหมายนั้นก็จะไปเป็นปัจจัยปรุงแต่งผลักดันสังคมอีก ทำให้สังคมก้าวไปทางไหนอย่างใดต่อไป

เป็นอันว่า ทิฏฐิในตัวคนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้มีผลขึ้นมา ๒ อย่างนี้ โดยเฉพาะนักกฎหมายจะตรากฎหมายที่ดีไม่ได้ถ้าไม่รู้ธรรมชาติของมนุษย์ว่า มีศักยภาพอย่างใด ควรมีชีวิตอย่างไร

ตัวอย่างเช่น เวลานี้จะออกกฎหมายเกี่ยวกับสนุกเกอร์ จะเห็นว่าความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์จะอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของผู้ออกกฎหมาย เช่น บางคนเข้าใจว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ ซึ่งเจ้าของความคิดอาจไม่รู้ตัวเลย แต่เขาจะวินิจฉัยและตัดสินใจลงมติต่างๆ ตามภูมิธรรมภูมิปัญญาที่เขามีอยู่เบื้องหลังตัวเขานั้น เพราะฉะนั้น การตัดสินใจของเขาจึงเป็นตัวฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของตัวเขาเอง

โดยนัยนี้เราจึงพูดได้ว่า กฎหมายที่ออกมา เป็นตัวฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของนักกฎหมาย หรือของผู้ทำงานนิติบัญญัติ

แม้ว่าจะต้องคำนึงถึงหรือไม่ลืมมองปัจจัยทางสังคม เช่น ค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย แต่ก็อย่าลืมว่า การที่มนุษย์มีปัญญาพัฒนามาได้เพียงแค่ในระดับที่อยู่ใต้ค่านิยมของสังคมยังไม่เพียงพอ มนุษย์ที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์จะต้องไม่จมอยู่ใต้ปัญหานั้นเสียเอง มิฉะนั้น สังคมมีค่านิยมอย่างไร แม้แต่ค่านิยมที่เป็นปัญหา ค่านิยมนั้นก็จะชักพานักกฎหมายไปได้มนุษย์จะเพียงเป็นไปตามสังคมเท่านั้นไม่ได้ มนุษย์ต้องแก้ไขสังคมได้ด้วย

ถึงตอนนี้ ขอแทรกเรื่องความจริงที่เป็นหลักใหญ่ไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องสำคัญมาก (ควรอยู่ใน ภาค ๑) แต่จะพูดไว้เพียงเป็นแนว คือ หลักที่ว่า มนุษย์นี้มีภาวะ หรือสถานะ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ

๑) เป็นชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติ อยู่ในธรรมชาติ และเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ต้องขึ้นต่อกฎธรรมชาติ ทั้งนี้ แยกเป็น ๒ ด้าน คือ กาย และใจ อันจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยปัญญา

๒) เป็นบุคคล ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ร่วมในสังคม มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยขึ้นต่อเจตจำนง

เมื่อมองคนต้องมองทั้งสองด้าน และให้ประสานโยงถึงกัน ทั้งด้านที่เป็นบุคคลในสังคม และด้านที่เป็นชีวิตในธรรมชาติ โดยเฉพาะมองคนต้องให้ถึงชีวิต แต่เรามักจะมองคนแค่บุคคล ซึ่งเป็นด้านสังคม

ตามแนวคิดตะวันตก สังคมศาสตร์มองมนุษย์ในแง่เป็นบุคคล แทบไม่พูดถึงในแง่เป็นชีวิต โดยปล่อยให้ชีวิตเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ศึกษาชีวิตนั้นแต่ด้านวัตถุร่างกายอย่างเดียว นิติศาสตร์อยู่ในหมวดสังคมศาสตร์ ก็จึงมองมนุษย์ในแง่เป็นบุคคล

แต่จุดหมายของศาสตร์ทั้งหลายที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์จะไม่มีทางสัมฤทธิ์จริงได้ ถ้ามองคนเพียงแค่ด้านบุคคล โดยไม่คำนึงถึงความเป็นชีวิต เพราะมนุษย์โดยพื้นฐานเป็นธรรมชาติ คือเป็นชีวิต และต้องมองชีวิตให้ครบทั้งด้านกายหรือด้านวัตถุ และด้านจิตใจ

มนุษย์ ทั้งที่เป็นชีวิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ และเป็นบุคคลในสังคม เกี่ยวเนื่องโยงเป็นอันเดียวกัน ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิตและไม่ปรับปรุงชีวิตให้ดี ความเป็นบุคคลที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมก็เป็นไปได้ยาก ชีวิตที่พัฒนาอย่างดีจึงจะทำให้ความเป็นบุคคลเจริญงอกงามได้อย่างถูกต้อง หากเราจะให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม อยู่ในโลกที่ดี มีสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข เราจะต้องประสานความคิดเรื่องชีวิตกับความเป็นบุคคลให้กลมกลืนและเกื้อหนุนกันให้ได้

เพียงแค่รับประทานอาหาร คนก็กินอาหารทั้งในฐานะที่เป็นบุคคลและกินในฐานะที่เป็นชีวิต มีทั้งการกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล และการกินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต

แน่นอนว่า คุณค่าที่แท้จริงของอาหารคือเพื่อสนองความต้องการของชีวิต การกินเพื่อสนองความต้องการที่ถือว่าดีที่สุดของบุคคล (เช่น อร่อย โก้ แสดงฐานะ ซึ่งรวมทั้งสิ้นเปลืองที่สุด) อาจะบั่นทอนหรือทำลายชีวิตของเขาเอง ถ้าเมื่อใดเข้าใจถึงความจริงที่โยงมาประสานกัน ก็เท่ากับจับจุดของการแก้ปัญหาได้ ถ้ามองไม่เห็นจุดประสาน แม้แต่คนแต่ละคน ก็จะไม่สามารถเข้าใจตัวเองและปฏิบัติต่อตัวเองให้ถูกต้องได้

การพัฒนาที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติตั้งแต่ระหว่างบุคคลกับชีวิตในตัวคนเอง

การตัดสินใจทางสังคม รวมทั้งนิติบัญญัติ มีกรณีมากมาย ที่คำนึงถึงแต่บุคคล(และสังคม) โดยไม่มองไปให้ถึงคุณหรือโทษต่อชีวิต(และธรรมชาติ) คือ มองคนไม่ถึงชีวิต เพราะติดอยู่แค่บุคคล ทำให้ไม่อาจสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่แท้จริง และก่อปัญหาแก่อารยธรรมในระยะยาว

ต้องยอมรับว่า กฎหมายมากมายในระบบสังคมที่เป็นมา ได้เป็นเครื่องบั่นทอนอารยธรรม เช่น ทำให้เกิด “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” ดังเช่นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืนที่ผ่านมาแล้วในสังคมตะวันตก ซึ่งก็ต้องเป็นเพราะนักกฎหมายเองก็มีส่วนในความเข้าใจเช่นนั้น คือมีมิจฉาทิฏฐิด้วย จึงช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

งานของนักกฎหมายมีผลกว้างไกลอย่างนั้น โดยที่นักกฎหมายเองอาจอยู่ใต้อิทธิพลของนักปกครองและนักเศรษฐศาสตร์เป็นต้น และมองความเป็นมนุษย์ไม่ทั่วตลอดถึงความจริงทั้งด้านชีวิตและด้านบุคคลอย่างที่กล่าวแล้วนั้น

ดังนั้น นักบัญญัติกฎหมายก็ตาม ผู้ใช้กฎหมายก็ตาม จึงต้องไม่ประมาท จะต้องศึกษาพัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีปัญญายิ่งขึ้น และมีเจตนาดียิ่งขึ้น

การศึกษาที่ผลิตนักกฎหมายผู้สามารถมาสร้างกฎหมายที่เกื้อหนุนต่อชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอารยธรรมของมนุษย์

เพราะฉะนั้น การที่จะบัญญัติกฎหมายที่ถูกต้องให้เป็นปัจจัยปรุงแต่งสร้างสรรค์สังคมที่ดีได้นั้น จะต้องทำด้วยความไม่ประมาท โดยมีความรับผิดชอบอย่างสูง ทั้งด้านปัญญาและด้านเจตนา ถ้ากฎหมายผิด ก็จะทำลายชีวิตมนุษย์ ทำลายสังคม ตลอดจนทำลายตัวธรรมทั้งหมดเลยทีเดียว

นี้เป็นการเตือนให้ต้องระวังว่า ธรรมที่เป็นฐานของกฎหมายหรือเป็นฐานของวินัย อาจถูกทำลายโดยกฎหมายที่ผิด ด้วยปัญญาที่รู้ไม่เท่าถึงการณ์ หรือด้วยเจตนาที่ร้าย ซึ่งมีผลเป็นการทำลายอารยธรรมของมนุษย์

รวมความว่า กฎหมายแท้มีหลักอยู่ในใจที่ต้องรักตัวธรรม (เช่น รักความเป็นธรรม) และรักประโยชน์สุขของสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ กลับไปหลักเก่าที่ว่าต้องมีทั้งตัวเจตนา คือเจตจำนง ที่มีเมตตา มีความใฝ่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม ตลอดจนมนุษยชาติ และมีความรู้แจ้ง คือมี ปัญญา ที่เข้าถึงความจริง จนกระทั่งถือธรรมเป็นใหญ่

เมื่อไรนักกฎหมายถือธรรมเป็นใหญ่ ก็เรียกว่า เป็นธรรมาธิปไตย คือถือเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หลักการเป็นใหญ่ แต่จะถือธรรมเป็นใหญ่ได้ก็ต้องมีปัญญารู้ธรรม รู้หลักการ รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้องดีงาม มันพันกันอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นอย่างน้อยต้องมี ๒ อย่างนี้ คือรักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ โดยรู้ด้วยปัญญาและมีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้มีพื้นฐานที่จะบัญญัติกฎหมายที่ดี

กฎหมายและนิติบัญญัติมีความสำคัญต่อชีวิตและสังคมตลอดจนอารยธรรมของมนุษยชาติเป็นอย่างมากเช่นนี้ และนักกฎหมายหรือผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติจะต้องมีคุณสมบัติที่เข้าถึงธรรม ทั้งด้วยปัญญา ด้วยจิตใจ และด้วยพฤติกรรม อีกทั้งต้องมีความสามารถในการจัดตั้งวางระเบียบระบบที่เป็นสมมติเพื่อสื่อธรรมออกมาสู่วินัยอย่างได้ผลดี ดังที่กล่าวแล้ว

ดังนั้น การศึกษาด้านนิติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีขอบข่ายกว้างขวางลึกซึ้งมาก ไม่ใช่เป็นเพียงการเรียนวิชากฎหมายในความหมายตามตัวอักษรเท่านั้น แต่เป็นการศึกษา เพื่อสื่อสัจธรรมในธรรมชาติสู่อารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด และเพื่อรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติให้ดำรงอยู่ในดุลยภาพแห่งสัจธรรมของธรรมชาติ ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างดีที่สุด ซึ่งต้องการปัญญาที่กว้างขวางยิ่งใหญ่

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – หลักการพื้นฐานบทส่งท้าย มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.