อนิจจัง ทำให้เกิดกระบวนการที่แน่นอน

10 พฤษภาคม 2529
เป็นตอนที่ 2 จาก 10 ตอนของ

อนิจจังทำให้เกิดกระบวนการที่แน่นอน

ทีนี้ อาตมภาพก็เกิดข้อสังเกตขึ้นมาว่า ความคิดทางสังคมทั้งสองแบบ หรือการกล่าวถึงวิวัฒนาการทั้งสองแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบของคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็ตาม แบบของวิทยาศาสตร์สังคมสมัยใหม่ก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องของความเป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่มองดูแล้ววิวัฒนาการนั้นเหมือนกับว่ามีกำหนดตายตัวแน่นอน คือสังคมจะต้องผ่านขั้นตอนนั้นๆ ไป จะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ไปตามลำดับ จนในที่สุดก็กลายเป็นสังคมอุดมคติ ดูจะเป็นเรื่องตายตัว อย่างที่เรียกว่าเป็น Deterministic ทำให้เกิดข้อสังเกตเป็น ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ อนิจจังที่ว่าเป็นความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอนนั้น จะเข้ากันได้อย่างไรกับหลักวิวัฒนาการของสังคมที่เป็นเรื่องตายตัวแน่นอน อนิจจังเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่ที่กล่าวมาว่าสังคมจะต้องวิวัฒนาการไปสู่ขั้นนั้นๆ เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าตายตัวแน่นอน ถึงกับว่าทำนายล่วงหน้าได้ อนิจจังความไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะเข้ากันได้อย่างไรกับความเป็นไปที่เที่ยงแท้แน่นอน ความไม่คงที่จะเข้ากันได้อย่างไรกับการถูกกำหนดตายตัว

ประการที่ ๒ ถ้าหากว่าวิวัฒนาการของสังคมเป็นไปอย่างแน่นอนตายตัว เหมือนกับถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร สังคมก็ต้องผ่านเข้าสู่ขั้นตอนนั้นๆ เป็นเรื่องของมันเองแน่นอนอยู่แล้ว ทำอะไรไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นและไม่มีผลอะไร เพราะมันก็จะต้องเป็นของมันอย่างนั้น นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นข้อสังเกตของอาตมภาพ

ก่อนจะตอบเรื่องนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของอนิจจังก่อน อนิจจังนั้นแปลว่า ไม่เที่ยง คือไม่คงที่ ไม่คงที่หมายความว่าเกิดแล้วดับไป เกิดอย่างนี้ดับไปอย่างนี้ แล้วเกิดใหม่เป็นอย่างนั้น เราเรียกว่ากลับกลาย เกิดดับกลายเป็นกลับกลาย กลับกลายก็คือการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น อนิจจังความไม่เที่ยงนั้น เรามองดูในรูปหยาบ ก็เรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลง

แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้มีกฎเกณฑ์ของมันอยู่ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงหรือเกิดดับนั้นมีการสืบต่อด้วย คือเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมาใหม่มันจะสืบทอดคุณสมบัติที่มีอยู่เดิมมาด้วย นี่เป็นประการหนึ่ง ประการที่สอง สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หมายความว่า สิ่งหนึ่งมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นในการที่ต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ นอกจากจะเกิดขึ้นมาในลักษณะที่อาศัยการสืบทอดคุณสมบัติเดิมแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยเกี่ยวข้อง หรือองค์ประกอบอื่นที่เข้ามาสัมพันธ์อีกด้วย

จึงกลายเป็นว่า ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลาย มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เลื่อนลอย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย มันก็มีผลรวมออกมา คือมีความเป็นไปอย่างแน่นอนตามเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น เรื่องอนิจจังที่ว่าไม่เที่ยงแท้ไม่แน่นอนนั้น ก็กลับเป็นความแน่นอนขึ้นมาอย่างนี้ เพราะอาศัยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และความเป็นไปอย่างแน่นอนตามเหตุปัจจัยนี้ ก็คือหลักที่เรียกว่า ธรรมนิยาม ธรรมนิยามในแง่นี้ ก็คือหลักที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา

ถ้าเราเข้าใจหลักนี้ และถ้าเรารู้องค์ประกอบทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เราก็ย่อมสามารถทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ทีนี้โลกก็ดี ชีวิตของเราก็ดี จิตใจก็ดี มีองค์ประกอบของมันจำกัดอยู่ อย่างเช่นโลกของเรานี้มันก็มีความเกี่ยวข้องกับดวงดาวอื่นๆ และดวงอาทิตย์ กับดาวเคราะห์ต่างๆ ในสุริยจักรวาลและในสากลจักรวาลทั้งหมด แม้แต่ภายในโลกเอง ก็มีแร่ธาตุต่างๆ จำนวนจำกัด ชีวิตของเราก็มีอวัยวะต่างๆ มีร่างกาย มีจิตใจ มีอะไรต่างๆ จำนวนจำกัด แม้แยกละเอียดเข้าไปในจิตใจของเรา มันก็มีองค์ประกอบต่างๆ จำกัดอยู่ เช่นอย่างในทางพระพุทธศาสนาก็มีสาขาของการศึกษาอันหนึ่งเรียกว่า พระอภิธรรม มีการจำแนกจิตออกไปโดยละเอียดเป็นจิตเท่านั้นประเภท เป็นเจตสิกเท่านี้อย่าง มันก็มีจำกัดอยู่เท่านั้น

ทีนี้ ถ้าหากว่าเรารู้องค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งจะเข้ามาสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างครบถ้วน และรู้ว่ามันเป็นเหตุปัจจัยแก่กันในลักษณะใดๆ แล้ว เราก็สามารถบอกได้ว่า เมื่อองค์ประกอบไหนสัมพันธ์กับองค์ประกอบไหนอะไรจะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำอะไรๆ ได้สำเร็จแค่ไหน มันก็เป็นเรื่องของการที่เรารู้องค์ประกอบที่เข้ามาเป็นเหตุปัจจัยได้เพียงไรเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญาที่ว่า มีความรู้เข้าใจชัดเจนทั่วถึงเพียงไร

ถ้าว่าในด้านปัจจัยทางวัตถุ ซึ่งเป็นของหยาบ ก็อาจจะเห็นง่าย ยกตัวอย่างเช่นว่า เอาน้ำมาใส่ภาชนะตั้งบนไฟ ภายในความกดอากาศที่แน่นอน อย่างว่าระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ มิลลิบาร์ หรือ ๗๖๐ มิลลิเมตรปรอท พอถึง ๑๐๐ องศาเซลเซียส มันก็เดือด แต่ถ้าเราเอาไปตั้งในที่สูงขึ้น ที่มีความกดอากาศต่ำ สมมติว่ามีความกดอากาศ ๑๐๐ มม. ปรอท พอถึง ๕๑ ํC ก็เดือดแล้ว นี้ก็หมายความว่า หลักการอยู่ที่การรู้เข้าใจองค์ประกอบที่เข้ามาสัมพันธ์กัน

ทีนี้ ถ้าหากว่าองค์ประกอบเหล่านั้นมีจำกัด มนุษย์รู้ทั่วถึง เราก็ตอบได้ชัดเจน เหมือนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์สามารถทำนายทายอะไรๆ ได้หลายอย่าง ในเมื่อองค์ประกอบที่มีจำนวนจำกัดนั้น เข้ามาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

แต่ในกรณีที่มีองค์ประกอบมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องร่วมกันอย่างซับซ้อน บางทีเราก็ทำนายได้ยาก เช่นเรื่องเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ ว่าวันนี้จะมีฝนหรือจะไม่มีอย่างนี้ เป็นต้น แต่นี้ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นไม่แน่นอน หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็แน่นอนของมันตามเดิม แต่เป็นที่เราเองไม่รู้ทั่วถึงเหตุปัจจัยเหล่านั้น เราอาจจะรู้ปัจจัยตัวยืนบางอย่าง แต่ไม่รู้ถึงปัจจัยตัวแปรครบถ้วน เราก็เลยบอกผิดไป

ทีนี้ ในทางวัตถุนั้น ความเป็นเหตุปัจจัยยังเป็นเรื่องหยาบ ก็พอจะตามสืบได้ แม้กระนั้นเราก็ยังต้องพยายามศึกษาค้นคว้ากันไปอีกมากมาย ทีนี้เหตุปัจจัยในทางสังคมนั้นก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ครั้นละเอียดขึ้นไปถึงขั้นเหตุปัจจัยในจิตใจมนุษย์ ก็ยิ่งซับซ้อนหนักเข้าไปอีก

ยิ่งกว่านั้น เรื่องสังคมและเรื่องจิตใจของมนุษย์ก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังตัวอย่างเมื่อกี้นี้ เรื่องจุดเดือดของน้ำ ที่องศาเท่านั้น ในความกดอากาศเท่านั้น ทีนี้หันมามองดูจุดเดือดของคน จะพบว่าจุดเดือดของจิตใจนาย ก. กับจุดเดือดของจิตใจนาย ข. ไม่เท่ากัน นาย ก. อาจมีจุดเดือด คือโกรธจนกระทั่งทนไม่ได้ ต้องแสดงออกมา ในระยะขีดจำกัดของแรงกระทบเท่านี้ แต่นาย ข. อาจจะมีจุดเดือดของการแสดงอารมณ์ต่างออกไป ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจโครงสร้างของจิตใจของคนนั้นๆ ก่อน จะต้องรู้ว่านายคนนี้มีกิเลสเท่าไร มีสติปัญญาเท่าไร มีการสั่งสมคุณสมบัติความเคยชินของจิตใจของตนไว้อย่างไร เป็นต้น

แต่รวมแล้วก็เป็นอันว่า นี้คือหลักอนิจจัง ซึ่งแสดงถึงความไม่เที่ยง และความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น ก็จึงมีความเป็นไปที่แน่นอนตามเหตุปัจจัย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)กระบวนการที่แน่นอน ทำให้มนุษย์มีอิสรภาพ >>

No Comments

Comments are closed.