รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม เพื่อสังคมไทยร่วมสมัย

1 มีนาคม 2528
เป็นตอนที่ 1 จาก 9 ตอนของ

รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม เพื่อสังคมไทยร่วมสมัย

จาก Foundations of Buddhist Social Ethics for Contemporary Thailand1

ข้อพิจารณาเบื้องต้นบางประการ

ทุกวันนี้หัวข้อบรรยาย อันเกี่ยวกับพุทธจริยศาสตร์ เป็นเรื่องที่มีผู้ถกเถียง บรรยาย ขีดเขียน หรือพูดคุยถึงในหนังสือ ปาฐกถา และสนทนาในที่ต่างๆ กันมาก แต่แล้วเราก็พบอยู่บ่อยๆ ว่า ความคิดของผู้เขียน หรือผู้พูดดังกล่าว แม้ที่เป็นปราชญ์ในทางพุทธวิทยาก็ตามที มักมีพื้นฐานมาแต่การรับรู้อย่างผิดๆ หรือทัศนะอันลำเอียง หาไม่ก็พิจารณากันอย่างไม่ตลอดทั่วถึง นี้ย่อมพาให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเข้าใจไขว้เขวไปได้มาก ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในอันที่จะพิจารณาพุทธจริยศาสตร์ได้อย่างถ่องแท้ เราควรจะให้แน่ใจกันเสียแต่ต้นมือว่า เราได้กันข้อผิดพลาดดังกล่าว ออกไปแล้ว

ประการแรก หลายต่อหลายคนจัดให้พุทธศาสนาเป็นหนึ่งในบรรดาศาสนานักพรต (Ascetic Religion) โดยความเป็นจริงแล้ว การบำเพ็ญพรตนั้นเป็นสิ่งที่มีมาก่อนพุทธกาล และพระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงลองปฏิบัติและปฏิเสธมาแล้ว ก่อนหน้าที่พระองค์จะตรัสรู้ อันที่จริง คำว่า “ลัทธินักพรต” (Asceticism) ก็เป็นคำที่มีความหมายกำกวมอยู่แล้ว และเมื่อนำมาเกี่ยวพันกับพุทธศาสนา ก็ควรจะนิยามกันให้ชัดเจนจำเพาะลงไป

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเอาศัพท์ตะวันตกที่ว่า “อารามิกนิยม” (Monasticism) มาใช้กับวิถีชีวิต และวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวพุทธ หรือที่เรียกตามศัพท์บาลีว่า “ภิกขุ” ก็มักเป็นที่เข้าใจกันไขว้เขวว่าเป็นการอยู่แยกตัวแต่ลำพังจากโลก ซึ่งอย่างน้อยก็โดยหลักการแล้ว พระสงฆ์ชาวพุทธหรือพระภิกษุ ย่อมไม่สามารถดำรงชีวิตแม้วันหนึ่ง โดยมิได้พบปะกับคฤหัสถ์ชาวบ้านเลย

ใช่แต่เท่านั้น บางคนก็ทึกทักเอาว่า วิถีชีวิตและวัตรปฏิบัติของภิกขุหรือพระเท่านั้น ที่เป็นสาระทั้งหมดหรือเป็นมาตรฐานแต่ประการเดียวของพุทธจริยศาสตร์ ในขณะที่จริงๆ แล้ว พระเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพุทธบริษัท และจริยธรรมที่ท่านถือปฏิบัติก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพุทธจริยศาสตร์ อันอาจถือเป็นส่วนเติมเต็มหรือส่วนสุดยอดก็ว่าได้ จริงๆ แล้ว พุทธศาสนานั้นมิได้เป็นเพียงศาสนาหรือวิถีชีวิตสำหรับพระสงฆ์แต่ฝ่ายเดียว หากรวมถึงคฤหัสถ์ด้วย

ในทัศนะของอาตมภาพ หนังสือส่วนใหญ่อันเกี่ยวกับพุทธธรรมคำสอนที่เขียนโดยปราชญ์ตะวันตก มักมุ่งประเด็นที่คำสอนในทางอภิปรัชญา และจิตวิญญาณ หรือในทางจิตและการบำเพ็ญภาวนาเป็นสำคัญ น้อยนักที่จะมีที่ว่างให้จริยธรรมสำหรับชีวิตประจำวันของสามัญชน ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะว่าคำสอนในทางอภิปรัชญาและจิตวิญญาณนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้พุทธศาสนาแปลกหรือต่างจากศาสนา หรือระบบปรัชญาอื่นก็ได้ หรืออาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนสนใจแต่คำสอนประเภทนั้นก็ได้ ทั้งนี้และทั้งนั้น การณ์ดังว่าได้ยังผลให้คนเป็นอันมากเชื่อกันว่า พุทธศาสนาเป็นเพียงจริยศาสตร์สำหรับจิตใจ แต่ขาดจริยศาสตร์ในทางสังคมและสวัสดิภาพทางวัตถุ โดยที่จริงๆ แล้ว นอกเหนือไปจากการเน้นที่จิตใจ อันเป็นส่วนที่ลึกซึ้งและสลับซับซ้อนที่สุดของมนุษย์ ที่ทำให้มนุษยภาวะเป็นสิ่งพิเศษ ไม่มีใดเหมือน พุทธศาสนายังสอนว่า มนุษย์นั้นประกอบด้วยใจและกาย และกล่าวตรงๆ เลยว่า การเป็นอยู่ที่ดีในทางวัตถุ และทางสังคมในระดับพื้นฐานระดับหนึ่ง เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณทีเดียว

เมื่อว่าถึงพุทธจริยศาสตร์ นักปราชญ์และผู้ตีความเกี่ยวกับพุทธศาสนา มักมีความคิดจำกัดอยู่แต่ในกรอบบัญญัติทางธรรมหรือคำสอน ทั้งๆ ที่พระปาพจน์ในพุทธศาสนานั้น ย่อมมีทั้งธรรมและวินัยเป็นส่วนประกอบ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ธรรมหรือคำสอน และวินัยหรือระเบียบปฏิบัติรวมกันเข้า จึงนับเป็นพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมด ธรรมนั้นว่าด้วยอุดมคติและหลักการ ส่วนวินัยนั้นว่าด้วยสภาพเงื่อนไขทางวัตถุและทางสังคม ที่เอื้อต่อการปฏิบัติตาม และการบรรลุถึงอุดมคติและหลักการดังกล่าวนั้น วินัยในที่นี้ มิได้หมายเพียงระเบียบปฏิบัติสำหรับภิกษุและภิกษุณีเท่านั้น หากรวมถึงแก่นสารของข้อกำหนดกฎเกณฑ์ และการจัดองค์กรทางวัตถุและทางสังคมดังกล่าวด้วย โดยนัยนี้ ย่อมไม่มีความคิดความอ่านใดๆ อันเกี่ยวกับพุทธจริยศาสตร์จะสมบูรณ์ได้ ถ้าไม่ได้พิจารณากันให้ครบทั้งในแง่ธรรมและในแง่วินัย

ปราชญ์บางท่านมักให้ความสำคัญแก่สิ่งที่แสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ว่าเป็นบทย่นย่อที่ได้มาตรฐาน หรือเป็นบทจำแนกที่สมบูรณ์ของพุทธจริยศาสตร์ ซึ่งอันที่จริง คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ก็เป็นเพียงคัมภีร์มาตรฐานสำหรับพระโยคาวจร หรือพระผู้มุ่งบำเพ็ญเพียรทางจิต การที่จะรวบรัดเอาสารัตถะในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ของพระพุทธโฆษาจารย์หรืองานเขียนทำนองเดียวกัน ว่าเป็นใจความทั้งหมดของพุทธจริยศาสตร์ ย่อมเป็นข้อวินิจฉัยที่พร่องและชวนให้ไขว้เขวได้

คำสอนและข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนานั้น ดูเหมือนจะมีข้อตรงข้ามกันอยู่หลายประการดังเช่น โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรม และคฤหัสถ์กับบรรพชิต บางคนอาจคิดไปว่า ข้อตรงข้ามกันนี้ขัดแย้งและเข้ากันไม่ได้ ซึ่งที่จริง ข้อตรงข้ามเหล่านี้ล้วนเสริมกันหรือประกอบกันเข้าให้เกิดความสมบูรณ์ทั่วถึง ข้อตรงข้ามบางประการก็เป็นกฎธรรมชาติ บางประการก็เป็นข้อปฏิบัติสำหรับมนุษย์ ในอันที่จะดำรงตนให้เข้ากับกฎธรรมชาตินั้น

ความข้อนี้ ขอเกริ่นนำไว้แต่เพียงนี้ก่อน ส่วนรายละเอียดและหลักฐานอ้างอิงโดยพิสดารจะเอ่ยถึงภายหลัง ในขั้นเริ่มต้นนี้ จะขอกล่าวถึงพุทธธรรมบางหมวด ที่อาจช่วยให้เข้าใจคติทางพุทธศาสนา ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคมได้แจ่มแจ้งขึ้น

พุทธจริยศาสตร์ทั้งหมด ประมวลลงได้ในมัชฌิมาปฏิปทาและบุพภาคแห่งมัชฌิมาปฏิปทานั้น มัชฌิมาปฏิปทาสอนให้เราเลี่ยงทั้งข้อปฏิบัติอันสุดโต่งอย่างนักพรต และการปรนเปรออามิสสุขอย่างสุดโต่ง ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า แม้ชีวิตและข้อปฏิบัติของพระ ซึ่งถือกันว่าเคร่งครัดที่สุดในหมู่พุทธบริษัทด้วยกัน ก็ไม่ควรให้บีบคั้นจนเป็นการทรมานตนเอง ส่วนฝ่ายคฤหัสถ์ชาวพุทธนั้นเล่า แม้ผู้ที่ดำรงตนเองตามสบายที่สุด ก็ไม่ควรใฝ่หาความเพลิดเพลินกันจนเป็นอาการยึดติด หรือหลงใหลไปกับความสุขทางเนื้อหนัง2 อันตาหรือที่สุดทั้งสองอย่างนี้ ย่อมจัดเป็นอาการหมกมุ่นกับตัวเอง และเห็นแก่ตัวเป็นที่สุดได้ในทั้งสองกรณี โดยที่ฝ่ายแรก ก็ง่วนอยู่กับการบีบบังคับทรมานตนเอง และฝ่ายหลัง ก็ใส่ใจแต่การปรนเปรอผัสสะของตน เมื่อหลีกเลี่ยงที่สุดสองประการนี้ได้แล้ว มัชฌิมาปฏิปทาจะมีขอบข่ายกว้างขวางและยืดหยุ่นได้ ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพเงื่อนไขต่างๆ เช่นว่า เราได้ปฏิบัติถึงระดับไหน หรือจุดไหนในมรรควิถี หรือได้บรรลุโลกุตตรผลในขั้นใดแล้ว

ข้อแตกต่างทางระดับภูมิธรรม อันมีขอบข่ายกว้างขวางนี้ นำมาประยุกต์ใช้ได้ ทั้งกับความรับผิดชอบส่วนตน และกับสายสัมพันธ์ทางสังคม จริงอยู่ บางสิ่งบางอย่างนั้น ผู้อื่นหรืออำนาจภายนอกใดๆ ไม่อาจทำให้แก่ตนได้ ทั้งในแง่ชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การกิน การฟัง และการหลับนอน และในแง่การบรรลุธรรม เช่น การประยุกต์เอาสติปัฏฐานธรรมมาใช้ การปรุงแต่งของจิตไปในทางดีและชั่ว การบำเพ็ญสมาธิและวิปัสสนาภาวนา แต่ขณะเดียวกัน หลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นสิ่งที่เราต้องพึ่งผู้อื่น เราอาจกระทำเพื่อผู้อื่น และผู้อื่นก็สามารถกระทำเพื่อเราได้ แม้ในแง่การเจริญธรรมส่วนบุคคล หลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นเรื่องที่กัลยาณมิตรอาจช่วยผู้อื่นได้ ทั้งในการพัฒนาคุณภาพจิต การปฏิบัติสมาธิภาวนา การพัฒนาปัญญาญาณ และอื่นๆ เช่นว่า สอน ชักจูง แนะนำ และโดยอุบายวิธีอื่นๆ

ใช่แต่เท่านั้น พัฒนาการและการบรรลุธรรมของปัจเจกบุคคล ยังเกี่ยวพันและพึ่งพาอาศัยกันอย่างแน่นแฟ้นกับประโยชน์ส่วนรวม ตัวอย่างเช่น สังคมที่สมาชิกแต่ละคนต่างพึ่งตนเองได้หรือยังชีพด้วยตนเองได้ จัดว่าเป็นสังคมที่สงบสุขและมั่นคงได้ในระดับหนึ่งทีเดียว ในทำนองเดียวกัน สังคมที่มั่นคงและสุขสงบ ก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัญญา และศาสนธรรมของแต่ละบุคคล ในแง่นี้ จุดยืนของชาวพุทธก็คือ แต่ละคนต่างต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองในการพัฒนาชีวิตส่วนบุคคลในระดับหนึ่ง และขณะเดียวกัน ก็ต้องบำรุงรักษาความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับหนึ่งด้วย พ้นระดับขั้นต้นนี้แล้ว ข้อแตกต่างและความหลากหลายย่อมกว้างขวางออกไป ตามแต่ฐานะของแต่ละคนในสังคม ตามแต่สถานะของแต่ละคนในสายสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ตามแต่ความถนัดและจริตของแต่ละบุคคล

เราอาจถือได้ว่า พระเป็นผู้ที่อยู่ห่างจากสังคมมากที่สุดในบรรดาชาวพุทธด้วยกัน ประกอบด้วยผู้ที่ใฝ่ใจที่สุด หรือพร้อมที่สุดสำหรับชีวิตอันวิเวกและสงบ กระนั้นก็ดี ในบรรดาพระด้วยกันก็ยังมีที่ต่างกันออกไป นับแต่พระเมือง ซึ่งต้องสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่เป็นนิจกับผู้คนทุกหมู่เหล่า ไปจนถึงพระป่าซึ่งดำรงชีวิตอยู่โดยลำพังเกือบตลอดชีพ และแม้พระป่าที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวที่สุด ในด้านหนึ่ง ก็ยังต้องติดต่อเกี่ยวข้องอยู่เสมอกับสงฆ์ และร่วมรับผิดชอบต่อความเรียบร้อยดีงามของสงฆ์ อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องออกมาพบปะกับชาวชนบทในการบิณฑบาตประจำวัน และเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้น ได้รับอานิสงส์จากการบรรลุธรรมของตน ด้วยการสั่งสอนตามควร

ชุมชนชาวพุทธหรือพุทธบริษัท ประกอบด้วยบริษัทสี่ กล่าวคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา พระภิกษุและคฤหัสถ์ ถือวัตรปฏิบัติประจำวันต่างกัน มีภาระและความรับผิดชอบต่างกัน และยินดีในความสุขต่างประเภทกัน ก็อีกนั่นแหละ ในหมู่พระและคฤหัสถ์ด้วยกันเอง ก็มีข้อแตกต่างหลากหลายกันออกไป พุทธบัญญัติว่าด้วยบริษัทสี่3นี้ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ที่เรียกกันว่า ภาวะตรงกันข้ามระหว่างพระกับคฤหัสถ์นั้น เป็นสิ่งที่ท่านจงใจให้มีขึ้น และระดับภูมิธรรมที่ต่างกัน ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ที่ในขณะหนึ่งขณะใดมนุษย์ (จะ) ล้วนบรรลุภูมิธรรมอยู่ในระดับเดียวกันและเจริญธรรมอยู่ในขั้นเดียวกันทั้งหมด แต่ก็เป็นความจริงโดยธรรมชาติที่มนุษย์นั้นล้วนเป็นเวไนยสัตว์ มนุษย์ทุกคนจึงควรได้รับและควรมีโอกาสได้รับการอบรมสั่งสอน เขาควรมีโอกาสเติบโตและบรรลุมรรคผลตามระดับการฝึกฝนอบรมตน และตามภูมิธรรมของตน การดังนี้จึงเป็นเรื่องของอเนกภาพในเอกภาพ อเนกภาพหรือความหลายหลากอันประสานกลมกลืนกันนี้ต่างหาก ที่ก่อให้เกิดบูรณภาพที่พร้อมมูล ว่าโดยย่อ หากงดพูดถึงข้อปลีกย่อยต่างๆ เสีย พิจารณาแม้เพียงวิถีชีวิตที่ต่างกันโดยหลักสองประการนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ล้วนมุ่งที่จะดำเนินควบคู่พร้อมไปกับสังคมโดยส่วนรวม และอาศัยการสืบเนื่องของวิถีชีวิตทั้งสองแบบนี้นี่เอง ที่สังคมที่ดีจะดำรงคงอยู่ได้

กล่าวโดยหลัก เรื่องนี้จึงมิใช่เรื่องของข้อขัดแย้งกัน เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมส่วนรวม สงฆ์หรือภิกษุบริษัทจึงเป็นชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งท่านมุ่งหมายให้เป็นส่วนสำเร็จหรือส่วนเติมเต็มสมบูรณ์ของสังคม เป็นชุมชนอิสระที่ดำรงอยู่อย่างลอยพ้นสังคมส่วนรวม และธำรงรักษาธรรมะให้แก่สังคม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปความสัมพันธ์และความรับผิดชอบทางสังคม >>

เชิงอรรถ

  1. แสดง ณ ที่ประชุม “Moral Values in Comparative Perspective” ซึ่งจัดโดยโครงการร่วมมือศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ เบอร์กเลย์ ฮาร์วาร์ด ที่ GTU เบอร์กเลย์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ ตีพิมพ์ครั้งแรก (ฉบับภาษาอังกฤษเดิม) ใน Social Dimension of Buddhism in Contemporary Thailand โดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม พิมพ์รวม ใน “Attitudes Towards Wealth and Poverty in Theravada Buddhism” ในชุด CSWR Studies in World Religions มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะพิมพ์เสร็จต้น พ.ศ. ๒๕๒๘
  2. ดูที่สุดสองประการนี้ ตลอดทั้งเรื่องคฤหัสถ์หรือผู้เสวยกามสุข ๑๐ จำพวก และผู้บำเพ็ญตบะ ๓ จำพวก ใน ราสิยสูตร, สํ.สฬ. ๑๘/๖๒๙/๔๐๖
  3. ตัวอย่างเช่น องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๒๙/๑๗๘; ที.ปา. ๑๑/๑๐๖/๑๓๗

No Comments

Comments are closed.