วิกฤตเศรษฐกิจยังไม่เท่าไร เรื่องใหญ่แท้คือวิกฤตคุณภาพของคน

5 กรกฎาคม 2541
เป็นตอนที่ 4 จาก 11 ตอนของ

วิกฤตเศรษฐกิจยังไม่เท่าไร
เรื่องใหญ่แท้คือวิกฤตคุณภาพของคน

ขอพูดว่า ประเทศไทยปัจจุบันมิได้มีเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น วิกฤตเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องเบา หรือเป็นเรื่องเล็กกว่า เป็นเรื่องที่ปรากฏให้เห็นบนผิวหน้าเท่านั้น แต่เรามีวิกฤตที่ร้ายแรงยิ่งกว่าอยู่เบื้องหลัง และเราได้เดินเข้าสู่วิกฤตนี้มานานพอสมควรทีเดียว การที่มีวิกฤตเศรษฐกิจนี่แหละเป็นตัวบีบกระแทกที่มาช่วยให้เราตื่นขึ้นมา และจะทำให้เกิดผลดีถ้าเรารู้จักปฏิบัติต่อมันให้ถูก

วิกฤตอะไรที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ขอเรียกว่าวิกฤตคุณภาพมนุษย์ เราอยู่ในภาวะนี้มานานแล้ว ถ้าเราไม่เจาะลึกให้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจไปถึงวิกฤติคุณภาพคนแล้ว เราจะแก้ปัญหาไม่ได้

วิกฤติคุณภาพคนนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราจะต้องแก้ปัญหาที่คุณภาพคนให้ได้ สังคมไทยนั้นมีปัญหามานานใน ๒ เรื่อง เป็นอย่างน้อย เราเป็นอย่างนั้นมานานแล้วในยุคทำลายนั่นแหละ และเวลานี้มันก็ยังไม่หมดไป สองอย่างคืออะไรบ้าง

  1. ลัทธิบริโภคนิยม
  2. ลัทธิรอผลดลบันดาล

ขอให้สังเกตดู สังคมไทยมีสภาพ ๒ อย่างนี้แพร่หลายครอบคลุมหรือครอบงำทั่วไปหมด

ลัทธิบริโภคนิยมนั้น เป็นโลกาภิวัตน์ คือแผ่ไปครอบคลุมหรือครอบงำทั่วทั้งโลก โดยที่ไทยเรามีส่วนร่วมอยู่ด้วย แต่ลัทธิรอผลดลบันดาล เป็นแค่เทศาภิวัตน์ คือครอบคลุมหรือครอบงำเฉพาะถิ่นเฉพาะประเทศ ดังเช่นประเทศไทยของเรานี้ คงปฏิเสธไม่ได้

ในแง่บริโภคนิยม เราอาจจะเพลินพูดแก้ตัวว่า อ้าว ตอนนี้สังคมทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะอเมริกาเขายังอวดตัวว่าเขาเป็นสังคมบริโภคนิยมเลย เราก็เป็นบริโภคนิยม แสดงว่าเราก็เจริญในทำนองเดียวกัน คล้ายกับอเมริกานั่นแหละ

การมองอย่างนี้เป็นการมองแบบฉาบฉวยผิวเผิน ไม่ได้พิจารณาอะไรลึกลงไป ขอให้มองดูง่ายๆ สังคมอเมริกันที่เรียกตัวว่าเข้าสู่ภาวะเป็นสังคมบริโภคนิยม

  1. พวกเขาพอใจอย่างนั้นหรือเปล่า
  2. สภาพที่เป็นบริโภคนิยมของเขานั้น เทียบกับภูมิหลังของเราเป็นอย่างไร

สังคมอเมริกันนั้น มีภาวะบริโภคนิยมปรากฏเด่นชัดขึ้นมา บนพื้นฐานเดิมที่เป็นสังคมของนักผลิต เนื่องจากภูมิหลังที่มีพื้นเป็นสังคมผลิตนั้น เมื่อภาวะบริโภคนิยมปรากฏขึ้นมาจึงเด่นชัดมาก และจุดเด่นจึงย้ายจากการผลิตมาอยู่ที่การบริโภค ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองได้เปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภคนิยมแล้ว แต่ในความเป็นจริงภูมิหลังหรือพื้นฐานที่รองรับอยู่ก็คือความเป็นนักผลิตที่สืบเนื่องมานาน

สังคมที่เจริญด้วยอุตสาหกรรมมาแต่เดิม ก็คือสังคมนักผลิต เพราะฉะนั้นสังคมอเมริกันจึงมีความเป็นสังคมบริโภคพร้อมอยู่ด้วยกันกับความเป็นสังคมผลิต หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นว่ามีความเป็นสังคมบริโภคซ้อนอยู่บนความเป็นสังคมผลิต ตอนนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่า ความเป็นนักผลิตที่เป็นพื้นฐานมาแต่เดิมในภูมิหลังของอเมริกา จะอ่อนแอลงด้วยอิทธิพลของบริโภคนิยมแค่ไหน ซึ่งก็ปรากฏเหมือนเป็นการต่อสู้กันอยู่ในขณะนี้

คนอเมริกันรุ่นเก่าหน่อย รุ่นอายุ ๔๐–๕๐ ปี มักจะติเตียนคนรุ่นใหม่ว่า คนรุ่นใหม่นี้สำรวย หยิบโหย่ง เกียจคร้าน ไม่สร้างสรรค์ ขาด work ethic คือไม่มีจริยธรรมแห่งการทำงาน เขาร่ำร้องกันว่าในสังคมอเมริกันนี้ work ethic ซึ่งเคยเป็นที่ภูมิใจของเขาหายไปไหน ขอให้สำรวจดูเถอะ หนังสือจำพวก Current Affairs ของอเมริกันเวลานี้จำนวนมากจะพูดถึงเรื่องนี้ บางเล่มทั้งเล่มจะเป็นคล้ายๆ งานวิจัย เพื่อดูว่าเพราะเหตุใดสังคมอเมริกันจึงเสื่อมจาก work ethic เช่น หนังสือเล่มหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า Why America Doesn’t Work? (ทำไมอเมริกาจึงไม่เวิร์ค) รวมความว่า การร่ำร้องว่า work ethic หายไปไหนปรากฏทั่วไป

ที่ว่ามานี้ก็คือการที่คนอเมริกันเองเขาไม่พอใจ ในการที่สังคมของเขาได้กลายมาเป็นสังคมบริโภคนิยม และเห็นว่าเป็นการเดินลงสู่ความเสื่อม สิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นพลังที่ทำให้เขาสร้างสรรค์มา ก็คือความเป็นนักผลิต เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ทันต่อความจริงว่า แม้แต่ในขณะที่เขามีความเป็นนักบริโภคที่เพิ่งจะเริ่มมาไม่นานเพียงเท่านี้ เขายังโอดโอยขนาดนี้ เขายังกลัวโดยเห็นว่าเป็นความเสื่อม จึงเห็นได้ชัดว่า คนอเมริกันรู้ว่าเบื้องหลังเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเจริญ คือความเป็นนักผลิต ไม่ใช่ความเป็นนักบริโภค

หันมามองสังคมของเราบ้าง คนไทยเวลานี้พากันภูมิใจในความเป็นนักบริโภค นี้ก็คือภูมิใจในตัวเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเสื่อม ยิ่งตัวเองไม่มีพื้นฐานของความเป็นนักผลิตมาก่อนด้วย ก็จึงเป็นนักบริโภคอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็จะต้องเสื่อมอย่างแน่นอน

ถ้าจะเทียบกันง่ายๆ ระหว่างไทยกับอเมริกาที่มาอยู่ในยุคบริโภคนิยมด้วยกันนี้ ของอเมริกาเป็นบริโภคนิยมของนักผลิต แต่ของไทยเป็นบริโภคนิยมของนักบริโภคที่แท้ เมื่อต่างกันอย่างนี้ ใครจะเป็นอย่างไรก็คิดได้เลย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าเก่งจริง ต้องเอาประโยชน์จากทุกข์ภัยให้ได้ถ้าเป็นนักบริโภคที่ขาดความเป็นนักผลิต ถึงแม้เจริญก็เป็นเพียงภาพลวงตา >>

No Comments

Comments are closed.