ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบทางสังคม

1 มีนาคม 2528
เป็นตอนที่ 2 จาก 9 ตอนของ

ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบทางสังคม

ดังได้กล่าวแล้ว พระภิกษุในพุทธศาสนาไม่อาจดำรงชีวิตอย่างตัดขาดจากโลกภายนอกได้ ด้วยวินัยบังคับอยู่ ให้บำรุงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีทั้งต่อพระสงฆ์ด้วยกันและต่อสังคมคฤหัสถ์ ในหมู่พระด้วยกัน ชีวิตภิกษุแต่ละรูปต้องขึ้นต่อสงฆ์หรือชุมชนภิกษุซึ่งมีพระวินัยเป็นกฎเกณฑ์ เพื่อที่ภิกษุจะอยู่ร่วมกันได้โดยสมานฉันท์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภิกษุแต่ละรูปจะเคารพรูปอื่นตามลำดับอาวุโสของสมาชิกภาพในคณะสงฆ์ ข้าวของต่างๆ ที่ได้รับมา ก็จะแบ่งกันในหมู่สมาชิกอย่างเท่าเทียม อธิกรณ์ต่างๆ จะได้รับการตัดสินกันอย่างยุติธรรม และอำนาจสูงสุดจะอยู่ในมือของสงฆ์ หรือการประชุมของชุมชนสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่ภิกษุผู้อยู่วิเวก ที่สุดก็ต้องมาร่วมประชุมสงฆ์ อย่างน้อยที่สุดทุกปักษ์1 และทุกครั้งที่มีการประชุมเพื่อประกอบสังฆกรรม2 แก่นสารของพระวินัยที่ได้รับการตอกย้ำมากที่สุดคือ การถือสงฆ์เป็นใหญ่3 และความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในสงฆ์ (สังฆสามัคคี)4เอง การก่อสังฆเภท จัดว่าเป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่งทีเดียว5 พระพุทธองค์ก็ทรงเคารพสงฆ์ ในสมัยเมื่อสงฆ์ขยายตัวออกไป6 ทั้งยังทรงมอบอำนาจของพระองค์ในกิจต่างๆ แก่สงฆ์ด้วย เช่น ในอุปสมบทพิธี7 เป็นต้น ความข้อนี้ยังจะเห็นได้จากสาราณียธรรม ๖ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. มีเมตตาในกายกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๒. มีเมตตาในวจีกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๓. มีเมตตาในมโนกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๔. แบ่งปันข้าวของที่ได้มาแก่เพื่อนร่วมพรหมจรรย์

๕. รักษาศีลให้บริสุทธิ์เสมอกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง8

๖. มีความเห็นชอบเสมอกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้จากอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจและกรณีย์ของสงฆ์

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก พึงเคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

๕. ไม่ลุอำนาจตัณหาที่เกิดขึ้น

๖. ยินดีในเสนาสนะป่า

๗. ตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ผู้มีศีลงาม ซึ่งยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่ผาสุก9

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม เพื่อสังคมไทยร่วมสมัยภิกษุกับคฤหัสถ์ >>

เชิงอรรถ

  1. คือการประชุมสวดพระปาฏิโมกข์ทุกๆ ปักษ์ ดังที่มีบัญญัติเป็นกฎไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอ ประชุมกัน ทุกๆ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ และทุกๆ ๘ ค่ำของระยะกึ่งเดือน…เราอนุญาตให้เธอประชุมกัน…เพื่อกล่าวธรรม…เพื่อสวดปาฏิโมกข์” (วินย. ๔/๑๔๘/๒๐๓)
  2. ดูกรณีพิเศษใน วิสุทธิ. ๓/๓๖๘
  3. ตัวอย่างเช่น องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๐๓/๓๖๙
  4. ตัวอย่างเช่น องฺ.ทสก. ๒๔/๓๖/๗๘
  5. อง.ปญฺจก. ๒๒/๑๒๙/๑๖๕
  6. องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๑/๒๗
  7. วินย. ๔/๘๕/๑๐๓
  8. ดูรายละเอียดใน ที.ปา. ๑๑/๓๑๗/๒๕๗; องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๒๘๒/๓๒๒
  9. ที.ม. ๑๐/๗๐/๙๐; องฺ.สตฺตก. ๒๓/๒๐/๑๘

No Comments

Comments are closed.