การศึกษาของคน เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงดูในครอบครัว ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกไม่สมดุล สังคมก็ไม่อาจพัฒนาไปด้วยดี

16 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 17 จาก 25 ตอนของ

การศึกษาของคน เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงดูในครอบครัว
ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกไม่สมดุล สังคมก็ไม่อาจพัฒนาไปด้วยดี

ทีนี้ มองแคบเข้ามาในครอบครัว พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า พ่อแม่นี่แหละเป็นตัวอย่างของพระพรหม ดังพุทธพจน์ว่า พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร มารดาบิดาเป็นพระพรหม เป็นผู้สร้างชีวิตของลูกและสร้างโลกให้แก่ลูก แล้วก็จะเป็นผู้ผดุงพิทักษ์โลกนี้ไว้ด้วย

พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกให้ถูกต้อง ก็ต้องปฏิบัติต่อลูกด้วยพรหมวิหาร ๔ ข้อนี้ ถ้าปฏิบัติไม่ถูก ชีวิตของลูกและครอบครัวก็จะเอียงกระเท่เร่แล้วสังคมก็จะวิปริตแปรปรวนไปด้วย พ่อแม่จะปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร

๑) ยามลูกอยู่สบายดีเป็นปกติ พ่อแม่ก็มีความรักเอาใจใส่เลี้ยงดูด้วยเมตตา

๒) คราวที่ลูกทุกข์เดือดร้อนเกิดปัญหา พ่อแม่ก็ช่วยแก้ไขปลดเปลื้องความทุกข์ ขจัดปัดเป่าปัญหานั้นด้วยกรุณา

๓) เมื่อลูกได้ดีมีความสุขประสบความสำเร็จ พ่อแม่ก็พลอยยินดีส่งเสริมสนับสนุนด้วยมุทิตา

อันนี้แน่นอน พ่อแม่ทำได้แทบจะไม่มีใครขาด โดยเฉพาะในสังคมไทยนี้เราทำได้แน่ ๓ ข้อแรก แต่ข้อที่ ๔ สิที่มักจะบกพร่อง

ข้อที่ ๔ เป็นอย่างไร คือ พ่อแม่จะต้องรู้ว่าลูกไม่ได้อยู่กับเราเท่านั้น ในที่สุดเมื่อมองให้ถึงฐานถึงแก่นที่แท้แล้ว เขาต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ ลูกไม่ใช่สัมพันธ์กับพ่อแม่เท่านั้น แม้แต่ในเวลาที่อยู่กับเรานี้แหละ พื้นฐานที่แท้ของเขาก็คือเขาสัมพันธ์กับความจริงของธรรมชาติ และชีวิตของเขาต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติตลอดเวลา ชีวิตเป็นของเขาและชีวิตของเขาต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

พ่อแม่จะต้องมองขอบเขตขีดจำกัดของตนให้ชัดว่าเราจะทำให้เขาได้แค่ไหน และเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองแค่ไหน เช่น เรารู้แทนเขาไม่ได้ เรารู้สึกสุขทุกข์แทนเขาไม่ได้ และในส่วนที่เขาต้องรับผิดชอบตัวเอง เราจะช่วยเขาได้อย่างไร เช่นช่วยให้เขาได้ฝึกในการสัมพันธ์กับความจริงของธรรมชาติอย่างถูกต้อง ตรงนี้แหละต้องไปถึงข้อที่ ๔ คือสถานการณ์ที่ว่า

๔) เมื่อพ่อแม่จะต้องช่วยให้ลูกเข้าสัมพันธ์กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ และหลักการต่างๆ อย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ พ่อแม่จะต้องรู้จักใช้อุเบกขา

ข้อที่ ๔ คืออุเบกขานี้ พ่อแม่จะต้องปฏิบัติต่อลูกใน ๓ สถานการณ์ย่อย คือ

สถานการณ์ที่ ๑ เมื่อลูกจะต้องฝึกหัดรับผิดชอบตัวเอง เพื่อให้สามารถรับผิดชอบตนเองได้ หรือดำเนินชีวิตด้วยตัวเองได้ต่อไป เพราะเมื่อเขาออกไปอยู่ในโลก เขาจะต้องอยู่กับกฎธรรมชาติและความจริงของสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งหลักการต่างๆ ของสังคม เขาจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านั้นให้ได้ เขาจะต้องทำตามกฎแห่งเหตุปัจจัย จะต้องทำการเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ เป็นต้น อันนี้คือความจริงของธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเขาจะต้องรู้จักรับผิดชอบตนเอง ที่จะทำอะไรต่างๆ ให้เป็นด้วยตนเองในระยะยาว

เพราะฉะนั้น อะไรที่ลูกจะต้องรู้จักรับผิดชอบ อะไรที่ลูกจะต้องทำเองให้ได้ต่อไปภายหน้า ต้องฝึกไว้ ในการฝึกนี้พ่อแม่ต้องรู้จักวางอุเบกขาว่า เอ้อ! ถึงตอนนี้เรื่องนี้เขาจะต้องทำให้เป็น เราต้องปล่อยให้เขาหัด ให้เขามีโอกาสทำเอง

ถ้าพ่อแม่มีเมตตากรุณารักมากไป ทำแทนให้หมด ลูกก็ไม่รู้จักโต ทำอะไรก็ไม่เป็น รับผิดชอบตัวเองก็ไม่ได้ พึ่งตัวเองก็ไม่ได้ เมื่อไม่รู้จักโตก็ต้องพึ่งพ่อแม่เรื่อยไป เรียกว่าโอ๋ลูกมากไป และถ้าพ่อแม่โอ๋ลูกมาก ก็จะเกิดภาวะนี้ คือเสียดุลยภาพ ลูกจะอ่อนแอ ทำอะไรเองไม่เป็น เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักอย่างหนึ่งว่า พ่อแม่จะต้องรู้จักวางอุเบกขาเพื่อให้ลูกฝึกหัดรับผิดชอบตัวเอง เพื่อจะได้เข้มแข็งและทำอะไรได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

บางครอบครัวไม่รู้จักฝึกลูกในเรื่องนี้เลย รักลูกจนกระทั่งไม่ว่าอะไรก็ทำแทนให้หมด จนกระทั่งลูกทำอะไรไม่เป็น แล้วในกาลข้างหน้าลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ตลอดไป เมื่อเขาต้องไปรับผิดชอบตัวเอง ก็เอาตัวไม่รอด เพราะพึ่งตัวเองไม่เป็น นี่สถานการณ์ที่ ๑ คือต้องฝึกให้เขารู้จักรับผิดชอบตัวเอง

สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา หมายความว่าครอบครัวนี้เป็นสังคมย่อย เป็นตัวแทนของสังคมใหญ่ และเป็นที่ฝึกเตรียมเด็กที่จะเข้าไปอยู่ในสังคมใหญ่

สังคมนั้นต้องมีกฎเกณฑ์มีกติกามีหลักการ เด็กจะต้องไปอยู่ในสังคมใหญ่ซึ่งจะต้องมีกติกามีวินัยมีหลักการแห่งความเป็นธรรม เขาทำดีก็ได้รับผลดี เมื่อเขาทำผิดทำชั่ว เขาก็จะต้องถูกลงโทษ เมื่อเด็กยังอยู่ในครอบครัวก็ต้องฝึกเรื่องนี้ไว้ก่อน เหมือนฝึกให้เขาอยู่ในสังคมที่เป็นตัวแทน ให้เขารู้จักรับผิดชอบผลการกระทำของตน ทำผิดทำถูกทำดีทำชั่วก็จะต้องรู้จักรับผิดชอบ ได้รับผลของการกระทำเหล่านั้น แม้แต่ระหว่างเด็กด้วยกัน พ่อแม่ก็จะต้องให้ความเป็นธรรม ทั้งหมดนี้คือการที่เขาจะต้องรับผิดชอบผลการกระทำของเขา

สถานการณ์ที่ ๓ เมื่อลูกรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว คือลูกเติบโตแล้ว เรียนจบแล้ว มีการมีงานทำแล้ว มีครอบครัวของเขาเอง เขาก็มีชีวิตที่อยู่กับการรับผิดชอบตัวเอง ตอนนี้พ่อแม่จะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตของเขา ถือว่าเขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว จะต้องวางใจให้เป็นอุเบกขา คือคอยดู เฉยดูไว้ก่อน ไม่เข้าไปวุ่นวายยุ่มย่ามกับชีวิตและครอบครัวของเขา

ถ้าพ่อแม่มีเมตตากรุณารักลูกมาก จะแสดงความรัก ก็เข้าไปจัดแจงต่างๆ ในครอบครัวของเขาอีก ลูกอยู่อย่างนี้สิ ทำอย่างนั้นสิ พ่อแม่หลายคนจะเป็นอย่างนี้ รักลูกมาก และเพราะความรักลูกก็เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตและครอบครัวของเขา แทนที่จะให้เขาเป็นสุข เขาเลยกลายเป็นทุกข์ไป แล้วก็มีปัญหากับพ่อแม่ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อลูกรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว พ่อแม่จะต้องวางอุเบกขาเป็น

การวางอุเบกขา แปลว่า คอยดู หรือเฉยดู เฉยมอง ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ใช่เฉยเมิน หรือเฉยทอดทิ้ง แต่เฉยมองอยู่ หมายความว่า ถ้าเขาเพลี่ยงพล้ำเมื่อไร เราก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยทันที อันนี้คือลักษณะของอุเบกขา

เหมือนอย่างลูก เมื่อเขาทำอะไร ถ้าเขาทำไม่เป็น เราก็ต้องให้เขาฝึก โดยวางอุเบกขา ให้เขาหัดทำเอง เราไม่ทำให้ แต่เรามองอยู่ เราไม่ได้ทิ้ง เราคอยแนะนำ และเป็นที่ปรึกษา ถ้าเขาเพลี่ยงพล้ำหรือทำไม่ได้ผลดี เราก็เข้าไปช่วยแก้ไข นี่เรียกว่าอุเบกขา คือ คอยดูให้เขาทำ หรือให้เขาทำโดยเราดูแลอยู่

“อุเบกขา” แปลตามตัวอักษรว่า คอยดู อุป แปลว่าเข้าไป อิกขะ แปลว่ามอง เข้าไปมอง คือ คอยมอง หรือมองอยู่ใกล้ๆ มองดู ไม่ได้ทิ้ง อันนี้แหละสำคัญ คือ ต้องปฏิบัติให้ได้ผลตามกฎธรรมชาติ ที่มันไม่ตามใจเรา ตอนที่พ่อแม่เฉยมองนี่ก็คือตอนที่ให้กฎธรรมชาติทำงาน โดยให้เด็กเข้าไปสัมพันธ์อย่างฉลาด เพื่อจัดการให้ได้ผล เพราะเรารู้อยู่ว่า เขาจะต้องอยู่กับกฎธรรมชาตินั้น และเอากฎธรรมชาติมาใช้ให้เป็น คือต้องรู้จักทำให้กฎธรรมชาติผลิตผลที่ดีแก่ตัวเขาเอง หรือรู้จักถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ

อุเบกขา ก็คือการจัดสรรเอื้อโอกาสให้ลูกได้พัฒนานั่นเอง

เมื่อพ่อแม่ปฏิบัติมาถึงข้ออุเบกขาอย่างนี้ จึงจะครบวงจร จึงจะมีดุลยภาพและจึงจะเป็นบูรณาการ ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะยุ่ง เพราะลูกจะเติบโตไม่สมบูรณ์ และนี่คือปัญหาที่เกิดจากพ่อแม่เลี้ยงลูกโดยไม่เข้าใจเรื่องอุเบกขา

สามข้อแรกนั้น ปฏิบัติง่าย เพราะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ด้วยความรู้สึกที่ดีงาม ที่พ่อแม่พร้อมอยู่แล้ว และอยู่ในอำนาจของพ่อแม่ พอเขาอยู่ดีเราก็มีเมตตา เขาทุกข์ยากเราก็มีกรุณา เขาได้ดีเราก็มีมุทิตา

แต่อุเบกขายาก เพราะไปสัมพันธ์กับความจริงของธรรมชาติที่ไม่เข้าใครออกใคร ซึ่งจะใช้เพียงความรู้สึกที่ดีงามเท่านั้นไม่พอ แต่ต้องใช้ปัญญา เช่น ต้องรู้ว่าในสถานการณ์ไหน ลูกจะต้องรับผิดชอบตนเอง จะต้องให้เขาฝึกหัด พัฒนาตัวเอง จะต้องจัดสถานการณ์ให้ดี แล้วก็เฉยคอยดูอย่างรู้เท่าทันต่อความเป็นจริง ที่ไม่อยู่ในอำนาจของเรา และไม่เป็นไปตามใจเรานั้น เพื่อปฏิบัติให้ถูกจังหวะพอดีที่จะให้เกิดผลเป็นประโยชน์ ในแต่ละเรื่องแต่ละกรณี

นี่คือเรื่องของการปฏิบัติธรรม และนี่คือระบบดุลยภาพ และนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน ถ้าพัฒนาไม่ได้อย่างนี้ก็ไม่ยั่งยืน และจะเกิดปัญหาแน่นอน เพราะการพัฒนาคนเสียดุลตั้งแต่เริ่มต้นในครอบครัว จะหวังให้สังคมเจริญมั่นคง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ย่อมเป็นไปได้ยาก

นี่ก็เป็นจิตวิทยา ในแบบของพุทธศาสนา ซึ่งแม้แต่ชาวพุทธเอง บางทีก็มองข้ามไป ระบบดุลยภาพนี้เราสูญเสียไปมาก เวลานี้เราพูดถึงจริยธรรมกันเว้าๆ แหว่งๆ เช่นพูดถึงเมตตา กรุณา ส่วนมุทิตาก็ขาด และอุเบกขาก็กลายเป็นเฉยเมยหรือหายไปเลย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ดุลยภาพที่ไม่สัมฤทธิ์ คือข้อพิสูจน์สังคมว่ายังพัฒนาไม่สำเร็จจากชีวิตสู่สังคม จากคุณธรรมภายในสู่พฤติกรรมภายนอก ความประสานรับกันในระบบสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ >>

No Comments

Comments are closed.