ภิกษุกับคฤหัสถ์

1 มีนาคม 2528
เป็นตอนที่ 3 จาก 9 ตอนของ

ภิกษุกับคฤหัสถ์

ตามพระวินัย ชีวิตภิกษุย่อมอาศัยคฤหัสถ์ในด้านภัตตาหารและบริขารต่างๆ โดยหลักการแล้ว ภิกษุจะได้รับภัตตาหารประจำวันมาโดยการออกบิณฑบาต แต่อาจรับนิมนต์ไปฉันที่บ้านทายกทายิกา หรือฝ่ายหลังจะมาถวายภัตตาหารที่วัดก็ได้1 การปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทำให้ชีวิตภิกษุต้องขึ้นอยู่กับสังคมคฤหัสถ์ และควบคุมให้ภิกษุต้องพบปะกับชาวบ้านทุกวัน ภิกษุจะต้องพึงพิจารณาอยู่เนืองนิตย์ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “ความเป็นอยู่ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น2 เพื่อที่จะได้ปฏิบัติจริงจัง ทั้งต่อความเพียรในธรรมสมบัติส่วนตน และต่อการบำเพ็ญประโยชน์แก่คฤหัสถ์ กิจประการหลังอันมีลักษณะเป็นการให้และรับซึ่งกันและกันนี้ ภิกษุย่อมกระทำได้โดยตรงเมื่อออกบิณฑบาต3 และในโอกาสอื่นๆ ตามควร ความสัมพันธ์อันเกื้อกูลแก่กันและกัน ระหว่างภิกษุกับคฤหัสถ์นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำไว้ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เหล่าพราหมณ์และผู้ครองเรือน ย่อมเป็นผู้มีอุปการะอย่างมากแก่เธอทั้งหลาย เพราะเขาเหล่านั้นย่อมอุปถัมภ์เธอด้วยจีวรและบิณฑบาต ทั้งเสนาสนะและหยูกยา อันจำเป็นในยามเจ็บไข้ ฉันใดก็ฉันนั้น เธอทั้งหลายก็ย่อมเป็นผู้มีอุปการะอย่างมากแก่เหล่าพราหมณ์และผู้ครองเรือน เพราะเธอย่อมสั่งสอนธรรมอันไพเราะแก่เขาเหล่านั้น…ดังนี้แล ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้จึงอยู่บำเพ็ญด้วยการอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง”4

อันที่จริง ภิกษุควรทำประโยชน์แก่ชุมชนคฤหัสถ์ มิใช่เพียงเพื่อเป็นการตอบแทนคุณแก่กันเท่านั้น แต่การกระทำเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ภิกษุควรกระทำด้วยอำนาจคุณธรรม คือเมตตากรุณาแก่ชนทั้งหลายโดยตรงทีเดียว ดังที่ พระพุทธองค์ทรงย้ำอย่างหนักแน่น เมื่อครั้งที่ทรงส่งพระสาวกรุ่นแรกออกไปประกาศพระศาสนาในพรรษาแรกแห่งพุทธกิจ ดังความในพระบาลีว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก เพื่อความสุขของชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย”5

กิจของภิกษุในการทำประโยชน์ต่อชนทั้งหลาย ทั้งในแง่เป็นการเจริญเมตตา และในแง่การให้และรับซึ่งกันและกัน จะเห็น ได้ชัดยิ่งในคำเทศนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สิงคาลมาณพ ดังปรากฏในสิคาโลวาทสูตรว่า

“คฤหัสถ์ย่อมบำรุงภิกษุสมณะดั่งทิศเบื้องบนดังนี้

๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา

๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา

๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา

๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

ภิกษุสมณะย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ในฐานะที่เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้

๑. ห้ามปรามจากความชั่ว

๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี

๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี

๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง

๖. บอกทางสวรรค์ คือวิธีสร้างความสุขความเจริญให้6

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบทางสังคมคฤหัสถ์ กับคฤหัสถ์ >>

เชิงอรรถ

  1. ตัวอย่างเช่น วินย. ๔/๘๗/๑๐๖
  2. องฺ.ทสก. ๒๔/๔๘/๙๒
  3. ตัวอย่างเช่น สํ.นิ. ๑๖/๖๗๙/๓๑๔
  4. ขุ.อิติ. ๒๕/๒๘๗/๓๑๔
  5. วินย. ๑/๓๒/๓๙
  6. ที.ปา. ๑๑/๒๐๔/๒๐๕

No Comments

Comments are closed.