อิสรภาพภายในกระบวนวิวัฒน์ ที่เสมือนตายตัว

10 พฤษภาคม 2529
เป็นตอนที่ 7 จาก 10 ตอนของ

อิสรภาพภายในกระบวนวิวัฒน์ ที่เสมือนตายตัว

เมื่อกล่าวมาถึงเพียงนี้ ก็ขอย้อนโยงไปถึงเรื่องของสังคมและบุคคลที่พูดมาแต่แรก

ถ้าเรามองอย่างกว้างๆ แล้ว สังคมนี้ก็มีวิวัฒนาการผ่านขั้นตอนในวิถีวิวัฒน์ของมัน เหมือนกับว่าเป็นขั้นตอนที่ตายตัว อย่างที่บอกว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้กล่าวถึงวิถีวิวัฒน์ของสังคมที่ว่ามีสังคมปฐมสหการ สังคมทาส สังคมศักดินา สังคมธนานุภาพหรือนายทุน และสังคมกิจหรือสังคมอุดมสหการ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หรือในทางพระพุทธศาสนาก็กล่าวถึงเรื่องมิคสัญญี ตลอดจนสังคมอุดมคติในยุคพระศรีอาริย์

ทั้งหมดนี้นั้น เมื่อเรามองอย่างกว้างๆ ก็เหมือนกับว่ามันเป็นขั้นตอนที่กำหนดตายตัว

แต่อีกแง่หนึ่ง เมื่อมองลึกเข้าไปในส่วนย่อย เราก็จะเห็นว่าขั้นตอนแห่งวิวัฒน์ที่ว่านั้น ความจริงมันไม่ตายตัวเสียเลยทีเดียว มันมีความยืดหยุ่นอยู่ไม่น้อย เช่นว่า บางทีแทนที่จะเข้าถึงขั้นตอนนั้นช้าหน่อย มันก็เร็วขึ้น หรือแทนที่จะเข้าเร็ว มันกลับช้าลงไป หรือเมื่อเข้าถึงขั้นตอนใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนดีหรือร้าย ความพยายามของมนุษย์ก็มีผลทั้งนั้น บางทีมาถึงขั้นตอนที่ไม่สู้ดีนัก แต่เราสามารถทำให้สังคมนั้นอยู่ในระดับครึ่งดีหรือฝ่ายดีของขั้นนั้น ไม่ใช่อยู่ในครึ่งเสีย หรืออาจจะชะลอการที่จะเข้าถึงสภาพที่ร้ายหรือที่เป็นฝ่ายข้างเสียให้ช้าลงก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องของความยืดหยุ่น และความยืดหยุ่นเหล่านี้ก็ขึ้นต่ออิสรภาพในจิตใจของมนุษย์ ที่จะทำการเพื่ออิสรภาพของสังคมนั้นเอง

ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าสังคมจะวิวัฒน์ไปสู่ขั้นตอนใดๆ ก็จะมีมนุษย์บางคนบางจำพวก ที่สามารถพัฒนาตนเองจน กระทั่งมีอิสรภาพทางจิตและทางปัญญา ที่หลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมทางสังคมได้ และมนุษย์พวกนี้แหละก็จะช่วยให้คนอื่นๆ หรือชักนำคนอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนมาก เป็นกลุ่มหนึ่งบ้าง คณะหนึ่งบ้าง ช่วยให้สังคมในยุคนั้นมีอิสรภาพในขอบเขตหนึ่ง หรือเป็นสังคมที่ดีพอสมควร หรือทำให้คนจำนวนหนึ่งเข้าถึงอิสรภาพได้ แม้ในท่ามกลางสังคมที่อยู่ในวิวัฒนาการเพียงขั้นนั้น นี้ก็คือการที่อิสรภาพของบุคคลเข้ามาเป็นตัวแปรในขบวนการแห่งวิวัฒนาการของสังคม

ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้มนุษย์ทั้งหมด มีอิสรภาพทางจิตและทางปัญญาได้ทั้งหมด มนุษย์ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงผลักดันสังคม ให้ก้าวข้ามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการไปได้ทั้งหมด หรือจะเปลี่ยนไม่ให้เป็นอย่างไรๆ ในวิถีวิวัฒน์นั้นก็ได้ แต่ที่ทำไม่ได้ก็เพราะว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถที่จะพัฒนาจิตปัญญาของตนเองให้เป็นอิสระอย่างที่กล่าวมานั้นได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาตามเหตุปัจจัยอีกนั่นแหละ

ดังนั้น เราจึงมีเพียงบุคคลบางคนบางกลุ่มในแต่ละยุคเท่านั้น ที่เข้าถึงอิสรภาพ และบุคคลบางคนบางกลุ่มที่เป็นอิสระในแต่ละยุคนั่นแหละ ที่ได้ช่วยให้สังคมนั้นๆ เป็นสังคมที่มีความรอดพ้นพอสมควรในยุคสมัยของตน

ยกตัวอย่างแม้แต่ในพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ได้หักข้ามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของสังคมไปไม่ใช่น้อยทีเดียว ถ้าจะเปรียบเทียบกับสังคมอย่างที่ท่านเรียกว่าสังคมกิจนี้ สังคมที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้น ก็เป็นสังคมแบบสังคมกิจในลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นการที่บุคคลผู้เข้าถึงอิสรภาพแล้วมาทำการหักข้ามขั้นตอนของวิวัฒนาการของสังคม พาสังคมบางส่วนให้เข้าถึงอิสรภาพ ทั้งๆ ที่สภาพสังคมขณะนั้นๆ ไม่เอื้อ

เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็จึงมีอิสรภาพอยู่ด้วย ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอนของสังคมนั้น และอิสรภาพทั้ง ๒ อย่างนั้นก็ไปด้วยกันได้ ดังที่กล่าวมานี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อิสรภาพเกิดจากความรู้อนิจจังรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับอิสรภาพของสังคม >>

No Comments

Comments are closed.