ประสานระบบบูรณาการคุณสมบัติในตัวคน กับสถานการณ์ในสังคมได้ ก็รักษาดุลยภาพของสังคมมนุษย์สำเร็จ

16 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 15 จาก 25 ตอนของ

ประสานระบบบูรณาการคุณสมบัติในตัวคน กับสถานการณ์ในสังคมได้
ก็รักษาดุลยภาพของสังคมมนุษย์สำเร็จ

ต่อไปอีกข้อหนึ่งคือ จิตวิทยาที่ยั่งยืนนั้นจะต้องเป็นระบบที่มีดุลยภาพและบูรณาการ ซึ่งก็คือเป็นระบบองค์รวม

พฤติกรรมการเป็นอยู่และจิตใจของมนุษย์ต้องมีดุลยภาพ ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้เอาใจใส่กัน แม้แต่คนที่เรียกกันว่าปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ก็ไม่รู้ตระหนักถึงการที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ เป็นเหตุให้เอาธรรมะมาเลือกใช้เลือกปฏิบัติเป็นข้อๆ เหมือนดูบัญชีรายการสินค้าแล้วชอบอะไรก็เลือกเอามา นี่คือความถนัดในการเป็นผู้ชำนาญพิเศษ อะไรต่ออะไรแยกเอาไปเป็นข้อๆ แม้กระทั่งระบบการดำรงรักษาชีวิตและสังคมของมนุษย์เอง ก็มองเห็นกันเพียงแค่ จริยธรรมแบบรายการสินค้า

ขอยกตัวอย่างหลักธรรมง่ายๆ ซึ่งสำคัญมากสำหรับยุคปัจจุบัน ธรรมชุดนี้เรารู้จักกันดีเหลือเกิน แต่ควรจะยกมาเน้นในยุคนี้ที่มนุษย์จะต้องหาทางสร้างสรรค์ประชาคมโลกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ได้ แล้วก็อยู่ในระบบผลประโยชน์ที่แข่งขันแย่งชิงกันเต็มที่ด้วย สภาพของยุคสมัยในเวลานี้มันท้าทายเราว่าจะแก้ปัญหา และจะอยู่กันด้วยดีในระบบผลประโยชน์นั้นได้อย่างไร หรือจะข้ามพ้นระบบผลประโยชน์นี้ได้หรือไม่

หลักธรรมง่ายที่สุดที่เราชอบเอามาแบ่งแยกใช้ ก็คือหลักธรรมชุดพรหมวิหาร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยกัน ๔ ข้อ โดยเป็นระบบดุลยภาพและบูรณาการ แต่เราเอามาแยกเป็นข้อๆ โดยเฉพาะเมตตากรุณา มักจะพูดกันแค่ว่า ให้มีเมตตากรุณา บางทีเอามาจัดเป็นบัญชีจริยธรรมเป็นข้อๆ เมตตาข้อหนึ่ง กรุณาข้อหนึ่ง หรือพูดรวมกันเป็นข้อเดียว แล้วก็แยกออกไปเลยจากชุดของมัน

ยิ่งกว่านั้นก็ไม่รู้ด้วยว่าเมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร การทำอย่างนี้เกิดโทษอย่างไร ตรงนี้แหละเรื่องใหญ่ทีเดียว สังคมจะวิปริตถ้ามนุษย์มีแต่เมตตากรุณา เชื่อไหมว่าถ้าทุกคนอยู่กันแค่จะเลี้ยงเด็กด้วยเมตตา สังคมอาจจะเสียก็ได้

การที่พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะเป็นชุดเป็นหมวด ก็เพราะว่ามันเป็นระบบดุลยภาพและองค์รวม ซึ่งต้องมีบูรณาการ หรือต้องปฏิบัติให้พอดี มิฉะนั้นจะไปสุดโต่ง เอียงกระเท่เร่ แล้วก็เกิดปัญหา จึงจะขออธิบายสักหน่อยหนึ่ง

ต้องให้ข้อสังเกตว่า ธรรมในพุทธศาสนานี้พระพุทธเจ้ามักตรัสเป็นชุด ซึ่งน่าสังเกตว่าเป็นศาสนาที่แปลก ข้อธรรมจะมาเป็นชุด เป็นหมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ ฯลฯ ที่ทรงแสดงไว้อย่างนี้มีความหมาย เพราะเป็นระบบบูรณาการที่จะต้องให้ครบชุดของมันอย่างได้สัดได้ส่วน เมื่อครบแล้วจึงจะถูกต้องสมบูรณ์

ขออธิบายความหมายก่อน ที่จริงอธิบายบ่อยมากแล้ว แต่วันนี้ขอนำมาว่าซ้ำอีกทีหนึ่ง พรหมวิหาร ๔ มีอะไรบ้างก็ทราบกันอยู่แล้ว คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ทีนี้ความแตกต่างระหว่างองค์ธรรมเหล่านี้เป็นอย่างไร

เริ่มด้วยเมตตา คืออะไร แปลกันให้ชัดเจนว่า ความรัก ความปรารถนาดี อยากให้คนอื่นเป็นสุข พูดง่ายๆ ก็คืออยากให้คนอื่นเป็นสุข แต่แปลถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่ชัดจริงหรอก จะให้ชัดแท้ก็ต้องดูสถานการณ์ที่จะใช้ธรรมะเหล่านี้ คือดูสถานการณ์ที่จะใช้ประโยชน์ ว่าจะใช้ข้อไหนในสถานการณ์อะไร

ธรรมะ ๔ ข้อในชุดพรหมวิหารเหล่านี้เป็นธรรมะที่ใช้ปฏิบัติต่อคนอื่น เป็นท่าทีของจิตใจต่อมนุษย์อื่นหรือสัตว์อื่น เราก็ต้องดูที่คนอื่นหรือสัตว์อื่นว่า เราจะใช้ธรรมะข้อไหนเมื่อคนอื่นหรือสัตว์อื่นนั้นอยู่ในสถานการณ์หรือสภาวะอย่างไร แล้วจึงจะเห็นความหมายได้ชัดเจน วิธีดูง่ายๆ

สถานการณ์ที่ ๑ คือ คนอื่นนั้นเขาอยู่ดีเป็นปกติ เราก็ใช้องค์ธรรมข้อที่ ๑ คือ มีเมตตา มีความรักความปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุขต่อไป แต่เป็นธรรมดาว่ามนุษย์จะมีการเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์อื่น

สถานการณ์ที่ ๒ คือ เขาเปลี่ยนจากสภาวะปกติอยู่ดีนั้นไปเป็นตกต่ำ เดือดร้อน เกิดปัญหา เป็นทุกข์ เมื่อสถานการณ์ที่ ๒ มา เราก็เปลี่ยนท่าทีต่อเขามาใช้ธรรมข้อที่ ๒ คือเปลี่ยนจากเมตตาไปเป็นกรุณา ได้แก่สงสาร อยากจะช่วยเหลือปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์

ตรงนี้เป็น ความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างเมตตากับกรุณา หลายคนแยกไม่ออกว่าเมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร วิธีแยกง่ายๆ เป็นอย่างนี้ คือดูที่สถานการณ์ที่เกิดแก่ผู้อื่น เป็นอันว่าถ้าเขาตกต่ำเดือดร้อนก็ใช้กรุณาหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องเขาจากความทุกข์ แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปได้อีก

สถานการณ์ที่ ๓ คือ เขาขึ้นสูง ได้ดี มีความสุข ประสบความก้าวหน้า ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ไปถูกทางแล้ว พอสถานการณ์ที่ ๓ นี้มา เราก็เปลี่ยนเหมือนกัน คือหันไปใช้ข้อที่ ๓ มีมุทิตา พลอยยินดีด้วย ช่วยส่งเสริมสนับสนุน

โดยปกติมนุษย์จะอยู่ใน ๓ สถานการณ์นี้ ถ้าไม่เป็นปกติ ก็ตกต่ำเดือดร้อน มิฉะนั้นก็ต้องขึ้นสูงได้ดีมีสุข อันนี้ดูเหมือนว่าครบแล้ว แต่ทำไมพรหมวิหารจึงมี ๔ ข้อ เราปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้อื่นเหมือนกับครบทุกสถานการณ์แล้ว ถ้าสถานการณ์ครบแล้ว ทำไมจึงยังมีข้อ ๔ อีก จะต้องมีเหตุผลพิเศษ นี่แหละคือระบบดุลยภาพ

เหตุผลที่ต้องมีข้อ ๔ คือ มนุษย์นั้นทั้งหมด ไม่ว่าตัวเราเองก็ดี ผู้อื่นที่เราไปเกี่ยวข้องก็ดี ทุกคนก็อยู่ใต้กฎธรรมชาติ ต้องรับผิดชอบต่อกฎธรรมชาติเสมอกัน มนุษย์จะช่วยเหลือกันได้ในขอบเขตจำกัด เรามิใช่สัมพันธ์เฉพาะกับเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่เราสัมพันธ์กับความจริงของกฎธรรมชาติด้วย เราอยู่ภายใต้ความเป็นจริงหรือกฎเกณฑ์ของมัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ตระหนักไว้ด้วยว่า การกระทำของเราจะไม่สิ้นสุดเพียงที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีสถานการณ์ที่ ๔ ที่ข้ามพ้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือมนุษย์ไป

สามสถานการณ์แรก เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือระหว่างบุคคล แต่ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นจะมีผลไปกระทบเป็นการละเมิดต่อกฎธรรมชาติ หรือตัวความจริง ตัวหลักที่เรียกว่าธรรมะขึ้นมา เราก็จะมาถึงสถานการณ์ที่ ๔

ธรรม คือตัวความจริงของกฎธรรมชาติ ความถูกต้อง ความดีงาม ความชอบธรรม และหลักการ ไม่ว่าจะเป็นหลักการของธรรมชาติแท้ๆ ก็ตาม เป็นหลักการที่มนุษย์เอามาวางเป็นบัญญัติในสังคมเช่นเป็นกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ระเบียบกติกาสังคมก็ตาม หลักการเหล่านี้ ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปกระทบละเมิดหรือจะทำให้เสียหาย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะต้องหยุด แล้วไปอยู่กับธรรม และจะต้องให้ปฏิบัติตามธรรม หมายความว่าให้โอกาสแก่ธรรมะมาออกโรงแสดง ตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ใน ๓ ข้อต้นจึงหยุดหมด

สถานการณ์อะไรที่จะมีผลกระทบต่อธรรม ซึ่งเราจะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและให้เป็นไปตามธรรม ขอยกตัวอย่างในกรณีที่เขาเดือดร้อน ที่บอกว่าจะต้องใช้กรุณา แต่ถ้าเราสงสารไปช่วยเหลือก็จะกระทบต่อความถูกต้องชอบธรรม และทำให้เสียหลักการของสังคม เช่นอย่างเป็นผู้พิพากษา เมื่อรู้ว่าจำเลยนี้ทำความผิดจริงกฎหมายให้ลงโทษ แต่ถ้าเราลงโทษ เขาก็จะตกทุกข์เดือดร้อน เราสงสารก็เลยช่วยตัดสินให้เขาพ้นผิด ในกรณีอย่างนี้การช่วยเหลือด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้ไปกระทบต่อธรรมเข้าแล้ว ทำให้เสียความถูกต้องเป็นธรรมที่เป็นหลักการของสังคม เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์นี้ใช้ไม่ได้ กรุณาต้องหยุด แล้วย้ายไปข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา ให้อุเบกขามา

ขอให้อีกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งไปลักของเขาสำเร็จได้เงินมา ๒ พันบาทนี่เขาได้ดีมีสุขใช่ไหมเราก็แสดงความยินดีด้วยโดยสนับสนุน ถูกไหม? ไม่ถูก เพราะอะไร เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในกรณีนี้ไปละเมิดก่อผลเสียต่อธรรม คือหลักการ กติกาสังคม ความถูกต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต้องหยุดแล้ววางตัวให้เป็นไปตามธรรม ตัวคนต้องหยุดขวนขวายช่วยเหลือและให้ธรรมออกโรง นี้คือสถานการณ์ที่ ๔ ที่เรียกว่า อุเบกขา อุเบกขาต้องมาตอนนี้

อุเบกขา แปลว่าดูอยู่ใกล้ๆ คือคอยดูแลให้เป็นไปตามเรื่องของมัน หรือคอยดูให้เป็นไปตามธรรม ไม่ขวนขวายช่วยเหลือคน ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงธรรม แต่ให้ธรรมปรากฏออกมา ใครมีหน้าที่ปฏิบัติตามธรรมหรือตามหลักตามกฎ ก็ทำไปตามนั้น

ท่าทีของอุเบกขาก็คือการที่มนุษย์ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการของธรรมนั่นเอง ถึงตอนนี้ก็ครบ ๔ เมื่อครบ ๔ แล้ว ก็จะมีดุลยภาพเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เงื่อนปมของปัญหาที่เลวร้าย มนุษย์ผูกไว้ในใจของตนเอง จิตวิทยาต้องชี้ทางที่จะพัฒนาคนให้แก้ไขคลายปมนี้ให้ได้ดุลยภาพที่ไม่สัมฤทธิ์ คือข้อพิสูจน์สังคมว่ายังพัฒนาไม่สำเร็จ >>

No Comments

Comments are closed.