วัตถุกำหนดจิต หรือจิตกำหนดวัตถุ

10 พฤษภาคม 2529
เป็นตอนที่ 5 จาก 10 ตอนของ

วัตถุกำหนดจิต หรือจิตกำหนดวัตถุ

อาตมภาพพูดไปๆ ก็เข้ามาทางจิตใจมากขึ้น เมื่อเข้ามาถึงเรื่องจิตใจ ก็จะมีข้อแย้งขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างจิตกับวัตถุ คือมีปัญหาว่า วัตถุกำหนดจิต หรือ จิตกำหนดวัตถุ

บางคนบอกว่าวัตถุกำหนดจิต อย่างในเรื่องสังคมนี้ มันอยู่ที่สภาพแวดล้อม ถ้าหากว่าเราจัดสังคมนี้ให้เรียบร้อยดี คนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีปัจจัยยังชีพพร้อมบริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องแย่งชิงเบียดเบียนกัน ความเห็นแก่ตัว มันก็จะหมดไปเอง คนก็คงจะหมดกิเลส อันนี้เป็นเหตุผลถกเถียงในฝ่ายที่ว่าวัตถุกำหนดจิต

ในแง่นี้ก็มีความจริงอยู่เหมือนกัน แต่เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง เพราะเป็นธรรมดาว่า สภาพแวดล้อมย่อมทำให้จิตใจคนผันแปรไปได้ นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโอกาสนั่นเอง แต่ก็อย่างที่บอกแล้วว่า มันเป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียว ยังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง

ตามแนวความคิดนี้ มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจ ๓ อย่าง คือ

๑. ในเรื่องว่าวัตถุกำหนดจิตจริงหรือไม่ การที่จะพูดว่า วัตถุกำหนดจิตหรือจิตกำหนดวัตถุนั้น อันที่จริงเป็นเรื่องของการอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าจะพูดให้เด็ดขาดลงไปอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เสมือนกับพูดว่า ไก่มีก่อนไข่หรือไข่มีก่อนไก่ สองอย่างนี้ ถ้าจะเถียงกันไป เถียงจนสิ้นใจก็ไม่จบว่าไข่มีก่อนไก่หรือไก่มีก่อนไข่ แต่ความจริงนั้นมันไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือมันไม่ใช่ปัญหาว่า ไก่มีก่อนไข่หรือไข่มีก่อนไก่ มันเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งไม่มีปัญหาเลยว่าไก่จะมาก่อนไข่หรือไข่จะมาก่อนไก่ ไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องเถียงกันอย่างนั้น

ในเรื่องว่าวัตถุกำหนดจิตหรือจิตกำหนดวัตถุก็เหมือนกัน มันไม่ใช่เรื่องที่จะพูดเด็ดขาดลงไปอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องของการอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

อีกอย่างหนึ่ง การที่พูดว่า ถ้าสภาพแวดล้อมของสังคมดีแล้ว จิตใจคนจะดีเองอะไรทำนองนั้น เป็นการพูดที่เข้าทำนองโพล่งถึงปลายโดยไม่มีโคน เมื่อไม่มีโคนเราจะมีปลายขึ้นมาได้อย่างไร เราบอกว่าสังคมดีเรียบร้อยแล้วจิตใจก็จะดีเอง แต่ว่าสังคมที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราไม่พูดถึงโคนเข้ามา ก็จะพูดถึงปลายเสียแล้ว อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ขอตั้งข้อสังเกต

๒. ที่บอกว่าเป็นความจริงบางส่วนนั้น หมายความว่า เรื่องสภาพแวดล้อมในทางสังคมนั้นแน่นอน ย่อมมีอิทธิพลต่อสภาพทางจิตใจ จิตใจคนย่อมอาศัยสภาพแวดล้อมด้วย ถ้าหากว่าสภาพแวดล้อมดี เช่น อยู่ในที่สงบ บรรยากาศผ่องใส ปลอดโปร่ง จิตใจคนก็มีความเป็นไปได้มากที่จะเป็นจิตใจที่ดีงาม พลอยสงบผ่องใสปลอดโปร่งไปตามด้วย

นอกจากนั้น การที่เรามาอยู่ ในสภาพแวดล้อมที่ดี ก็ทำให้ห่างจากสิ่งยั่วยุกระตุ้นเร้า เมื่อปราศจากสิ่งยั่วยุกระตุ้นเร้าแล้ว กิเลสบางอย่างก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น (ว่าที่จริงคือ ไม่โผล่ ไม่ฟู หรือไม่แสดงฤทธิ์ขึ้น) หรือแม้จะเกิดก็เกิดได้น้อย

เพราะฉะนั้น อิทธิพลของวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมก็มีมาก เราจึงได้พยายามที่จะจัดสรรสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกื้อกูลแก่การที่จะได้มีจิตใจดีงาม แต่หลักการนี้ก็เป็นเพียงหลักหรือวิธีการอันหนึ่ง ในการที่จะแก้กิเลสของคน ซึ่งมิใช่มีเพียงเท่านั้น

ขอพูดลัดให้ง่ายตามหลักพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่าการละหรือกำจัดอาสวะ ท่านบอกว่า อาสวะที่จะต้องละด้วยการหลีกเว้นก็มี อาสวะที่จะต้องละด้วยการรู้จักบังคับควบคุมตัวเองก็มี อาสวะที่จะต้องละด้วยการรู้จักบริโภคใช้สอยสิ่งของโดยวางจิตให้ถูกต้องก็มี อาสวะที่จะต้องละด้วยการเห็นด้วยปัญญาก็มี

นี่หมายความว่าวิธีการที่จะแก้ทางจิตนั้น มันไม่ใช่เป็นอันเดียว การแก้ด้วยวิธีหลีกเว้นนั้นก็คือวิธีที่เรียกว่า ใช้สภาพแวดล้อมทางวัตถุเป็นเครื่องกำหนดหรือเอื้ออำนวย ซึ่งก็ได้ผลมาก แต่ไม่ใช่ว่าได้ผลหมดทุกอย่าง แต่ใช้ได้สำหรับกิเลสบางอย่าง บางจำพวก บางระดับ

พูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งว่า การใช้วัตถุเป็นอิทธิพลจัดการกับจิตนั้นทำได้ส่วนหนึ่ง เหลือจากนั้นจะต้องแก้จิตด้วยจิต เช่นเดียวกับที่เราสามารถใช้จิตเป็นอิทธิพลจัดการกับวัตถุได้ส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลือจากนั้น ก็ต้องใช้วัตถุด้วยกันแก้หรือจัดการกับวัตถุ แดนของจิตกับวัตถุนั้นก่ายเกยกันอยู่ อิงอาศัยเป็นปัจจัยมีอิทธิพลต่อกัน แต่ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน

๓. ที่เราบอกว่าวัตถุกำหนดจิตนั้น บางที่เรามองดูผิวเผิน คือเป็นการที่วัตถุมีอิทธิพลต่อจิต ในระดับของรูปแบบที่ยักย้ายเปลี่ยนแปลงไป เป็นความเปลี่ยนแปลงในลักษณะภายนอกเท่านั้น หมายความว่าไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงในขั้นเนื้อหา เนื้อหาอาจจะคงเดิม แต่รูปลักษณะภายนอกเปลี่ยนแปลงไป

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เราอาจจะใช้กิเลสตัวเดียวกันทำให้คนมีลักษณะนิสัยต่างกัน โดยสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายนอก เช่นวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิต ปัจจัยดำรงชีพ เป็นต้น

กิเลสอย่าง มานะ การถือตัว การเชิดชูตัวให้ยิ่งใหญ่ ถ้าเราเอามาใช้บวกกับปัจจัยอื่นที่เป็นตัวแปรเข้าผสม เช่น ใช้กับลัทธิชาตินิยม เราเอาความถือตัว การเชิดชูตัวให้ยิ่งใหญ่ผนวกกับลัทธิชาตินิยม บวกกับความรู้สึกรักพวกพ้อง ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ถ้าเราเคร่งวินัย ก็แสดงว่าชาติเรานี้ยิ่งใหญ่มาก เก่งมาก แน่มาก หรือแม้แต่มองแค่ตัวเองว่าฉันเป็นคนเก่ง รักษาวินัยได้เคร่งครัด เพียงเท่านี้ ก็ทำให้เราเป็นคนเคร่งครัดวินัยได้ เพราะฉะนั้น มานะอาจจะทำให้คนเคร่งครัดวินัยขึ้น เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าฉันเก่ง พวกฉันเก่ง ประเทศชาติฉันเก่งก็ได้

แต่ในทางตรงข้าม มานะตัวเดียวกันที่ว่าเป็นการถือตัว ต้องการยิ่งใหญ่นั้นเอง เอามาใช้กับคนอีกคนหนึ่ง โดยเอาตัวแปรที่เป็นปัจจัยอื่นมาผสมเข้า เป็นการถือตัวในลักษณะที่จะแสดงให้เห็นว่า ฉันนี้ใหญ่ ทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ มันก็กลายไปเป็นการแสดงความเป็นเสรีแบบไร้ระเบียบวินัยไปเลย

เพราะฉะนั้น กิเลสตัวเดียวกัน เนื้อหาตัวเดียวกัน เอามาผสมกับปัจจัยตัวแปรคนละอย่าง อาจจะทำให้ออกรูปเป็นลักษณะนิสัยคนละอย่างเป็นตรงกันข้ามไปก็ได้ อย่างที่พวกหนึ่งกลายเป็นคนเคร่งวินัย แต่อีกพวกหนึ่งกลายเป็นพวกไร้วินัยโดยสิ้นเชิง เพราะพวกหนึ่งเอาแง่ว่า ยิ่งเคร่ง ก็ยิ่งเก่ง อีกพวกหนึ่งเอาแง่ว่า ยิ่งทำได้ตามใจฉัน ก็ยิ่งเก่ง

อีกทางหนึ่ง หรืออย่าง ตัณหา ความอยาก ความเห็นแก่ตัว มองไปข้างนอก มองหาสิ่งเสพ ก็ทำให้เกิดลักษณะพฤติกรรมที่ว่า เที่ยวพล่านหาสิ่งเสพทั่วไปหมด แต่ถ้าไม่มองออกไปข้างนอก ให้มองเข้าข้างใน ก็กลับทำให้หาความสุขด้วยการเกียจคร้านเอาแต่นอน เป็นต้น กลายเป็นลักษณะอาการตรงกันข้าม ทั้งที่กิเลสเนื้อหาตัวเดียวกัน

ดังนั้น ที่ว่าวัตถุกำหนดจิตนั้น โดยปกติมักเป็นเรื่องของการกำหนดโดยอิทธิพลในระดับที่เรียกว่า เป็นการสำแดงตัวในรูปแบบภายนอกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เนื้อหาอันเดิม

อุปมาเหมือนอย่างดินเหนียว ดินเหนียวนั้นเราจะปั้นให้เป็นหมูก็ได้ และดินเหนียวก้อนเดียวกันนั้นเอง เราจะปั้นให้เป็นเสือก็ได้ แต่มันก็ยังคงเป็นดินเหนียวเหมือนกัน ถึงหากถ้าเราไม่ปั้น มันก็ยังคงเป็นดินเหนียวอยู่ แต่มันมีศักยภาพที่จะรับการปั้นให้เป็นเสือหรือเป็นหมูได้ต่อไปอีก

เพราะฉะนั้น ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆ กิเลสนั้นก็จะยังอยู่และรอโอกาสที่จะแสดงตัวเป็นสิ่งต่างๆ ตามปัจจัยตัวแปรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป

เป็นอันว่า การแก้ปัญหาในเรื่องกิเลสเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตในขั้นหนึ่ง สภาพแวดล้อมทางวัตถุเป็นเครื่องช่วยแก้ไข ซึ่งมีอิทธิพลได้มากอย่างที่กล่าวมา แต่เป็นการแก้ไขที่ไม่เด็ดขาด จึงต้องมีการแก้ขั้นต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของพัฒนาการทางจิตใจโดยเฉพาะ เหมือนอย่างการแก้ดินเหนียวโดยการเอาไปเผาให้เป็นอิฐ หรือมิฉะนั้นก็แยกธาตุจนดินนั้นไม่มีเหลือเลย

ที่ว่ามานี้ ก็เป็นแง่ที่เกี่ยวกับวัตถุกำหนดจิต ว่าเป็นไปได้แค่ไหนเพียงไร

ทีนี้ ในทางตรงกันข้าม จิตก็กำหนดวัตถุ สำหรับจิตกำหนดวัตถุนี้ ก็มองเห็นง่าย ไม่ต้องพูดกันมาก เพราะการที่เราจะมีพฤติกรรมต่างๆ จะทำอะไร อย่างไร โดยปกตินั้นก็เกิดจากความคิดในจิตใจของเราให้แสดงออก สั่งออกมา แม้แต่การประดิษฐ์ต่างๆ ก็เกิดขึ้นโดยการปรุงแต่งทางใจ แต่เมื่อสืบกันแล้ว ก็เป็นเรื่องอิงอาศัยกัน เพราะต้องอาศัยมีข้อมูลทางวัตถุเป็นที่อ้างอิงหรือเป็นกรอบให้ด้วย แล้วก็สัมพันธ์กลับกันไปกลับกันมาอยู่อย่างนี้

แต่ในลักษณะหนึ่งนั้น จิตก็มีความเป็นอิสระจากวัตถุ อย่างที่พอมองเห็นง่ายๆ ก็เช่นว่า ในสภาพสังคมอย่างหนึ่งๆ ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมระดับใด ระบบใด เราก็สามารถมีบุคคลบางคนที่พัฒนาจิตพัฒนาปัญญาของตนขึ้นมาเป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมในสมัยนั้นได้ คือเป็นอิสระจากสังขารที่กล่าวมานั้น ดังที่เรามักจะพูดถึงท่านเหล่านั้นว่าเป็นศาสดา เป็นเจ้าลัทธิ หรือเป็นมหาบุรุษต่างๆ นี้ก็เป็นการมองในลักษณะที่ว่า ท่านเหล่านั้นเป็นคนที่พัฒนาตัวเองพัฒนาจิตพัฒนาปัญญา จนเป็นอิสระจากสภาพสังคมในยุคนั้น นี้เป็นแง่ที่แสดงว่า สามารถทำจิตให้เป็นอิสระจากวัตถุได้อย่างหนึ่ง นี้เป็นประการที่ ๑

ยิ่งกว่านั้น การแก้ปัญหาสังคมหรือการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางวัตถุนั้น มันก็เริ่มมาจากบุคคล คือบุคคล ที่เป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมทางสังคมนั้นแหละ กลับมาเป็นปัจจัยตัวนำที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นให้เป็นอิสระได้ต่อไป นี่เป็นประการที่ ๒ ในแง่ที่ว่า จิตเป็นอิสระจากวัตถุ เพราะเป็นตัวที่กลับมาแก้ปัญหาทางวัตถุหรือทางสภาพแวดล้อมนั้น

ประการที่ ๓ ในระดับต้นๆ หรือมองอย่างกว้างๆ เราจะเห็นว่า วัตถุหรือสภาพแวดล้อมกำหนดจิตได้มากอย่างที่พูดมาข้างต้น แต่ถ้าเรายิ่งพัฒนาจิตขึ้นไป จิตก็ยิ่งเป็นอิสระจากวัตถุ คือเป็นอิสระจากอิทธิพลของวัตถุมากขึ้น จนกระทั่งไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุเลย หมายความว่า จิตที่ยิ่งพัฒนามาก ก็ยิ่งพ้นจากอิทธิพลของวัตถุมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงคนส่วนใหญ่ เราต้องมองอย่างกว้างๆ เมื่อเรามองดูสังคมในเวลาใดเวลาหนึ่ง เราจะเห็นว่า คนทั้งหลายหรือมนุษย์ทั้งปวงนี้ อยู่ในระดับแห่งการพัฒนาจิตและปัญญาที่ต่างกัน เมื่อเรากำหนดจับลงไปที่ระดับใดระดับหนึ่ง แล้วเทียบกับระดับอื่นที่เหลืออยู่ คนในระดับนั้นก็มีน้อย โดยเฉพาะคนที่พัฒนาในระดับสูง ก็ยิ่งมีจำนวนน้อยเป็นธรรมดา

อันนี้มันจะเกี่ยวถึงปัญหาที่ว่าสังคมจะวิวัฒน์ตามขั้นตอนต่างๆ เหมือนกับกำหนดตายตัว อย่างที่กล่าวมาแล้วด้วย ซึ่งจะได้พูดกันต่อไป

เป็นอันว่า ได้พูดมาถึงทั้งอิสรภาพของบุคคล และอิสรภาพของสังคม ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันอาศัยซึ่งกันและกัน หมายความว่าบุคคลก็จำเป็นต้องพัฒนาตัว ให้มีอิสระปลอดพ้นจากกิเลสที่ครอบงำทางจิตใจ โดยเฉพาะกิเลสพันตัวทั้ง ๓ อย่าง ที่เรียกว่าตัณหา มานะ ทิฏฐินั้น จึงจะสามารถทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมได้สำเร็จ

อีกทั้งในเวลาเดียวกัน อิสรภาพของสังคมจะเกิดขึ้นได้ คนก็จะต้องใช้ปัญญาเรียนรู้เข้าใจปัจจัยต่างๆ รู้จักองค์ประกอบที่เข้ามาสัมพันธ์กันแล้ว เข้าไปร่วมเป็นปัจจัย ในการที่จะจัดสรรกีดกั้นผลักดันปัจจัยอื่น เพื่อให้ดำเนินไปตามความมุ่งหมายที่ตนต้องการ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัจจัยที่ส่งเสริม / ขัดขวางอิสรภาพอิสรภาพเกิดจากความรู้อนิจจัง >>

No Comments

Comments are closed.