รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับอิสรภาพของสังคม

10 พฤษภาคม 2529
เป็นตอนที่ 8 จาก 10 ตอนของ

รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับอิสรภาพของสังคม

ตามประวัติของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์นั้น นับว่าท่านเป็นตัวอย่างหนึ่งของบุคคลที่ทำงานเพื่อสร้างความเป็นอิสรภาพของสังคม โดยที่ว่าในขณะเดียวกัน ตัวท่านเองก็ได้พยายามรักษาอิสรภาพทางจิตปัญญาของตนเองไว้ หรืออิสรภาพของบุคคลไว้ด้วย ท่านได้พยายามที่จะสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคม โดยมีความมุ่งหมายที่จะช่วยให้ประชาชนในสังคมไทย เข้าถึงอิสรภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางการปกครอง และในทางสังคมโดยทั่วไป ตั้งต้นแต่ได้ร่วมริเริ่มในการที่จะนำระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองตนเอง

เมื่อท่านทำงานอะไรก็ตาม ก็พยายามที่จะให้เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์สังคมซึ่งไร้การเบียดเบียน มีความสงบสุขอยู่ด้วยดี เมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ก็มีประวัติว่าได้ริเริ่มวางระบบเทศบาลขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นรู้จักปกครองตนเอง ครั้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศ เป็นการปลดเปลื้องเครื่องบีบคั้นจำกัดทำให้เกิดอิสรภาพแก่ประเทศชาติอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก็ได้ยกเลิกภาระให้ประชาชนพ้นจากการต้องจ่ายเงินรัชชูปการ จัดปรับปรุงวางระบบภาษีอากรใหม่ และวางรากฐานในการตั้งธนาคารชาติ

โดยเฉพาะสถานที่นี้ ก็คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านได้ตั้งขึ้นและเป็นผู้ประศาสน์การคนแรก เป็นสถาบันการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้ประชาชนพ้นจากความไม่รู้และเกิดมีแสงสว่างแห่งปัญญา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะนำมาซึ่งอิสรภาพทั้งส่วนบุคคลและสังคม

ต่อมา เมื่อประเทศชาติเกิดปัญหาเกี่ยวกับการรบพุ่งสงครามขึ้น ท่านก็เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย ในการที่จะแก้ไขช่วยให้ประเทศชาติพ้นจากภาวะเป็นผู้แพ้สงคราม อันนับว่าเป็นงานสำคัญเพื่ออิสรภาพของประเทศชาติ เป็นอิสรภาพทางสังคมอย่างหนึ่ง

กล่าวโดยรวมแล้ว ท่านปรีดี พนมยงค์ได้ดำรงฐานะที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จ ราชการแผ่นดิน และเป็นรัฐบุรุษอาวุโส และที่สำคัญลึกลงไปก็คือ ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ทั้งหมด จนกระทั่งแม้หลังจากนั้นไปแล้ว ตราบเท่าถึงอายุขัย ท่านได้พยายามที่จะดำรงรักษาอิสรภาพทางจิตปัญญาของตนเองไว้เป็นอย่างดี

เมื่อเวลาอยู่ในฐานะใหญ่โต มีอำนาจ มีโอกาสมาก ก็ไม่เห็นแก่ตัว ไม่แสวงหาผลประโยชน์กอบโกยลาภผลเข้ามาแก่ตัวเอง ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อจะข่มขี่ข่มเหงผู้อื่น แต่พยายามใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์คุณประโยชน์ ไม่ยึดติดคลั่งไคล้ในลัทธิความคิดเห็นของตนจนกระทั่งไม่ยอมรับฟังผู้อื่น แต่เปิดให้มีการแสดงลัทธิความคิดเห็น ตลอดจนขัดแย้งคัดค้านทิฏฐิของตนด้วยวิธีการแห่งเหตุผลตามแบบประชาธิปไตย นี่เป็นเครื่องแสดงถึงการที่ท่านได้พยายามรักษาอิสรภาพในทางจิตปัญญาของตน

แม้เมื่อพ้นจากอำนาจหน้าที่ทั้งหลายไปแล้ว ก็ได้พยายามรักษาจิตใจของตนเองให้อยู่ดีได้ ถึงจะมีภัย มีเรื่องบีบคั้นต่างๆ ก็ดำรงตนให้ผ่านพ้นไปได้โดยเกษมสวัสดี

แต่มองอีกแง่หนึ่ง ในการที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสพยายามทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมนี้ ตัวท่านเองกลับประสบสภาพที่เสมือนว่าไม่ค่อยได้รับอิสรภาพทางสังคม อยู่ในประเทศไทยก็มีภัยต้องหลบไปอยู่ต่างประเทศ เท่ากับถูกจำกัดในเรื่องที่อยู่อาศัย จะกลับมาประเทศของท่านเอง ก็กลับมาไม่ได้ เพราะมีภัยบ้าง เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองบ้าง เห็นแก่ลูกศิษย์ลูกหา เห็นแก่ผู้อื่นบ้าง เป็นอันไม่ได้กลับมาประเทศไทย จนกระทั่งถึงอายุขัยในต่างประเทศ ในแง่นี้จึงเรียกได้ว่า ท่านไม่สู้จะมีอิสรภาพทางสังคมเท่าไรนัก

แต่กระนั้นก็ตาม ท่านก็ได้พยายามรักษาอิสรภาพทางจิตใจและอิสรภาพทางปัญญาของท่านไว้ โดยที่ว่าได้ดำรงรักษาจิตใจไว้เป็นอย่างดี แม้จะมีสิ่งภายนอกบีบคั้น ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ และความระทมทุกข์ แต่ท่านก็มีสติสามารถดำรงจิตใจให้มีความสงบสุขอยู่ในคุณธรรมได้ นับเข้าในด้านอิสรภาพทางจิตใจ และการที่ท่านพยายามใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ คิดพิจารณาและแนะนำสั่งสอนให้ความรู้ความเข้าใจในทางที่จะช่วยเหลือสังคมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ก็นับว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักอิสรภาพทางปัญญา

ในสังคมปัจจุบัน เราต้องการบุคคลที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสังคมปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นเตือน ยั่วยุให้คนถลำไถลไปในทางที่เสื่อมเสียเป็นอันมาก ถ้าปล่อยกันไปในรูปนี้ วัตถุจะกำหนดจิตได้มาก เพราะว่าจิตของบุคคลไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีพลังในการต้านทานหรือเรียกว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน

แต่จะทำให้คนมีภูมิต้านทานโดยมีพลังจิตสูงได้อย่างไร เพื่อว่าวัตถุจะกำหนดจิตได้ยาก การมีบุคคลแบบอย่าง ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง บุคคลแบบอย่างที่สามารถสร้างสรรค์พัฒนา รักษาอิสรภาพทางจิตและทางปัญญาของตนไว้ได้ดีนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม จากไปแล้วก็ตาม จะเป็นหลักให้คนอื่นได้ยึดถือ และจะเป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจให้อนุชนรุ่นหลังมีพลังในการที่จะยืนหยัด ไม่เป็นไปตาม ไม่คล้อยไปตามอิทธิพลของวัตถุหรือสภาพแวดล้อมทางสังคมที่จูงลงต่ำ เราก็จะได้บุคคลที่มีจิตเข้มแข็งที่สามารถต้านทานควบคุมวัตถุ หรืออยู่ในฝ่ายจิตกำหนดวัตถุได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการมีอิสรภาพทางจิตและทางปัญญา

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นเจ้าของประวัติชีวิตที่เป็นแบบอย่างอันหนึ่ง ซึ่งคงจะช่วยเป็นเครื่องชักนำให้กำลังใจแก่อนุชนรุ่นหลัง ในการที่จะสร้างสรรค์รักษาอิสรภาพทางจิตปัญญาของตนเองไว้ และรู้จักคิดที่จะช่วยทำการเพื่อสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคมต่อไป ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นที่น่ายินดีว่า ชีวิตของท่านเมื่อยังอยู่ ก็ได้ทำประโยชน์แก่สังคมแล้ว ครั้นล่วงลับจากไป ประวัติของท่านก็ยังเป็นแบบอย่างที่มีประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไปชั่วกาลนาน

มีพุทธพจน์ซึ่งควรนำมาอ้างในที่นี้ว่า

ดูกรภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในโลกนี้ ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เมื่อจะคิด ย่อมคิดแต่การอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว อย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก

และอีกแห่งหนึ่งตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย สัปปุรุษทั้งหลายเกิดมาในตระกูล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก คือ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดาบิดา แก่บุตรภรรยา แก่คนรับใช้คนงาน แก่หมู่มิตรและเพื่อนร่วมงาน แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ แก่พระราชา แก่เหล่าเทวดา แก่สมณะชีพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆช่วยให้ข้าวกล้าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก

นี่เป็นคติจากพุทธพจน์ ซึ่งควรจะได้นำมากล่าวในโอกาสนี้ด้วย

สิ่งที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้ทำไว้เป็นประโยชน์ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว เหล่านี้แล ก็คืออนุสรณ์ที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นเครื่องรำลึกถึงตัวท่านตลอดไป โดยเฉพาะสถาบันที่เป็นประจักษ์หลักฐานยืนยันอยู่ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้ และอีกแห่งหนึ่ง คือ วัดพนมยงค์ สองสถานนี้กล่าวได้ว่า เป็นอนุสาวรีย์ที่ใหญ่ยิ่งยืนยงของท่านรัฐบุรุษอาวุโส

สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เป็นสถาบันที่ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเอง ถ้าหากว่า คนที่อยู่ในสถาบันแห่งนี้ กล่าวคือ คณาจารย์ นักศึกษาทั้งหลาย จะได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัย ที่จะบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนแล้ว ก็จะเป็นการเชิดชูเกียรติของทานรัฐบุรุษอาวุโสต่อไปชั่วกาลนาน

ส่วนวัดพนมยงค์นั้น แม้ว่าท่านจะไม่ได้ตั้งขึ้นเอง แต่ก็เป็นวัดอันเป็นที่มาและเป็นเหมือนที่จารึกชื่อตระกูลของท่านไว้ ซึ่งบรรพบุรุษของท่านก็ดี ตัวท่านเองและหมู่ญาติบุตรหลานก็ดี ก็ได้มีความสัมพันธ์เป็นผู้อุปถัมภ์วัดนี้อยู่ ได้ช่วยสร้างศาสนวัตถุสถานขึ้นไว้ที่วัดนั้น แม้ในปัจจุบันนี้ก็ได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานอุทิศแก่ท่านไว้ที่วัดนั้นอีก สิ่งเหล่านี้ย่อมจะเป็นอนุสรณ์ เป็นอนุสาวรีย์สำหรับท่านต่อไป

โดยเฉพาะถ้าหากว่า วัดพนมยงค์นั้น สามารถประกอบศาสนกิจตามวัตถุประสงค์ของพระศาสนาที่ว่า บำเพ็ญกรณีย์เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่พหูชน ด้วยการชักนำให้เกิดความเจริญงอกงามในทางธรรมแล้ว ก็จะเป็นเครื่องส่งเสริมเกียรติแก่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส สมกับเป็นอนุสาวรีย์ที่ยืนยงอยู่สืบต่อไป

บัดนี้ ท่านทั้งหลายก็ได้มาเป็นผู้ร่วมจัดงานบ้าง ร่วมกิจกรรมในงานบ้าง ต่างก็มาด้วยความระลึกถึงคุณงามความดีของท่านรัฐบุรุษอาวุโส โดยรำลึกถึงความดีอันเป็นส่วนอุปการคุณที่ท่านมีเป็นส่วนตัวแก่ตนเองบ้าง เช่น เป็นญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาโดยได้เรียนกับท่าน ตลอดกระทั่งว่า ได้เรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่านก่อตั้งขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนที่ทำให้มีความสัมพันธ์ต่อกัน แต่บางท่านก็อาจจะมาโดยมองเห็นความดี เห็นคุณธรรมของท่าน เห็นประโยชน์ที่ท่านได้ทำไว้แก่ประเทศชาติ แก่สังคม เป็นส่วนรวม

การมาประชุมกันเช่นนี้เรียกได้ว่า เป็นการแสดงออกที่ประกอบด้วยศรัทธา และความกตัญญูกตเวที การแสดงออกซึ่งคุณธรรมเช่นนี้ และการจัดกิจกรรมรำลึกต่างๆ นับว่าเป็นการบูชาท่านอย่างหนึ่ง ตามคติในทางพระพุทธศาสนาเข้าหลักที่ว่า

ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

แปลว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคล หรือมงคลอันสูงสุด

แต่ในทางพระศาสนานั้น จำแนกการบูชาเป็น ๒ อย่าง คือการบูชาด้วยสิ่งของวัตถุ เรียกว่า อามิสบูชา และการบูชาด้วยการปฏิบัติ เรียกว่า ปฏิบัติบูชา

ในที่นี้ การกระทำของท่านทั้งหลายที่ได้แสดงออกมานั้น ส่วนที่เป็น อามิสบูชา ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดอยู่แล้ว แต่ส่วนที่จะต้องทำต่อไปทั้งในบัดนี้และเบื้องหน้าก็คือ ปฏิบัติบูชา ซึ่งในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการบูชาอย่างสูงสุด

“ปฏิบัติบูชา” นี้ทำได้อย่างไร วิธีทำปฏิบัติบูชาก็คือ ท่านมีคุณความดีอะไรที่ได้ทำไว้ เราได้รับทราบ ได้เรียนรู้แล้ว ก็นำเอาคุณความดีเหล่านั้นมาทำตามสืบต่อไป นี่ก็เป็นการปฏิบัติบูชาอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่จะทำความดีอย่างอื่นๆ ที่ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม สมตามเจตนารมณ์หรือความมุ่งหวังของท่าน ก็เป็นการปฏิบัติบูชาเช่นกัน ขอให้ทุกท่านได้มาร่วมกันบูชาโดยถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ตามความหมายของหลักธรรมดังที่กล่าวมานี้

อาตมภาพขออนุโมทนาต่อท่านทั้งหลาย ที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานครั้งนี้ ทั้งในส่วนพิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ ขอร่วมอุทิศกุศลแด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ขอให้ท่านประสบความสงบสุขในสัมปรายภพ และขอให้คุณธรรมที่ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญ มีศรัทธาและกตัญญูกตเวทิตาธรรม เป็นต้น จงเป็นปัจจัยเสริมส่งให้ท่านทั้งหลายมีกำลังกาย กำลังใจ พร้อมบริบูรณ์ ในการที่จะทำกิจหน้าที่ เพื่อความเจริญงอกงามในธรรม และเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมสืบต่อไป ทั่วทุกท่าน เทอญ…

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อิสรภาพภายในกระบวนวิวัฒน์ ที่เสมือนตายตัวคำนำสำนักพิมพ์ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก) >>

No Comments

Comments are closed.