จิตวิทยาอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ยั่งยืนหรืออย่างไร

16 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 3 จาก 25 ตอนของ

จิตวิทยาอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ยั่งยืนหรืออย่างไร

ปาฐกถาวันนี้ตั้งชื่อให้ว่า “การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน” สำหรับคำว่า “พัฒนาคุณภาพชีวิต” นี้ เราคงจะไม่ต้องมาวิเคราะห์วิจารณ์กันอีก แต่ที่พูดว่า “ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน” นี้แหละ ทำให้เกิดความสงสัยว่า จิตวิทยาที่เป็นอยู่นี่ไม่ใช่เป็นแบบยั่งยืนหรืออย่างไร ตรงนี้แหละที่อาจจะสงสัย เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นมาแล้วก็ลองมาดูกันนิดหน่อย

มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาสมัยใหม่ ซึ่งเวลานี้ในวงการจิตวิทยาเองก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่า จิตวิทยาจะไปแนวไหน และควรจะเป็นอย่างไร เพราะว่า จิตวิทยานี้

ประการที่หนึ่ง เท่าที่เป็นมามีลักษณะสำคัญคือ การอิงอยู่กับวิทยาศาสตร์ เราถือว่า จิตวิทยานี้เป็นวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ คือเป็นการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์

ประการที่สอง เวลานี้วิทยาศาสตร์เองก็เกิดปัญหาเพราะมาถึงยุคที่เป็นจุดเปลี่ยนหรือหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราตั้งคำถามกันว่า การศึกษาเพื่อเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินั้น จะทำได้จริงหรือไม่ อาจจะต้องมีการพลิกหรือเปลี่ยนแปลงกันครั้งใหญ่

ในเมื่อวิทยาศาสตร์ที่เราเอามาเป็นต้นแบบในการศึกษาจิตวิทยาก็เกิดมีปัญหาเสียเองแล้ว ปัญหานี้ก็ย่อมจะส่งผลมาถึงจิตวิทยาด้วย เพราะจิตวิทยาแบบปัจจุบันนั้น ดังที่บอกเมื่อกี้เราถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ หรืออย่างน้อยก็พยายามเป็นวิทยาศาสตร์โดยใช้วิธีวิทยาศาสตร์

เมื่อจิตวิทยาใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ ก็จะพลอยมีข้อดีและข้อเสีย หรือมีจุดเด่นจุดด้อย และข้อจำกัดไปตามวิทยาศาสตร์ด้วย

จุดเด่นจุดด้อยของวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร คือ วิทยาศาสตร์นั้นสนใจ ยอมรับ และศึกษาแต่ด้านรูปธรรมหรือเรื่องวัตถุ และมองเรื่องจิตใจหรือนามธรรมว่าเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ การที่พิสูจน์ไม่ได้นี่บางทีก็ทำให้ถึงกับไม่ศึกษา หรือไม่เอาใจใส่ มองข้ามไปเลย

การที่จิตวิทยาไปเอาวิธีการวิทยาศาสตร์มาใช้ และถือตัวว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เลยต้องสนใจแต่เรื่องของสิ่งที่เป็นรูปธรรม ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยประสาทสัมผัส

การศึกษาเรื่องจิตใจ สมัยโบราณถือว่าเป็นปรัชญา คือเอามาจัดเป็นปรัชญา แต่ตัวจิตวิทยาเอง เดิมเขาไม่ได้ถือว่าเขาเป็นปรัชญาหรือไม่ เขาก็ถือว่าศึกษาเรื่องจิตใจ แต่คนในยุคต่อมาจัดจิตวิทยาว่า เป็นเรื่องปรัชญา ซึ่งยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งมาถึงยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ก็เอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ศึกษา

เมื่อศึกษาไปๆ การศึกษาเรื่องจิตวิทยาหรือจิตใจก็ค่อยๆ มีแนวโน้มมาทางวัตถุและรูปธรรมมากขึ้นๆ จนกระทั่งถึงยุคหนึ่งก็กลายเป็นว่าจิตวิทยานี้ไม่ใช่เป็นการศึกษาเรื่องจิตใจ หรือสภาพจิตใจแล้ว แต่กลายเป็นการศึกษาเรื่องพฤติกรรม ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดว่าในยุคถอยหลังไปสัก ๒๐ ปี คำจำกัดความของจิตวิทยาบางทีก็ให้จำเพาะลงไปเลยว่าเป็นการศึกษาเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์หรืออย่างเป็นวิทยาศาสตร์

แม้แต่ปัจจุบันนี้ ก็คิดว่าหนังสือไม่น้อยยังให้ความหมายแบบนี้ คือ เอาแต่พฤติกรรม เพราะถือว่าเรื่องจิตใจเป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ ประสบการณ์ต่างๆ ทางจิตใจนี่เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร จิตใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นสัมผัสไม่ได้

เวลานี้หันมาดูวงการวิทยาศาสตร์เอง ที่เคยสนใจศึกษาเฉพาะเรื่องวัตถุและรูปธรรม ก็ปรากฏว่ามาถึงจุดที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นจุดเปลี่ยน คือวิทยาศาสตร์เอง เวลานี้กลับหันมาสนใจเรื่องจิตใจ เช่นถามกันในเรื่อง mind ว่าจิตใจเป็นอย่างไร consciousness เป็นอย่างไร สิ่งที่ถูกข้าม สิ่งที่ถูกเมินไปเป็นเวลาหลายสิบปีกำลังกลับมาได้รับความสนใจใหม่

บางทีถึงกับคิดกันว่า ถ้าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบเรื่อง mind หรือเรื่อง consciousness ได้ ก็จะไม่สามารถรู้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้ คล้ายกับว่าโลกของวัตถุนี้มนุษย์ได้ศึกษามาถึงจุดที่เต็มที่และติดตัน ไม่มีทางไปแล้ว และกลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าแม้แต่วัตถุที่ศึกษากันมานั้นแท้จริงมันคืออะไรแน่

เวลานี้วิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่า วัตถุที่ศึกษานั้นในที่สุดมันคืออะไร และอันนี้แหละเป็นจุดที่ทำให้ต้องมาสนใจทางด้านจิต จึงหันมามองว่า การที่จะตอบคำถามขั้นสุดท้ายในเรื่องวัตถุนั้นเอง เราอาจจะต้องอาศัยความรู้เรื่องจิตด้วย เพราะว่า แม้แต่ผู้ศึกษาวัตถุนั้นเองไปๆ มาๆ ก็คือจิตเป็นผู้ศึกษา

เราเคยมองแต่ว่า เราเป็นวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาแต่ตัววัตถุ มองแต่สิ่งที่ถูกศึกษาว่าเป็นวัตถุ แต่ไม่ได้มองว่าที่จริงนั้นใครล่ะเป็นผู้ศึกษา เสร็จแล้วผู้ศึกษานั้นก็คือ จิต ทีนี้ถ้าเราไม่เข้าใจตัวผู้ศึกษาคือจิตแล้ว เราจะเข้าใจสิ่งที่ถูกศึกษาคือวัตถุนั้นได้อย่างไร เพราะสิ่งที่ถูกศึกษานั้นอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ศึกษาอีกทีหนึ่ง

ตอนนี้วงการวิทยาศาสตร์ก็เลยมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งทำให้มาถามกันและมีความสนใจกันในเรื่อง mind เรื่อง consciousness ว่าเป็นอย่างไร

พอวิทยาศาสตร์เองหันมาสนใจแล้ว จิตวิทยาซึ่งควรจะเป็นเจ้าของเรื่องในการศึกษาเกี่ยวกับ mind และ consciousness เอง จะมองข้ามเรื่องนี้ต่อไปได้อย่างไร ก็มองข้ามไม่ได้

เวลานี้จิตวิทยาก็ต้องหันกลับมาศึกษาเรื่องจิตที่เป็นนามธรรมด้วย จะต้องมาตอบคำถามเรื่อง mind เรื่อง consciousness ว่าเป็นอย่างไร

อย่างที่เราเห็นกันว่าเวลานี้มีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีสูงมาก ถึงขนาดมีคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ก็มาศึกษาวิเคราะห์และถกเถียงกันว่า คอมพิวเตอร์จะมี mind ได้หรือเปล่า มันจะพัฒนาไปจนถึงขั้นมีจิตได้ไหม อะไรทำนองนี้

แม้เพียงจะตอบคำถามเรื่องนี้ เวลานี้ก็ออกหนังสือกันมาเป็นเล่มโตๆ เพื่อจะตอบคำถามว่าคอมพิวเตอร์นี่จะเป็น mind ได้หรือเปล่า หรือว่า mind คืออะไร consciousness คืออะไร กลายเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบัน ในที่สุดก็เลยกลับมาศึกษาเรื่องสภาพที่เป็นนามธรรมกันอีก

แปลว่า เวลานี้มนุษย์อยู่ในภาวะที่สงสัยและสับสนพอสมควร เพราะเท่ากับเป็นจุดของความเปลี่ยนแปลงทางวิชาการที่แสดงว่า คนเริ่มเกิดความไม่มั่นใจไม่แน่ใจในความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เท่าที่ผ่านมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืนใช้วิธีรูปธรรม ศึกษาและพัฒนานามธรรมได้จริงหรือไม่ >>

No Comments

Comments are closed.