การประหยัด คือแบบฝึกหัดแรกที่รอพิสูจน์คนไทย

5 กรกฎาคม 2541
เป็นตอนที่ 10 จาก 11 ตอนของ

การประหยัด คือแบบฝึกหัดแรกที่รอพิสูจน์คนไทย

แม้แต่การประหยัดก็ต้องมีแง่ความหมายว่า การประหยัดที่แท้คืออย่างไร ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปของการประหยัดคือการกินน้อยใช้น้อย ให้สิ้นเปลืองน้อยๆ ซึ่งก็ดีในระดับหนึ่ง แต่อาจจะแคบไป และอาจจะมาพร้อมด้วยการเสียสุขภาพจิตก็เป็นได้

ตัวอย่างเช่น พ่อแม่อาจจะบอกลูกว่า เงินทองเราน้อยลง ต่อไปนี้ลูกจะต้องใช้เงินน้อยๆ หน่อย ลูกบางคนก็อาจจะเห็นเหตุผลและร่วมมือ แต่หลายคนก็อาจจะไม่สบายใจ เคยใช้จ่ายง่ายสะดวก ก็ต้องมายับยั้งตัวเอง คือต้องถูกบีบคั้นนั่นเอง จะกินใช้อะไรก็รู้สึกบีบคั้นไปหมด ใช้เงินใช้ทองก็ไม่ค่อยจะได้ ก็ทุกข์สิ สุขภาพจิตก็เสีย

ฉะนั้นเราจะต้องมีวิธีการประหยัดที่ถูกต้อง คือประหยัดแบบฝึกฝนพัฒนาคน หมายความว่าจะต้องเอาการประหยัดมาเป็นเครื่องฝึกคน

ถ้ามองในแง่การฝึก การประหยัดก็คือการพัฒนาความสามารถ พัฒนาอย่างไร เรามาดูความหมายของการประหยัดกันใหม่

การประหยัดคืออะไร คือการใช้ของน้อยที่สุดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด หนูมีเงินเท่านี้หนูจะสามารถใช้มันให้ได้ประโยชน์มากที่สุดอย่างไร มันจะเป็นเครื่องทดสอบความสามารถของหนูนะ เอ้า ลองคิดดูซิว่า ถ้าเรามีเงิน ๑๐๐ บาท เราจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร

การประหยัดแบบฝึกนี้ ได้ผลถึง ๓ อย่างพร้อมกัน คือ

๑. ใช้จ่ายน้อย ไม่สิ้นเปลือง

๒. พัฒนาความสามารถของเด็ก ทำให้เด็กต้องคิดว่าเราจะใช้เงินอย่างไร ให้เงินน้อยที่สุดได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะจะพัฒนาด้วยการรู้จักใช้ความคิด รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ ฝึกปัญญาในการวางแผน

๓. สุขภาพจิตดี มีความสุข เพราะเด็กจะภูมิใจว่าเราใช้เงินแค่นี้สามารถทำประโยชน์ได้มาก และภูมิใจที่มีความสามารถนั้น แกก็ดีใจและมีความสุขว่าตัวได้และทำได้ ไม่ใช่เสีย แทนที่จะเสียใจมีความทุกข์เพราะต้องถูกบีบถูกคั้นให้ใช้เงินน้อย ก็กลับตรงข้าม กลายเป็นดีไป

นี่เป็นตัวอย่างของการที่จะใช้วิกฤตเป็นโอกาส และประหยัดให้เป็นประโยชน์ วิกฤตจะฝึกมนุษย์ได้มากมายถ้าเราใช้เป็น แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็มัวแต่มาทุกข์ระทมตรอมตรมซบเซาจับเจ่า หรือไม่ก็รอผลดลบันดาลอย่างที่ว่าแล้ว

นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เรื่องต่างๆ มีแง่มองให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น แต่เรื่องประหยัดนั้นตรงกับสถานการณ์ขณะนี้ เพราะฉะนั้นจึงขอให้เปลี่ยนความหมายของการประหยัด ที่ว่าเป็นการจำเป็นจำใจใช้น้อยบีบคั้นตัวเอง ต้องลำบากในการใช้เงิน ไม่ได้ของที่อยากได้อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นความทุกข์นี้ เปลี่ยนให้มาเป็นการฝึกความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่เป็นการพัฒนามนุษย์

โดยเฉพาะก็คือเด็กหรือเยาวชนนั้นจะต้องเน้นให้มาก ฝึกให้ดีเลยว่าหนูจะใช้ของน้อยนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เด็กก็จะใช้น้อยอย่างมีความสุข พร้อมไปกับการฝึกฝนพัฒนาตัวเอง คือพัฒนาความสามารถ โดยเฉพาะในทางปัญญา เช่นเด็กจะรู้จักวางแผน และมีวินัยในทางความคิด

ขอให้รู้ทันว่าความทุกข์มากมายที่ฝรั่งเจอมาทำให้เขาเป็นนักวางแผน ไม่ใช่ว่าฝรั่งเก่งอะไรพิเศษ แต่เป็นเรื่องของคนเมื่อเจอทุกข์ ประสบปัญหา มีทั้งภัยจากมนุษย์ด้วยกัน และภัยจากธรรมชาติ ล้วนเป็นบทเรียนและแบบฝึกหัดจากชีวิตจริงที่ประสบการณ์มาสอน ทำให้ต้องคิดแก้ปัญหา การแก้ปัญหานั้น ก็มีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว ทำให้ต้องคิดวางแผน ทั้งวางแผนก็เก่งขึ้น และยอมทำการหนักเหนื่อยที่เป็นเรื่องระยะยาวได้ด้วยความอดทน

คนไทยไม่ค่อยมีอย่างนี้ เราทำอะไรก็ทำกันระยะสั้นๆ แม้แต่จะวางโครงการอะไรสักอย่าง เราก็ไม่ค่อยคิดทำระยะยาว ฝรั่งกว่าจะจัดสัมมนาทีบางทีคิดสองปี วางแผนกันนาน คนไทยเราไปเห็นก็นึกว่าแปลก ทำไมฝรั่งคิดกันนานนัก เขาเคยถูกบีบคั้นมานาน ทุกข์ภัยทำให้เขาต้องหาทางแก้ปัญหา แม้แต่สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ต่างกันมากในฤดูกาลต่างๆ ของแต่ละปี ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นความตาย หรือความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างมาก ก็สอนให้เขาต้องเตรียมการกันอย่างจริงจัง การวางแผนก็เกิดขึ้น

ถ้าเด็กประสบภาวะอย่างนี้แล้วเรามีแบบฝึกหัดให้ทำ แกจะเริ่มรู้จักวางแผน การวางแผนจะมาพร้อมด้วยการใช้ปัญญา และมนุษย์จะพัฒนาในการแก้ปัญหา ตัวอย่างก็คือการประหยัดนี่แหละที่บอกว่า เอ้า…ใช้เงินน้อยให้ได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วเด็กก็คิดวางแผนการใช้เงิน พัฒนาความสามารถและสติปัญญา พร้อมกับมีสุขภาพจิตดีไปด้วย

คิดว่าได้พูดมานานจะหมดเวลาแล้ว ก็เอาเท่าที่นึกออกขณะนี้ก็แล้วกัน ที่พูดมานี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้ามีคำถามอะไรก็อาจจะคุยกันนิดหน่อย อาจารย์คงจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาสอบถาม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ชีวิตจะรุ่งเรือง สังคมจะเลิศล้ำ ต้องหมั่นทำแบบฝึกหัดไม่ว่างเว้นตอบนักศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.