การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างการบรรลุธรรมส่วนบุคคลกับความดีงามทางสังคม

1 มีนาคม 2528
เป็นตอนที่ 5 จาก 9 ตอนของ

การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างการบรรลุธรรมส่วนบุคคลกับความดีงามทางสังคม

ดังที่ได้เอ่ยไว้แต่ต้นแล้วว่า การบรรลุธรรมส่วนบุคคลกับความดีงามทางสังคมนั้น ย่อมพึ่งพาอาศัยกันและกัน สังคมซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่สามารถพึ่งตนเองได้ เช่นในทางเศรษฐกิจหรือในทางสติปัญญา ย่อมดำรงอยู่ได้โดยสงบสุข ราบรื่น และมั่นคง ในทำนองเดียวกัน สังคมที่สงบสุข ราบรื่น และมั่นคง ย่อมเอื้อประโยชน์อย่างเลิศต่อความพากเพียรในการเจริญ การพัฒนา หรือบรรลุธรรมส่วนบุคคล ในทางตรงกันข้าม หากสังคมอยู่ในภาวะยุ่งเหยิง ปั่นป่วนและสั่นคลอน แม้พระสงฆ์ผู้มุ่งเอาการบรรลุธรรมส่วนตนเป็นที่ตั้ง ก็อาจจะต้องหยุดยั้ง หรือรามือจากความพยายามดังกล่าว มิไยต้องเอ่ยถึงสามัญชนที่ต้องเกี่ยวพันกับโลกธรรมต่างๆ ความข้อนี้มีในพระบาลีดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยอยู่ ๕ สมัย ที่ไม่เอื้อต่อการบำเพ็ญเพียร (ทางโลกุตตรธรรม) สมัยใดบ้างหรือ คือ เมื่อภิกษุแก่ชรา…เมื่อภิกษุเจ็บไข้…เมื่อเกิดทุพภิกขภัย…เมื่อภัยคุกคาม โจรผู้ร้ายชุกชุม ชาวบ้านต่างพากันย้ายหนี…เมื่อสงฆ์แตกแยก…มีการด่าว่า บริภาษใส่ร้ายกัน…ทะเลาะเบาะแว้งกัน ทอดทิ้งซึ่งกันและกัน…

“ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยอยู่ ๕ สมัย ที่เอื้อต่อการบำเพ็ญเพียร (ทางโลกุตตรธรรม) สมัยใดบ้างหรือ คือ เมื่อภิกษุยังหนุ่มแน่น…เมื่อภิกษุมีสุขภาพเป็นอยู่ดี…เมื่อปราศจากทุพภิกขภัย พืชพันธุ์อุดม อาหารหาได้โดยง่าย…เมื่อผู้คนต่างพร้อมเพรียงอยู่ร่วมกันฉันมิตร…เมื่อสงฆ์สามัคคีปรองดองกันอยู่อย่างสมัครสมาน”1

บางสิ่งบางอย่างนั้น ผู้อื่นจะกระทำให้แก่ตนหาได้ไม่ แต่ละบุคคลต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง ในทำนองเดียวกัน หลายต่อหลายอย่าง แต่ละบุคคลย่อมกระทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทุกคนพึงมีส่วนรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสังคมของตน ให้อยู่ในภาวะอันเอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดี และต่อการพัฒนา ตลอดจนการบรรลุธรรมของบุคคลโดยส่วนรวม ถึงตรงนี้ ข้อปฏิบัติและความรับผิดชอบของแต่ละคน ย่อมต่างกันออกไป ตามแต่ระดับขั้นและลักษณะของกิจและกรณีย์ อันขึ้นอยู่กับปัจจัยน้อยใหญ่ ซึ่งรวมถึงจริตและการตัดสินใจเลือก ของแต่ละบุคคล กระนั้นก็ดี อย่างน้อยที่สุด แต่ละคนย่อมต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่และการบำเพ็ญเพียรทางธรรมส่วนตน เพื่อที่จะดำรงตนเป็นหน่วยย่อยที่ดี อันจะช่วยให้สังคมงอกงาม ถึงจุดนี้แหละ ที่ต้องการหลักทางพุทธว่าด้วยตนเป็นสรณะแห่งตน (อัตตนาถะ) และหลักการบำเพ็ญฝึกฝนหรือกล่อมเกลา (ทมะ) ที่ว่าตนพึงเป็นสรณะแห่งตนนั้น ในอันที่ตนจะเป็นสรณะแห่งตนได้ ตนต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ และที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตนจะต้องฝึกฝนตนเองในกุศลธรรม ในการเรียนรู้ ในความบากบั่นพากเพียร ในสติ ในปัญญา และอื่นๆ ทั้งควรคบหากัลยาณมิตร ทำตนให้พร้อมที่จะรับคำท้วงติงแก้ไข ตลอดจนให้พร้อมที่จะช่วยเหลือกิจการของหมู่เหล่า 2 จุดนี้แหละ ที่ความรับผิดชอบส่วนตนกับความสัมพันธ์ทางสังคมเกี่ยวพันและพึ่งพาอาศัยกันอย่างแน่นแฟ้น นอกจากนี้ การที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ ตนยังต้องเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นได้ หรือไม่ได้อยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งผู้อื่นโดยต้องอาศัยความช่วยเหลือนั้น

ในแง่นี้มีความในพระพุทธพจน์ว่า “อย่างไรเล่า ภิกษุทั้งหลาย จึงเรียกว่า รักษาตนเท่ากับรักษาผู้อื่น โดยปฏิบัติ โดยเจริญ โดยบำเพ็ญให้มาก ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาตนก็ย่อมรักษาผู้อื่น และอย่างไรเล่าภิกษุทั้งหลาย จึงเรียกว่า รักษาผู้อื่นเท่ากับรักษาตน โดยความมีขันติ โดยอวิหิงสา โดยความมีใจประกอบด้วยเมตตา โดยความเอาใจใส่เอื้อกรุณา ดังนี้แลภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ย่อมรักษาตนด้วย”3

แม้พระสงฆ์ผู้พอใจในความวิเวกอย่างที่สุด เมื่อท่านออกบิณฑบาต ท่านย่อมได้พบปะกับสังคมคฤหัสถ์เป็นประจำทุกวัน เมื่อท่านสั่งสอนธรรมแก่ชาวบ้าน ก็เท่ากับว่าทุกขั้นตอนที่ท่านเจริญก้าวหน้าไปในการบำเพ็ญธรรม ย่อมอำนวยประโยชน์แก่สังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง เพียงในระดับน้อยที่สุดนี้ ท่านก็ทำให้การบรรลุธรรมส่วนตนกับความดีงามของสังคมก้าวหน้าไปด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น บิณฑบาตที่คฤหัสถ์ถวายพระนั้น หาได้อำนวยประโยชน์ต่อพระเท่านั้นไม่ ผู้คนซึ่งมาอาศัยร่มเย็นของวัดเป็นที่พึ่ง ก็ย่อมได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ประเพณีดังว่านี้ มีมาแต่สมัยพุทธกาล4 และเมื่อเวลาล่วงไป ดังที่ปรากฏในเมืองไทยเรา วัดก็ได้กลายเป็นสถานสำหรับให้คนยากไร้ เด็กกำพร้า และศิษย์วัด ได้พึ่งพิงทั้งในทางอาหาร ที่อยู่อาศัย ตลอดจนการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม การปรับปรุงและแปรเปลี่ยนประเพณีดังกล่าวนี้ให้รับกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และพึงกระทำอย่างยิ่ง

ในแง่ของพระ ความรับผิดชอบของท่านที่มีต่อสังคมนั้น โดยส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ การสั่งสอนคนทั่วไป ให้รู้จักวิธีดำเนินชีวิตให้ดีงาม และรู้จักปฏิบัติตนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม การแนะแนวแก่ผู้ปกครองและผู้บริหารรัฐ ให้ดำรงตนอยู่ในคุณธรรมและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยชอบ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ราษฎร ตลอดจนการบำเพ็ญปฏิบัติภารกิจในการบรรลุธรรมของตนโดยชอบ ในแง่ของผู้ปกครองและผู้บริหารรัฐ ก็พึงปฏิบัติกิจและคุณธรรมของตนให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อผลประโยชน์แก่ราษฎร และกระทำการเพื่อให้สังคมดีงาม อันจะเอื้อต่อการเจริญธรรมและการบรรลุธรรมของสมาชิกทั้งหลายในสังคม

โดยธรรมเนียมทางพุทธของไทย ผู้ปกครองพึงปฏิบัติและสั่งสมธรรมและคุณสมบัติ ๔ หมวดด้วยกัน หมวดแรกมีชื่อว่า ราชธรรม ๑๐ หรือทศพิธราชธรรม (ธรรมของผู้ปกครองสิบประการ) อันได้แก่ ทาน ศีล ความเสียสละ ความซื่อตรง ความมีอัธยาศัยงดงามละมุนละไม ความรู้จักข่มกิเลสไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ ความไม่โกรธ ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน ความอดทน และความหนักแน่นไม่คลาดจากธรรม5 ในบรรดาธรรมทั้งสี่หมวดของผู้ปกครอง หมวดนี้จัดว่าเป็นหมวดที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุด และถือกันว่าสำคัญที่สุด ดังที่พระราชาผู้กอปรด้วยราชธรรมทั้งสิบประการนี้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม

หมวดที่สอง มีชื่อว่า จักรวรรดิวัตรสิบสอง ประกอบด้วยกิจ ๑๒ ประการ อันพระมหาจักรพรรดิ ตามคุณลักษณ์ที่บรรยายไว้ในจักกวัตติสีหนาทสูตร พึ่งบำเพ็ญสั่งสม ได้แก่ความถือธรรมเป็นใหญ่ จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมแก่ เหล่าชนฝ่ายในหนึ่ง เสนาทหารหนึ่ง เจ้าเมืองขึ้นหนึ่ง ข้าราชบริพารทั้งปวงหนึ่ง ผู้ทำพิธี ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพค้าขาย การฝีมือต่างๆ หนึ่ง ราษฎรชาวถิ่นชาวชนบททั้งปวงหนึ่ง พระสงฆ์และบรรพชิตทั้งปวงหนึ่ง และแก่สัตว์อันพึงสงวนทั้งหลาย แก้ไขป้องกันอาชญากรรมทั้งปวง ปันทรัพย์เฉลี่ยแก่ผู้ยากไร้ ปรึกษาสอบถามผู้รู้อยู่เนืองๆ หักห้ามตนได้จากราคะอันไม่ชอบธรรม และสละความโลภที่ไม่เป็นธรรม มีข้อน่าสังเกตอยู่ ๒ ประการในที่นี้ ประการแรก ธรรมเนียมของไทยว่าด้วยจักรวรรดิวัตรนี้ ได้มาจากใจความรุ่นหลัง ซึ่งปรากฏในทีฆนิกายอรรถกถา6 ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ เอาของเดิมที่มีมาในจักกวัตติสูตร7 มาจัดข้อใหม่ ส่วนข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ พระอรรถกถาจารย์เพิ่มเข้าไปใหม่ โดยอาศัยความตอนอื่นๆ ในพระสูตรเดียวกัน ประการที่สอง ความถือธรรมเป็นใหญ่ของผู้ปกครอง ซึ่งในพระสูตร ท่านเน้นให้เด่นมาก ดูจะด้อยความสำคัญลง ในขณะที่ตามใจความเดิมในพระสูตรนั้น มหาราชจัดเป็นธรรมาธิปัตย์ (คือ ผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ หรือผู้ซึ่งยึดเหนี่ยวในความเป็นใหญ่แห่งธรรม) เลยทีเดียว

หมวดที่สาม มีชื่อว่า ราชสังคหวัตถุสี่ (กิจ ๔ ประการของผู้ปกครอง เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม) ประกอบด้วย ความฉลาดในการทำนุบำรุงเกษตรกรรม ความฉลาดในการเกื้อหนุนข้ารัฐการ การยึดเหนี่ยวน้ำใจราษฎรด้วยการสนับสนุนงานอาชีพต่างๆ และการกล่าววาจาไพเราะก่อประโยชน์8

หมวดที่สี่ มีชื่อว่า ขัตติยพละห้า (กำลังทั้ง ๕ ของผู้ปกครอง) อันได้แก่ กำลังในการป้องกัน กำลังในทางเศรษฐกิจ กำลังอำมาตย์มนตรี กำลังราชตระกูล และกำลังภูมิปัญญา ในบรรดาห้าอย่างนี้ ประการสุดท้ายอันได้แก่ กำลังภูมิปัญญา จัดเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด9

ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับธรรมและภารกิจเหล่านี้ก็คือ การเน้นย้ำถึงความปราศจากความยากจน ความยากจนนั้นจัดเป็นสาเหตุใหญ่ของอาชญากรรมและความวุ่นวายทั้งปวง10 เช่นเดียวกับความโลภ11 ความปราศจากความยากจนก็ดี ความมั่งคั่งก็ดี การพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจก็ดี ล้วนเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สังคมเป็นสุข มั่นคง และราบรื่น อันจะเอื้อต่อการเจริญและบรรลุธรรมของบุคคล ทั้งนี้ย่อมเป็นภารกิจของผู้ปกครอง ที่จะยังให้สภาพดังกล่าวงอกงามทั่วแว่นแคว้นของตน

ในแง่ของบุคคล ในฐานะพลเมืองหรือสมาชิกของสังคม ย่อมต้องรับผิดชอบ ทั้งต่อการบรรลุธรรมส่วนตนและความดีงามในสังคม โดยพัฒนาตนเองทั้งทางโลกและทางธรรม ตลอดจนช่วยปลูกฝังความสัมพันธ์อันดีงามในสังคม และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น แรกทีเดียว บุคคลควรหาทางพึ่งตนเองให้ได้ในทางเศรษฐกิจ สติปัญญา และจริยธรรม เพื่อดำรงตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ที่จะทำเช่นนี้ได้พึงปฏิบัติตามธรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้ตามควร

ธรรมสี่ประการเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน อันประกอบด้วย มีความพากเพียร ขยันขันแข็งและชำนิชำนาญในกิจการต่างๆ กอปรด้วยความระวังรักษา คบหากัลยาณมิตร และดำรงชีวิตอย่างได้สมดุลย์12

ธรรมสี่ประการอันเป็นจักรหมุนนำไปสู่ความรุ่งเรือง อันประกอบด้วย การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คบหากัลยาณมิตร ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ และเตรียมตัวไว้ให้มีภูมิหลังที่ดี13

ธรรมสี่ประการสำหรับชีวิตคฤหัสถ์ที่ดี อันได้แก่ สัจจะและความซื่อสัตย์ การฝึกฝนและรู้จักปรับตัว ความมีใจหนักแน่นอดทน ตลอดทั้งความมีใจเอื้อเฟื้อเสียสละ14

สุขสี่ประการอันชอบธรรมของคฤหัสถ์ อันได้แก่ สุขเกิดแต่การมีทรัพย์ สุขเกิดแต่การรู้จักใช้จ่ายโภคทรัพย์ สุขเกิดแต่การปลอดหนี้ และสุขเกิดแต่การมีความประพฤติ ที่ปราศจากข้อครหาใดๆ15

ธรรมสี่ประการอันนำไปสู่ประโยชน์สุขทางจิตใจ ได้แก่ ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ความมั่นใจ ด้วยศีล ด้วยความเอื้ออารี ให้ปัน และด้วยปัญญา16

ในทางสังคม บุคคลพึงบำรุงรักษาความสัมพันธ์อันดีงามกับผู้อื่น และช่วยรักษาสรรค์สร้างสังคมให้สงบสุขน่าอยู่ ด้วยการปฏิบัติธรรม อันเป็นพื้นฐานแห่งความประสานกลมกลืนในสังคม หรือที่เรียกว่า หลักสี่ประการแห่งสามัคคีธรรมในสังคม (สังคหวัตถุ) ซึ่งประกอบด้วย ทาน (การให้และสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยทรัพย์) ปิยวาจา (การกล่าวคำไพเราะก่อประโยชน์) อัตถจริยา (การสงเคราะห์บริการผู้อื่นด้วยการกระทำ) และสมานัตตตา (การมีตนเสมอ ไม่ลำเอียง และร่วมทุกข์ร่วมสุข)17

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คฤหัสถ์ กับคฤหัสถ์ทัศนะต่อความยากจนและความร่ำรวย >>

เชิงอรรถ

  1. องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๕๔/๗๕; เทียบ องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๗๘/๑๑๗
  2. นาถกรณธรรม (ที.ปา. ๑๑/๓๕๗/๒๘๑; ๔๖๖/๓๓๔; องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗/๒๕)
  3. สํ.ม. ๑๙/๗๕๙-๗๖๑/๒๒๕
  4. ตามที่มีมาใน อรรถกถาธรรมบท ผู้คนเป็นจำนวนหลายร้อยดำรงชีพอยู่ด้วยอาหารที่เหลือจากพระในพระเชตวันวิหาร อันเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่เนืองๆ
  5. ขุ.ชา. ๒๘/๒๔๐/๘๖
  6. ที.อ. ๓/๔๕
  7. ที.ปา. ๑๑/๓๕/๖๕
  8. สํ.ส.๑๕/๓๕๑/๑๑๐; ความคิดบางประการเกี่ยวกับธรรมหมวดนี้ ดูได้จาก กูฏทันตสูตร (ที.สี. ๙/๒๐๖/๑๗๑) ทั้งยังมีอธิบายไว้ในอรรถกถาบางแห่งด้วย (สํ.อ. ๑/๑๖๙; สุตฺต.อ. ๒/๑๕๓)
  9. ขุ.ชา. ๒๗/๒๔๔๔/๕๓๒; ชา.อ. ๗/๓๔๘
  10. ที.ปา. ๑๑/๓๙/๗๐
  11. ที.ปา. ๑๑/๖๒/๑๐๐
  12. องฺ.อฎฺฐก. ๒๓/๑๔๔/๒๘๙
  13. ที.ปา. ๑๑/๔๐๐/๒๙๓; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๑/๔๑
  14. สํ.ส. ๑๕/๘๔๕/๓๑๖; ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๑/๓๖๑
  15. องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๒/๙๐
  16. องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๔๔/๒๙๒
  17. ที.ปา. ๑๑/๑๔๐/๑๖๗; ๒๖๗/๒๔๔; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๒/๔๒; ๒๕๖/๓๓๕; องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๑๔/๒๒๒; ๒๐๙/๓๗๗

No Comments

Comments are closed.