ความหลงตัวเอง: ความยึดติตในวัฒนธรรมของตน

10 กรกฎาคม 2530
เป็นตอนที่ 4 จาก 10 ตอนของ

ความหลงตัวเอง: ความยึดติตในวัฒนธรรมของตน

พวกที่หนึ่ง คือพวกที่หลงยึดติดในตัวเอง หลงตัวเองนั้น ก็ไม่รู้ความเป็นจริงว่า วัฒนธรรมเป็นกระแสรวมของสิ่งที่สะสมถ่ายทอดต่อๆ กันมา วัฒนธรรมของเรานั้นไม่ใช่เป็นสิ่งเป็นชิ้นเป็นอัน ยืนตัว คงที่ ตายตัวตั้งแต่เดิมมา ตลอดกาลเวลาที่ผ่านมาหลายยุค หลายสมัย มันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย องค์ประกอบและลักษณะต่างๆ ในวัฒนธรรมของเรานั้น บางอย่างก็เข้มข้นในยุคสมัยหนึ่ง ต่อมาอีกยุคสมัยหนึ่ง องค์ประกอบเดียวกันนั้นเองก็จางลงหรือหายไปหรือแปรผันไปเป็นอย่างอื่น มีการกลาย มีการผิดเพี้ยน มีการคลาดเคลื่อนไปต่างๆ อันนี้เป็นลักษณะของวัฒนธรรมที่สืบต่อมาจากอดีต เราจะต้องรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมแต่ละสาย เมื่อมาถึงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มนุษย์เราประสบอยู่ จึงมีทั้งข้อยิ่งและข้อหย่อน มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เหมือนอย่างวัฒนธรรมไทยเราในปัจจุบันนี้ เราต้องยอมรับว่าเรามีทั้งดีทั้งเสีย เนื้อหาในวัฒนธรรมของเราบางอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพี้ยนไปจากของเดิมในอดีตก็มี ในอดีตผิดเพี้ยนมาแล้ว ปัจจุบันนี้กลับทำให้ดีได้ก็มี ในอดีตไม่ผิดเพี้ยน แต่มาคลาดเคลื่อนในปัจจุบันก็มี ในอดีตคลาดเคลื่อนมาแล้ว ปัจจุบันยิ่งหลงทางไปไกลหนักเข้าก็มี สิ่งที่ได้ผิดเพี้ยนมาแล้วในอดีตนานๆ ก็มี อดีตใกล้ๆ ก็มี มาผิดเพี้ยนในปัจจุบันก็มี กำลังจะผิดเพี้ยนก็มี ที่มองเห็นง่ายๆ ก็คือพวกถ้อยคำต่างๆ ในภาษา เป็นตัวอย่างที่ส่อให้เห็นความผิดเพี้ยนและคลาดเคลื่อนเหล่านั้น ฉะนั้น ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างมาประกอบ ไม่ต้องยกตัวอย่างอะไรมาก จะเอาถ้อยคำที่เราพูดกันนี้เป็นหลัก

ในฐานะที่เป็นพระ ก็จะเอาถ้อยคำทางพระศาสนามาพูดให้ฟัง ยกตัวอย่างให้เห็นว่าได้เกิดมีความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนกันมาอย่างไร เช่น เมื่อพูดถึงคำว่า ‘นิพพาน’ ในสังคมไทยยุคสมัยหนึ่งในอดีต คำว่า ‘นิพพาน’ ได้มีความหมายเน้นหนักในความรู้สึกของชาวบ้านในแง่ที่เป็นสถานที่อันแสนสุข อย่างที่เรียกว่าเมืองแก้ว ดังที่พูดกันว่า อมตมหานคร นครที่เป็นอมฤตและเป็นเมืองแก้ว คนในสมัยก่อนนั้นมีความปรารถนาจะไปนิพพานกันอย่างมาก เมื่อทำบุญอะไร ก็จะอธิษฐานลงท้ายขอให้ได้ไปนิพพาน คำถวายทานแบบโบราณจะต้องลงว่า นิพฺพานปจฺจโย โหตุ เป็นธรรมดาเลย แปลว่า ขอให้บุญกุศลนี้ จงเป็นปัจจัยแก่นิพพาน แต่สมัยนี้คนปัจจุบันตัดแล้ว ไม่มีคำนี้ ทีนี้คำว่า ‘นิพพาน’ นั้น เมื่อมาถึงอีกยุคสมัยหนึ่งก็กลับมีความหมายเปลี่ยนไปในแง่ว่าเป็นความตาย ความดับสูญ ความหายไป สิ้นไป ความหมายนี้เด่นมากในปัจจุบัน จนคนในยุคปัจจุบันนี้กลัวนิพพาน ไม่อยากไปนิพพานกันเลย จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ เวลาถวายทาน คำว่า นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ ก็เลยถูกตัดไปแล้ว นี่เป็นเรื่องที่น่าสังเกต

ต่อไป คำว่า ‘มานะ’ ในภาษาไทยปัจจุบันมานะมีความหมายว่า ‘เพียรพยายาม’ เช่นในข้อความว่า ‘จงมานะบากบั่นเล่าเรียนไปเถิด ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต’ ถ้าเป็นคนไทยเก่าๆ ก็อาจจะบอกว่า ‘ไอ้หนู จงมานะพากเพียรเรียนไปนะ ต่อไปจะได้ใหญ่โตเป็นเจ้าคนนายคน’ โดยนัยนี้ มานะจึงมีความหมายเป็นพากเพียรพยายาม แต่มานะในภาษาเดิมที่เป็นคำแท้จริงของเขานั้น ‘มานะ’ เป็นกิเลสตัวหนึ่ง แปลว่า ความถือตัว ความสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ ความถือตนเป็นสำคัญ อยากให้ตัวยิ่งใหญ่โดดเด่น นี่คือความหมายเดิม แต่ทำไมมานะจึงกลายความหมายไปเป็นเพียรพยายาม นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป

ทีนี้บางคำหายไปก็มี คำหนึ่งที่ดีมากในวงการศึกษา เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้ยินกัน คือคำว่า ‘สำเหนียก’ คำว่าสำเหนียกเป็นคำที่ดีมาก เป็นคำที่แสดงความหมายว่า เมื่อรับฟังหรือเมื่อเล่าเรียนนั้น ไม่ใช่เรียนเปล่าๆ ไม่ใช่ฟังเปล่าๆ แต่ตั้งใจกำหนดเลือกจับเอาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งมีค่า เอาไปใช้ได้ การที่สำเหนียกหายไปในปัจจุบัน อาจจะเป็นเครื่องส่อถึงสภาพจิตใจของคนปัจจุบันได้อย่างหนึ่งว่าเป็นอย่างไร คือเป็นข้อที่น่าพิจารณาว่าคนปัจจุบันอาจจะขาดการสำเหนียกก็ได้ นี้เป็นตัวอย่างในอดีต

ที่นี้ในปัจจุบัน คำบางคำก็กำลังจะมีความหมายเพี้ยนไป ยกตัวอย่างคำที่กำลังพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือคำว่า ‘ปฏิบัติธรรม’ เดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่า ‘ปฏิบัติธรรม’ อย่างไร คนจำนวนมากทีเดียวจะเข้าใจคำว่าปฏิบัติธรรม หรือพูดถึงคำว่าปฏิบัติธรรม ในความหมายว่าเป็นการปลีกตัวเข้าวัด หรือต้องไปในป่า และไปอยู่เงียบๆ สักระยะหนึ่ง ไปนั่งสมาธิ ไปทำกรรมฐาน ไปบำเพ็ญเพียรทางจิตใจเป็นพิเศษ ไปอยู่ในที่วิเวกห่างไกลจากผู้คน ออกจากสังคมไป จึงเรียกกันว่าปฏิบัติธรรม ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เข้าใจกันอย่างนั้นมากแล้ว ก็แสดงว่าเดี๋ยวนี้คำว่า ‘ปฏิบัติธรรม’ ก็เป็นคำหนึ่งที่กำลังมีความหมายเพี้ยนไป และเป็นเครื่องแสดงด้วยว่า วัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันมีอะไรๆ ที่กำลังผันแปรไปอีก

คำว่า ปฏิบัติธรรม นี้คืออะไร ปฏิบัติธรรม ก็คือการนำเอาธรรมมาใช้มาปฏิบัติ เรามาทำงาน ถ้าทำงานด้วยใจรักงาน ก็เรียกว่ามี ‘ฉันทะ’ ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็เรียกว่ามี ‘วิริยะ’ ทำงานด้วยความเอาใจใส่ รับผิดชอบ ก็เรียกว่ามี ‘จิตตะ’ ทำงานด้วยการใช้ปัญญาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ หาทางแก้ไขตรวจสอบ ทำให้งานดียิ่งขึ้น พิจารณาข้อยิ่งข้อหย่อนในการงานนั้น มีการตรวจตราวัดผลต่างๆ ก็เรียกว่ามี ‘วิมังสา’ ถ้าทำครบ ๔ อย่างนี้ ก็เรียกว่า ทำงานด้วยอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ ก็เป็นหลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง เมื่อทำงานด้วยอิทธิบาท ๔ ก็คือ การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน หลายท่านในที่นี้ก็มีรถยนต์ เมื่อขับรถไปในท้องถนนนั้น ถ้าเราขับด้วยความมีสติ ระมัดระวัง มีความไม่ประมาท รักษากฎจราจร อยู่ในระเบียบข้อบังคับและขับด้วยความสุภาพ อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม แน่นอนไม่มีพลาดเลย แม้แต่จะกินอาหาร ถ้ากินอย่างรู้จักประมาณ มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตะกละมูมมาม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่คนปัจจุบันไม่ค่อยมองถึงการปฏิบัติธรรม ในความหมายอย่างนี้ แม้แต่เพียงเรานั่งอยู่เฉยๆ เราตั้งจิตคิดนึกจะทำความดี ตั้งใจจะทำความดีต่อผู้อื่น ปรารถนาดีหวังดีต่อเขา เพียงเท่านี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้เราเอาคำว่าปฏิบัติธรรมไปใช้ในความหมายที่แคบลงๆ จนกระทั่งมีความหมายเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาและระมัดระวังกัน

เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่า วัฒนธรรมหรือภูมิธรรม ภูมิปัญญาที่มาในวัฒนธรรมนั้นย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลง ผันแปร และอาจจะมีการคลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยนไปได้เรื่อยๆ ฉะนั้น วัฒนธรรมที่มาปรากฏแก่เราในเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องใคร่ครวญและรู้จักตามความเป็นจริงว่า วัฒนธรรมก็เลื่อนไหลของมันไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราถือกันจนเคยนั้น มันก็เคลื่อนก็เพี้ยนไปได้ โดยไม่รู้ตัวเป็นส่วนมาก แต่คนเราเกิดมาในสภาพวัฒนธรรมอย่างใด ก็มักจะไปยึดติดในสภาพที่ปรากฏแก่ตนในเวลานั้น หารู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ความเจริญความเสื่อมที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของตนเองไม่ ฉะนั้น เมื่อมีสิ่งใดคลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยนไป เปลี่ยนรูปแปรความหมายไป สภาพนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่แข็งทื่อ ยากแก่การแก้ไข เพราะการไปหลงยึดติดดังที่กล่าวมาแล้ว อันนี้คือด้านที่ ๑ ด้านของพวกหลงตัวเอง

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ค่านิยม วัฒนธรรม: ผลและเหตุในการศึกษาความคลั่งไคล้คนอื่น: ความเห่อวัฒนธรรมภายนอก >>

No Comments

Comments are closed.