สภาพปัจจุบันของคนไทย

10 กรกฎาคม 2530
เป็นตอนที่ 2 จาก 10 ตอนของ

สภาพปัจจุบันของคนไทย

เมื่อได้ตั้งเอาปัจจุบันเป็นหลักดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ขอให้เรามองสภาพปัจจุบันกัน การมองดูสภาพปัจจุบันนั้นมองได้หลายอย่าง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ก็คือสังคมทั้งหมด สังคมทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษา ตามปกติเรามักจะมองสังคมโดยเริ่มต้นจากปัญหา ถ้าไม่พูดถึงปัญหาโดยตรงก็พูดถึงสภาพ คือสภาพสังคม แต่วันนี้ขอพูดในเรื่องสภาพที่เป็นปัญหา สภาพสังคมนั้นอาจจะห่างเกินไปหรืออ้อมเกินไป ขอชิดอีกหน่อยให้ใกล้การศึกษาเข้ามาก็คือ พูดถึงสภาพตัวคนเลยทีเดียว ตัวคนคือคนไทยเรานี้ สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร เพราะคนเป็นตัวเชื่อมระหว่างการศึกษากับสังคม คนเป็นที่แสดงออก เป็นผลปรากฏของการศึกษา แล้วตัวคนที่ได้รับการศึกษาก็ไปแสดงผลออกทางสังคม พูดสั้นๆ ว่า การศึกษาแสดงผลออกที่ตัวคน แล้วคนก็ไปแสดงผลออกที่สังคม เราจะมีสภาพสังคมอย่างไร หรือปัญหาสังคมอะไร ก็เกิดจากคนนี้ออกไป เพราะฉะนั้น จะมองให้ใกล้ชิดกับการศึกษาก็มองที่ตัวคนนี้ ก็ขอให้เรามามองดูกันว่า สภาพคนไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร แล้วมันจะส่องมาถึงการศึกษา

การมองคนไทยในปัจจุบันก็คือ มองพฤติกรรมของเขา มองค่านิยม มองลักษณะนิสัยจิตใจของคนไทยว่าเป็นอย่างไร ดูให้ครบถ้วนทั้งตัวคน เมื่อมองแล้วเห็นคนไทยเป็นอย่างไร ถึงตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพรรณนากันยืดยาว อาตมภาพก็จะขอยกตัวอย่างมาพอให้เห็นเป็นเค้า เมื่อหลายเดือนมาแล้ว มีนักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเข้ามาเมืองไทย แล้วอยู่ๆ ก็มีผู้ติดต่อมาว่าจะขอพบอาตมภาพ ก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ทั้งตัวฝรั่งและคนที่ติดต่อ เขามาหาและพูดถึงความประทับใจของเขาต่อประเทศไทย เขาบอกว่า ที่เขามาเมืองไทยนี้ เขาไม่ได้มีความสนใจในเรื่องศาสนาอะไรเลย เพียงเข้ามาเที่ยวดู สังเกตการณ์ทั่วๆ ไป แต่เมื่อเขามาเห็นเมืองไทยแล้วเขาเกิดความรู้สึกว่าคนไทยนี้มีจิตใจที่สุขสบาย ไม่มีความเคร่งเครียด ตอนเช้าก็เห็นคนออกมาตักบาตรกัน หน้าตายิ้มย่องผ่องใส เขาก็เกิดความรู้สึกว่า วิถีชีวิตของคนไทยน่าจะสุขสบาย และยังมีความใกล้ชิดต่อศาสนา ต่างกับคนในประเทศของเขาในตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสของเขาที่มีความเคร่งเครียด จิตใจมีความรู้สึกไม่สบาย มีความทุกข์ นี่คือความประทับใจของเขา เขาจึงอยากจะศึกษาว่า สภาพที่ว่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร นี้ก็เป็นภาพของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างประเทศ คนที่มาจากประเทศอื่น วัฒนธรรมอื่น อาจจะมองเห็นเมืองไทยเราชัดในแง่หนึ่ง เพราะเป็นภาพที่ตัดกัน หรือเป็นที่เปรียบเทียบแปลกออกไปจากตัวเขา อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจจะท้วงได้ว่า อันนี้เป็นความเห็นของฝรั่งเพียงคนเดียว เขาอาจจะเข้ามาแล้วก็มองแต่เพียงผิวเผิน ถ้าอยู่ต่อไปนานๆ ก็อาจจะเห็นอะไรที่ไม่ดีของคนไทยอีกหลายๆ อย่างก็ได้ แต่นี่เป็นเพียงภาพหนึ่งที่นำมายกเป็นตัวอย่างไว้

ขอยกตัวอย่างอีกรายหนึ่ง คราวนี้เป็นนักศึกษาชาวอเมริกันเข้ามาแล้วก็อยากจะศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย จึงออกไปตามชนบท เมื่อเขาออกไปเที่ยวดูตามชนบทแล้วก็เกิดความรู้สึกประทับใจ โดยเฉพาะสิ่งที่ต่างจากวัฒนธรรมของเขา วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกับเขา ซึ่งจะโดดเด่นขึ้นมาในความรู้สึก แล้วเขาก็มาเล่าให้ฟังว่า เขามองเห็นคนไทยว่ามีความสนุกสนานร่าเริงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่งานศพก็มีการแห่ มีการโลดเต้นสนุกสนานกัน มีลิเกละคร ไม่เหมือนกับประเทศของเขา เขาบอกว่า ในประเทศของเขาชีวิตเคร่งเครียดเหลือเกิน โดยเฉพาะงานศพนั้นเต็มไปด้วยความสลดหดหู่ใจ ไปร่วมงานศพแล้วไม่สบายใจเลย เขารู้สึกพอใจกับวิถีชีวิตแบบของคนไทยนี้ รู้สึกว่ามันสบายดี อันนี้ก็เป็นเรื่องที่แปลก เป็นความประทับใจ เป็นภาพที่ปรากฏแก่สายตาฝรั่ง อาตมภาพคิดว่า เราทั้งหลายคงเคยได้ยินกันมาทำนองนี้ เรื่องที่อาตมภาพนำมาเล่านี้ ก็ได้พยายามยกตัวอย่างที่สอดคล้องกับเสียงที่ได้ยินกันส่วนมาก ไม่ใช่ยกตัวอย่างที่ขัดแย้ง

เรื่องที่เล่ามานี้ นับว่าเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นภาพอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงคนไทยในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร และคนไทยปัจจุบันนี้ก็คือคนไทยที่สืบมาจากอดีต ถ้าว่าโดยทั่วไปจากที่ได้ยินได้ฟังมา และการสังเกตการณ์ การกล่าวขวัญต่างๆ เราพูดได้ว่า คนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะในชนบทที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมไทยแท้ๆ ยังมีลักษณะของชีวิตที่มีความสุข มีความพึงพอใจในชีวิต มีความปล่อยวาง ไม่เครียด เรามีคำพูดอยู่เสมอว่า ‘ไม่เป็นไร’ คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ นี้เป็นลักษณะพิเศษของไทย เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งทีเดียว อะไรๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่เป็นไรนี้ นอกจากมีความหมายว่าสบายๆ เรื่อยๆ เปื่อยๆ แล้ว ก็ยังมีความหมายอีกแง่หนึ่งว่า ไม่จริงจัง หรือไม่เอาจริงเอาจังอะไรเลย การไม่เอาจริงเอาจังนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางทีเราก็ได้ยินชื่อประเทศของเราที่ฝรั่งเขาเรียกว่า ‘สยามเมืองยิ้ม’ The Land of Smiles หรือดินแดนแห่งความมีน้ำใจ คนฝรั่งเข้ามา คนต่างประเทศเข้ามา ก็ประทับใจในความมีน้ำใจ คนไทยชอบสนุกสนาน ไม่จริงจังกับชีวิตและกาลเวลา นัดเวลาแล้วไม่เป็นไปตามเวลานัด อย่างพูดปาฐกถาวันนี้ก็อาจจะเลยเวลาไปอีก

แม้แต่คำว่า ‘งาน’ เอง ก็ขอให้สังเกตดู คำว่า ‘งาน’ ในภาษาไทยแปลว่าอะไร งานวัด งานลอยกระทง งานสงกรานต์ คำว่า ‘งาน’ เดี๋ยวนี้เราใช้ในความหมายที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า work หมายถึง การทำสิ่งที่หนัก ต้องใช้ความเพียรพยายาม อาจจะต้องฝืนทำ เคร่งเครียด ทำแล้วไม่สนุกสนาน พอพูดว่ามาทำงานก็รู้สึกกันว่าไม่ใช่เรื่องสนุก จะต้องมาทำสิ่งที่เปลืองสมอง เคร่งเครียด รู้สึกหนัก แต่ในภาษาไทย ‘งาน’ คำเดิมนั้น มีความหมายไปในเชิงกิจกรรมบันเทิง เช่นอย่างงานวัด มีแต่สนุกทั้งนั้น คนไปงานวัดไม่ใช่ไปทำอะไรที่น่าหนักใจน่าเหน็ดเหนื่อยสมองอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้แต่คำพูดของเขาก็ส่ออยู่ในตัว แต่เดี๋ยวนี้คนไทยกำลังอยู่ในระหว่างกลางของการรับวัฒนธรรมจากภายนอกมาชนกับวัฒนธรรมของตัวเอง คำว่า ‘งาน’ จึงได้เริ่มมีความหมายไปในทางหนักและเหนื่อยขึ้นมาแล้ว นี้เป็นเรื่องที่น่าสังเกต

อีกประการหนึ่งก็คือ การมีนิสัยที่กลมกลืน อะลุ่มอล่วย ไม่รุนแรง จะเข้าไหนเข้าได้เข้าง่ายๆ คนไทยเรานี้ปัญหาเรื่องเชื้อชาติไม่มีความรุนแรง แต่มีความกลมกลืนได้ง่ายๆ ไม่เหมือนในต่างประเทศ ลองดูประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่ใกล้เมืองไทย ปัจจุบันนี้เขามีปัญหาเรื่องเชื้อชาติกันมาก แต่ประเทศไทยเราไม่มีปัญหาเช่นนั้น เรามีชื่อว่าเป็นนักปรับตัวให้เข้ากับจังหวะ สถานการณ์ โอกาส สภาพแวดล้อมได้เก่ง แต่อีกด้านหนึ่ง พร้อมกันนั้น เราก็มีนิสัยชอบมีหน้ามีตา ชอบแข่งฐานะอวดโก้กัน มีอะไรก็มาอวดกัน จะจัดงานก็มุ่งความมีหน้ามีตา ถ้าเป็นชาวบ้านก็บอกว่าหมดเท่าไรไม่ว่า ต้องการชื่อเสียง อะไรทำนองนี้ หรือถ้าเป็นคนกรุงคนเมือง จะมีรถยนต์ ก็มุ่งไปที่ว่าต้องให้ได้รุ่นใหม่ ทันสมัยนำเขาอะไรต่างๆ แข่งฐานะกัน แม้แต่การจะรับประทานอาหารฝรั่ง บางทีก็ไม่อร่อยเท่าไรนัก แต่รู้สึกว่าโก้ ถึงแพงก็จะรับประทาน หรือยิ่งแพงก็ยิ่งโก้ ก็เลยยิ่งรับประทาน พอได้ยินว่า McDonald บ้าง Kentucky Fried Chicken บ้าง อะไรทำนองนี้ ก็รู้สึกคึกคัก บางอย่างไม่ได้อร่อยมากมายนัก เทียบกับอาหารไทย บางทีก็ไม่ดีไปกว่าของพื้นบ้านที่ราคาถูกๆ แต่รสของความโก้มีมาก เราก็เสพรสของความโก้แทน อันนี้เป็นเรื่องแสดงนิสัยของคนไทยด้านหนึ่ง คือชอบอวดโก้กัน มีหน้ามีตา เมื่อมีความปรับตัวรับง่ายอยู่แล้ว ความชอบอวดโก้หนุนส่งเข้าไปอีก ก็ตามฝรั่งหลุนๆ เต็มที่ไปเลย

ข้อที่ถูกเขาตำหนิมากอย่างหนึ่ง ก็คือว่า คนไทยชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิต นี่ก็เป็นลักษณะนิสัยที่ถูกวิจัยว่ามีปัญหามากทีเดียว โดยเฉพาะทำให้เป็นปัญหาแก่การพัฒนาประเทศชาติ เพราะเราไม่ชอบที่จะสร้างสรรค์ ไม่ริเริ่มในการที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แต่เราจะคอยรอผลิตผลจากต่างประเทศ แล้วรับมาบริโภค ซึ่งก็ไปกันได้ดีกับลักษณะนิสัยอีกอย่างหนึ่งคือ การชอบเลียนแบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราหันไปโทษเยาวชนกันมากในปัจจุบัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การศึกษาของไทยในกาละ ๓ และเทศะ ๒ค่านิยม วัฒนธรรม: ผลและเหตุในการศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.