ตัวอย่างการวิเคราะห์ตนเอง: ความคลาดเคลื่อนในวัฒนธรรม

10 กรกฎาคม 2530
เป็นตอนที่ 8 จาก 10 ตอนของ

ตัวอย่างการวิเคราะห์ตนเอง:
ความคลาดเคลื่อนในวัฒนธรรม

ทีนี้ ในส่วนเนื้อหารายละเอียด เนื่องจากเหลือเวลาน้อยเต็มทีแล้ว ก็อยากจะยกตัวอย่างสักนิดหน่อยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตนเอง โดยใช้โยนิโสมนสิการลองวิเคราะห์วัฒนธรรมของเราเองนี้ดู ตัวอย่างหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ คนไทยมีพื้นฐานทางจิตใจเป็นอย่างไร ขอพรรณนาลักษณะนิสัยบางอย่างของคนไทยก่อน รวมทั้งที่พูดมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ด้วย ตามที่ว่าๆ กันอยู่ คนไทยเรานิยมความมีหน้ามีตา โก้ เอาเด่นคนเดียว ไม่ยอมลงกัน ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ทำงานเป็นทีมแล้วแตกกันหมด ไม่ยั่งยืน และเมื่อมีใครทำอะไรดี มีความสามารถเด่นขึ้นมา ก็ไม่ส่งเสริมกัน คอยปัดแข้งปัดขากัน ชอบอวดโก้ อวดฐานะ จัดงานจัดการก็มุ่งที่ความมีหน้า มีตา ไม่ว่าชาวชนบทหรือชาวกรุง อย่างชาวบ้านนอกตอนนี้ วัดต่างๆ ถ้าสร้างโบสถ์ก็สร้างแข่งกันว่า โบสถ์ใครจะใหญ่กว่ากัน โบสถ์ของเราต้องใหญ่กว่าโบสถ์ของพวกนั้น ตำบลโน้น โบสถ์เราต้องใหญ่ที่สุดในเมืองนี้ ในอำเภอนี้ ในจังหวัดนี้ หรือบางถิ่นก็แข่งขันสร้างเมรุว่า ฉันสร้างเมรุเผาศพที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอนี้ ในจังหวัดนี้ นี่เป็นเรื่องของการชอบความโก้ ความมีหน้ามีตา ความยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น แม้แต่จะให้ทำความเพียรพยายามอะไร ก็ต้องเร้าด้วยตัวล่อนี้ คือตัวความต้องการยิ่งใหญ่

สมัยก่อนนี้ ผู้ใหญ่คนเก่าๆ บอกเด็กว่าให้ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ ให้พากเพียรเรียนไป ให้มีมานะบากบั่น ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน นี่ก็หมายความว่า แม้แต่จะให้ทำความเพียรพยายาม แม้แต่จะให้ทำความดี ก็ต้องยุด้วยเอาความยิ่งใหญ่ เอาความใหญ่โตโก้โอ่อ่าขึ้นมาเป็นเครื่องเร้า การที่เรารับเอาวัฒนธรรมภายนอก รับเอาระบบวิธีการต่างๆ เข้ามา ก็เพราะประกอบไปด้วยความรู้สึกนี้ด้วย คือประกอบไปด้วยความรู้สึกว่าโก้ เป็นของนอก เราจึงรับเข้ามา นี่เป็นพื้นใจในการรับ ทำไมเราจึงชอบของนอกมาก ก็เพราะรู้สึกโก้ ทีนี้ถ้าเกิดว่ามีของไทยเราทำดีขึ้นมา อาจจะดีกว่าของนอกหรือดีไม่แพ้กัน เราก็ยอมรับไม่ได้ เราไม่ส่งเสริมคนที่ทำนั้นด้วย ไม่ยกย่องเชิดชู เพราะกลัวว่าเขาจะใหญ่จะเด่นเหนือเรา ความดีเด่นของเขาจะกระทบกระแทกกดข่มตัวตนของเรา และเราก็ไม่ยอมรับของนั้น แต่ถ้าของนอกเข้ามา คนที่ทำของนั้นอยู่ห่างไกลออกไป ความดีเด่นของเขาก็ไม่มากระทบกระทั่งตัวเรา และเราก็มีค่านิยมที่ชื่นชมนิยมของนอกอยู่แล้ว เราก็รับเข้ามาในลักษณะที่กลายเป็นของโก้ไป พฤติกรรมทั้งหมดนี้ มาจากพื้นฐานจิตใจอันเดียวกันทั้งหมด พื้นฐานจิตใจอันนี้คือ กิเลส ที่เรียกว่า ‘มานะ’

การที่คำว่า มานะ ได้มีความหมายเพี้ยนไปในสังคมไทยนี้ เข้าใจว่าจะเป็นเครื่องส่ออย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่า คนไทยได้เอามานะมาปลูกฝังเป็นภูมิธรรมสำคัญสำหรับใช้ในการกระตุ้นคนให้เพียรพยายาม ให้ทำแม้แต่ความดีงามต่างๆ จนกระทั่งว่า ‘มานะ’ ได้มีความหมายเพี้ยนไปเป็นสิ่งที่ดี กลายเป็นความเพียรพยายามไป แต่ความจริงมานะไม่ใช่ตัวความเพียร แต่เป็นตัวกระตุ้นให้เพียร เป็นตัวพลังที่เราเอามาเร้า ‘หนูจงมานะพากเพียรไปนะ ต่อไปจะได้ใหญ่โต เป็นเจ้าคนนายคน’ หรือ ‘จงมีมานะร่ำเรียนไปเถิด’ มานะในความหมายที่แท้ซึ่งแฝงอยู่ก็คือ ความต้องการเป็นใหญ่ ต้องการโดดเด่น แล้วเราก็เอามานะนี้มาใช้เป็นตัวกระตุ้นเร้าคนของเราให้เพียรพยายามกันเรื่อยมาจนเพลินไม่รู้ตัว ไม่ตระหนักว่ามันเป็นอะไรอยู่ในใจของเรา เพราะฉะนั้น กิเลส ข้อว่ามานะนี้ อาจจะเป็นภูมิธรรมหรือพื้นจิตใจอย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งมีผลมาในปัจจุบัน อย่างที่กล่าวแล้วว่า ทำไมเราจึงมีพฤติกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมปัญหาสังคมของเราจึงเกิดขึ้นในลักษณะนี้ ปัญหาในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาในวงการเมือง จนถึงปัญหาระหว่างบุคคล มักมีกิเลสตัวนี้เป็นแรงบันดาลอยู่เบื้องหลัง เป็นตัวครอบงำที่สำคัญมาก ‘มานะ’ ตัวนี้จะแสดงผลอย่างไร ก็แล้วแต่ว่ามันจะประกอบกับปัจจัยอื่นอย่างไร เช่น ถ้ามันไปประกอบกับตัณหา ไปเสริมตัณหา มันก็จะทำให้เราบริโภคแบบอวดโก้ เช่น อาจจะไปบริโภคอาหารฝรั่งเพื่อแสดงความโก้เก๋ทันสมัยของเรา เป็นต้น นี่เรียกว่ามานะไปประกอบกับตัณหา ทีนี้ถ้าเอามานะไปเสริมความเพียร มันก็ไปยุให้ขยันเรียนเพื่อให้ตัวเด่น ให้เพียรพยายามที่จะสอบได้ที่ ๑ มานะจึงใช้ได้ทั้งในทางดีและทางร้าย แต่คนไทยเราก็พยายามใช้มานะในทางที่ดี คือเอามานะนี้มาใช้ส่งเสริมกระตุ้นเร้าให้เกิดความเพียรพยายามทำดี จนกระทั่งตัวมานะเองได้กลายความหมายเป็นความเพียรไป

อย่างไรก็ตาม มานะซึ่งเป็นกิเลสนี้ แม้จะนำมาใช้ในทางที่ดี เป็นตัวกระตุ้นเร้าส่งเสริมในการทำความดี ก็ไม่ใช่สิ่งที่ปลอดภัย เพราะมันเป็นกิเลส เป็นอกุศลธรรม คือ เป็นธรรมที่เป็นอกุศล เช่น เราอาจจะยุให้เด็กมีความเพียรพยายามที่จะเรียน เพื่อจะสอบได้ที่ ๑ นี่ก็คือการใช้มานะกระตุ้นเพื่อจะให้เด่นเหนือเขา เด็กนี้ก็เรียนโดยมุ่งเอาการสอบได้ที่ ๑ ที่เป็นความโก้ ความเด่น ไม่ได้คิดถึงความมุ่งหมายของการเล่าเรียนศึกษาที่แท้จริงว่า เพื่อวิชาความรู้ เพื่อการที่จะได้นำความรู้นี้ไปใช้ทำประโยชน์แก่ชีวิตของตนและชีวิตของผู้อื่น เขาไม่ได้มองด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ มุ่งแต่ความเด่นอย่างเดียว

ถ้ามองในแง่ของธรรมะ ก็เป็นการโลดแล่นไปในอวิชชาหรือถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ ไม่ใช่การเพียรพยายามเล่าเรียนด้วยจิตใจที่เป็นกุศลซึ่งสว่างด้วยปัญญา การใช้กิเลสเป็นเครื่องยุ เป็นเครื่องเร้า แม้จะใช้ในทางที่ดีงามก็ไม่ปลอดภัย จึงเสนอว่า ถ้ามานะซึ่งเป็นกิเลสนี้เป็นภูมิธรรมพื้นจิตใจของคนไทยอย่างหนึ่งแล้ว ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องยอมรับความจริง และจะต้องแก้ไข มีปัญหาว่า ถ้าแก้ไขแล้ว เราจะเอาอะไรมาแทน สิ่งที่จะแทนก็คือ ฉันทะ จะต้องเอาฉันทะมาแทน

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง: มองตามเป็นจริง และสำเหนียกเอาประโยชน์ตัวอย่างภารกิจของการศึกษา: การพัฒนาวัฒนธรรม >>

No Comments

Comments are closed.