ตัวอย่างภารกิจของการศึกษา: การพัฒนาวัฒนธรรม

10 กรกฎาคม 2530
เป็นตอนที่ 9 จาก 10 ตอนของ

ตัวอย่างภารกิจของการศึกษา:
การพัฒนาวัฒนธรรม

มานะ ทำให้คนเพียรพยายามเพราะต้องการให้ตัวเด่น เพื่อเชิดชูยกตัว เห็นแก่ตัว ให้ความสำคัญแก่ตนเอง แต่ฉันทะทำให้คนเพียรพยายาม เพราะต้องการธรรม เห็นแก่ธรรม ให้ความสำคัญแก่ธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ฉันทะ ในที่นี้ หมายถึงฉันทะในธรรม เรียกเต็มว่า ธรรมฉันทะ หมายถึงความรักธรรม ความปรารถนาใฝ่ใจในความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เราจะต้องเร้าฉันทะนี้ขึ้นมาแทนมานะ เร้าให้คนเพียรพยายามเพื่อจะแสวงหาความรู้และทำการสร้างสรรค์ ทั้งใฝ่ความจริง ใฝ่ปรารถนาต่อความจริง คือใฝ่รู้ ต้องการรู้ และใฝ่ความดีงาม คือใฝ่ทำสิ่งที่ดีงาม ต้องการสร้างสรรค์ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้น แล้วก็ใช้ฉันทะนี้เร้าความเพียรให้เกิดขึ้น

ฉันทะให้ความสำคัญแก่ธรรมะ ตรงข้ามกับมานะที่ให้ความสำคัญแก่ตนเอง เมื่อมานะให้ความสำคัญแก่ตัวเอง เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ฉันไม่แพ้ ไม่ว่าจะโดยดีหรือโดยร้าย สุจริตหรือทุจริต หรือด้วยเล่ห์กลอะไรก็ตาม แต่ถ้ามีฉันทะ เรายอมแพ้ได้เพื่อเห็นแก่ธรรมเพื่อให้ธรรมะนั้นยิ่งใหญ่ คือเรายอมให้แก่ธรรม ยอมให้แก่ความเป็นธรรม แก่ความชอบธรรม ไม่ได้ยอมแพ้คน ถ้าเรายอมเพื่อธรรม เพื่อเห็นแก่ธรรม เรายอมได้เพื่อให้ความสำคัญแก่ธรรม ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตย คือการถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรมฉันทะก็ดี ธรรมาธิปไตยก็ดี เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนา แม้แต่การพัฒนาการปกครองที่เรียกว่าพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ถ้าไม่สร้างสรรค์ธรรมฉันทะ และธรรมาธิปไตยนี้ให้เกิดขึ้น ก็จะไม่มีทางสำเร็จ

ในการพัฒนาประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ คนของเราส่วนมากยังตกอยู่ในอำนาจครอบงำของมานะ หรือไม่ก็ตัณหา หรือทั้งสองอย่างหนุนกัน เรายังติดในกิเลสนี้เป็นตัวหลักสำคัญอยู่เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น เราจึงยอมแพ้ไม่ได้ตั้งแต่เล่นกีฬา จนถึงเลือกตั้งเข้าสภา มานะเป็นแรงขับดัน ธรรมะจะเป็นอย่างไรช่างมัน ขอให้ฉันไม่แพ้ก็แล้วกัน แต่ถ้าเป็นธรรมฉันทะและธรรมาธิปไตย ฉันยอมได้เพื่อเห็นแก่ธรรม

ตัณหาคู่กับมานะ เช่นเดียวกับที่ธรรมฉันทะคู่กับธรรมาธิปไตย ตัณหาเห็นแก่ประโยชน์ของตัว มานะก็เห็นแก่ความสำคัญของตัว รวมแล้วก็คือเห็นแก่ตัว เมื่อทำการด้วยตัณหาและมานะ ก็ยอมสละความถูกต้องชอบธรรม สละความดีงามได้ ยอมเสียธรรม เพื่อให้ตัวได้ เพื่อให้ตัวยิ่งใหญ่สำคัญ แต่ตรงข้ามจากนั้น ธรรมฉันทะ รักธรรม ธรรมาธิปไตย ก็ถือธรรมเป็นสำคัญ รวมแล้วก็คือเห็นแก่ธรรม เมื่อรักธรรม ถือธรรมเป็นสำคัญ ก็ยอมได้เพื่อเห็นแก่ธรรม ยอมสละตัว ยอมสละผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ของตัวได้ เพื่อให้ธรรมยิ่งใหญ่สำคัญ ประชาธิปไตยนั้นอยู่ได้ด้วยอะไร จะเกิดขึ้นได้ด้วยอะไร ก็เกิดขึ้นได้ด้วยการที่คนให้ความสำคัญแก่ธรรม ให้ความสำคัญแก่ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และนี่ก็คือการสร้างสรรค์พัฒนาประชาธิปไตย และการพัฒนาทุกอย่างที่ถูกต้อง การศึกษาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาชีวิตและสังคม ก็จะต้องพัฒนาธรรมฉันทะ และธรรมาธิปไตยนี้ให้สำเร็จ

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตัวอย่างการวิเคราะห์ตนเอง: ความคลาดเคลื่อนในวัฒนธรรมแนวคิดเบื้องต้นของการศึกษาแนวพุทธ >>

No Comments

Comments are closed.