– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

อารยธรรมของมนุษย์จะยั่งยืนเพียงใด
อยู่ที่ภูมิธรรมภูมิปัญญาในการจัดการกับสมมติ

เวลานี้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เช่นเรื่อง “สิทธิ” ที่มีการนำเข้ามาเผยแพร่หรือใช้กัน เรามักแยกไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตอีกนิด

อย่างที่ในวงการนิติศาสตร์ตะวันตกมีสายความคิดแบบ natural law, natural rights ซึ่งดูคล้ายๆ กับเรื่องธรรม แต่ที่จริงไม่ใช่เลย แนวคิดแบบนี้คล้ายๆ จะถือว่ามีกฎหมายที่เป็นกฎสากล ที่ใช้ได้ทุกกาลเทศะ อยู่ในหัวสมองหรือในปัญญาของมนุษย์ แต่ที่จริงปัญญาของมนุษย์ที่เข้าถึงตัวความจริงในธรรมชาติที่จะทำให้มีกฎสากลอะไรแบบนั้นได้ ในทางพุทธศาสนาแยกเป็น ๒ ชั้น คือ

๑. ความจริงของธรรมชาติ ที่ไม่เข้าใครออกใคร เช่นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้เข้าใจแล้วใช้ความสามารถของเรามาจัดตั้งระบบสังคมของเราเอง

๒. ถ้ามนุษย์เราเข้าถึงความจริงนั้นจริง และมีความสามารถจริง เราก็จัดระบบสังคม โดยเฉพาะการปกครองและกฎหมาย ซึ่งเป็นวินัยได้ดีที่สุด โดยสอดคล้องกับความเป็นจริงในธรรมชาติ แล้วมนุษย์ก็จะได้รับประโยชน์เอง ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงมาตั้งข้อกำหนดต่างๆ ขึ้น

อย่างไรก็ดี การกำหนดในเรื่องสิทธิเป็นต้นนี้ เป็นสมมติ ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ ซึ่งทำให้เราสร้างอารยธรรมขึ้นมาได้ ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักสมมติ มนุษย์ก็จะอยู่กันได้แค่ตามธรรมชาติพื้นฐานเหมือนอย่างหมู แมว ช้าง ม้า เท่านั้น หรืออาจจะแย่กว่าสัตว์เหล่านั้น เพราะโดยสัญชาตญาณมนุษย์สู้สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ ดังได้ยกตัวอย่างว่า เราสร้างกฎให้คนทำสวนมาทำสวนแล้วได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท อันนี้เป็นความสามารถของมนุษย์ ซึ่งในสัตว์อื่นไม่มี แต่ก็ได้บอกแล้วว่า ถ้ามนุษย์หลงสมมติเมื่อไร เมื่อนั้นคือความพินาศ

การที่จะไม่หลงสมมติก็คือ จะต้องโยงจากสมมตินั้นเข้าถึงตัวธรรมคือความจริงอยู่ตลอดเวลา เช่น คนทำสวนยังไม่แปลกแยกจากธรรมคือกฎธรรมชาติ เขาทำสวนได้เงินเดือนตามกฎมนุษย์ ๕,๐๐๐ บาท พร้อมกับที่ลึกลงไปในใจที่แท้ เขาก็ทำสวนเพื่อได้ผลตามกฎของธรรมชาติ คือ เพื่อให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

ถ้าเขามองทะลุสมมติเข้าถึงความจริงคือตัวธรรมอย่างนี้ ประโยชน์ของสังคมที่เป็นจุดหมายแท้ก็ไม่เสีย แต่กลับทำให้กลายเป็นว่าสมมติมาหนุนความจริงแท้ บัญญัติมาหนุนหลักการ คือวินัยมาหนุนธรรม ทำให้ความต้องการผลตามธรรมชาติบรรลุจุดหมายเป็นจริงสมประสงค์ยิ่งขึ้น

มนุษย์เรามีความฉลาด เราจึงบัญญัติสิทธิต่างๆ ขึ้นมา แต่อย่างที่บอกแล้วว่า สิทธิ นี้เป็นความสามารถของมนุษย์ที่ตกลงกำหนดกันขึ้น ซึ่งจะได้ผลดีจริงหรือไม่เพียงไรก็อยู่ที่เราจะต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์ มีเจตนาที่ดีงาม มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ หวังประโยชน์สุขแก่สังคม และทำการด้วยความรู้ความเข้าใจระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยอย่างกว้างขวางทั่วถึงที่สุด

น่าสังเกตว่า ในช่วงเวลาแห่งความเจริญของอารยธรรมมนุษย์ ยุคปัจจุบัน มีการเน้นเรื่องสิทธิมากขึ้น และปัญหาเรื่องสิทธิต่างๆ ก็ซับซ้อนขึ้น กับทั้งมีการกำหนดสิทธิใหม่ๆ แปลกๆ ขึ้นด้วย

ขอยกตัวอย่างเช่น เวลานี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการกำหนดสิทธิอย่างหนึ่งขึ้นเรียกว่า pollution rights แปลว่า “สิทธิในการก่อมลภาวะ” ซึ่งไม่มีในธรรมชาติ และก็ไม่ได้ถือว่าเป็นสิทธิตามธรรมชาติ แต่ก็ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเพื่อความดีงามของสังคม เท่าที่มนุษย์ที่กำหนดเรื่องนี้ขึ้นมา จะมีสติปัญญามองเห็นว่าจะเป็นเครื่องช่วยแก้ปัญหาในหมู่มนุษย์

สำหรับในกรณีนี้เหตุผลก็คือว่า เวลานี้ธรรมชาติเสื่อมโทรมเสียหายมาก เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจการด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาจึงมีว่าจะทำอย่างไรให้มนุษย์ไม่ทำลายธรรมชาติ ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องทำ (ที่จริงอาจเป็นว่า ทั้งๆ ที่การพัฒนาเศรษฐกิจผิดทางจนกลายเป็นโทษแล้ว หรือเป็นการพัฒนาในทางที่ก่อผลร้ายเช่นเพื่อสนองความโลภไปแล้ว เราก็ยังจำเป็นต้องทำการพัฒนาอย่างนั้น) การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ก็ต้องทำ ก็มีทางประนีประนอม คือทำให้เขาผลิต โดยสร้างมลภาวะให้น้อยที่สุด

ในบรรดาวิธีการทั้งหลายที่จะแก้ปัญหา รวมทั้งจริยธรรมในการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม ก็มีการบัญญัติสิทธิขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ สิทธิในการก่อมลภาวะ

วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้คือ รัฐเอาสิทธิในการก่อมลภาวะให้บริษัท หรือโรงงานอุตสาหกรรมแห่งใดแห่งหนึ่งไป โดยกำหนดให้มีสิทธิก่อมลภาวะได้เท่านี้ เมื่อได้รับสิทธิไปแล้ว บริษัทหรือโรงงานนั้นก็ต้องไปจัดการระบบธุรกิจอุตสาหกรรมของตนเอง ให้ก่อมลภาวะภายในขอบเขตแห่งสิทธิที่ได้มา ถ้าธุรกิจของตนไม่มีประสิทธิภาพ ก็ก่อมลภาวะมากแต่ผลิตสินค้าได้น้อย ถ้าจะดำเนินธุรกิจอยู่ต่อไป ก็ไม่คุ้ม เพราะหมดสิทธิก่อมลภาวะแล้ว จะผลิตสินค้ามากกว่านั้นไม่ได้ ก็ขาดทุน อาจจะต้องล้มเลิกกิจการไปเอง เท่ากับว่ารัฐไปบีบให้ธุรกิจรักษาธรรมชาติแวดล้อม

ทีนี้เมื่อโรงงานหรือกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผลิตของได้น้อย แต่ก่อมลภาวะสูง หมดสิทธิที่จะผลิตเกินกว่านั้นแล้ว ธุรกิจขาดทุนยับเยินจะอยู่ไม่ได้ ก็สามารถขายสิทธินี้แก่บริษัทอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คือสามารถผลิตของมาก โดยก่อมลภาวะน้อย บริษัทหรือโรงงานที่มีประสิทธิภาพนั้นก็มาซื้อเอาสิทธินี้ไป

ตัวอย่างนี้เป็นอุบายวิธีที่ทำให้การทำลายสภาพแวดล้อมเบาลง ด้วยการผลิตของมากแต่ก่อมลภาวะน้อย นี่ก็คือภาวะที่เศรษฐกิจก็ไปได้ และสิ่งแวดล้อมก็มีทางที่จะอยู่ดีได้พอสมควร นับว่าเป็นวิธีการประนีประนอมอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาที่มีปัญหาว่าจะไม่ยั่งยืน

ในเรื่องสมมติและบัญญัตินี้ มนุษย์มีความสามารถก็คิดกันเอา ถ้าปัญญาดีและเจตนาดี ความพยายามก็จะได้ผลดีด้วย และเมื่อเราพิจารณาต่อไป เห็นว่าวิธีนี้ยังไม่ได้ผลดีนัก ก็เปลี่ยนไปอีก

เรื่องสิทธิกฎข้อบังคับต่างๆ นี้ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ แต่อย่างที่ว่าแล้ว จะต้องไม่ลืมความจริงของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะอายอินเดียนแดงอย่างที่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียซ ได้เจอมาแล้ว เมื่อครั้งซื้อแผ่นดินเมืองซีแอตเติ้ลจากอินเดียนแดง ถูกอินเดียนแดงตอบมาว่า “อะไรกัน ท่านจะเอาแผ่นดินและผืนฟ้ามาซื้อขายกันหรือนี่ ความคิดนี้แปลกประหลาด” เพราะว่ามีที่ไหน มนุษย์เอาแผ่นดินมาแบ่งกัน มันเป็นเรื่องที่สังคมมนุษย์ตกลงกัน แล้วเราก็บอกว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สิน และในอะไรต่างๆ แต่เวลาอ้างกับธรรมชาติ มันไม่ฟังเรา

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรู้ตระหนักในหลักการ ๒ ชั้นที่โยงเชื่อมกัน คือ ตัวธรรมความจริงในกฎธรรมชาติที่เราจะต้องรู้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นฐานของการสร้างวินัยที่เป็นระบบกฎเกณฑ์กติกาในสังคม พร้อมทั้งเป็นจุดหมายของวินัยนั้นไปด้วยในตัว ทั้งนี้มนุษย์จะต้องไม่ประมาท โดยมีการศึกษาพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภานิติบัญญัติ จะต้องคำนึงถึงหลักความจริงนี้ให้มาก เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า กฎหมายที่บัญญัติกันนั้นออกมาจากปัจจัยปรุงแต่งภายใน คือภูมิธรรมภูมิปัญญา พร้อมทั้งปัจจัยหล่อหลอมจากสังคมภายนอก ซึ่งตนเองเป็นผู้ตัดสินใจ กฎหมายที่ออกมาจึงเป็นตัวฟ้องว่าผู้บัญญัติมีภูมิธรรมภูมิปัญญาแค่ไหน

ต่อจากนั้น กฎหมายที่ออกมาก็จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งสังคมและอารยธรรม หรือเป็นตัวทำลายต่อไป ถ้าร้ายก็ทำลายทั้งชีวิตสังคมและทำลายอารยธรรมตลอดจนทำลายตัวธรรมด้วย ถ้าดีก็ส่งเสริมให้อารยธรรมมนุษย์เจริญก้าวหน้าเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

มีข้อที่ขอย้ำอีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งสร้างระบบสังคมที่เรียกว่า สังฆะ ขึ้นมาเพื่อเป็นชุมชนแห่งการศึกษา แล้วมีการปกครองขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาคือการฝึกฝนพัฒนาชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ด้วยดี การฝึกคนหรือให้การศึกษาแก่เขานั้น แท้ที่จริงเป็นการสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาตัวเอง แต่เมื่อทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกเขาด้วย และในการฝึกนั้นพระองค์มีลักษณะอย่างหนึ่ง เรียกว่าเป็นผู้ฝึกโดยไม่ต้องใช้อำนาจ หรือที่ศัพท์ทางพระเรียกว่า ผู้ฝึกโดยไม่ต้องใช้อาชญา คือไม่ต้องใช้การลงโทษ

ลักษณะนี้อาจจะเป็นอุดมคติว่า กฎหมายที่ดีที่สุด และการปกครองที่ดีที่สุด ต้องบรรลุจุดหมายโดยใช้อาชญาให้น้อยที่สุด ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องใช้เลย พระองค์จึงมีคุณสมบัติพิเศษที่ฝึกคนโดยไม่ต้องใช้อาชญา และที่จริงนั้นกฎหมายเองก็เป็นเครื่องฝึกคนอยู่แล้ว แต่การที่เป็นอย่างนี้ได้ ก็อยู่ที่ว่าจะต้องทำให้คนมีจิตสำนึก และมีท่าทีต่อกฎหมายแบบเป็นสิกขาบท คือเป็นข้อฝึกตน ไม่ใช่ข้อบังคับ และทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกจนกระทั่งว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกันในข้อสมมติของสังคมอย่างที่ว่ามาแล้ว

โดยนัยนี้ แนวทางในการทำกฎหมาย จึงมี ๒ ทางคือ ในระบบสังคมที่การปกครองเป็นจุดหมายในตัว คือการปกครองเพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อย ก็จะเป็นการปกครองด้วยอำนาจ หรือเน้นการใช้อำนาจ กฎหมายก็จะมุ่งบังคับและควบคุม โดยเน้นการกำจัดคนชั่ว ด้วยการลงโทษคนทำความผิด

แต่ในระบบที่ถือคติว่าการปกครองเป็นการสร้างสังคมที่ดีขึ้นมา เพื่อเป็นสภาพเอื้อให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม การบัญญัติกฎหมายก็จะเน้นการสร้างคนดี เพราะเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ให้ขึ้นไปสู่ชีวิตที่ดีงาม เมื่อกฎหมายเป็นสิกขาบทคือเป็นเครื่องฝึกตน กฎหมายก็จะเป็นเครื่องมือในการสร้างคนดี เพราะฉะนั้น จึงควรเน้นกฎหมายในการสร้างคนดีมากกว่าการกำจัดคนชั่ว

เป็นอันว่า กฎหมายมี ๒ แบบ ถ้าเน้นอำนาจก็จะเป็นกฎหมายที่เด่นในด้านกำจัดคนชั่วโดยมีการห้ามและบังคับมาก แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เน้นการศึกษา ซึ่งมุ่งสร้างคนดี ก็จะมีลักษณะในทางจัดสรรโอกาสและมีการส่งเสริมมาก แต่ในความเป็นจริงซึ่งสังคมในขณะหนึ่งๆ มีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลาย การปกครองและกฎหมายจะต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน คือ ทั้งส่งเสริมคนดี และกำราบคนร้าย ทั้งนี้โดยมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดี

รวมความว่า ถ้าแยกโดยจุดเน้น กฎหมายก็มี ๒ แบบ คือ แบบสร้างคนดี กับแบบกำจัดคนชั่ว

ถ้าใช้ระบบอำนาจก็แน่นอนว่าจะเอียงไปในแบบกำจัด แต่ถ้าใช้ระบบที่มองสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่คืบหน้าไปสู่ความดีงาม เราก็ออกกฎหมายมาสร้างสภาพเอื้อให้ชีวิตพัฒนา ก็เป็นกฎหมายที่พยายามสร้างคนให้เป็นคนดี และสร้างคนให้เป็นคนดีให้มากจนกระทั่งเราแทบไม่ต้องลงโทษคน หรือลงโทษคนให้น้อยที่สุด เพราะไม่มีคนชั่วที่จะต้องลงโทษ ถ้าทำได้อย่างนั้นก็เป็นกฎหมายที่ดี

แต่ทั้งนี้กฎหมายย่อมสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับการปกครอง การปกครองจึงต้องมีนโยบายในการที่จะสร้างสรรค์สังคมในแบบที่ว่า ใช้การปกครองเพื่อสร้างคน โดยสร้างคนดีเพื่อให้มีคนชั่วที่จะต้องลงโทษให้น้อยที่สุด ซึ่งก็คือ เป็นการถือ แนวคิดแบบสิกขา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – หลักการพื้นฐานบทส่งท้าย มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.