เมื่อเป็นการศึกษาจริงแท้ บูรณาการก็ก้าวไป องค์รวมก็ขยายดุลยภาพ คุณภาพชีวิตของคนก็ยิ่งเพิ่ม ในระบบที่ยิ่งเอื้อประสานกลมกลืน

16 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 22 จาก 25 ตอนของ

เมื่อเป็นการศึกษาจริงแท้ บูรณาการก็ก้าวไป องค์รวมก็ขยายดุลยภาพ
คุณภาพชีวิตของคนก็ยิ่งเพิ่ม ในระบบที่ยิ่งเอื้อประสานกลมกลืน

เมื่อมนุษย์มีความสุขที่ขึ้นต่อวัตถุสิ่งเสพน้อยลง เพราะพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นมาได้ และมีอิสรภาพมากขึ้นแล้ว ผลที่ตามมาเองเหมือนกับพลอยได้ก็เกิดขึ้นด้วย คือความวุ่นวายเดือดร้อนภายนอกที่เกิดจากการแก่งแย่งระหว่างมนุษย์ก็จะน้อยลง สังคมมีสันติมากขึ้น คือมีความสงบมากขึ้น มีอิสรภาพมากขึ้น เพราะคนขึ้นต่อสิ่งเสพภายนอกน้อยลง ลดการข่มเหงรังแกเบียดเบียนครอบงำกันลงไป พร้อมทั้งมีความสุขมากขึ้น เพราะมีความสุขอยู่ในตัวมากขึ้น มีช่องทางเป็นสุขมากขึ้น และสุขง่ายขึ้น

ว่าเฉพาะในแง่ความสุข ถึงตอนนี้ พอได้สิ่งเสพมาก็มีความสุขกำลังสองเป็นทวีคูณ

แต่ก่อนนี้พอข้างนอกได้วัตถุบำเรอสุขมา แต่ข้างในความสามารถที่จะมีความสุขลดลงไป ก็สุขเท่าเดิม ได้สิ่งของมามากขึ้น แต่สุขเท่าเดิมหรือกลับลดน้อยลง แต่พอพัฒนาถูกทาง ตอนนี้สุขเดิมข้างในก็เพิ่ม แล้วยังได้วัตถุมาเสพบำเรอความสุขมากขึ้นอีก ก็สบายเลย คราวนี้สุขมีและมาเท่าไรได้เต็มบริบูรณ์ ไม่มีสูญเสียเลย

ไม่ใช่แค่นี้ ดุลยภาพอีกอย่างหนึ่งที่พูดไปแล้วก็คือ เมื่อมนุษย์พัฒนาความสัมพันธ์กับวัตถุในขั้นต้น โดยไม่สัมพันธ์เฉพาะในแง่ที่จะเอาและได้อย่างเดียว แต่สัมพันธ์อย่างมีดุลยภาพกับด้านที่เป็นคู่กัน คืออย่าเอาแต่ได้ ต้องให้ด้วย เมื่อมีทั้งได้และให้ ชีวิตก็มีดุลยภาพ สังคมก็มีดุลยภาพ

ถึงตอนนี้ก็จึงจะพูดถึงการสร้างหรือพัฒนาความสุขแบบที่ ๒

เมื่อในสังคมนี้มีการให้แบ่งปันกัน สังคมก็มีดุลยภาพภายนอก แต่ดุลยภาพไม่จบเท่านั้น การได้และการให้ยังมีผลต่อไปอีก คือในตอนแรกนี้ เหมือนที่บอกแล้วว่ามนุษย์มีความสุขจากการได้การเอา เพราะมนุษย์มีความสุขที่ขึ้นต่อวัตถุ เราเอาเราได้มาก็มีความสุขสมใจ ทีนี้พอเราพัฒนาทานคือการให้ โดยมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความคิดจะให้ สภาพจิตที่มองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง และเป็นเหยื่อก็หมดไป แต่เราจะมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความเข้าใจ และเห็นใจ รู้ถึงชีวิตจิตใจของเขา มองเห็นความสุขความทุกข์ของเขา แล้วก็เกิดคุณธรรมตามมา คือความกรุณา สงสาร เห็นใจ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อให้ก็จะได้ทันทีด้วย คือเมื่อให้ด้วยความรู้สึกที่มีเมตตากรุณา การให้ก็จะเป็นความสมใจของเรา เพราะเรามีเมตตากรุณาก็คือต้องการเห็นเขาหายทุกข์มีความสุข เหมือนพ่อแม่ที่มีเมตตารักลูก ก็อยากให้ลูกมีความสุข เมื่อให้แก่ลูกและเห็นลูกมีความสุข ตัวพ่อแม่เองก็มีความสุขด้วย

เมื่อเรามีความต้องการแบบเมตตา การให้ก็เป็นการสนองความต้องการของเราเอง เมื่อเห็นคนที่เราช่วยเหลือนั้นพ้นจากความเดือดร้อนและมีความสุข ก็ทำให้เราสมปรารถนา พอเราสมปรารถนาเราก็จะเกิดความสุขขึ้นมาทันที เป็นการเปลี่ยนการให้จากความฝืนใจและเป็นทุกข์ มาเป็นความสมใจและมีความสุข

ขอให้เทียบการสนองความต้องการ ๒ แบบ

๑. เมื่อเรามีความต้องการแบบโลภะ คืออยากได้มาเสพให้ตัวเป็นสุข การได้ก็เป็นการสนองความต้องการนั้น เราจึงมีความสุขจากการได้

๒. เมื่อเรามีความต้องการแบบเมตตา คืออยากทำให้คนอื่นเป็นสุข การให้ก็เป็นการสนองความต้องการนั้น เราก็มีความสุขจากการให้

ด้วยการพัฒนาอย่างนี้มนุษย์ก็จะมีความสุขชนิดใหม่ คือ ความสุขจากการให้ ซึ่งเดิมไม่เคยมี ถ้าไม่พัฒนามนุษย์ มนุษย์จะมีแต่ความสุขจากการได้ ส่วนการให้เป็นความทุกข์ เพราะเมื่อใจมีแต่ความต้องการได้ การให้ก็เป็นการฝืนความต้องการ และมีความหมายเป็นการเสียไป จึงทุกข์ แต่พอพัฒนามนุษย์ขึ้นมาถึงขั้นนี้ การให้ก็กลายเป็นวิธีหาหรือสร้างความสุขได้อีกอย่างหนึ่ง

มนุษย์พัฒนามาถึงขั้นที่การให้กลายเป็นความสุข และเพิ่มช่องทางที่จะมีความสุขขึ้นใหม่อีก เพราะได้พัฒนาคุณธรรมขึ้นมาในใจ นี้คือโยงใยความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยในการพัฒนามนุษย์ โดยยกพฤติกรรมคือทาน กับสภาพจิตคือคุณธรรมแห่งเมตตา กรุณา เป็นตัวอย่าง ซึ่งโยงต่อไปสู่ความสุข โดยเปิดมิติใหม่ของความสุข ทำให้มีความสุขจากการให้ หรือทำให้การให้กลายเป็นความสุข

มนุษย์ที่พัฒนาเช่นนี้ จะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกมากเหนือกว่ามนุษย์ปุถุชนขั้นต้นที่มีความสุขอย่างเดียวจากการได้การเอา และต้องได้เสพจึงจะสุข

อนึ่ง มนุษย์ปุถุชนพื้นฐานที่หาความสุขจากการได้การเอานั้น ความสุขของเขามีเฉพาะในเวลาที่ได้เสพ ซึ่งเป็นเวลาช่วงสั้นนิดเดียว แต่ในเวลานอกนั้นมีแต่ความกระวนกระวายทุรนทุรายหรือหวาดหวั่นกังวล เป็นทุกข์ทั้งระหว่างกระบวนการแสวงหาและในเวลาที่ยังไม่ได้ทั้งหมด ส่วนคนที่มีความสุขจากการให้หรือทำประโยชน์ให้นั้น สบายใจ อิ่มใจ ชื่นใจ เมื่อเห็นคนอื่นมีความสุขสมใจตัว ก็ปลื้มปีติไปนาน และนึกถึงเมื่อไรก็ปลื้มใจทุกที

ลองนึกถึงตัวเราเอง พอเราคิดจะให้ขึ้นมา เราก็นึกทันทีว่าเราจะให้แก่ใคร นี่คือเรานึกถึงคน ไม่ใช่นึกถึงของ พอนึกถึงคน เราก็นึกเห็นหน้าเห็นตา เห็นสุข เห็นทุกข์ของเขา คนนี้ยากจน คนนี้เป็นเด็กอดโซ เมื่อไม่มีความคิดถึงการได้การเอาของตัวเองเข้าไปแทรกแซง ความสงสารก็จะเกิดขึ้นมา แล้วเราก็เอาเสื้อผ้าไปให้ เอาอาหารไปให้ เมื่อเขาแต่งตัวใหม่ และกินอาหารอิ่ม มีหน้าตาสดใส ร่าเริง เราก็ดีใจ เกิดปีติ อิ่มใจ ปลื้มใจ บางทีน้ำตาไหลเลย นี้คือเรามีความสุขแล้ว ความสุขจากการให้เกิดขึ้น เป็นความสุขของจิตใจที่แผ่กว้าง ไม่คับแคบ เพราะฉะนั้นคนที่มีความสุขจากการให้จึงเป็นคนที่ได้เปรียบมาก เพราะความสุขจากการให้เป็นความสุขชนิดที่มีสุขภาพจิตสูง

ความสามารถในการหาเราก็ได้พัฒนาไว้แล้ว เราจึงมีวัตถุที่จะให้อยู่เสมอ และเมื่อเราให้เราก็มีความสุข เราจึงมีความสุขจากการให้อยู่เรื่อย คนอย่างนี้จึงมีความสุขสองชั้น ขอบเขตในการมีความสุขของเขาก็มากขึ้น แล้วอย่างนี้ทำไมเราจะไม่พัฒนามนุษย์ล่ะ เพราะการพัฒนามนุษย์อย่างนี้มีความหมายชัดเจนเห็นได้ชัดว่าเป็นการพัฒนาแท้จริง ไม่พลาดแน่นอน เพราะทำให้คนสามารถมีความสุขมากขึ้นอย่างไม่มีพิษภัย ทั้งแก่ตนเอง หรือแก่ใครๆ แต่เป็นความสุขที่เป็นจริยธรรมในตัวเลยทีเดียว

๑) ความสามารถที่จะมีความสุขก็มากขึ้น

๒) ยังแถมมีความสุขจากการให้เพิ่มขึ้นมาอีก

นอกจากเปิดช่องทางที่จะมีความสุขมากขึ้นแก่ชีวิตของตนเองแล้ว ความสุขแบบนี้ก็เกื้อกูลต่อสังคม เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม และเมื่อเรามีความสามารถในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุขมากขึ้น นอกจากเรามีความสุขได้ง่ายจากการเสพวัตถุเหล่านี้แล้ว เราก็มาสร้างความสุขจากการให้ได้มากขึ้นอีก ความสุขจึงเพิ่มมากหลายชั้น เพราะฉะนั้นคนที่พัฒนาถูกต้องจึงมีความสุขเพิ่มขึ้นทุกที

ลักษณะที่ควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งของความสุขจากการให้ก็คือ เป็นความสุขแบบที่เรียกว่า ความสุขแบบประสาน ตรงข้ามกับความสุขจากการได้ ที่เป็นความสุขแบบแย่งชิง

ที่ว่าความสุขจากการให้เป็นความสุขแบบประสาน หมายความว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็สุขด้วยกัน เพราะทั้งผู้รับและผู้ให้สุขเป็นสุขพร้อมกัน สุขทั้ง ๒ ฝ่าย เขาก็สุข เราก็สุข ไม่เหมือนกับความสุขแบบแรกที่เกิดจากการได้ ที่สุขฝ่ายเดียว ฝ่ายหนึ่งสุข อีกฝ่ายหนึ่งทุกข์ เพราะฉะนั้น การพัฒนาคนเมื่อถูกทางแล้ว มีแต่ดีทั้งนั้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อการศึกษาพัฒนาคนถูกทาง คนก็สุขง่ายขึ้น สุขมากขึ้น สุขได้หลายทางขึ้น และสุขด้วยกันโดยทั่วเมื่อพัฒนาผิดทาง แม้แต่ความสุขพื้นฐานเดิมก็เสื่อมหาย แต่พอพัฒนาถูกต้อง ทุกอย่างเอื้อประสานกัน ความสุขก็ทวี >>

No Comments

Comments are closed.