ระบบชีวิต ประสานรับกับระบบสังคม คงอยู่ในดุลยภาพด้วยความสม่ำเสมอแห่งธรรม

24 มกราคม 2561
เป็นตอนที่ 19 จาก 25 ตอนของ

ระบบชีวิต ประสานรับกับระบบสังคม
คงอยู่ในดุลยภาพด้วยความสม่ำเสมอแห่งธรรม

ถ้าเอาแต่คุณธรรมในใจ เราก็มีชุดพรหมวิหารอยู่ข้างใน แต่มันไม่ออกมาเป็นปฏิบัติการในสังคม คือไม่เกิดสังคหวัตถุ มันก็ไม่เกิดผลดีเพียงพอ เพราะฉะนั้นชาวพุทธเราอาจจะบกพร่องก็ได้ที่ไม่ปฏิบัติธรรมให้ตลอดสายด้วยความเข้าใจที่ชัดเจน

ในทางกลับกัน ถ้าเราปฏิบัติสังคหวัตถุ เช่น ทาน โดยไม่มีคุณธรรม คือพรหมวิหารอยู่ในใจ จะเกิดอะไรขึ้น

๑) ไม่จริงใจ ปฏิบัติการนั้นอาจมีเจตนาอื่นแอบแฝง เช่น ทานอาจจะเป็นการให้เพื่อต้องการผลประโยชน์ตอบแทน หรือเป็นการแสดงเพื่อผลประโยชน์ของตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง

๒) ไม่จริงจัง เมื่อไม่ได้ช่วยด้วยจริงใจ หรือไม่ได้ตั้งใจจริง ก็ไม่ช่วยเหลืออย่างจริงจัง

๓) ไม่พอดี เพราะช่วยโดยไม่ได้มุ่งเพื่อประโยชน์แก่เขา ก็อาจจะช่วยไม่เพียงพอ หรือช่วยเกินเลยไป แทนที่จะช่วยชาวบ้านด้วยเมตตา เพื่อประโยชน์แก่เขา ให้ตรงกับความต้องการของเขา หรือให้เขาพึ่งตนเองได้ ก็ช่วยแบบเอาใจบ้าง แบบเกลี้ยกล่อมบ้าง หรือช่วยในลักษณะที่จะทำให้เขาหวังพึ่งคนอื่นเรื่อยไป จนกระทั่งเสียทั้งแก่ตัวเขา และแก่สังคม

๔) ไม่ยั่งยืน คือตัวเองนั่นแหละทำไปไม่ตลอด เพราะหยุดอยู่แค่ผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น หรือทำไปตามแรงส่งแรงดันภายนอก พอแรงนั้นหมดก็หยุด

๕) ไม่สุขจริง อาจทำไปอย่างฝืนใจ ไม่ทำให้เป็นสุข อย่างน้อยก็ไม่เกิดความสุขความปีติเอิบอิ่มซาบซึ้งใจเท่าที่ควร

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติการข้างนอกต้องเกิดจากการมีพรหมวิหารซึ่งเป็นคุณธรรมในใจเป็นจุดเริ่ม หรือเป็นแรงส่งออกมา ถ้าเมื่อไรสองชุดนี่ประสานสอดคล้องกัน ก็จะเกิดผลดี คือ คุณธรรมในใจก็มี และออกมาสู่พฤติกรรมในการปฏิบัติด้วย การปฏิบัติก็จะเป็นไปเองจากใจที่ต้องการจะทำอย่างนั้น การช่วยเหลือกันก็เป็นไปด้วยความจริงใจ ทำอย่างจริงจัง มีความยั่งยืน แล้วก็มีความพอดี พร้อมทั้งเกิดผลในใจที่มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย นี้ก็เป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์ระหว่างภายในกับภายนอก

เมื่อกี้ยังพูดไม่จบ คือได้พูดไปแล้วถึงการแสดงออกด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา แต่ยังมีอีกข้อหนึ่ง คือ อุเบกขากับ สมานัตตตา จึงยังไม่ครบ จะให้ครบก็ต้องมีทั้ง ๔

เมื่อกี้นี้เมตตา กรุณา มุทิตา ไม่ครบ ต้องมีอุเบกขาด้วยฉันใด ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา ก็ยังไม่ครบ ต้องมีสมานัตตตาด้วย ฉันนั้น

การให้ การพูดดี และการช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลังนั้น ยังเป็นการปฏิบัติต่อกัน คล้ายๆ ระหว่าง ๒ ฝ่าย ยังเป็นการให้แก่กันในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังเป็นต่อกันอยู่ จึงจะต้องมีอีกอย่างหนึ่ง คือ เข้ากลมกลืนเลย กลมกลืนก็อยู่ที่ข้อ ๔ คือเข้าร่วมด้วยเลย

ความสัมพันธ์ที่ดีของมนุษย์ไม่ใช่แค่ปฏิบัติการระหว่างกันหรือต่อกันเท่านั้น จะต้องมีการประสานเข้ากันด้วย อย่างเสมอสมาน

หลักของการเข้ากันได้ก็คือ ความเสมอหนึ่ง และสมานหนึ่ง เสมอ ก็คือมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สมาน คือประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน

อุเบกขาเป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์เสมอและสมานกันได้ มนุษย์เสมอกันโดยธรรม ธรรมทำให้มนุษย์เสมอกัน และเมื่ออยู่กันโดยธรรมก็สมานกัน ถ้าไม่มีความเป็นธรรม มีการดูถูกดูแคลนกันขึ้นมา การสมานก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่เป็นธรรมก็เลือกที่รักผลักที่ชัง เมื่อเลือกที่รักผลักที่ชัง ก็เกิดปัญหาทันที มนุษย์ก็กลมกลืนกันไม่ได้ เอกภาพก็ไม่เกิดขึ้น

ทั้งๆ ที่มีทาน ปิยวาจา และอัตถจริยา แต่มาติดเรื่องความไม่เป็นธรรม หรือลำเอียง ก็กลมกลืนประสานกันไม่ได้ การเข้ากันได้ต้องอาศัยการไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน การไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง มีความเสมอภาคเสมอหน้า และไม่เอาเปรียบกัน อุเบกขาเป็นตัวรักษาความสม่ำเสมอ และความเป็นธรรมอันนี้ไว้

มนุษย์ถ้าเอารัดเอาเปรียบกันก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ การเอาเปรียบกันอันเดียวนี้แหละทำให้มนุษย์แตกกันมาก เป็นปัญหาสังคมมากมาย ตั้งแต่ระหว่างบุคคลจนกระทั่งสังคม ระหว่างกลุ่มระหว่างหมู่ ชนหมู่น้อยหมู่มาก ปัญหาเรื่องเอารัดเอาเปรียบ ดูถูกดูแคลนกัน เลือกที่รักผลักที่ชัง และลำเอียงนี่แหละ ทำให้สังคมสูญเสียเอกภาพและความมั่นคง ซึ่งจะต้องใช้อุเบกขามารักษาไว้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีข้อที่ ๔ ในชุดสังคหวัตถุ มารับช่วงจากอุเบกขา คือ

๔) สมานัตตตา ความมีตนเสมอสมาน หรือทำตัวเสมอสมานเข้ากันได้ โดยมีความเสมอภาคกัน เสมอกันโดยธรรม ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่ลำเอียง ไม่เลือกรักผลักชัง ไม่เอาเปรียบ และร่วมสุขร่วมทุกข์กัน

เป็นอันว่า การที่จะรักษาสังคมมนุษย์ไว้ได้ จะต้องมีธรรม ครบ ๒ ชุดๆ ละ ๔ ข้อนี้ นี่แหละคือหลักภาคปฏิบัติการที่สัมพันธ์กันเป็นระบบ โดยรวมเข้ามาเป็นระบบย่อยที่เรียกง่ายๆ ว่า เป็นชุดหนึ่งๆ ซึ่งในแต่ละชุดก็มีดุลยภาพของมันอยู่ในตัว แล้วระหว่างชุด หรือระหว่างระบบย่อย ก็มีความสัมพันธ์ต่อทอดกันในระบบใหญ่ที่กว้างออกไป

เพราะฉะนั้น จึงมีความละเอียดอ่อนในเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่เราจะเอาธรรมะมาใช้ง่ายๆ ดังที่ได้ไปเที่ยวแยกหลักธรรมของท่านออกมาว่าเป็นข้อๆ อย่างที่ในระยะที่แล้วมามีความโน้มเอียงที่จะทำจริยธรรมแบบนี้ โดยเฉพาะที่บอกว่าจะให้เป็นจริยธรรมสากล โดยพูดกันเองง่ายๆ เหมือนเลือกจากบัญชีรายการสินค้าว่าจะหาจริยธรรมที่เข้ากันได้ทุกศาสนา ที่ทุกถิ่นยอมรับหรือใครๆ ก็ยอมรับ หารู้ไม่ว่าที่ท่านสอนไว้นี้มีความหมายเป็นไปตามหลักการซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความจริงในธรรมชาติ จะเอามาแยกกระจายไปตามใจชอบไม่ได้

หลักเรื่องความประสานกลมกลืนระหว่างคุณธรรมภายในกับพฤติกรรมภายนอกนี้ จะขอพูดอีกสักข้อหนึ่ง อาจจะรู้สึกว่าใช้เวลามาก

วันนี้จะพูดให้หนักไปในด้านเนื้อหาธรรมะ แต่ก็อย่างที่ได้บอกแล้วว่าวันนี้ยังไม่ใช่การเข้าสู่จิตวิทยายั่งยืนโดยตรง ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องในขั้นการใช้ประโยชน์ ส่วนในแง่ของตัวความรู้ที่ว่าจะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นตัวแท้ตัวจริงของจิตวิทยาแบบยั่งยืนนั้น ย่อมไม่สามารถพูดโดยตรงให้เพียงพอได้ ภายในเวลาอันจำกัดเท่านี้ จึงจะกล่าวถึงเพียงในขั้นเป็นข้อสรุปกว้างๆ และพูดแทรกไปกับคำบรรยายในด้านปฏิบัติการ หรือการใช้ประโยชน์นั่นเอง

นอกจากนั้น การพูดเรื่องจิตวิทยาแบบยั่งยืนนี้ ก็คงยังไม่ต้องลงลึกในรายละเอียดมากนัก เพราะว่าแม้แต่การพัฒนาแบบยั่งยืนก็ยังเป็นขั้นเริ่มต้น เป็นเพียงความเพียรพยายามของมนุษย์ยุคปัจจุบันที่เพิ่งจะเริ่มหาทางกันอยู่ ยังไม่ใช่ว่าทำได้แล้ว จิตวิทยาแบบยั่งยืนนี้เพิ่งจะเริ่มพูดขึ้นมาหลังการพัฒนาแบบยั่งยืนด้วยซ้ำ เราเพิ่งจะมาเริ่มลองคิดกันดู เพราะฉะนั้นจึงเพียงพูดเป็นข้อเสนอในแง่มุมต่างๆ โดยมุ่งให้ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่จริง

ถ้าใช้ประโยชน์ได้สำเร็จผลดีอย่างยั่งยืนแท้จริง ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ในตัวเองว่าความรู้ที่เป็นฐานของการนำมาใช้ประโยชน์นั้น ตรงกับความเป็นจริงในธรรมชาติ ที่เป็นทั้งภาวะอันยั่งยืนในตัวมันเอง และเป็นหลักฐานยืนยันความเป็นจิตวิทยาที่ยั่งยืน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จากชีวิตสู่สังคม จากคุณธรรมภายในสู่พฤติกรรมภายนอก ความประสานรับกันในระบบสัมพันธ์ที่สมบูรณ์– ๓ – จิตวิทยาจะยั่งยืน ต้องให้สุขที่ยั่งยืน >>

No Comments

Comments are closed.