๗) กรรมระดับบุคคล-กรรมระดับสังคม

1 เมษายน 2548
เป็นตอนที่ 7 จาก 7 ตอนของ

๗) กรรมระดับบุคคล-กรรมระดับสังคม

หลักกรรมอีกแง่หนึ่งที่สำคัญและน่าสนใจมาก คือ กรรมที่แยกได้เป็น ๒ ระดับ ได้แก่

๑. กรรมระดับปัจเจกบุคคล ตามนัยพุทธพจน์เช่นว่า “กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย1 เป็นต้น ซึ่งแปลความว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ไปต่างๆ คือ ให้ทรามและประณีต

กรรมระดับปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องของส่วนย่อย จึงเป็นส่วนฐานและเป็นแกนของหลักกรรมทั้งหมด เรื่องกรรมที่ได้อธิบายมาแล้วเน้นในระดับนี้

๒. กรรมในระดับสังคม ตามนัยพุทธพจน์ เช่นว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก กมฺมุนา วตฺตตี ปชา2 แปลความว่า โลก (คือสังคมมนุษย์) เป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม

กรรมในระดับนี้ ซึ่งเป็นกระแสร่วมกัน ที่มองเห็นง่ายๆ ก็คืออาชีพการงาน ซึ่งทำให้หมู่มนุษย์มีวิถีชีวิตเป็นไปต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดสภาวะและวิถีของสังคมนั้นๆ ด้วย

แต่กรรมที่ลึกซึ้งและมีกำลังนำสังคมมากที่สุด ก็คือมโนกรรม เริ่มด้วยค่านิยมต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนกิจกรรมและวิธีการในการแสวงหาความสุขของเขา

แต่มโนกรรมที่มีกำลังอานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือ ทิฏฐิต่างๆ ซึ่งรวมถึงทฤษฎี ลัทธินิยม อุดมการณ์ต่างๆ อันประณีตลึกลงไปและฝังแน่น แล้วกำหนดนำชะตาของสังคมหรือของโลก สร้างประวัติศาสตร์ ตลอดจนวิถีแห่งอารยธรรม เช่น ทิฏฐิที่เชื่อและเห็นว่ามนุษยชาติจะบรรลุความสำเร็จมีความสุขสมบูรณ์ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งได้เป็นแกนนำขับดันอารยธรรมตะวันตกมาสู่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

กรรมระดับสังคมนี้เป็นเรื่องใหญ่มากอีกแง่หนึ่ง ขอพูดไว้เป็นแนวเพียงเท่านี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๖) อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม

เชิงอรรถ

  1. ม.อุ. ๑๔/๕๘๑/๓๗๖
  2. ขุ.สุ. ๒๕/๓๘๒/๔๕๗

No Comments

Comments are closed.