ทัศนะต่อความยากจนและความร่ำรวย

1 มีนาคม 2528
เป็นตอนที่ 6 จาก 9 ตอนของ

ทัศนะต่อความยากจนและความร่ำรวย

คำว่า “ความยากจน” บางครั้งก็ก่อให้เกิดความไขว้เขวได้ บัญญัติที่มักคุ้นกันในทางพุทธน่าจะได้แก่ ความสันโดษ (สันตุฏฐี) หรือความมักน้อย (อัปปิจฉตา) ส่วนความยากจน (ทลิททิยะ) นั้น หาได้รับการยกย่องหรือสนับสนุนในทางพุทธแต่ประการใดไม่ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “ความยากจนเป็นทุกข์ในโลกสำหรับคฤหัสถ์” และ “สิ่งที่น่ารันทดใจในโลกคือความยากจนและหนี้สิน”1 ถึงแม้ว่าพระจะไม่ควรเห็นความยากจนว่าเป็นความทุกข์สำหรับตน และแม้ว่าพระควรจะสันโดษและปรารถนาแต่น้อย แต่ความยากจนก็หาได้เป็นสิ่งพึงสนับสนุนแม้สำหรับพระไม่

ในทางตรงกันข้าม กลับมีปรากฏอยู่บ่อยครั้งในพระบาลี ที่พระราชาหรือคฤหัสถ์ที่มีฐานะร่ำรวย ได้รับคำยกย่องสนับสนุน กล่าวอีกนัยหนึ่ง โภคทรัพย์เป็นสิ่งพึงแสวงหาและเพิ่มพูน ในบรรดาสาวกฝ่ายคฤหัสถ์ของพระพุทธเจ้า ผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นทายกทายิกาชั้นเอก และมักได้รับคำยกย่อง มักเป็นคนมั่งมี ดังเช่นอนาถบิณฑิกเศรษฐี ส่วนในแง่ของพระ แม้พระจะไม่พึงแสวงหาโภคทรัพย์ แต่การที่ได้รับจตุปัจจัยบริบูรณ์ ก็จัดเป็นคุณสมบัติอันดีประการหนึ่ง ระหว่างพระสององค์ซึ่งเสมอกันในทางธรรมและในทางวุฒิประการอื่นๆ ท่านที่ได้รับจตุปัจจัยบริบูรณ์มักเป็นที่ยกย่องมากกว่า ในการเฟ้นสาวกผู้เอตทัคคะในด้านต่างๆ พระพุทธองค์ถึงกับทรงจัดตำแหน่งให้แก่ผู้เป็นเลิศในทางปัจจัยลาภเลยทีเดียว ดังคำของพระองค์ที่ว่า “ในบรรดาสาวกของตถาคต ผู้เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้มีลาภได้แก่ พระสิวลี”2 อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยเหล่านี้ของอาตมภาพ พึงได้รับการจำแนกชี้แจงให้ชัดเจน

ประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือ สิ่งที่น่ายกย่องหรือตำหนินั้น หาใช่โภคทรัพย์หรือลาภโดยตัวของมันเองไม่ วิธีแสวงหาและวิธีจัดแจงสิ่งที่ได้มาต่างหาก ที่กำหนดข้อแตกต่างว่าดีหรือเลว

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ว่าในแง่ของพระ สิ่งที่ถูกตำหนินั้น หาใช่การได้ลาภไม่ และสิ่งที่ได้รับคำยกย่อง ก็หาใช่ความยากจนไม่ สิ่งที่ถูกตำหนินั้นได้แก่ความโลภในลาภ ความตระหนี่ และความติดยึดในลาภ ตลอดจนการสั่งสมลาภต่างหาก การได้ลาภซึ่งเป็นคุณต่อการเจริญอริยมรรค หรือก่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกในหมู่คณะนั้น ย่อมเป็นที่ยอมรับได้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้พระสั่งสม ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ พระจะไม่ครอบครองสิ่งอื่นใด นอกจากปัจจัยพื้นฐานจำนวนน้อยที่สุดสำหรับชีวิต ประเด็นนี้ไม่ได้สำคัญที่รวยหรือจน แต่อยู่ที่สาระของการมีภาระส่วนตนแต่น้อย มีความคล่องตัวสูง และปราศจากความติดยืด ซึ่งได้แก่ ใจที่รู้จักสันโดษ และใจที่รู้จักระงับความปรารถนา ทั้งนี้ โดยที่ชีวิตพระเป็นชีวิตที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นทางวัตถุ พระจึงควรกระทำตนให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย และโดยที่พระไม่ต้องกังวลกับภาระต่างๆ และมีความคล่องตัวสูง พระจึงสามารถสละเวลาและพลังงานส่วนใหญ่ของตน ให้กับการบำเพ็ญธรรมส่วนตน และอุทิศตนให้กับความดีงามของสังคมได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น สิ่งที่ได้รับการยกย่องในที่นี้ก็คือ การเจริญกุศลธรรม และการละอกุศลธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความปรารถนาแต่น้อยและความพอใจในปัจจัยพื้นฐานจำนวนน้อยที่สุดนี้ ย่อมทำให้พระอุทิศตนต่อการบำเพ็ญกิจกรณีย์ของตนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แทนที่จะต้องไปเสียเวลาและกำลังงานกับการไขว่คว้าลาภ และความเพลิดเพลินทางอายตนะทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้เอง หลักใหญ่ใจความจึงอยู่ห่างไกลจากลำพังความยากจน แม้ความสันโดษและความปรารถนาแต่น้อยก็เถิด ก็มีลักษณะจำเพาะของมันอยู่ กล่าวคือ คุณลักษณะสองประการนี้จะต้องควบคู่ไปกับความขยันหมั่นเพียร หาได้ควบคู่ไปกับความเพิกเฉยเกียจคร้านไม่

หากวกกลับไปที่ประเด็นข้างต้น ยังมีข้อเสริมอีกว่า ตามพระวินัย ลาภต่างๆ ที่พระได้มานั้น จะถือว่าชอบธรรมก็ต่อเมื่อ เมื่อได้ลาภมาแล้ว ลาภนั้นตกเป็นของกลางของสงฆ์ แต่ถ้าพระรูปนั้นติดร่ำรวยด้วยลาภส่วนตน แม้ลาภเหล่านั้นจะได้มาโดยชอบตามหลักพระวินัย ก็ไม่อาจจัดได้ว่า พระรูปนั้นประพฤติตนตามหลักพุทธธรรม เพราะลาภนั้นๆ ย่อมเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความโลภและความติดยึด

ข้อสรุปดังกล่าวอาจอ้างพระพุทธพจน์ที่มีมาในพระบาลีได้ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระมีธรรมอยู่ ๕ ประการ ย่อมชื่อว่าบำเพ็ญตน เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก เพื่อความสุขของชนหมู่มาก เพื่อความดีงามของชนหมู่มาก และเพื่อประโยชน์สุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการใดหรือ

“ภิกษุผู้เถระ ถึงพร้อมด้วยวุฒิโดยพรรษกาล ดำรงอยู่ในบรรพชิตเพศมานาน (นี้ประการหนึ่ง) มีชื่อเสียงเกียรติคุณ พรั่งพร้อมด้วยสานุศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต (นี้ประการหนึ่ง) เป็นผู้พร้อมด้วยจตุปัจจัย อันได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค (นี้ประการหนึ่ง) เป็นพหูสูต ทรงจำความได้แม่นยำกว้างขวาง และแตกฉานในธรรมวินัยอันไพเราะทั้งปวง (นี้ประการหนึ่ง) ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิไม่วิปลาศ (นี้ประการหนึ่ง) เธอทำหน้าที่ชักจูงชนทั้งปวง ออกจากสิ่งที่มิใช่ธรรมแท้ และช่วยให้เขาเหล่านั้นตั้งมั่นในกัลยาณธรรม…”3

“(นี่คือ) อริยวงศ์ทั้งสี่ ท่านทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สันโดษในจีวรตามที่ได้ (ที่ท่านมี) สรรเสริญความสันโดษดังนี้ และไม่แสวงหาจีวรโดยหนทางอันมิชอบ ไม่หดหู่เมื่อไม่ได้จีวร และเมื่อได้มา ก็ไม่โลภ ไม่หลง ไม่ติด ท่านย่อมใช้จีวรนั้นๆ อย่างเข้าใจในคุณประโยชน์ที่มุ่งหมาย และเห็นโทษที่อาจตามมา ทั้งไม่กระหยิ่มใจในความสันโดษของตน หรือทับถมผู้อื่น ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปใดก็ตามที่คล่องในกิจดังนี้ ไม่เกียจคร้าน หากมีสติและมุ่งเกื้อกูล ย่อมยืนหยัดอยู่ในอริยวงศ์ที่ดั้งเดิมแท้ ในทำนองเดียวกัน ภิกษุเป็นผู้สันโดษในบิณฑบาตตามที่ได้…ในที่พำนักอาศัยตามที่ได้… และที่สุด ท่านทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยินดีในการละ (อกุศล) และยินดีในการเจริญ (กุศล)…”4

“ใช่แต่เท่านั้น ท่านทั้งหลาย เขาย่อมสันโดษในปัจจัยตามที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจีวร บิณฑบาต ที่พำนักอาศัย หยูกยาป้องกันรักษาโรค ใช่แต่เท่านั้น ท่านทั้งหลาย เขาย่อมพากเพียรอยู่เป็นนิจ ในอันที่จะกำจัดอกุศลธรรม ปลูกฝังกุศลธรรม เจริญกุศลกิจทั้งปวงอย่างกวดขัน ไม่ลดละ และไม่ทอดทิ้งภารกิจดังกล่าว”5

“ภิกษุย่อมสันโดษในจีวร อันพอเพียงแก่การปกคลุมร่างกาย ในบิณฑบาต อันพอเพียงแก่ความต้องการของร่างกาย ย่อมจาริกท่องไป ดั่งนกที่มีปีกย่อมบินไป โดยเอาเพียงปีกของตนไปด้วย ฉะนั้น”6

“ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ หาได้เป็นทางดำเนินเพื่อหลอกลวงชาวบ้านไม่ หาได้เป็นไปเพื่อลาภ กำไร หรือชื่อเสียงไม่ หาได้เกี่ยวข้องกับการซุบซิบเล่าลือ หรือความคิดว่า “ขอคนทั้งหลายจงรู้จักฉันว่าเป็นดังนี้ๆ” ไม่ เปล่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ย่อมเป็นทางดำเนินไปสู่การรู้จักควบคุมตนเอง การละอกุศล เพื่อความหน่าย เพื่อความสิ้นไป (แห่งทุกข์) ต่างหาก”7

“ภิกษุทั้งหลาย คุณลักษณะสี่ประการนี้ ย่อมสอดคล้องกับธรรมที่แท้ ประการใดบ้างหรือ ความเห็นแก่ธรรมที่แท้ มิใช่เห็นแก่พยาบาท ความเห็นแก่ธรรมที่แท้ มิใช่เห็นแก่มารยา ความเห็นแก่ธรรมที่แท้ มิใช่เห็นแก่ลาภ ความเห็นแก่ธรรมที่แท้ มิใช่เห็นแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ”8

“ภิกษุทั้งหลาย ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นของทารุณ หยาบ เผ็ดร้อน ด้วยเหตุที่ต่างก็เป็นเครื่องกีดขวางต่อการบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งยิ่ง (คือนิพพาน) ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอจงฝึกฝนตน ว่าเราจะปล่อยวางลาภ ยศ และสรรเสริญ อันบังเกิดมีขึ้นแล้ว และลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี อันบังเกิดมีขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตใจของเรา…”

“ด้วยผู้ใดก็ตาม ที่มีจิตใจไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะได้รับยศ หรือหาไม่ก็ตาม ผู้รู้ย่อมสรรเสริญผู้นั้น ว่าเป็นสัตบุรุษ”9

“ทางหนึ่งนำสู่ความมั่งคั่ง อีกทางหนึ่งพารอดสู่นิพพาน หากภิกษุผู้เป็นศิษย์พระพุทธองค์ได้เรียนรู้ดังนี้ เขาย่อมไม่ไขว่คว้าหายศ เขาย่อมยินดีในการเจริญวิเวกธรรม”10

“ความมั่งคั่งย่อมทำลายคนเขลา แม้จะไม่อาจทำประการใดต่อผู้แสวงนิพพาน”11

ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า สำหรับคฤหัสถ์ ความยากจนหาได้รับการส่งเสริมไม่ ในทางตรงกันข้าม มีความในพระบาลีอยู่หลายตอนที่สนับสนุน ให้คฤหัสถ์แสวงหาและเพิ่มพูนโภคทรัพย์ในทางที่ถูกที่ควร นอกจากนี้ ผลานิสงส์ประการหนึ่งของการประกอบกรรมดี ก็คือ การเป็นผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์12 ข้อที่ควรตำหนิในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่งคั่ง ก็คือ ประการแรก การหามาโดยไม่ชอบธรรม ที่น่าตำหนิประการต่อไปก็คือ เมื่อบุคคลได้โภคทรัพย์มาแล้ว กลับตกเป็นทาสโดยยึดติดกับมันและเป็นทุกข์ ที่น่าตำหนิไม่น้อยไปกว่าการหามาโดยมิชอบก็คือ การพอกพูนโภคทรัพย์ และตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ยอมใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง แก่บริวาร และคนอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน การใช้จ่ายทรัพย์อย่างสุรุ่ยสุร่าย อย่างไม่ยั้งคิด หรือเป็นไปในทางสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ก็จัดเป็นอกุศลประการหนึ่ง

“และอะไรเล่า อุชชัย คือความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร บุคคลในตระกูลประกอบกิจต่างๆ เพื่อดำรงชีพ ไม่ว่าจะโดยการหว่านไถ การค้าขายหรือปศุสัตว์ เป็นนายขมังธนู รับราชการ หรือโดยงานฝีมือต่างๆ…เขาย่อมคล่องในกิจ ไม่ท้อถอย รู้จักพิจารณาคิดหามรรควิธีแห่งกิจนั้นๆ สามารถจัดแจง และประกอบการงานให้ลุล่วงไปได้ นี้แล คือความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร”13

“และอะไรเล่า คือสุขอันเกิดแต่โภคทรัพย์ ดูกรคหบดี กุลบุตร หาทรัพย์มาได้โดยบากบั่น เพิ่มพูนทรัพย์ด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยหยาดเหงื่อของตนโดยชอบธรรม เขาย่อมเสวยโภคทรัพย์ของตน และอาศัยโภคทรัพย์นั้นประกอบกุศลกรรมต่างๆ”14

“ดังนี้ ท่านผู้เป็นพ่อบ้าน ด้วยโภคทรัพย์อันได้มาด้วยความพากเพียรบากบั่น…และได้มาโดยชอบ ผู้เป็นอริยสาวกย่อมกระทำตนให้เป็นสุขและเบิกบาน เขาย่อมแสวงหาความสุขโดยชอบ และบำรุงมารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้และบริวาร ตลอดจนมิตรสหายให้เบิกบานและเป็นสุข เขาย่อมแสวงหาความสุขโดยชอบ นี้แล ท่านผู้เป็นพ่อบ้าน คือ โอกาสแรกอันเขาได้มา แล้วแปรให้เป็นกุศลกรรม โดยรู้จักใช้โอกาสนั้นอย่างเหมาะสม”15

“ภิกษุทั้งหลาย หากชนทั้งหลายได้ล่วงรู้ ดังที่ตถาคตได้ล่วงรู้ ถึงผลานิสงส์แห่งการรู้จักแบ่งปันลาภ เขาเหล่านั้นย่อมไม่เสพเสวยลาภโดยมิได้แบ่งปันให้ผู้อื่น ทั้งความตระหนี่ถี่เหนียวก็ไม่อาจรัดรึงจิตใจเขาได้ และแม้ลาภนั้นๆ จะเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่เขาเหลืออยู่ แม้จะเป็นอาหารที่เขามีเหลืออยู่เพียงน้อยนิด เขาย่อมไม่อาจเสพเสวยสิ่งเหล่านั้นได้ หากมิได้แบ่งปันกับผู้อื่น ซึ่งสมควรจะได้รับส่วนแบ่งปันนั้น”16

“โภคทรัพย์ของชนผู้มีใจหยาบ ย่อมหมดสิ้นไปเสียเปล่า ดั่งแหล่งน้ำอันชุ่มชื่น ที่ผุดขึ้นกลางดงดิบ หามีผู้ใดได้ดื่มกินไม่ จะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือ ก็เปล่า จะปันส่วนเป็นทานหรือ ก็หาไม่ ส่วนชนผู้ฉลาด มีใจหนักแน่น เมื่อได้โภคทรัพย์มา เขาย่อมใช้ให้เป็นประโยชน์ กระทำภาระของตนให้สำเร็จ บำรุงเครือญาติและเหล่ามิตรสหายให้เป็นสุข ดังนี้ เขาย่อมได้ชื่อว่ามีใจสูง ไร้ข้อพึงตำหนิ ครั้นเบื้องหน้าแต่ตายเมื่อกายแตก เขาย่อมไปสู่สุคติ”17

“คนตระหนี่จะไปสู่สุคติ หาได้ไม่ คนเขลาย่อมไม่รู้จักสรรเสริญความมีใจเอื้อเฟื้อแบ่งปัน”18

ดังนั้น ผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์ที่ควรได้รับการสรรเสริญ ก็คือ ผู้ที่รู้จักแสวงหาโภคทรัพย์ในทางที่ชอบ และรู้จักใช้โภคทรัพย์นั้นๆ ไปในทางที่เป็นประโยชน์ และเป็นไปเพื่อความสุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ฉะนั้น พุทธสาวกฝ่ายฆราวาส เมื่ออุดมด้วยโภคทรัพย์แล้ว ก็ย่อมสละโภคทรัพย์นั้นเป็นจำนวนมาก หรือโดยส่วนใหญ่ เพื่อสนับสนุนกิจของสงฆ์ และเพื่อบำบัดความทุกข์และความยากจนของผู้อื่น ตัวอย่างก็คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งในอรรถกถาธรรมบทบรรยายไว้ว่า เป็นผู้ที่ใช้เงินเป็นจำนวนมากทุกวัน เพื่อใส่บาตรพระจำนวนร้อย และเลี้ยงดูคนยากจนจำนวนร้อย19 อย่างไรก็ดี ในสังคมอุดมคติซึ่งผู้ปกครองเป็นผู้ทรงธรรม ทั้งระบบบริหารรัฐก็เป็นไปโดยชอบและมีประสิทธิภาพ ย่อมปราศจากคนยากจน เพราะอย่างน้อยที่สุด ราษฎรทุกคนย่อมสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จะมีก็เพียงพระสงฆ์เท่านั้น ซึ่งเป็นชุมชนอิสระเพียงชุมชนเดียว ที่ท่านจงใจจัดให้ต้องอาศัยโภคทรัพย์ส่วนเกิน จากสังคมคฤหัสถ์ในการยังชีพ

คฤหัสถ์ชาวพุทธที่แท้ เป็นผู้ซึ่งไม่เพียงแต่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบ และใช้จ่ายโภคทรัพย์นั้น เพื่อประโยชน์ทั้งปวง หากเป็นอิสระทางจิตวิญญาณในแง่ที่ไม่ยึดติด หมกมุ่น หรือตกเป็นทาสของโภคทรัพย์นั้นๆ ด้วย ตรงนี้เอง ที่โลกียธรรมและโลกุตตรธรรมจะเชื่อมโยงและดำเนินไปด้วยกัน พระพุทธเจ้าทรงแบ่งคฤหัสถ์หรือผู้เสพอามิสสุขออกเป็นสิบจำพวกด้วยกัน เกณฑ์ในการแบ่งนี้ประกอบด้วย การแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบหรือมิชอบ การใช้จ่ายโภคทรัพย์นั้นๆ เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ผู้อื่น และเพื่อกุศลกรรมทั้งปวง หรือหาไม่ ตลอดจนท่าทีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโภคทรัพย์นั้นๆ ว่าเป็นไปโดยความโลภ ความติดยึด หรือเป็นไปโดยชอบด้วยปัญญาอย่างเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ ในบรรดาประเภทของคฤหัสถ์นี้ จำพวกที่สิบ พระพุทธเจ้าทรงจัดว่าเป็นชาวบ้านชนิดที่เลิศ ประเสริฐ และเป็นอุดมบุคคล อันควรแก่การสรรเสริญ เพราะเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขเบิกบาน ทั้งทางโลกียวิสัยและโลกุตตรวิสัย คุณสมบัติของคฤหัสถ์ดังกล่าว ประกอบด้วยรายละเอียดสี่ประการ ดังนี้

ก) โลกียวิสัย

    ๑. แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบ มิใช่โดยทุจริต
    ๒. ใช้จ่ายโภคทรัพย์นั้น เพื่อเลี้ยงตนให้เป็นสุขและเบิกบาน
    ๓. แบ่งปันโภคทรัพย์แก่ผู้อื่น และใช้ในการประกอบกุศลกรรมทั้งปวง

ข) โลกุตตรวิสัย

    ๔. ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ อย่างไม่โลภ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่หมกมุ่นติดยึด ทั้งยังมีสติเท่าทันเห็นโทษภัย กอปรด้วยปัญญาอันช่วยให้ครองตนได้อย่างเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ20

บุคคลดังนี้แหละ ที่ได้ชื่อว่าเป็นอริยสาวก กล่าวคือ เป็นบุคคลผู้เจริญการบรรลุธรรมส่วนตนได้มาก ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การที่โลกียธรรมและโลกุตตรธรรมดำเนินไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง เสริมสร้างให้บุคคลเป็นผู้เต็มพร้อม และประกอบกันเข้าเป็นสาระทั้งหมดของพุทธจริยศาสตร์ที่เป็นเอกภาพ โดยมีโลกุตตรธรรมเป็นส่วนสมบูรณ์หรือเป็นปริโยสาน

อย่างไรก็ตาม แม้โภคทรัพย์จะประกอบด้วยอรรถประโยชน์ถึงเพียงนี้ ก็ไม่ควรให้ความสำคัญกันจนเกินไป เพราะอรรถประโยชน์ของโภคทรัพย์นั้น เมื่อโยงให้สัมพันธ์กับการบรรลุจุดมุ่งหมายในระดับปรมัตถ์แล้ว ย่อมมีขีดจำกัดอันพึงตราไว้ด้วย กล่าวคือ แม้ความยากจนจะเป็นสิ่งที่พึงกำจัดไปจากสังคม ก็หาได้หมายความว่า คนยากจนจะไม่มีวิธีบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมได้ จริงอยู่ หนทางแห่งการประกอบกรรมดี (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) นั้นเริ่มต้นด้วย ทาน หรือการบริจาค แต่ถึงกระนั้น หนทางนี้ยังรวมถึงข้อประพฤติปฏิบัติทางศีล การเจริญคุณภาพของจิต และปัญญา การบริการรับใช้ ตลอดจนการสั่งสอนธรรมด้วย ความยากจนย่อมทำให้บุคคลต้องกังวลอยู่กับการดิ้นรนอยู่รอด ฉะนั้นจึงไม่สามารถเจริญธรรมในส่วนตนได้ ในหลายกรณี อาจต้องกลายเป็นบุคคลผู้ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม และอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ผู้อื่น ในอันที่จะเพียรบำเพ็ญธรรมส่วนตนได้ แต่เมื่อเขาพร้อมด้วยปัจจัยพื้นฐานแล้ว ซึ่งอาจจะสำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือของผู้อื่น หรือของสังคม และหากเขาฉลาดพอ มีจิตพร้อม และเพียรพยายาม ก็ย่อมไม่มีเหตุอันใดที่จะขัดขวางไม่ให้บรรลุธรรมส่วนตนได้ โภคทรัพย์ในฐานะที่เป็นพื้นฐานในการทำประโยชน์ส่วนรวม ย่อมช่วยให้เกิดเงื่อนไขที่จะสนับสนุนการบรรลุธรรมส่วนตนได้

กระนั้นก็ดี หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การเจริญจิตเจริญปัญญาที่แก่กล้าสุกงอมแล้วต่างหาก ที่ทำให้บุคคลบรรลุปรมัตถธรรม หาใช่โภคทรัพย์ไม่ ในทางตรงกันข้าม การไม่รู้จักใช้โภคทรัพย์ หรือการใช้โภคทรัพย์ไปในทางที่ผิดนั้น ไม่เพียงแต่จะกีดขวางการพัฒนาธรรมส่วนตนเท่านั้น หากในหลายกรณี ยังเป็นอันตรายต่อความดีงามของสังคมด้วย คนมั่งมีย่อมกระทำทั้งคุณและโทษต่อสังคมได้มากกว่าคนยากจน โภคทรัพย์ของคนดีย่อมเป็นโภคทรัพย์ของสังคม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นทางให้เกิดความดีงามในสังคมได้ และเท่ากับเป็นทรัพย์ที่เป็นทุนสำหรับสมาชิกทั้งหมดของสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องไม่เสียหายหากโภคทรัพย์ที่มากขึ้นของบุคคล หมายถึงชีวิตที่ดีของชุมชนและสังคมที่เขาอาศัยอยู่ แต่หากโภคทรัพย์นั้นพอกพูนขึ้นด้วยการก่อความเสียหายแก่เพื่อนร่วมสังคม โภคทรัพย์นั้นย่อมเป็นอันตราย และกลับกลายเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข หากโภคทรัพย์ส่วนบุคคลมิได้เป็นโภคทรัพย์ของสังคม และไม่เป็นทางอันนำมาซึ่งความดีงามในสังคม สังคมอาจจะต้องหาวิธีจัดสรรการถือครองโภคทรัพย์กันเสียใหม่ และกระจายโภคทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อยังให้เกิดความดีงามและความอุดมด้วยโภคทรัพย์อย่างทั่วถึง อันจะเป็นรากฐานต่อการพัฒนา และการบรรลุธรรมส่วนบุคคล แก่สมาชิกทั้งมวลของสังคมต่อไป

กล่าวโดยสรุป ท่าทีของพุทธศาสนาที่มีต่อโภคทรัพย์นั้น ย่อมเหมือนกับท่าทีที่มีต่ออำนาจ ชื่อเสียง และยศศักดิ์ ความข้อนี้ ปรากฏชัดในพระดำรัสของพระเจ้าอโศกบนจารึกศิลา โองการที่ ๑๐ ที่ว่า “พระเจ้าปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักของเทพทั้งปวง หาได้ถือว่ายศถาบรรดาศักดิ์ และความรุ่งเรืองทั้งปวง มีความหมายอันใดไม่ หากการแสวงหายศและความรุ่งเรืองนั้นๆ มิได้เป็นไปเพื่อว่า ราษฎรทั้งปวงจะได้สดับในธรรมประกาศ และสามารถดำรงตนในธรรมปฏิบัตินั้นๆ ได้”

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างการบรรลุธรรมส่วนบุคคลกับความดีงามทางสังคมระบบพุทธจริยศาสตร์ >>

เชิงอรรถ

  1. องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๑๖/๓๙๓-๓๙๕
  2. องฺ.เอก. ๒๐/๑๔๗/๓๑
  3. องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๘๘/๑๓๐
  4. ที.ปา. ๑๑/๒๓๗/๒๓๖; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๘/๓๕
  5. ที.ปา. ๑๑/๓๕๗/๒๘๑; ๔๖๖/๓๓๔; องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗/๒๖
  6. เช่น องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๙๘/๒๘๔
  7. องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๕/๓๓
  8. อง.จตุกก. ๒๑/๔๓/๕๙; ๘๔/๑๐๙
  9. สํ.นิ. ๑๖/๕๕๗-๙/๒๗๒-๓
  10. ขุ.ธ. ๒๕/๑๕/๒๔
  11. ขุ.ธ. ๒๕/๓๔/๖๓
  12. ตัวอย่างเช่น องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๙๗/๒๗๖; กับดู จูฬกัมมวิภังคสูตร ใน ม.อุ. ๑๔/๕๗๙/๓๗๖
  13. องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๔๔/๒๙๐
  14. องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๒/๙๐
  15. องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๑/๘๘; เทียบ องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๑/๔๘
  16. ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๔/๒๔๓
  17. สํ.ส. ๑๕/๓๘๗-๙/๑๓๐-๒
  18. ขุ.ธ. ๒๕/๒๓/๓๘
  19. นามจริงของเศรษฐีผู้นี้คือ สุทัตตะ สมญาที่ได้นั้นหมายความว่า ‘ผู้แจกจ่ายอาหารแก่ผู้ยากไร้’ อันเนื่องมาแต่ทานสงเคราะห์ของท่านนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐีตระหนี่กลับใจมาเป็นเศรษฐีใจบุญอยู่มาก ใน อรรถกถาธรรมบท และ ชาดก
  20. สํ.สฬ. ๑๘/๖๓๑/๔๐๘; องฺ.ทสก. ๒๔/๙๑/๑๘๘ (ความแตกต่างระหว่างโลกียะกับโลกุตตระนี้ ผู้เขียนจำแนกโดยอาศัยพุทธพจน์ว่าด้วยอริยสาวกเป็นเกณฑ์ตัดสิน)

No Comments

Comments are closed.