(กล่าวนำ)

10 พฤษภาคม 2529
เป็นตอนที่ 1 จาก 10 ตอนของ

ความเป็นอนิจจังของสังขาร
กับ
อิสรภาพของสังคม1

ขออำนวยพร ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะอาจารย์ นักศึกษา และท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

การประชุมในวันนี้ นับว่าเป็นการประชุมที่พิเศษครั้งหนึ่ง เนื่องในโอกาสที่เรียกกันว่า “วันปรีดี พนมยงค์” โดยเฉพาะการประชุมในปีนี้นับว่ามีความพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก ในเมื่อเป็นวาระที่อัฐิของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้รับการอัญเชิญกลับจากประเทศฝรั่งเศส มายังประเทศบ้านเกิดของท่าน และได้มีการจัดพิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึง และน้อมใจอุทิศกุศลแด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส

อาตมภาพได้สังเกตดูกำหนดการต่างๆ เกี่ยวกับงานนี้ เกิดความรู้สึกว่ามีเรื่องหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระศาสนา เกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับพระสงฆ์มาก คือ พิธีกรรมก็จัดที่วัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพิธีกรรมในทางพระศาสนา มีพระเถรานุเถระเกี่ยวข้อง ตลอดกระทั่งการบรรยาย การปาฐกถา ก็นิมนต์พระมาพูด ทำให้เกิดความรู้สึกว่า อัธยาศัยของท่านรัฐบุรุษอาวุโส คงจะมีความโน้มมาทางธรรม มีความใกล้ชิดพระศาสนาอยู่มาก บางท่านอาจจะบอกว่า นี้เป็นเรื่องของผู้จัดงานซึ่งจัดลับหลังท่าน ท่านล่วงลับไปแล้วไม่รู้อะไรด้วย แต่การจัดงานทั้งหมดนี้ก็มีท่านผู้หญิงเป็นหลัก เป็นผู้รับทราบอยู่ในงานด้วยโดยตลอด ท่านก็คงแนะนำหรืออย่างน้อยก็อนุมัติในการจัดกิจกรรมต่างๆ ท่านผู้หญิงย่อมเป็นผู้ที่รู้อัธยาศัยของท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นอย่างดี ท่านก็คงจะได้ให้งานเป็นไปโดยสอดคล้องกับอัธยาศัยของท่านรัฐบุรุษอาวุโสนั่นเอง

แม้ว่าการจัดงานนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจากไป โดยเฉพาะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัฐิของท่าน อันแสดงถึงการที่ท่านได้ ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งโดยปกติก็เป็นเรื่องของความเศร้าโศกอาลัย แต่การที่ท่านทั้งหลายผู้มีความเคารพนับถือ มีศรัทธาในตัวท่าน ได้แสดงออกโดยพร้อมเพรียงกัน แม้พระเถรานุเถระหลายท่านก็ได้มาร่วมในพิธี เริ่มต้นตั้งแต่ไปรับอัฐิที่สนามบินดอนเมือง

ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ทรงแสดงน้ำพระทัยที่ทรงมองเห็นความดีของท่านรัฐบุรุษอาวุโสมาโดยตลอด นับแต่ได้ประทานคติธรรมและพระธรรมเทศนาในวาระครบ ๑๐๐ วัน แห่งการอสัญกรรมของท่าน และเมื่อถึงดิถีตรงกับวันเกิดของท่านในปีต่อมา ที่เรียกว่า วันปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เสด็จไปประทานพระโอวาทปราศรัย แม้ในการบำเพ็ญกุศลเกี่ยวด้วยอัฐิของท่านรัฐบุรุษอาวุโสครั้งนี้ ก็ได้ทรงเมตตานุเคราะห์ที่จะเสด็จไปเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจะเสด็จนำขบวนเชิญอัฐิเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เป็นแต่ขัดข้องด้วยปัญหาพระสุขภาพพลานามัยที่ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องมาจากทรงพระชรา และการที่ทรงฟื้นจากการประชวร อันไม่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ จึงจำต้องทูลขอให้ระงับการเสด็จเสีย แต่ถึงกระนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็ได้มีเมตตาไปร่วมนำในพิธีโดยตลอด

นักศึกษาทั้งหลาย ทั้งที่ต้องเผชิญอุปสรรคจากฝนที่ตกอย่างหนักยิ่ง ก็ไม่ท้อถอย ได้มาต้อนรับอัฐิของท่านอย่างมากมาย เป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือศรัทธาในตัวท่านอย่างหนักแน่นจริงจัง ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นข้อที่ควรแก่ความปลาบปลื้มยินดี

สำหรับอาตมภาพ ผู้ที่จะพูดในวันนี้นั้น นับว่าเป็นบุคคลรุ่นหลัง ถ้าเทียบกับตัวท่านรัฐบุรุษอาวุโสแล้วก็ห่างกันมาก กว่าที่อาตมภาพจะเติบโตรู้ความได้ดี ท่านก็ลี้ภัยออกไปอยู่ในต่างประเทศเสียแล้ว เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับท่านก็เป็นเรื่องพร่าๆ ไม่สู้จะชัดเจน เป็นเสียงพูดข้างหลังเป็นส่วนมาก อาตมภาพได้มารู้จักสัมผัสท่านรัฐบุรุษอาวุโส ก็ต่อเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เวลานั้นยังเป็นเณรอยู่

ที่ว่าสัมผัสนั้น ก็ไม่ได้สัมผัสโดยการที่ได้พบกับตัวท่านหรอก เป็นการสัมผัสในทางความคิด คือได้อ่านหนังสือของท่าน คือเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นั้น อาตมภาพไปได้หนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งมา ซึ่งเป็นผลงานของท่าน ชื่อว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเกิดความรู้สึกติดมาตั้งแต่บัดนั้นว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์นี้ มีความสนใจในทางธรรมด้วย นับแต่นั้นมา ชื่อของท่านเมื่อใครเอ่ยถึงก็ตาม อาตมภาพจะจำติดมาพร้อมกับชื่อหนังสือที่ว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม นั้น และความรู้สึกที่ว่าท่านมีความสนใจธรรมะด้วย

แม้จนกระทั่งเมื่อท่านผู้หญิงได้ไปนิมนต์มาพูด อาตมภาพก็ยังปรารภกับท่านถึงหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม นี้เป็นเหตุให้ท่านได้ส่งหนังสือชื่อ อนุสรณ์ปาล พนมยงค์ มาถวาย ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยสังคมปรัชญา มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์กว่าหนังสือเล่มเล็กๆ ที่อาตมภาพได้ไปนั้น

แม้ในวันนั้นเองที่ท่านไปนิมนต์ เมื่อท่านผู้หญิงกลับไปจากกุฏิแล้ว อาตมภาพก็ได้ไปค้นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม ออกมาดู เป็นหนังสือที่ได้มาเมื่อ ๒๘ ปีก่อนโน้น ก็เปิดออกดู มองเห็นบันทึกของตัวเอง ลงวันที่อ่านไว้ว่าวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๑ พร้อมทั้งบันทึกเกี่ยวกับความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรบ้าง แต่เมื่อพลิกดูไป ปรากฏว่าบันทึกลงวันที่อ่านนั้นมีเพียงแค่หน้า ๓๓ แสดงว่าหยุดอ่านเสีย ไม่จบเล่ม ก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกัน จำไม่ได้ว่า ทำไมจึงได้หยุดอ่าน อ่านไม่จบ อาจเป็นได้ว่าเรื่องราวที่ท่านเขียนไว้ซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมะที่ตัวเองได้เรียนในสมัยที่ยังเป็นเณรนั้น คงจะมีเพียงเท่านั้น ส่วนนอกเหนือจากนั้นแล้วยังรู้ไม่ค่อยถึง ความสนใจยังมีไม่เพียงพอ ก็เลยหยุดอ่านเสีย

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็เป็นอันว่านามของท่านรัฐบุรุษก็ติดมาในจิตใจของอาตมภาพ พร้อมด้วยชื่อของหนังสือเล่มนี้ และความรู้สึกที่ว่า ท่านมีความสนใจในธรรมด้วย

ทีนี้ เรื่องอนิจจังนี้ ก็เป็นหลักธรรมสำคัญหลักหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา มาในชุดที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ที่แจงออกไปว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

คำว่า “อนิจจัง” นี้เป็นคำที่คนทั่วไปมักนึกถึงหรือพูดออกมา เมื่อได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับการล่วงลับจากไป หรือเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแตกสลายอะไรทำนองนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่ค่อยดี คนเราเลยกลัวคำว่าอนิจจัง

แต่ความจริงแล้ว อนิจจังเป็นเรื่องของธรรมะ คือเรื่องธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วในตัวของมันเอง สุดแต่ว่าเราจะนำมาใช้อย่างไร จะใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ มันก็เป็นคุณมหาศาล จะเห็นได้ว่า ท่านรัฐบุรุษก็มองหลักอนิจจังนี้ในแง่ดีท่านหนึ่ง คือมองในแง่ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ทีนี้ ถ้าจะพูดถึงเรื่องอนิจจัง แม้จะเป็นคำที่น่ากลัวสำหรับบางคน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะก็เป็นเรื่องที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเองสนใจ การนำเรื่องที่ท่านสนใจมาพูดต่อออกไปอีก ก็คงเป็นที่พอใจของท่านด้วย อย่างน้อยในฐานะที่ท่านเป็นนักวิชาการ ก็คงจะพอใจให้เรื่องที่ท่านชอบหรือสนใจอยู่นั้น ได้รับการนำมาพิจารณาศึกษา เป็นทางแห่งการเจริญปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป

เรื่องความเป็นอนิจจังของสังคมในหนังสือของท่านนั้น โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่ง ได้พูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคม โดยเปรียบเทียบแนวคิดของวิทยาศาสตร์สังคมสมัยใหม่ กับแนวคิดในคัมภีร์พระพุทธศาสนา กล่าวถึงวิถีวิวัฒน์ของสังคม จากสังคมที่เรียกว่าสังคมปฐมสหการ หรือบางคนเรียกว่าสังคมบุพกาล ถัดต่อมาเป็นสังคมทาส ต่อมาเป็นสังคมศักดินา ต่อมาเป็นสังคมธนานุภาพ หรืออย่างเดียวนี้มักเรียกว่าสังคมทุนนิยม แล้วลงท้ายด้วยสังคมกิจ ซึ่งเป็นคำที่ท่านใช้ อาจจะใช้อีกอย่างหนึ่งว่า สังคมอุดมสหการ หรืออะไรในทำนองนั้นก็ได้ ซึ่งสุดท้ายก็คือบรรลุถึงสังคมอุดมคติที่พึงปรารถนา ที่มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความสุขความสันติไมตรี ไม่มีการเบียดเบียนข่มเหงกัน นี่เป็นแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์สังคม

ส่วนแนวความคิดในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ก็มีวิวัฒน์ของสังคมเช่นเดียวกัน สังคมจะผ่านขั้นตอนต่างๆ มา จนกระทั่งจุดเด่นก็คือ มาถึงยุคที่เรียกว่า มิคสัญญี ที่มนุษย์ทั้งหลายจับอาวุธขึ้นมารบราฆ่าฟันกัน จนกระทั่งตายไปเป็นอันมาก เมื่อผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้วสังคมก็กลับเจริญขึ้น จนกระทั่งได้เป็นสังคมพระศรีอาริย์ มีพระศรีอริยเมตไตรยมาโปรด เป็นสังคมในอุดมคติที่มนุษย์ทั้งหลายอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ร่วมมือกัน มีความเสมอภาค จนกระทั่งมีสภาพอย่างที่บอกว่า ลงบันไดบ้านไปแล้วก็แยกไม่ออก ดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร พอกลับขึ้นบ้านแล้วจึงจะรู้ว่าเป็นผู้นั้น ผู้นี้

ก็เป็นอันว่า แนวความคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมนั้น ในทัศนะของท่านรัฐบุรุษอาวุโสเห็นว่า ในทางคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็ดี ในทางวิทยาศาสตร์สังคมสมัยใหม่ก็ดี ก็รวมลงเป็นอันเดียวกัน คือดำเนินไปสู่สังคมอุดมคติดังกล่าวนั้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปอนิจจัง ทำให้เกิดกระบวนการที่แน่นอน >>

เชิงอรรถ

  1. ปาฐกถาธรรม ของ พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) เนื่องในโอกาส “วันปรีดี พนมยงค์” เดิมจะแสดงตรงกับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม แต่เนื่องจากความไม่สะดวก จึงเลื่อนมาแสดงในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

No Comments

Comments are closed.