— — ก. กรณีอวดอุตริมนุสธรรมและคำว่าอนุปสัมบัน

20 กรกฎาคม 2533
เป็นตอนที่ 9 จาก 15 ตอนของ
ก. กรณีอวดอุตริมนุสธรรมและคำว่าอนุปสัมบัน

อุตริมนุสธรรม แปลว่า ธรรมที่ยิ่งกว่ามนุษย์สามัญ หรือแปลกันง่ายๆ ว่าคุณวิเศษ ได้แก่ ธรรมที่เป็นจุดหมาย เป็นอุดมคติในพระพุทธศาสนา เช่น มรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญา ความเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน จนถึง เป็นพระอรหันต์ ซึ่งผู้ได้บรรลุแล้วจะรู้เฉพาะตน หรือผู้ที่บรรลุแล้วด้วยกันจึงจะเข้าใจกันได้ เรียกได้ว่าเป็นของสูงและสูงสุด แต่ก็เสี่ยงต่อการหลอกลวงกัน เพราะมีคุณค่าสูงเลิศ แต่ชาวบ้านไม่อาจพิสูจน์ได้ ท่านจึงให้ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

มีพุทธบัญญัติ ในพระวินัย อยู่ ๒ ข้อ ซึ่งห้ามภิกษุอวด/บอกอุตริมนุสธรรม คือ

ข้อแรก ห้ามอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน ข้อนี้ถ้าละเมิดเป็นความผิด (อาบัติ) ร้ายแรงที่สุด ถึงขาดจากความเป็นพระภิกษุ เรียกว่าเป็นปาราชิก ดังพุทธบัญญัติซึ่งแปลเอาความได้ว่า

ภิกษุใด ไม่รู้ไม่เห็นจริง อวดอุตริมนุสธรรมว่ามีในตน…ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หมดสิทธิอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย (วินย.๑/๒๓๒/๑๗๒)

ข้อหลัง ห้ามบอกอุตริมนุสธรรมที่ตนมีจริง แก่อนุปสัมบัน ข้อนี้ถ้าละเมิดเป็นความผิด (อาบัติ) ที่เบาลงมา เรียกว่า ปาจิตตีย์ ดังพุทธพจน์ ซึ่งแปลได้ความว่า

ภิกษุใดบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้ามีจริง เป็นปาจิตตีย์ (วินย.๒/๓๐๖/๒๑๑)

คำว่า อนุปสัมบันตรงข้ามกับ อุปสัมบัน ซึ่งแปลว่า ผู้อุปสมบทแล้ว ได้แก่ ภิกษุและภิกษุณี ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อุปสัมบันคือภิกษุและภิกษุณีได้ แต่บอกแก่อนุปสัมบัน เช่น ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ ย่อมเป็นความผิด

เป็นที่รู้กันว่า ท่านโพธิรักษ์อวดอุตริมนุสธรรมอย่างโจ่งแจ้ง และได้อวดแก่คฤหัสถ์ คือชาวบ้าน ซึ่งมิใช่ภิกษุ หรือที่เรียกตามพระวินัยนี้ว่า ได้อวดแก่อนุปสัมบันด้วย ดังนั้น ถ้าท่านไม่มีอุตริมนุสธรรมจริง ถ้าเจตนากล่าวเท็จ โดยมิใช่สำคัญตนผิด ท่านก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ หรือถ้าท่านมีจริงเป็นจริง ท่านได้บอกแก่อนุปสัมบัน ท่านก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ท่านโพธิรักษ์จะเป็นปาราชิกหรือไม่ ตัวท่านเองคงจะทราบดี แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีประกาศของคณะสงฆ์วินิจฉัยออกมา แต่ในแง่ที่ท่านอวดอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันนั้น ทางองค์กรปกครองสงฆ์คือมหาเถรสมาคม เห็นว่าท่านกระทำเป็นอาจิณ และได้พิจารณาประกอบกับพฤติกรรมอย่างอื่น จึงดำเนินการประกาศวินิจฉัยลงโทษไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องในขั้นนี้ทั้งหมดเป็นกรณีของการทำผิดวินัยสงฆ์ ที่โยงไปถึงกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งเป็นกรณีสำหรับองค์กรที่ปกครองสงฆ์และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะดำเนินการ ดังกล่าวแล้วในข้อ ๒) ข้างต้น ยังไม่เข้ามาในข่ายของการทำความผิดในข้อ ๓) คือการทำพระธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยน

เรื่องมาเข้าเขตเป็นการทำความผิดในข้อ ๓ นี้ ซึ่งเป็นกรณีสำหรับผู้ต้องการดำรงรักษาพระธรรมวินัย และผู้ที่รักความจริงทั่วไปจะต้องใส่ใจรับผิดชอบ ก็ต่อเมื่อท่านโพธิรักษ์กล่าวอ้างและตั้งข้อบัญญัติต่างๆ ที่ขัดแย้งหรือลบล้างหรือผิดพลาดจากพุทธพจน์และพุทธบัญญัติ

จากการที่ได้ถูกปรับโทษ เพราะอวดอุตริมนุสธรรมนั้น ปรากฏว่าท่านโพธิรักษ์ได้พยายามเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล อ้างหลักฐานและอธิบายต่างๆ เป็นอันมาก เพื่อให้เห็นว่าการกระทำของท่านเป็นการชอบธรรม และให้ท่านหลีกเลี่ยงความผิดได้ แต่ทำไปทำมาการกระทำของท่านได้มีลักษณะที่กลายเป็นการหักล้างพุทธบัญญัติ และตั้งวางบัญญัติใหม่ของท่านเองขึ้นแทน ดังตัวอย่างการปฏิบัติของท่านดังนี้

๑) ทั้งที่มีบทบัญญัติในพระวินัยกำหนดความหมายของ “อนุปสัมบัน” ไว้ โดยกำกับอยู่ด้วยกันกับพระบัญญัติที่ห้ามอวดอุตริมนุสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบันนั้นแล้วว่า “อนุปสัมบัน ได้แก่บุคคลอื่นนอกจากภิกษุ และภิกษุณี” (ตรง ข้ามกับอุปสัมบัน ซึ่งได้แก่ภิกษุและภิกษุณี) (วินย.๒/๓๐๖/๒๑๑) แต่ท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกดูจะพยายามหลีกเลี่ยง จึงยังไม่พบว่าท่านได้ยกบทบัญญัตินี้ขึ้นมาอ้างอย่างตรงๆ หรือชัดเจนเลย แต่กลับอ้างความหมายตามที่ท่านโพธิรักษ์แสดงไว้ คือ อนุปสัมบัน ได้แก่ คนที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น (จะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ตาม) และอุปสัมบัน คือ คนที่มีภูมิธรรมถึงขั้น (จะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ตาม) ดังเช่น ที่อ้างว่า “แม้จะเป็นฆราวาส ถ้าเขาได้ศึกษาปฏิบัติธรรมกันมา อย่างมีมรรคผลเป็นส่วนใหญ่ ย่อมจะน่าได้ชื่อว่า อุปสัมบันนั้นมากกว่า” (แฉสันติอโศกผิดธรรมวินัยจริงหรือ? หน้า ๙) การอ้างเช่นนี้มุ่งให้เห็นว่า ถึงแม้ท่านโพธิรักษ์จะอวดอุตริมนุสธรรมแก่ฆราวาส คือคฤหัสถ์หรือชาวบ้าน ก็ได้ ไม่ผิด ถ้าคฤหัสถ์นั้นได้มรรคได้ผลมีภูมิธรรมถึงขั้น แต่ใครจะบอกได้เล่าว่าคฤหัสถ์คนนั้นมีภูมิธรรมถึงขั้นหรือไม่ คำตอบก็คงว่าต้องเป็นท่านโพธิรักษ์นั่นแหละ บอกหรือตัดสิน อย่างไรก็ตาม ความหมายอย่างที่ท่านโพธิรักษ์แสดง ซึ่งชาวสันติอโศกนำมาอ้างนี้ ไม่มีในพุทธพจน์หรือบทบัญญัติใดๆ เลย การกระทำของท่านจึงมีลักษณะที่เป็นการกลบเกลื่อน บัญญัติทับซ้อน ตลอดจนอาจกลายเป็นการหักล้างพุทธบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรงที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ถ้าภิกษุหรือชาวพุทธกลุ่มอื่นๆ ต่างก็บัญญัติความหมายกันขึ้นมาเองบ้างต่างๆ กันไป วงการพระพุทธศาสนาก็คงสับสนวุ่นวายไปหมด และผลก็คือเป็นการช่วยกันล้มล้างคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสียนั่นเอง

อนึ่ง การบัญญัติความหมายของอุปสัมบัน และอนุปสัมบัน อย่างที่ท่านโพธิรักษ์ทำนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้เลยในทางพระวินัย เพราะบทบัญญัติในทางพระวินัยนั้น (ก็ทำนองเดียวกับกฎหมาย หรือกฎหมายได้แบบอย่างมาด้วยซ้ำ) จะมีลักษณะสำคัญที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ ๒ ประการ คือ

๑. ต้องมีลักษณะเป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้ชัดเจน หรือตรงตามตัวอักษร (ขอให้ลองเทียบบัญญัติความหมายอนุปสัมบันของพระพุทธเจ้าว่า บุคคลอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี กับของท่านโพธิรักษ์ว่า คนที่มีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น จะเห็นว่า ถ้าเกิดคดีความขึ้นมา แล้วถือตามความหมายแบบของท่านโพธิรักษ์ คงจะต้องเถียงกัน บางทีสิบปีก็ตัดสินความไม่ได้ เพราะไม่รู้จะให้ยอมรับกันได้อย่างไร แต่ถ้าถือตามบัญญัติความหมายของพระพุทธเจ้าก็ดำเนินการได้ทันที)

๒. โดยทั่วไป จะมีบัญญัติความหมาย หรือจำกัดความถ้อยคำต่างๆ สำคัญๆ ที่ใช้ในตัวบทนั้นๆ ไว้เสร็จ ไม่ให้ดิ้นได้ (เช่น ในกรณีนี้ ก็มีคำจำกัดความอนุปสัมบันกำกับไว้เรียบร้อยแล้ว ท่านโพธิรักษ์จะอ้างความหมายอะไรอื่นมาอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ นอกจากจะสามารถล้มล้างพระวินัยลงเสียก่อน)

ถ้าพระวินัยไม่มีหลัก ๒ ข้ออย่างที่ว่ามานี้ และถ้าทำอย่างที่ท่านโพธิรักษ์อ้างได้ ภิกษุรูปหนึ่งไปฆ่าคน ก็อ้างบ้างว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่จะเป็นมนุษย์ต้องมีมนุษยธรรม นายคนนั้นไม่มีมนุษยธรรม มันไม่ใช่มนุษย์ เพราะฉะนั้น ฉันไม่ได้ฆ่ามนุษย์ ฉันไม่เป็นปาราชิกตามพุทธบัญญัติที่ว่า “ภิกษุฆ่ามนุษย์ เป็นปาราชิก” ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ไปลักทรัพย์มา ก็อ้างบ้างว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงถือว่าทรัพย์สินเงินทองของนอกกายสำคัญ พระองค์ให้ความสำคัญแก่อริยทรัพย์เท่านั้น ฉันไม่ได้ลักอริยทรัพย์หรอกนะ จะมาปรับโทษฉันเป็นปาราชิกไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงวุ่นวายระส่ำระสายไปหมด (ความจริงพระบัญญัติใช้คำว่า ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ และก็มีคำจำกัดความศัพท์ต่างๆ ไว้ด้วย)

๒) ในกรณีของธรรมกับวินัย ถ้าเป็นเรื่องวินัย ก็ต้องอ้างวินัย โดยเฉพาะตัวบทบัญญัติ เมื่อยกวินัยเป็นหลักในการพิจารณาแล้ว หลักคำสอนและข้อธรรมอื่นที่ยกเอามาประกอบการพิจารณา ก็จะมีขอบเขตความหมายชัดขึ้นมาเอง มิฉะนั้น จะเกิดความสับสนและถกเถียงกันไม่รู้จักสิ้นสุด

ท่านโพธิรักษ์มักจะยกเอาพุทธพจน์แห่งอื่นๆ มาอ้างให้คนเข้าใจเป็นว่า พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้อวดอุตริมนุสธรรม แต่ท่านกลับหลีกเลี่ยง ข้ามเสีย ไม่ยกเอาพุทธบัญญัติในพระวินัยข้อที่ห้ามอวดมาแสดง ความจริงพุทธพจน์อื่นๆ ที่ยกมาอ้างนั้น แม้แต่ที่ถูกใจท่านโพธิรักษ์ที่สุดที่จะหาได้ ก็จะตรัสไว้เพียงเป็นกลางๆ ไม่ได้ระบุว่าบอกแก่ใคร อาจจะเป็นการบอกแก่พระภิกษุและพระภิกษุณีด้วยกันก็ได้ อาจจะกราบทูลแก่พระพุทธเจ้าก็ได้ แต่แน่นอนว่าไม่ได้ระบุไว้ว่าให้บอกหรืออวดแก่คฤหัสถ์ได้ ดังนั้นก็ต้องถือเอาพระวินัยบัญญัติที่ห้ามอวดนั้นเป็นหลัก และเมื่อเทียบเคียงแล้ว ก็จะวินิจฉัยได้ว่า พุทธพจน์ที่อ้างนั้น มีขอบเขตการกระทำแค่ไหนเพียงใด ตัวอย่างเช่น พุทธพจน์ที่ท่านโพธิรักษ์ยกมาอ้าง (หนังสือ “โพธิรักษ์วิปริต” ของสันติอโศกเอง หน้า ๒๗) ซึ่งในที่นี้จะแปลให้เคร่งครัดตามพระบาลีที่เป็นความเดิมมากขึ้น ดังนี้

“ดูกรอุบาลี การสำแดงอรหัตตผล (อัญญาพยากรณ์) มี ๕ อย่าง

๑. ภิกษุสำแดงอรหัตตผล เพราะความเขลา เพราะงมงาย

๒. ภิกษุมีความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาลามกครอบงำ จึงสำแดงอรหัตตผล

๓. ภิกษุสำแดงอรหัตตผล เพราะวิกลจริต เพราะจิตฟุ้งซ่าน

๔. ภิกษุสำแดงอรหัตตผล เพราะสำคัญตนว่าได้บรรลุ

๕. ภิกษุสำแดงอรหัตตผลที่เป็นจริง”

(วินย.๘/๑๑๗๙/๔๖๔)

จะเห็นได้ชัดว่า พุทธพจน์นี้ไม่ได้บ่งบอกว่า สำแดงหรือบอกแจ้งหรืออวดแก่ใคร ท่านโพธิรักษ์ก็ยกมาอ้างให้คลุมๆ เครือๆ เหมือนจะบอกว่า บอกแก่ใครก็ได้ หรือบอกแก่คฤหัสถ์ก็ได้ด้วยนะ แต่วินัยที่เป็นตัวบทตีกรอบไว้แล้ว จะอ้างความให้เกินวินัยไม่ได้ คือเราสามารถพูดต่อจากพุทธพจน์นี้ โยงไปเชื่อมกับตัวบทบัญญัติที่เป็นพุทธบัญญัติว่า ภิกษุสำแดงบอกแจ้งอรหัตตผลอย่างนี้ แก่ใครก็ได้ แต่ถ้าบอกแจ้งแก่อนุปสัมบัน ถึงเป็นจริง ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เอกสารเก่าของสันติอโศก แต่ครั้ง “แถลงการณ์จากคณะสงฆ์ชาวอโศก ถึงฝ่ายปกครองสงฆ์” เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ถึงกับลงข้อความต่อท้ายไว้เท่าที่พบว่า

“ลัทธิใดส่งเสริม และเปิดโอกาสให้ประกาศคุณวิเศษ ที่เป็นเดรัจฉานวิชาเป็นไสยศาสตร์กันโครมๆ แต่ช่วยกันห้ามประกาศอุตริมนุสธรรมที่มีในตน ลัทธินั้นไม่ใช่พุทธศาสนาแท้

“ลัทธิใดส่งเสริม และเปิดโอกาสให้ประกาศคุณวิเศษที่เป็นอุตริมนุสธรรมที่มีในตน แต่ช่วยกันห้ามประกาศเดรัจฉานวิชา ห้ามไสยศาสตร์ ลัทธินั้นคือพุทธศาสนาแท้ (ประมวลเอกสารกรณีสันติอโศก, หน้า ๕๘)

ข้อความนี้ดูเผินๆ ก็เหมือนจะน่าเชื่อถือ เพราะเอาเรื่องอุตริมนุสธรรมไปเข้าคู่เทียบกับเดรัจฉานวิชา และไสยศาสตร์ คนอ่านเห็นว่าประณามเดรัจฉานวิชาและไสยศาสตร์ ก็พอใจ แต่ความจริง ควรจะพูดใหม่ว่า ทั้งลัทธิที่ส่งเสริมเดรัจฉานวิชาและไสยศาสตร์ และลัทธิที่ส่งเสริมให้อวดอุตริมนุสธรรมแก่คนทั่วไปหมดไม่มีขอบเขตนั้น ต่างก็ไม่ใช่พุทธศาสนาแท้ทั้งสิ้น การพยายามพูดให้การอวดอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ กลายเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้องไปนั้น (ในหนังสือ “โพธิรักษ์วิปริต” ก็ดูจะพยายามทำให้เข้าใจอย่างนี้) เท่ากับเป็นการคัดค้านพุทธบัญญัติ ในพระวินัยอย่างโจ่งแจ้ง และในขณะที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้าม กลับบอกว่าดีงาม อย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนกับจะบอกว่าตนรู้ดีกว่าพระพุทธเจ้า

๓) บางครั้ง ท่านโพธิรักษ์ยกพุทธพจน์มาอ้าง แต่ให้ความหมายคำบางคำเสียใหม่ตามที่ท่านต้องการ โดยไม่ตรวจดูให้แน่นอนชัดเจนว่า คำเดิมหมายความแค่ไหน หรือเจตนาจะบิดความให้ตรงกับที่ท่านประสงค์ ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเข้าใจว่า ภิกษุจะบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ได้ด้วย โดยเฉพาะที่ท่านอ้างบ่อยคือพุทธพจน์ใน ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ ๑๐ ประการ ข้อที่ ๑๐ ว่า “บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีอุตริมนุสธรรมแล้วหรือไม่ ที่จะทำให้เป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูก สพรหมจารี ถามในภายหลัง” (องฺ.ทสก.๒๔/๔๘/๙๒)

คำว่า “สพรหมจารี” ในที่นี้ ท่านโพธิรักษ์แปลออกเป็นว่า “ผู้ร่วมปฏิบัติธรรม” และอธิบายความหมายว่า “สพรหมจรรย์ (ที่ถูกเป็นสพรหมจารี – ผู้เขียน) คือ ศาสนิกผู้สนใจธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้วก็มาปฏิบัติ ประกอบการอยู่ร่วมกัน จึงหมายถึง พุทธบริษัทและผู้สนใจอื่น” (โพธิรักษ์วิปริต, หน้า ๒๙) การแสดงความหมายอย่างนี้ เป็นการทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ภิกษุจะบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ที่มาปฏิบัติธรรมด้วยกันก็ได้ แต่การที่ท่านโพธิรักษ์แสดงความหมายของคำว่า สพรหมจารี อย่างนี้เป็นการไม่ถูกต้อง สพรหมจารี หรือผู้ร่วมพรหมจรรย์ ตามหลักธรรมวินัยนี้ ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ร่วมปะปนระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ ควรศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของพระภิกษุ ตามแบบของพระพุทธเจ้า ดังที่จะหาตัวอย่างได้มากมายในพระไตรปิฎก ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สพรหมจารีของภิกษุตามปกติ ก็คือ พระภิกษุด้วยกัน (ขอให้ดูหลักฐานเช่น ม.มู.๑๒/๗๐/๕๒; องฺ.สตฺตก-อฏฺก-นวก.๒๓/๑๐๓/๑๙๓; ๒๐๘/๓๗๕; ๒๑๕/๓๘๗, สํ.ม.๑๙/๑๑๕๕/๓๔๖; สํ.ข.๑๗/๒๐๗/๑๔๐; ฯลฯ) มีแต่กรณีพิเศษเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น ที่มีการเรียกบุคคลอื่น เป็นสพรหมจารีของภิกษุ โดยเหตุผลพิเศษ (เช่น เมื่อพาหิยะทารุจีริยะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระโอวาทสั้นๆ ก็บรรลุอรหัตตผล แต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จหลีกไปไม่นาน พาหิยะได้ถูกโคขวิดถึงแก่ความตาย อรรถกถาเล่าว่าพาหิยะถูกโคขวิด ขณะกำลังไปหาบาตรและจีวรเพื่อเตรียมจะบวช พระพุทธเจ้าเสด็จมาได้ตรัสสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย จัดการเผาศพของพาหิยะทารุจีริยะและก่อสถูปไว้ด้วย โดยตรัสว่า พาหิยะเป็นสพรหมจารีของภิกษุทั้งหลาย – ขุ.อุ.๒๕/๕๐/๘๔) ในวินัยปิฎกเล่ม ๑ ก็แยกสพรหมจารีไว้ต่างหากจากคำว่าคฤหัสถ์ (วินย.๑/๓๑/๕๐) เฉพาะอย่างยิ่งในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๙ และ ๓๑ ให้คำจำกัดความคำว่า สพรหมจารีไว้ชัดเจนว่า หมายถึง ผู้ทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาติโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาเสมอกัน (ขุ.ม.๒๙/๙๗๖/๖๒๑; ขุ.ปฏิ.๓๑/๔๕๐/๓๓๑) ซึ่งก็ได้แก่เพื่อนพระภิกษุโดยเฉพาะ จะเห็นได้ว่าคำอธิบายและการให้ความหมายต่างๆ ของท่านสอดคล้องกันหมด ความในพระสูตรก็ไม่ขัดกับในพระวินัย แต่ถ้าถือตามความหมายของท่านโพธิรักษ์ ข้อความที่อ้างคราวนี้ก็ขัดกับพระวินัยทันที แสดงว่าต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว

รวมความว่า เมื่อพูดตามหลักการก็ตาม ตามหลักเหตุผลก็ตาม พุทธพจน์ต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่ได้ขัดกับวินัยอยู่แล้ว ผู้หวังดีต่อพระศาสนาแท้จริง และมุ่งปฏิบัติให้ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนา จึงไม่ควรยกขึ้นมาอ้างในเชิงที่จะลบล้างพระวินัยเป็นอันขาด

แม้แต่สมมติว่า มีพุทธพจน์บางแห่งในพระสูตรเกิดขัดแย้งกับบทบัญญัติในวินัยนี้ (ซึ่งที่จริงก็ไม่ปรากฏว่ามีเลย) ก็ต้องถือวินัยเป็นเกณฑ์ เพราะสามารถสันนิษฐานได้ว่า พระสูตรนั้นตรัสไว้ก่อนมีการบัญญัติวินัยข้อนี้ เพราะวินัยนั้น เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ตลอดเวลา ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ท่านก็จะบันทึกไว้ เช่น ถ้าจะมีการแก้กฎข้อบังคับ ก็มีการวางเป็นอนุบัญญัติเป็นต้น การพิจารณาตัดสินคดีในทางพระวินัยก็ต้องถือกฎเกณฑ์ในพระวินัยเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่เที่ยวยกเอาคำที่โน่นที่นี่ซึ่งไม่บ่งชัดมาอ้าง ทำให้คนทั่วไปที่ไม่รู้หลักทางพระศาสนาเกิดความสับสน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — แง่ที่ ๒ เลยขั้นตีความไป กลายเป็นเปลี่ยนแปลงหลักการของพระพุทธศาสนา— — ข. การอ้างพุทธพจน์โดยตัดทอนหรือบิดเบือนความ ให้สนับสนุนมังสวิรัติ >>

No Comments

Comments are closed.